โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เตรียมส่องดาวพฤหัสสว่างสุกใส ใกล้โลกที่สุดในรอบปี 14 ก.ค. นี้

Beartai.com

อัพเดต 13 ก.ค. 2563 เวลา 01.28 น. • เผยแพร่ 12 ก.ค. 2563 เวลา 07.14 น.
เตรียมส่องดาวพฤหัสสว่างสุกใส ใกล้โลกที่สุดในรอบปี 14 ก.ค. นี้
เตรียมส่องดาวพฤหัสสว่างสุกใส ใกล้โลกที่สุดในรอบปี 14 ก.ค. นี้

และแล้วก็ถึงคราวส่องดาวเคราะห์ใหญ่เบิ้มกันบ้าง เมื่อดาวพฤหัสบดีจะเข้าใกล้โกลที่สุด ในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) เปิดเผยว่าวันอังคารที่ 14 กรกฎาคม 2563 ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Jupiter Opposition) โดยมีโลกคั่นกลางเรียงกันในแนวเส้นตรง ส่งผลให้ตำแหน่งของดาวพฤหัสบดีใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 619 ล้านกิโลเมตร

ความพิเศษของดาวพฤหัสบดีใกล้โลก

นายศุภฤกษ์อธิบายว่า หากฟ้าใสไร้เมฆ หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าในวันดังกล่าว เราจะมองเห็นดาวพฤหัสบดีปรากฏบริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนตลอดคืนถึงรุ่งเช้า ด้วยค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ -2.8 (ค่าอันดับความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าประมาณ 6 ส่วนค่าอันดับความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) นอกจากนี้ คืนดังกล่าวยังสามารถสังเกตเห็นดาวเสาร์สว่างปรากฏอยู่ใกล้กับดาวพฤหัสบดีอีกด้วย

และหากใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กส่องดู จะสามารถสังเกตแถบเมฆและดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ทั้ง 4 ดวง ได้แก่ ดวงจันทร์กาลิเลียน (Galilean Moons) ได้แก่ ไอโอ (Io) ยูโรปา (Europa) แกนีมีด (Ganymead) และคัลลิสโต (Callisto) ได้ หากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 8 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี (Great Red Spot) ได้ในช่วงเวลาประมาณ 22.00-01.00 น. อีกด้วย

ไม่มีกล้อง แต่อยากเห็นชัด ๆ ทำไงดี

สำหรับใครที่ไม่มีกล้องโทรทรรศน์ แต่อยากเห็นมากกว่าความสุกสว่างบนฟากฟ้า NARIT ยังจัดกิจกรรมเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ใกล้โลก “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในวันดังกล่าวด้วย โดยจะเตรียมตั้งกล้องโทรทรรศน์ให้บริการส่องดาวกัน ตั้งแต่เวลา 18:00 – 22:00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่

1) เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โทร. 081-8854353
2) นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา  โทร. 086-4291489
3) ฉะเชิงเทรา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา โทร. 084-0882264 
4) สงขลา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา โทร. 095-1450411

ใครสนใจ อยู่ใกล้ที่ไหนไปร่วมที่นั่นได้ ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย  แถมยังมีระบบให้ลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้าลุ้นรับของรางวัลเด็ด ๆ อย่าง ‘หนังสือคู่มือปรากฏการณ์ดาราศาสตร์’ สุดพรีเมียม กันด้วยนะ และเพื่อความปลอดภัยไร้โควิด อย่าลืมเตรียมหน้ากากไปร่วมกิจกรรมกันด้วยล่ะ

อ้างอิง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0