โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เตรียมส่องจันทร์คืนวันที่ 8 เมษายนนี้ ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี

Beartai.com

อัพเดต 04 เม.ย. 2563 เวลา 06.50 น. • เผยแพร่ 04 เม.ย. 2563 เวลา 05.05 น.
เตรียมส่องจันทร์คืนวันที่ 8 เมษายนนี้ ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี
เตรียมส่องจันทร์คืนวันที่ 8 เมษายนนี้ ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี

เรียกได้ว่า เป็นเดือนที่มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์มาให้ยลกันอย่างครื้นเครง ทั้งดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) ตลอดเดือนเมษายน ดาวศุกร์เคียงกระจุกดาวลูกไก่ ในวันที่ 3-4 เมษายน แถมล่าสุดยังจะมีปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก ในวันที่ 8 เมษายน นี้ มาให้ชมกันเต็มสองตาอีก และไม่ใช่ใกล้โลกธรรมดานะ ยังเป็นช่วงที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีด้วย

นายศุภฤกษ์  คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กล่าวว่า วันพุธที่ 8 เมษายน 2563 จะเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ห่างจากโลก 357,022 กิโลเมตร หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่า 7% และสว่างกว่า 16% สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 17:52 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า ผู้สนใจสามารถรอชมและเก็บภาพความสวยงามของดวงจันทร์ได้ในคืนดังกล่าว

ดวงจันทร์ใกล้โลกคืออะไร ?

ปกติแล้วดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี ทำให้ระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์นั้นไม่คงที่ บางครั้งดวงจันทร์ก็อยู่ใกล้โลก และบางครั้งก็อยู่ไกลโลก นักดาราศาสตร์ เรียกตำแหน่งที่ใกล้โลกที่สุดของดวงจันทร์ว่า “Perigee” และตำแหน่งที่ไกลที่สุดว่า “Apogee” ซึ่งการเข้าใกล้โลกมากที่สุด และไกลโลกมากที่สุดเกิดขึ้นอยู่ทุก ๆ 27.3 วัน ตามคาบการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์

อ้าว ไม่ใช่ Super Moon หรอกหรือ ?

เราคงเคยได้ยินคำว่า “Super Moon” หรือ “Super Full Moon” บ่อยๆ แต่แท้จริงแล้วนั่นเป็นเพียงการเรียกชื่อ ‘เหตุการณ์’ ที่ดวงจันทร์เต็มดวงเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีเท่านั้น สำหรับ ‘การติดตาม’ การเข้าใกล้โลกของดวงจันทร์ บรรดานักดาราศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์ผู้เฝ้าสังเกตการณ์ จะใช้คำว่า “Perigee” อันเป็นจุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุดในวงโคจรแทน ซึ่งจุดที่เข้าใกล้โลกที่สุดนี้ อาจจะไม่ใช่ช่วงที่มองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงก็ได้

 

นานานิยามการเรียก “Super Moon” และ “Super Full Moon”

นิยาม No.1 >> นักโหราศาสตร์นาม ริชาร์ด นอลล์ นิยามว่า “Super Moon” เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ไม่ว่าจะเป็นจันทร์ดับหรือจันทร์เพ็ญ เข้าใกล้โลก 90% ของระยะใกล้โลกที่สุดในวงโคจร (จุดโคจรใกล้สุดจากโลก) ซึ่งระยะที่ดวงจันทร์อยู่ในระยะใกล้โลกที่สุด จะตรงกับช่วงที่โลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน 

ตัวอย่างเช่น

  • ดวงจันทร์อยู่ไกลที่สุดในรอบปี (2563) ที่ระยะห่าง: 406,381 กม.
  • ดวงจันทร์อยู่ใกล้ที่สุดในรอบปี (2563) ที่ระยะห่าง: 356,897 กม.

(1) 406,381 – 356,897 = 49,484

(2) ร้อยละ 90 ของผลต่างระยะทาง (49,484) = 44,536

(3) 406,381 – 44,536 = 361,845

ดังนั้น ระยะห่างน้อยกว่า 361,845 กิโลเมตร (ของปีนี้)  สามารถเรียกได้ว่า “ดวงจันทร์ใกล้โลก” หรือ “Super Moon”  ได้หมด ไม่ว่าจะเป็น “จันทร์ดับหรือจันทร์เพ็ญ” ก็ตาม

นิยาม No.2 >> “Super Full Moon” เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เต็มดวง ที่เกิดขึ้นเมื่อระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์น้อยกว่า 360,000 กิโลเมตร จากใจกลางโลก และจะเรียกช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวง มีระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์มากกว่า 405,000 กิโลเมตร จากใจกลางโลก ว่า “Micro Full moon”

โดยที่ขนาดเชิงมุมของ Super Full Moon มีขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์ช่วง Micro Full moon 12.5% ​​–14.1% และขนาดใหญ่ช่วงดวงจันทร์เต็มดวงปกติเฉลี่ย 5.9% –6.9%

และนั่นหมายถึงช่วงที่เป็น “ดวงจันทร์เต็มดวงที่มีระยะน้อยกว่า 360,000 กิโลเมตร ทั้งหมด” ซึ่งในหนึ่งปี ก็อาจจะเกิดขึ้นได้หลายครั้ง สามารถเรียกว่า “Super Full Moon” ได้ทั้งนั้น

นิยาม No.3 >> เป็นนิยามเรียก “Super Full Moon” ที่นักดาราศาสตร์ยอมรับกันมากที่สุด เมื่อดวงจันทร์เต็มดวง มีระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์น้อยกว่า 360,000 กิโลเมตร จากใจกลางโลก และต้องเป็นช่วงที่ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีเท่านั้น 

หากอิงตามนิยามสุดท้ายนี้  “Super Full Moon”  หรือ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก” ของปีนี้ จะตรงกับคืนวันที่ 8 เมษายน 2563 นั่นเอง 

 

ในเมื่อดวงจันทร์มาทักทายเราใกล้ขนาดนี้แล้ว แหงนหน้าชมจันทร์ดับความว้าวุ่นสักหน่อยก็น่าจะดีเหมือนกันนะ

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส

แชร์โพสนี้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0