โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เตรียมรับ The New Abnormal ก่อนเจอ New Normal

สยามรัฐ

อัพเดต 28 เม.ย. 2563 เวลา 00.28 น. • เผยแพร่ 28 เม.ย. 2563 เวลา 00.28 น. • สยามรัฐออนไลน์
เตรียมรับ The New Abnormal ก่อนเจอ New Normal

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย โพสต์ขอความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า…

เตรียมรับ The New Abnormal ก่อนเจอ New Normal

โลกต่อไปอาจมี3เฟส - ภาวะไม่ปกติ ภาวะไม่ปกติแบบใหม่ และภาวะปกติใหม่ (The Abnormal, the New Abnormal and the New Normal)

1.ปัจจุบัน-ภาวะไม่ปกติ

เรากำลังเผชิญภาวะไม่ปกติ เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่วิกฤติแบบที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนที่มี ศูนย์กลางอยู่ที่มนุษย์ (Human-centered crisis) ที่โจทย์ของสาธารณสุขและเศรษฐกิจผูกกันอย่างแน่นแฟ้น

โจทย์ที่ต้องแก้นั้นยากแต่อย่างน้อยความเห็นส่วนใหญ่ยังไปทางเดียวกันว่า “ต้องรีบหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสให้ได้ก่อน แล้วด้านเศรษฐกิจก็อัดมาตราการเยียวยาช่วยเหลือให้เต็มที่”

เพราะนั่นยังอยู่บนความหวังที่ว่าหากกิน”ยาขม”หยุดเชื้อสำเร็จ เราก็จะสามารถเปิดเครื่องยนต์เศรษฐกิจให้มาเดินเหมือน”ปกติ” แม้โลก”ปกติ”นั้นจะไม่เหมือนเดิมก่อนวิกฤติโควิด-19 ก็ตาม

ตัวผมได้เขียนหลายบทความชวนคิดว่าเราควรทำอะไรบ้างในภาวะไม่ปกติขั้นวิกฤตินี้

(https://www.facebook.com/412611772841061/posts/704010913701144/?d=n)

2.อนาคตอันไกล-ปกติใหม่

นักวิเคราะห์หลายท่านเริ่มคิดถึงโจทย์”โลกหลังโควิด” (เมื่อเราเอาไวรัสอยู่แล้ว) ว่าหน้าตามันจะเป็นอย่างไร
เช่น การที่เอเชียอาจจะมีบทบาทสำคัญในโลกมากขึ้นและความมั่นคงด้านสาธารณสุขและอาหารจะกลายเป็นประเด็นสำคัญของโลก (เช่น บทความใหม่ของคุณพ่อผม https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2145364) หรือ การที่โลกเราอาจก้าวเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น(เช่นบทความ https://www.the101.world/economics-opportunity-in-covid19-…/)

ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญมากเพราะ

หนึ่ง ผู้บริหารทุกคนต้องมองว่าการปรับตัวบางอย่างวันนี้อาจมีประโยชน์ไม่ใช่แค่ในภาวะวิกฤติแต่ในระยะยาวด้วย

สอง เราต้องตระหนักว่าโลกหลังโควิดจะไม่เหมือนเดิมอีก เพราะฉะนั้นอย่ายึดติดอยู่กับอดีตและสิ่งที่เคยเป็นจนเกินไป

3.อนาคตอันใกล้ - ภาวะผิดปกติใหม่

แต่ก่อนจะไปถึง”ภาวะปกติใหม่”เราจะต้องเผชิญกับ”ภาวะผิดปกติใหม่”ซึ่งอาจจะอยู่เป็นปี

มันจะไม่เหมือนกับความผิดปกติแบบในปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่ใช่”ภาวะปกติ”แบบในวันที่ปัญหาไวรัสผ่านไปแล้ว

ลักษณะของภาวะผิดปกติใหม่คือ คนเริ่มกลัวปัญหาปากท้องไม่แพ้ไวรัส คนกลัวอดตายไม่แพ้ติดโรค

จากที่คนเคยกลัวปัญหาไวรัสที่สุดและให้ปัญหาสาธารณสุขเป็นประเด็นอันดับหนึ่ง ทางสองแพร่งระหว่างประเด็นเศรษฐกิจและสาธารณสุขเริ่มชัดเจนขึ้น

อาจเพราะเราเริ่มเห็นว่าแม้การปิดเมืองและทำระยะห่างทางสังคมจะช่วยชะลอการระบาดอย่างมาก มนุษย์อาจจะยังไม่สามารถชนะไวรัส 100% จนกว่าจะมีวัคซีนหรือคนมีภูมิคุ้มกัน

จีนที่ “ชนะ” ไวรัสไปแล้วเริ่มกลับมามีติดเชื้อใหม่ สิงคโปร์ที่เป็นประเทศตัวอย่างกลับปิดเมืองบางส่วนเพราะเชื้อระบาดหนักใหม่ภายในเวลาไม่นาน

แปลว่าถนนข้างหน้าไม่ใช่”วันเวย์” แต่มี “2เลน” วันนี้เราเปิดเมืองได้บางส่วน พรุ่งนี้อาจเปิดได้มากขึ้น มะรืนอาจต้องกลับมาปิดใหม่ กลับไปกลับมาแล้วแต่สถานการณ์

ยุทธศาสตร์เปิด-ปิดเมือง

โจทย์คือการปิดเมืองนานคนก็อดอยาก เปิดเมืองเร็วไปคนก็ติดเชื้อกระฉูด ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในภาวะผิดปกติใหม่คือ

“ยุทธศาสตร์การเปิด-ปิดเมือง”ที่ต้องคำนึงถึงทั้งประเด็นเศรษฐกิจและสาธารณสุขและต้องตอบให้ได้อย่างน้อย 3 คำถาม
หนึ่ง เมื่อไรจะเปิดได้

ทั้งคณะนักวิชาการสาธารณสุขและอดีตผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรอนามัยโลกได้ให้หลักเกณฑ์เพื่อดูว่าจังหวัด/พื้นที่ไหนพร้อมจะเปิดได้

สรุปคร่าวๆคือ แค่คุมการระบาดอยู่ยังไม่พอแต่ต้องมีระบบตรวจ แกะรอย และแยก (Test, Trace, Isolate)คนป่วยและคนที่เสี่ยงทุกคน สถานที่ต่างๆต้องมีมาตรการป้องกันระบาดชัดเจน (เช่น จำกัดจำนวนคน บังคับหน้ากาก)และคนในชุมชนมีความเข้าใจในการปฏิบัติตัว คือมี Covid literacy (เช่น ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่างจากคนอื่น 2 เมตร ฯลฯ)
สอง แต่ละจังหวัดจะเปิดอย่างไร จะเปิดให้ภาคอุตสาหกรรมไหนหรือใครก่อน? มีกี่เฟส? ข้อนี้ยังถกเถียงกันแต่มีไอเดียน่าสนใจหลายข้อที่น่าเอามาคิดต่อ

เช่น

ดร.สมชัย จิตสุชน เสนอให้มีการเปิดแบบค่อยเป็นค่อยไปตามลักษณะสถานที่และต้องคำนึงถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจจากการปิดด้วย เช่น สถานที่ที่มีความแออัดสูงและเว้นระยะห่างได้ยากและอาจจะยังไม่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เช่น สนามมวย สถานที่บันเทิงอาจเปิดทีหลัง https://tdri.or.th/2020/04/covid-19-how-to-lift-a-lockdown/

ศาสตราจารย์ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ชวนคิดเรื่องการเปิดให้ประชาชนบางกลุ่มอายุที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพต่ำ(และไม่ได้อาศัยอยู่กับผู้ใหญ่)แต่ถูกกระทบทางเศรษฐกิจสูงออกมาทำงานได้ก่อนในบริบทของประเทศอังกฤษ https://thaipublica.org/…/04/19-economists-with-covid-19-09/

ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เสนอให้แผนการปิดเปิดมีความยืดหยุ่น เปิดได้ก็ปิดใหม่ได้ซึ่งทำให้เกิดคำถามต่อไป https://thaipublica.org/2020/04/pipat-62/

สาม เปิดแล้วจะต้องปิดอีกเมื่อไร

เราควรมีเกณฑ์ให้ชัดเจนว่าเมื่อไรที่อาจจะต้องกลับไปปิดเมืองใหม่จะได้สร้างแรงจูงใจให้ทุกพื้นที่พยายามปฏิบัติตามแนวทางการควบคุมการติดเชื้อ นอกจากนี้การมีกรอบเช่นนี้ยังจะช่วยลดความเสี่ยงที่รัฐบาลอาจจะลังเลไม่กล้าประกาศล็อคดาวน์ใหม่ทำให้ตัดไฟแต่ต้นลมไม่สำเร็จ

เพราะประสบการณ์จากสิงคโปร์ล่าสุดชี้ให้เห็นว่าความคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยสามารถทำให้การระบาดติดเชื้อกลับมาได้อย่างรวดเร็วมาก

แม้จะเริ่มมีแผนการเปิดเมืองออกมาแล้วโจทย์ยุทธศาสตร์การเปิด-ปิดเมืองเป็นเรื่องที่ยังต้องช่วยคิดกันอีกมากให้ตกผลึก
คนละสภาวการณ์ คนละยุทธศาสตร์

สุดท้ายขอทิ้งท้ายว่าการตระหนักว่าเรากำลังจะเข้าสู่ภาวะ New Abnormal นั้นสำคัญสำหรับผู้บริหารทุกคนเพราะจุดโฟกัสของยุทธศาสตร์นั้นแตกต่าง

ในระยะสั้นเรามักจะโฟกัสที่การเอาตัวรอด (Survival mode) ในระยะยาวเราเน้นการลงทุนพัฒนาปรับปรุงตัวเอง แต่ในระยะกลางแห่งความผิดปกติใหม่นั้น”สั้นเกินไป”ที่จะลงทุนเปลี่ยนแปลงระยะยาวและ”ยาวเกินไป”ที่จะใช้มาตราการเอาตัวรอดชั่วคราว ในภาวะนี้ความสามารถในการบริหารความเสี่ยง (Risk management) และความยืดหยุ่นจะเป็นหัวใจในการก้าวไปข้างหน้า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0