โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เตรียมตัวจากไปก่อนจากไป

The MATTER

อัพเดต 19 ก.ย 2562 เวลา 16.37 น. • เผยแพร่ 19 ก.ย 2562 เวลา 16.35 น. • Branded Content

*เมื่อพูดถึงความตาย หรือการสูญเสีย คนส่วนใหญ่มักมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิด *

จึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะคิดหรือพูดถึง แต่ในความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้เป็นสภาวะที่ต้องเดินทางมาหาเราในสักวัน จะช้าหรือเร็วซึ่งไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า “คุณพร้อมแค่ไหนที่จะเผชิญกับความตาย”

‘อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข’ คือเวิร์กช็อปการเตรียมตัวเพื่อจะเผชิญกับความตาย โดย บริษัทชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้เปลี่ยนมุมมองของคนที่เคยมองความตายเป็นเรื่องน่ากลัว ให้กลายเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างมีความสุข และการจากไปอย่างสมศักดิ์ศรี ซึ่งชีวามิตร ฯ เชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี และจากไปอย่างมีความสุข โดยการ “สนับสนุน” และ “ผลักดัน” ให้คุณภาพชีวิตระยะท้าย เป็นส่วนหนึ่งของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เพื่อการตายดีเป็นจริงได้ในสังคม

และต่อไปนี้คือ มุมมองของคนสามช่วงวัยกับคำถามเกี่ยวกับเรื่อง “ความตาย”  ท่านแรกคือ ดร.พลเดช วรฉัตร อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ที่เพิ่งสูญเสียผู้เป็นพ่อไป แต่กลับมองความตายว่าเป็นเรื่องปกติและไม่ใช่จุดสิ้นสุด คนที่สองคือ คุณเทวี ไชยะเสน ข้าราชการบำนาญ พยาบาลวิชาชีพที่เคยเห็นความตายของผู้ป่วยมานักต่อนัก ทำให้มองหาวิธีการตายดีที่อยากจะออกแบบเอง และคนที่สามคือ คุณคุณัญญาพร จิระสมรรถกิจ หญิงสาวที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน กับมุมมองเรื่องความตายที่เปลี่ยนไปหลังจากที่ได้เข้าร่วมเวิร์กช็อป

การสูญเสียครั้งไหนที่ติดอยู่ในใจที่สุด

ท่านทูตพลเดช : เป็นการสูญเสียคุณพ่อ เพราะว่าเราได้ดูแลท่านมาตลอด เป็นคนดูลมหายใจและชี้นำทางให้เขา บอกคุณพ่อว่าความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุด ให้เขาได้เข้าใจในเรื่องชีวิต ว่าทำไมถึงต้องไม่คิดอะไร ไม่ต้องห่วงอะไร ทำยังไงถึงจะมองไปข้างหน้าได้ ซึ่งตรงนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมคิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น เป็นการบริหารจัดการจิตของเราให้พร้อมที่จะไปดีได้ ก่อนหน้านี้ผมก็เห็นสัตว์ตาย เห็นคนตาย เห็นตลอดเวลาเลย ทำให้รู้สึกเข้าใจเลยว่า ความตายเป็นเรื่องปกติ

คุณเทวี : เราเห็นแม่ตาย แบบตายดีมาก แม่นอนป่วยในโรงพยาบาลอยู่ 15 วัน ไม่ได้ใช้ท่อช่วยหายใจ ไม่ได้ปั๊มหัวใจ ไม่ต้องให้น้ำเกลือ ไม่ต้องสอดใส่สายอะไรต่างๆ ที่มันไม่จำเป็น เราให้การดูแลเท่าที่จำเป็น ตอนแม่จะตาย แม่ก็แค่เหนื่อยลงเรื่อยๆ แล้วก็จบ มันอาจจะสะเทือนใจว่าคนที่เรารักจากไป แต่พอนึกถึงการดูแลที่เราดูแลท่าน มันเป็นความภาคภูมิใจที่เราทำให้การตายของแม่ดีมาก

คุณคุณัญญาพร : เคยเห็นความตายของญาติ หรือสัตว์เลี้ยง ก็น่าจะเป็นประสบการณ์ที่หลายๆ คนก็เคยเจอ แต่ว่าความตายที่เรารู้สึกว่ามันมีผลกระทบต่อเรา มันไม่ใช่ความตายทางกายภาพ แต่มันคือความตายที่คนๆ หนึ่งไม่อยากอยู่บนโลกแล้ว แต่ตัวเขายังอยู่ ซึ่งก็น่าเศร้าไม่แพ้ความตายทางกายภาพเลย 

ถ้าเลือกได้อยากจากไปแบบไหน

ท่านทูตพลเดช : ต้องตายที่บ้าน คือไม่อยากไปตายโรงพยาบาล หรือในห้องไอซียู เพราะการตายที่บ้านหมายความว่าเราจะได้อยู่ท่ามกลางญาติพี่น้อง ซึ่งเราสามารถที่จะสั่งเสียได้ ผมก็เตรียมไว้หมดแล้ว รู้ถึงขนาดว่ากลไกของจิตเรา ควรจะทำยังไง ควรจะฝึกยังไง เพราะฉะนั้นคิดว่าไม่มีอะไรที่ต้องห่วงหรือกังวลเลย

คุณเทวี : วันที่ทำงานแล้วเห็นคนตาย มันมีคำว่าตายดีผุดขึ้นมาในใจ เหมือนเป็นแรงบันดาลใจว่าเราต้องหาวิธีการอะไรก็ได้ ที่จะทำให้พ่อกับแม่เราตายดี ไม่ใช่ตายแบบทุกข์ทรมานแบบที่เราเห็น ณ วันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ศึกษาคำว่าตายดีว่าเป็นอย่างไร ถ้าเลือกได้นะ อยากนอนหลับแล้วก็ตายเลย เหมือนกำหนดไว้ 2 ชั่วโมงว่าจะตายแล้วนะ พอนอนหลับไป ทำสมาธิ แล้วก็ตาย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากออกแบบการตายให้ตัวเอง

คุณคุณัญญาพร : ไม่เคยคิดว่าจะตายที่ไหน เพราะรู้สึกว่าที่ไหนก็เหมือนกัน แต่คิดว่าอยากตายแบบที่เรารู้สึกพร้อมและมีสติ แบบโอเคว่าเรากำลังจะตายแล้วนะ หรืออยากตายแบบไม่รู้ตัว จะได้ไม่ต้องคิดเยอะ แต่ก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้

เคยคิดภาพงานศพของตัวเองไว้ไหม

ท่านทูตพลเดช : หนึ่งก็คือเรียบง่าย สองก็คือไม่ต้องรบกวนคนอื่น สามก็คือญาติพี่น้องไม่ต้องเก็บอะไรไว้เลย ทั้งภาพ ทั้งกระดูก เพราะจริงๆ แล้วทุกอย่างมันอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่วัตถุ แม้เราเองก็ยังเอาไปไม่ได้ ทุกทรัพย์สมบัติของเราในชีวิตนี้ที่ทำมา มันไม่ใช่ของเรา เป็นของชั่วคราวทั้งนั้น แต่ตอนเราอยู่ เราจะนึกถึงว่าเป็นของเรา มีความหวงแหน มีความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ แต่จริงๆ แล้ว พอตายไปแล้วเอาไปไม่ได้เลยสักชิ้นเดียว เอาไปได้แค่กระเป๋าที่เป็นเสบียงบุญอยู่ข้างใน ถึงจะเป็นการเดินทางที่เตรียมตัวมาดี

คุณเทวี : เคยเขียน เคยวาดฝันไว้หลายรอบ ตอนนั้นผ่าตัด มีความเสี่ยงว่าจะตายหรือไม่ตายก็ได้ ก็เลยเขียนไว้ว่าถ้าตาย จะจัดงานศพแบบไหน เก็บไว้กี่วัน เอาไว้วัดไหน จะจัดหาอาหารยังไง นิมนต์พระที่ไหน แล้วก็บอกเพื่อนทางโซเชียลฯ ว่าไม่ต้องทำการ์ด ไม่ต้องมีพวงหรีด ไม่ต้องสิ้นเปลือง ถ้าจะช่วยใส่ซอง ก็ให้เอาเงินบางส่วนไปทำบุญที่โน่นที่นี่ เคยเขียนไว้อย่างละเอียดเลย แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ 

คุณคุณัญญาพร : ไม่อยากให้มีงานศพ รู้สึกว่างานศพเป็นงานของคนที่อยู่ แล้วก็ทำเพื่อคนที่อยู่ ณ วันที่เราตาย อยากบริจาคร่างกาย จบ เพราะเรารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องมีอีเวนต์ที่จะให้ทุกคนมาเสียใจร่วมกัน

หลังจากเข้าเวิร์กช็อปกับชีวามิตร มองความตายเปลี่ยนไปอย่างไร

ท่านทูตพลเดช : ทำให้ตระหนักว่าเรื่องความตายไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และต้องมีการเตรียมตัวที่ดีด้วย เพื่อที่จะลดปัญหาทั้งของตัวเองและญาติพี่น้องให้มากที่สุด ทุกวันนี้ผมไม่ติดใจเลย เพราะเข้าใจหมด ว่าการตายคือใบไม้ร่วง ยังไงก็ต้องตาย แต่ประเด็นสำคัญคือจะตายยังไงและไปให้ดี ตรงนี้สำคัญมากกว่า ซึ่งผมขอยืนยันว่าถ้าเราฝึกให้ดี ซ้อมตายก่อนตาย ก็สามารถหวังได้ว่าตายแล้วและจะไปดีได้

คุณเทวี : คือแต่ก่อน สมมติเครื่องบินกำลังจะตก แล้วเราจะต้องตาย แวบแรกที่เกิดก็คือความรู้สึกกลัว ไม่ได้กลัวตายนะ แต่กลัวเหตุการณ์ก่อนที่เราจะตาย เวลาที่เรามีความกลัว เราก็ทำสมาธิอยู่กับลมหายใจ มันก็หยุดได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าสุดท้ายเรายังมีความกลัวค้างอยู่ เราจะจัดการมันยังไง ก็ได้เรียนรู้ว่าจะต้องอยู่กับความกลัวให้ได้ อยู่กับความรู้สึก ทันอารมณ์ตรงนั้นให้ได้ เราก็ได้องค์ความรู้ตรงนี้ไปเติมเต็มในส่วนที่เรายังติดอยู่ 

คุณคุณัญญาพร : ก่อนหน้านี้ รู้สึกว่าความตายเป็นสิ่งที่น่ากลัว เป็นสิ่งที่เราก็เคยตั้งคำถามกับมัน เคยคุยกับเพื่อนว่า คำนี้มันมีความหมายว่าอะไร แต่ก็ไม่ได้คำตอบเท่าไหร่ แต่หลังจากได้เรียนรู้ ก็รู้สึกว่า ความตายมีความหมายก็เพราะว่าเราให้ความหมายกับมัน ซึ่งจะต่างกันออกไป ตามทัศนคติของคนที่มอง เราก็ได้ลองมองความตายในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิด แต่ก็ยังไม่ได้ถึงขั้นที่จะเข้าใจทั้งหมด แต่ก็เป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยให้เราฉุกคิดขึ้นมาได้

ถึงตอนนี้ พร้อมแค่ไหนที่จะเผชิญกับความตาย

ท่านทูตพลเดช : ผมพร้อมทุกลมหายใจอยู่แล้ว เพราะจิตที่ว่าง มองความตายคือ “มรณานุสติ”  คิดเสมอว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต เมื่อเผชิญหน้ากับความตายตรงนั้น ก็ไม่ติดค้าง ไม่มีกังวลแล้ว ถ้าทำวันนี้ดีแล้ว พรุ่งนี้ก็ต้องดีแน่นอน ฉะนั้นจะตายเมื่อไหร่ ไม่สนใจ เพราะถือว่าได้ทำเต็มที่แล้ว

คุณเทวี : ด้วยนิสัยพื้นฐาน เราเป็นคนที่ไม่มีอะไรค้างคาใจ ถ้ามีอะไรติดใจก็จะเคลียร์ จะบอกให้จบไป ถ้ามีอะไรคาใจ มาคุยกันเถอะ แล้วยิ่งพอเรามารู้ว่าการเตรียมตัวตายถ้ามีอะไรค้างคาใจมันจะติดอยู่ตรงนี้  ก็เลยทำให้เราสบายใจว่าเราเคลียร์ตัวเอง เคลียร์กระเป๋าก่อนเดินทางแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะตายตอนนี้ก็ตายได้เลย

คุณคุณัญญาพร : จริงๆ รู้สึกว่ายังไม่พร้อม เราเคยคิดว่าเราจะตายเมื่อไหร่ก็ตาย แต่ในวันที่เรารู้สึกอยากตายขึ้นมา มันยากมากที่จะดีลกับตัวเองได้ ช่วงที่รู้สึกว่าทำไมปัญหามันเยอะจัง ทำให้บางแว้บในหัวนึกขึ้นมาว่า หรือว่าหนีด้วยการตายดี แต่เราว่ามันไม่ใช่การตายแบบที่เราต้องการ เป็นความรู้สึกที่เราควบคุมไม่ได้เท่านั้นเอง ยังมีอีกหลายอย่างที่เราอยากจะเรียนรู้ และมีอีกหลายอย่างที่เราอยากทำ

ดูคลิป/โพสท์ คลิ๊กที่นี่

Content by Wichapol Polpitakchai

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0