โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เด็กสมาธิสั้น พ่อแม่เตรียมรับมืออย่างไร

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 19 ส.ค. 2562 เวลา 09.00 น. • Motherhood.co.th Blog
เด็กสมาธิสั้น พ่อแม่เตรียมรับมืออย่างไร

เด็กสมาธิสั้น พ่อแม่เตรียมรับมืออย่างไร

การติดตามพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิดสามารถทำให้พ่อแม่ชี้ความผิดปกติได้ ขอแค่ไม่ปล่อยผ่านเมื่อมีความสงสัย โดยเฉพาะปัญหา "เด็กสมาธิสั้น" ซึ่งตอนนี้ในไทยพบว่าในเด็ก 20 คน จะมีที่เป็นสมาธิสั้น 1 คน อาการของสมาธิสั้นทำให้พ่อแม่กังวลมากว่าลูกจะใช้ชีวิตได้อย่างประสบความสำเร็จหรือไม่ หลายๆคนพยายามหาสาเหตุและวิธีการป้องกัน แต่จะมีรายละเอียดอย่างไรบ้างนั้น ขอให้ติดตามบทความตอนนี้ได้เลยค่ะ

รู้จักโรคสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้น (ADHD - Attention Deficit Hyperactivity Disorder) คือ โรคขาดสมาธิ มีสมาธิสั้นกว่าปกติ ขาดการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้มีลักษณะอาการซุกซน วอกแวกง่าย ไม่เคยอยู่นิ่ง ไม่ชอบอยู่กับที่ เวลาที่พูดด้วยจะไม่ตั้งใจฟังและเก็บรายละเอียดไม่ค่อยได้ ขาดความรับผิดชอบในการจดจ่อตั้งใจทำสิ่งใดให้สำเร็จ ขี้ลืม ไม่ใส่ใจคำสั่ง ไม่อดทน หุนหันพลันแล่น โดยผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการตั้งแต่ช่วงอายุ 3-6 ปี โดยอาการจะแสดงออกอย่างชัดเจนและวินิจฉัยได้ในช่วงอายุ 6-12 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้องเริ่มเข้าโรงเรียน มีงานและการบ้านต้องรับผิดชอบหลาย ๆ ชิ้นในเวลาเดียวกัน ต้องทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เริ่มสื่อสารและเข้าสังคม

พ่อแม่ต้องสังเกตอาหารของลูก หากมีอาการสมาธิสั้นต้องรีบพบแพทย์
พ่อแม่ต้องสังเกตอาหารของลูก หากมีอาการสมาธิสั้นต้องรีบพบแพทย์

ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคสมาธิสั้น ถึงแม้ว่าเด็กบางคนอาจมีพฤติกรรมน่าสงสัยที่เข้าข่ายโรคสมาธิสั้น แต่อาจเป็นเพียงพัฒนาการตามช่วงวัยเท่านั้น ซึ่งเด็กที่มีพฤติกรรมตามวัย อย่างซุกซน อยู่ไม่นิ่ง ไม่เชื่อฟัง หากไม่ได้มีอาการตามเกณฑ์วินิจฉัยของโรคสมาธิสั้น แสดงว่าเด็กไม่ได้เป็นโรคสมาธิสั้น และอาการจะดีขึ้นหรือหายไปเมื่อโตขึ้น ในขณะที่อาการของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะยังคงอยู่ต่อไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ และเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

อาการของสมาธิสั้น

อาการของผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้นอาจยังคงอยู่ตลอดจนเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ โดยรูปแบบอาการอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อยตามวัย และตามการรักษาดูแลที่ผู้ป่วยได้รับ หรืออาจยังมีบางอาการที่ยังคงอยู่และกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน

การแสดงพฤติกรรมของโรคสมาธิสั้นมี 2 รูปแบบหลัก คือ การขาดสมาธิในการจดจ่อหรือตั้งใจทำสิ่งใด และการอยู่ไม่นิ่งและมีความหุนหันพลันแล่น โดยเด็กอาจมีพฤติกรรมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่มักปรากฏพฤติกรรมทั้ง 2 รูปแบบรวมกัน โดยพฤติกรรมเหล่านั้นจะเป็นอุปสรรคที่ส่งผลให้เกิดความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การเรียน การเข้าสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

การที่พ่อแม่จะรู้ได้ว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ นอกจากต้องสังเกตจากลักษณะอาการที่ปรากฏแล้ว ยังจำเป็นจะต้องพิจารณาจากระยะเวลาที่เป็น และสถานที่ที่เด็กมีอาการด้วย ดังนี้

เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นจะไม่สามารถจดจ่อกับกิจกรรมที่ต้องทำ
เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นจะไม่สามารถจดจ่อกับกิจกรรมที่ต้องทำ

อาการที่มักพบในเด็ก

ด้านการขาดสมาธิในการจดจ่อ

  • ไม่ตั้งใจฟัง ไม่สนใจในขณะที่มีคนพูดด้วย
  • ไม่ทำอะไรไปตามขั้นตอน ชอบทำอะไรง่าย ๆ รวบรัด
  • ไม่ชอบทำอะไรเป็นเวลานานๆ มักเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน
  • ไม่ชอบเรียนรู้ในเรื่องที่ต้องใช้เวลา เช่น การอ่านเรื่องยาวๆ
  • มองข้ามเรื่องสำคัญ ไม่ใส่ใจรายละเอียด จนเกิดความผิดพลาดบ่อยๆ
  • มักลืมอุปกรณ์เครื่องใช้หรือสิ่งของจำเป็น เช่น ลืมดินสอ ยางลบ ปากกา หนังสือ ตอนมาโรงเรียน
  • มักลืมสิ่งที่ต้องทำหรือที่ได้รับมอบหมาย เช่น ลืมทำการบ้าน ลืมการนัดหมาย
  • วอกแวกง่ายเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น หรือมีความคิดอื่นมากระตุ้นในขณะทำกิจกรรมต่างๆอยู่
  • จัดลำดับความสำคัญไม่เป็น เรียงลำดับสิ่งที่ควรทำไม่ได้
  • บริหารจัดการเวลาได้ไม่ดี ไม่สามารถทำงานเสร็จตามกำหนดการ
  • หลีกเลี่ยงและไม่ชอบงานที่ต้องใช้ความพยายามมากๆ อย่างการทำการบ้าน การเขียนรายงานหรือเรียงความ
  • มีปัญหากับการทำงานตามกำหนด หรือการเรียน การเล่น กิจกรรมอะไรก็ตามที่ต้องทำตามกฎระเบียบหรือกรอบคำสั่ง

ด้านการตื่นตัว อยู่นิ่งไม่ได้ และความหุนหันพลันแล่น

  • พูดมาก พูดไม่หยุด
  • นั่งนิ่งอยู่กับที่นานไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ
  • ว่องไว เคลื่อนไหวรวดเร็ว ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการรอ ไม่ชอบการรอคอย
  • ลุกออกจากที่นั่งบ่อยๆ ในสถานการณ์ที่ควรนั่ง เช่น ขณะกำลังอยู่ในชั้นเรียน ขณะอยู่ที่ทำงาน
  • ลุกลี้ลุกลน กระสับกระส่าย จนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์
  • ไม่สามารถทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกได้เงียบๆตามลำพัง
  • พูดโต้ตอบสวนขึ้นมาในขณะที่อีกฝ่ายยังพูดหรือถามไม่จบ ไม่รอให้ผู้อื่นพูดจบแล้วค่อยพูด
  • พูดแทรกหรือรบกวนในขณะที่ผู้อื่นกำลังพูดหรือทำกิจกรรมต่างๆอยู่
เด็กบางคนจะมีอาการลุกลี้ลุกลน
เด็กบางคนจะมีอาการลุกลี้ลุกลน

สาเหตุของโรคสมาธิสั้น

ปัจจุบัน สาเหตุของการเกิดโรคสมาธิสั้นยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด แต่กำลังมีการศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นเหตุให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น หรือเด็กอาจเป็นโรคสมาธิสั้นจากหลายปัจจัยเหล่านี้รวมกัน ได้แก่

1. พันธุกรรม

ผลการค้นคว้าชี้ว่า ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นมักมีพ่อแม่หรือญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือดป่วยเป็นโรคนี้เช่นกัน จึงมีแนวโน้มที่โรคสมาธิสั้นจะส่งต่อกันผ่านทางพันธุกรรม

2. โครงสร้างสมอง

อาจเป็นโครงสร้างที่มีมาแต่กำเนิด หรืออาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บกระทบกระเทือนทางสมองตั้งแต่ในครรภ์ หรือในช่วงที่เป็นเด็กเล็ก จากการสแกนสมองคนทั่วไปเทียบกับผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น พบว่าพื้นที่บางส่วนของสมองผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นมีขนาดเล็กกว่า และบางส่วนก็มีขนาดใหญ่กว่า รวมทั้งการขาดความสมดุลของระดับสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งอาจส่งผลให้เป็นโรคสมาธิสั้น

3. ระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอด

ผู้เป็นแม่อาจสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติดในขณะตั้งครรภ์ หรืออาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ และเต็มไปด้วยมลภาวะ จึงรับเอาสารพิษเข้าสู่ร่างกาย จนมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ รวมไปถึงการคลอดก่อนกำหนด และการที่ทารกมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำ

ส่วนความเชื่อที่ว่า การดูโทรทัศน์และการเล่นวิดีโอเกมจะทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นนั้น ยังไม่มีผลการค้นคว้าที่ยืนยันได้แน่ชัดในปัจจุบัน ถึงแม้ไม่มีการอธิบายเชิงสาเหตุ แต่การให้เด็กดูโทรทัศน์ เล่นเกม หรือทำกิจกรรมต่างๆอย่างพอดีทั้งด้านปริมาณและระยะเวลา ย่อมเหมาะสมกว่า

สำหรับช่วงอายุที่เด็กสามารถใช้งานสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้นั้น ดีที่สุดคือที่ช่วงอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป แต่ต้องควบคุมระยะเวลาในการใช้งานคือ ครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพื่อจะได้ไม่ส่งผลเสียต่อพัฒนาการการเรียนรู้และการเข้าสังคม

สัญญาณเตือนให้รีบรักษา

มีเพียง 15 - 20% ของเด็กทีี่เป็นโรคสมาธิสั้นเท่านั้น ที่สามารถหายได้เองเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่อีกประมาณ 60% นั้นไม่หายขาดและจะเป็นโรคนี้ไปจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นการสังเกตและรู้เท่าทันสัญญาณเตือนคือสิ่งสำคัญ สัญญาณเหล่านั้น ได้แก่

  • ผลการเรียนตกต่ำลง ถ้ามีอาการมากมักพบได้ตั้งแต่ในช่วงที่เด็กเรียน ป.1-ป.2และผลการเรียนจะยิ่งตกมากขึ้นในช่วง ป.4
  • มีรายงานพฤติกรรมความผิดปกติของเด็ก
  • พ่อแม่ผู้เริ่มสงสัยและเห็นความผิดปกติของเด็กชัดเจนมากขึ้น
  • เด็กหรือเพื่อนที่เด็กเล่นด้วยมีอาการบาดเจ็บ เนื่องจากเล่นรุนแรงและผาดโผนมากเกินไป
  • เด็กเริ่มแยกตัวออกจากกลุ่ม อยู่โดดเดี่ยวคนเดียว ไม่ชอบสื่อสารและเข้าสังคม
หากไม่รีบรักษาให้ทัน เด็กจะมีอาการติดไปจนโต
หากไม่รีบรักษาให้ทัน เด็กจะมีอาการติดไปจนโต

วิธีรักษาโรคสมาธิสั้น

ปัจจุบันวิธีรักษาโรคสมาธิสั้น (ADHD - Attention Deficit Hyperactive Disorder) มีอยู่ 4 วิธี ได้แก่

  • ปรับพฤติกรรมและกระตุ้นพัฒนาการ จะได้ผลดีมากในเด็กที่ยังเป็นไม่มากและเต็มใจที่จะเข้ารับการฝึกเพื่อให้อยู่นิ่ง
  • รับประทานยาที่แพทย์สั่ง แพทย์จะเลือกชนิดยาที่เหมาะกับอาการและวัยของเด็ก ซึ่งการรับประทานทานยานั้นให้ผลในการรักษาที่ดีได้ถึง 70 - 80% และเด็กจะมีอาการดีขึ้นหลังจากรับประทานยาไปแล้วภายใน 1 - 4 สัปดาห์
  • เรียนแบบตัวต่อตัว เพื่อช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กให้ดียิ่งขึ้น
  • ปรึกษาแพทย์ต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจและขอคำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง ต้องมีการสื่อสารกันระหว่างแพทย์ ครู และผู้ปกครอง เพื่อลดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กที่อาจเกิดขึ้น

สมาธิสั้นต่างกับไฮเปอร์อย่างไร

เด็กที่เป็นไฮเปอร์ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรคสมาธิสั้นเสมอไป เพราะไฮเปอร์คืออาการที่ไม่อยู่นิ่ง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น เราจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มักเกิดจากความผิดปกติของสมอง

หากคุณพ่อคุณเกิดความสงสัยว่าลูกมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น พ่อแม่ผู้ควรรีบพาเขาไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เพราะการรักษาโรคนี้ต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือทั้งจากตัวเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครอง และคุณครูผู้สอน ซึ่งต้องใช้หลายศาสตร์ร่วมกันเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0