โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เดือนสาม วันไขประตูฟ้า ได้เวลาทำบุญข้าวจี่

Rabbit Today

อัพเดต 21 ก.พ. 2562 เวลา 04.19 น. • เผยแพร่ 20 ก.พ. 2562 เวลา 14.05 น. • สิทธิโชค ศรีโช
khao-chi-tasty-Rabbit-Today-banner

“ออกใหม่ขึ้น สามค่ำเดือนสาม มื้อที่กบบ่มีปาก นาคบ่มีฮู้ขี้ หมากขามป้อม แสนส้มกะเหล่าหวาน”

พูดถึงเดือนกุมภาพันธ์ หลายคนนึกถึงเทศกาลวันแห่งความรัก แต่สำหรับชาวนาภาคอีสาน เดือนนี้คือเวลาสำคัญด้วยเชื่อว่า ‘เป็นช่วงเวลาไขประตูฟ้า’ หากรู้จักสังเกตธรรมชาติรอบตัวที่เกิดขึ้น ก็จะสามารถทำนายปริมาณน้ำฝนในปีนั้นได้นอกจากนี้ยังทำให้ฉันนึกถึงสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ในวิชาวัฒนธรรมอีสาน จำได้ว่าเป็นเดือนบุญที่คนภาคนี้เขาจะทำ ‘ข้าวจี่’ ไปถวายพระกัน เรียกว่า ‘บุญข้าวจี่’

จากหนังสือชื่อ ‘คู่มือภูมิปัญญาการเกษตรพื้นบ้าน โดย ดร.อุษากลิ่นหอม’ เล่าถึงคำกลอนด้านบนที่ฉันเกริ่นไว้ว่า “ในวันขึ้นสามค่ำเดือนสาม (นับตามจันทรคติ คือ ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์) เป็นวันที่กบไม่มีปาก หมายถึง กบกำลังจะออกจากจำศีล เยื่อหุ้มปิดปากยังไม่สลายยังกินอะไรไม่ได้ เหมือนอิ่มทิพย์อยู่ ส่วนตัวนาคในวันนั้นจะไม่กินอะไรจึงไม่มีการขับถ่ายออกมา และเป็นวันที่มะขามป้อมที่เปรี้ยวจะกลับกลายเป็นรสหวาน” 

ถือเป็นช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อของชาวอีสานว่า คือ ‘วันไขประตูฟ้า’ ชาวนาจะนำปุ๋ยไปใส่ลงนาแต่เช้ามืด แล้วนั่งสังเกตปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นจนถึงเที่ยงวัน ในช่วงเวลานั้นหากมีฝนตกแสดงว่าปีนั้นฝนจะแล้ง แต่ถ้ามีฟ้าร้องฝนไม่ตกแสดงว่าฝนจะดี โดยทิศที่ฟ้าร้อง จะบ่งบอกคำทำนายปริมาณน้ำฝนต่างกันไป ในวันเดียวกันนี้ชาวนาจะทำพิธีเรียกขวัญข้าวจากนากลับสู่ยุ้งฉางให้ขวัญข้าวไปรวมกัน เพื่อความบริบูรณ์

เดือนสาม วันไขประตูฟ้า ได้เวลาทำบุญข้าวจี่,กินดื่ม,Rabbit Today
เดือนสาม วันไขประตูฟ้า ได้เวลาทำบุญข้าวจี่,กินดื่ม,Rabbit Today

และช่วงเดือนสามนี้ ชาวอีสานยังมีจารีตประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมาตาม ‘ฮีตสิบสอง คองสิบสี่’ หมายถึง จารีตที่ยึดถือปฏิบัติกันตลอดสิบสองเดือน และครรลองอีกสิบสี่ประการที่พึงปฏิบัติ โดยช่วงเดือนสาม มีฮีตที่สาม พึงปฏิบัติคือ ‘บุญข้าวจี่’ ตามคำโบราณกล่าวว่า

“เถิงเมื่อเดือนสามได้ จงพากันจี่ข้าวจี่ ไปถวายสังฆเจ้า เอาแท้หมู่บุญ กุศลสินำค้ำ ตามเฮามื้อละคาบ หากเนียมจั่งสี้ มีแท้แต่นาน” แปลว่า “เมื่อถึงเดือนสาม จงพากันจี่ข้าวจี่ไปถวายพระเพื่อเอาบุญ กุศลจะคอยค้ำจุนทุกเวลา ธรรมเนียมนี้มีมานานแล้ว” นั่นเอง  

‘ข้าวจี่’ ที่คนอีสานใช้ทำบุญในช่วงเดือนสามนี้ ทำจากข้าวเหนียวใหม่ซึ่งเก็บเกี่ยวไว้แต่ปลายปี นำมาพักในยุ้งฉาง เพราะจะทำให้ได้ข้าวจี่นิ่มอร่อย เริ่มจากนำข้าวเหนียวดิบไปแช่น้ำ หรือที่อีสานเรียกว่า ‘หม่าข้าว’ ไว้ 1 คืน รุ่งเช้าก็รินน้ำหม่าข้าวออกแล้วนำไปนึ่งจนสุก 

จากนั้นนำมาเทลงกระด้ง หรือโบ่ม (แผ่นไม้กลมขนาดใหญ่) แล้วใช้ไม้พายชุบน้ำพลิกข้าวไปมาให้หมดไอน้ำ ก่อนตลบข้าวม้วนปั้นเป็นก้อนใหญ่ใส่ลงกระติบปิดฝากันข้าวแห้ง จากนั้นจึงแบ่งข้าวมาปั้นเป็นก้อนกลมแล้วกดให้แบนเล็กน้อย โรยด้วยเกลือ แล้วนำไปผิงไฟอ่อนๆ จนข้าวด้านนอกเริ่มแข็งอยู่ตัว จึงนำไปชุบไข่แล้วนำขึ้นกลับไปจี่บนไฟอ่อนอีกครั้ง

เดือนสาม วันไขประตูฟ้า ได้เวลาทำบุญข้าวจี่,กินดื่ม,Rabbit Today
เดือนสาม วันไขประตูฟ้า ได้เวลาทำบุญข้าวจี่,กินดื่ม,Rabbit Today

หากไม่ผิงข้าวให้แข็งก่อนเวลาชุบไข่ชิ้นข้าวจะแตกเละไม่สวย จี่ข้าวพลิกไปมาพอไข่สุกก็นำกลับไปชุบไข่รอบที่สองแล้วนำไปจี่ไฟเช่นเดิม ก็จะได้ข้าวจี่สีเหลืองสวยที่นิ่มจากข้าวใหม่ มีรสเค็มนิดๆ จากเกลือ และหอมมันจากไข่ไก่ เป็นข้าวจี่แบบคลาสสิก นำไปถวายพระ นอกจากนี้บางบ้านจะนำข้าวไปปั้นห่อปลายไม้คล้ายขนมโป๊งเหน่ง แล้วนำไปผิงไฟ ชุบไข่แบบเดียวกันกับที่กล่าวมา พอสุกดีแล้ว ก็จะดึงไม้ออก ทำให้ก้อนข้าวมีรู แล้วใส่น้ำตาลอ้อยเข้าไปในรูดังกล่าว มีหลักฐานเป็นคำกลอนอีสานว่าข้าวจี่ใส่น้ำอ้อยนี้ เป็นของที่เณรน้อยในวัดสมัยก่อนรอคอย 

“เดือนสามค้อย ลมวอยๆ ปั้นเข้าจี่ เข้าจี้บ่มีน้ำอ้อย จั๋วน้อยเช็ดน้ำตา” แปลว่า “เมื่อถึงเดือนสามลมเริ่มพัดโชย ได้เวลาปั้นข้าวทำข้าวจี่ไปทำบุญ หากข้าวจี่ไม่มีน้ำอ้อย เณรน้อยก็จะร้องไห้จนต้องเช็ดน้ำตา”

นอกจากข้าวจี่ที่ฉันเล่ามา ตามตลาดสดพื้นถิ่นในแถบอีสานช่วงเวลาเดียวกันนี้ ก็จะมี ‘แผ่นข้าวเกรียบดิบ’ ซึ่งก็คือ แผ่นข้าวเกรียบว่าวดิบ วางขายอยู่ด้วย ซึ่งก็สามารถนำไปจี่ให้พองแล้วร่วมถวายพระในเทศกาลงานบุญนี้ได้เช่นกัน 

ว่าไปแล้วสำหรับชาวอีสาน ‘ข้าวจี่’ ไม่ได้เป็นเพียงอาหารในเทศกาลเท่านั้น แต่เป็นอาหารที่หลายๆ บ้านในภาคอีสานนิยมทำกินกันในช่วงฤดูหนาว ฉันยังจำได้ในวัยเด็ก บรรยากาศหนาวๆ คนในบ้านนั่งล้อมเตาไฟ และจี่ข้าวกินกัน กลิ่นข้าวจี่ชุบไข่หอมฉุยที่ฉันจะขอให้พี่เลี้ยงโรยน้ำตาลแทนเกลือ แค่นึกถึงข้าวจี่ ภาพความทรงจำดีๆ ก็ผุดขึ้นในใจพร้อมความสุข 

ทุกวันนี้ข้าวจี่ อาหารแห่งที่ราบสูง ไม่ได้มีไว้แค่ทำถวายพระ หรือกินกันตามบ้านเท่านั้น แต่เริ่มมีคนนำมาประกอบเป็นธุรกิจขายกันเป็นล่ำเป็นสัน จากที่เคยปั้นก้อนข้าวด้วยมือ ก็พัฒนาให้มีพิมพ์สำหรับกดข้าวจี่ให้เป็นชิ้นเสมอกัน บางเจ้าก็พัฒนามาปรับแต่งรสชาติหลากหลาย โรยผงแต่งรสชาติ บ้างก็ขายคู่กับหมูปิ้ง ของย่างก็มี 

บางคนก็นำข้าวเหนียวมูนมาปั้นเป็นก้อนแล้วนำไปชุบไข่ผิงไฟก็ได้ข้าวจี่หวานๆ หอมๆ วางขายเอาใจเด็กๆ หรือแม้แต่แม่บ้านบางท่าน (หนึ่งในนั้นคือแม่ฉันเอง) ขี้เกียจก่อไฟ ก็ประยุกต์ทำข้าวจี่ทอดในกระทะแทน แต่นั้นก็ไม่ได้สำคัญอะไรเท่ากับสิ่งที่สะท้อนให้ฉันรู้สึกดีใจว่า ‘ข้าวจี่’ ยังอยู่คู่สังคมอีสานไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานเพียงใดก็ตาม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0