โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เดดล็อกสูตรรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง ประชารัฐสะดุด-ประชาธิปัตย์ จำใจชู "บิ๊กตู่" เป็นนายกฯ

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 23 ก.ย 2561 เวลา 13.14 น.
pol02240961p1

การเลือกตั้งอีกครั้งในรอบ 8 ปี พรรคการเมืองร้างสนามมาเกือบ 5 ปีเต็ม ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

แม้เส้นทางสู่ประชาธิปไตยไม่มีใครคาดเดาได้ว่าปลายสุดจะโรยด้วยกลีบกุหลาบหรือพงหนาม ทว่า 24 กุมภาพันธ์ 2562 ก็เป็นหมุดหมายของการเริ่มต้นของบทใหม่บนหน้าประวัติศาสตร์การเมือง

คนที่ “ตกที่นั่งลำบาก” ที่สุด น่าจะเป็น “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เพราะต้องรับแรง “ต่อรอง” ของ “สามมิตร”-อดีต ส.ส.หัวหน้ามุ้ง-หัวหน้าก๊วนที่ไปดูด สะสมแต้มให้พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เพื่อเพิ่มอำนาจเกมต่อรองผลประโยชน์ตั้งแต่หัววัน

“สมคิด” จึงยัง “คิดไม่ตก” เพราะต้องรวบตัวทั้ง“อุตตม สาวนายน” รมว.อุตสาหกรรม และ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พาณิชย์ เพื่อให้ลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีมาเป็นหัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการ พปชร. เพื่อลดแรงต่อรองให้ทันกับการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าและเลขาธิการพรรค-กรรมการบริหารพรรค ในวันที่ 29 กันยายน

ภายหลังเลื่อนการประชุมมาหลายครั้ง-หลายหนเพราะไม่มีความชัดเจนตำแหน่งหัว-หางของพลังประชารัฐ นอกจากการเดิน “เกมดูด” ของ สมศักดิ์ เทพสุทิน-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร

ที่ผ่านมากลุ่มสามมิตรเคลื่อนไหวโดยมีเป้าหมายทางการเมือง “ลึกแต่ไม่ลับ” เพื่อต่อขาเก้าอี้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ โดยอยู่ในเงาพลังประชารัฐ

ทว่าเมื่อเกมเปิดหน้าออก “สมคิด-ประยุทธ์” จึงถีบ-ถอยและให้ “อุตตม-สนธิรัตน์” ออกตัวแทน แต่ยัง “ไม่มีราคาพอ” ที่จะทำให้สามมิตรเข้ามาอยู่ใต้เงา

เกมตามน้ำที่จะเกิดขึ้น คือ ให้ “อุตตม-สนธิรัตน์” ออกมายืน “กลางแจ้ง”เสียก่อน ส่วนเบื้องหลังให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างสมคิดและสามมิตร

ในสัปดาห์หน้า “สมศักดิ์-สุริยะ” และนายอนุชา นาคาศัย แกนนำกลุ่มสามมิตรจะเรียกประชุมแกนนำเพื่อตัดสินใจว่าจะไปสังกัดพรรคการเมืองใด สอดคล้องกับการประชุมของพลังประชารัฐในวันที่ 29 กันยายน และการประกาศความชัดเจนทางการเมืองของนายสนธิรัตน์ในวันที่ 1 ตุลาคม

เป็นจังหวะเดียวกับกระแสข่าวลือว่า “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะลุกจากเก้าอี้แล้วมารับบทโฆษก พปชร.

ทว่าคนที่มีทางเลือกมากที่สุด-ลอยตัวอยู่เหนือสถานการณ์ที่สุด คือ “พล.อ.ประยุทธ์” เพราะเลือกที่จะ “เปิดตัว”ทางการเมืองชัดเจนว่าจะ “เดินหน้า”งานการเมืองต่อ หรือเลือกที่จะ “ลับ ลวง พราง” นั่งเก้าอี้นายกฯควบตำแหน่งหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจ มาตรา 44 ต่อไป เพื่อให้พรรคการเมืองส่ง”เทียบเชิญ” เป็น “นายกฯคนนอก”

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถือว่าเป็นพรรคที่จะถูก “รุมกินโต๊ะ” มากที่สุด เพราะเป็นพรรคเดียวที่เป็นไปได้มากที่สุดที่จะได้คะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นพรรคที่มีปัจจัยอยู่นอกเหนือการควบคุมสูง และการตัดสินใจของพรรคก็เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์

ภายใต้เงื่อนไขหากนายอภิสิทธิ์ยังเป็นหัวหน้าพรรคเพราะ “อภิสิทธิ์” มีความเป็นตัวของตัวเองสูง-ยังยึดมั่นในเสรีประชาธิปไตย แต่ถ้าหากต้องการ “ฟอร์มทีม” ใหม่โดยมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอีกสมัย จำเป็นต้องใช้ “ฐานเสียง”ของ ปชป. คาดว่าเมื่อถึงเวลานั้น “อภิสิทธิ์” ไม่น่าอยู่ในสถานะหัวหน้าพรรค ยกเว้นมี “ข้อเสนอพิเศษ” ที่นายอภิสิทธิ์ปฏิเสธไม่ได้

ขณะที่ขั้วตรงข้ามอย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) จะประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อประชุมใหญ่ โดยมีข่าวปล่อยมาว่า “พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์” จะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค

ด้านพรรคใหม่-หน้าเดิมอย่างพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) แม้“ลุงกำนัน”-สุเทพ เทือกสุบรรณ จะ “ผิดคิว”-“ติดล็อก” คำสั่ง คสช. จนไม่สามารถเดินสายทั่วประเทศได้ แต่นายสุเทพก็ “ชีพจรลงเท้า” ทัวร์ทั่วทั้ง 4 ภาคเพื่อรับสมัครสมาชิกร่วมเป็น “เจ้าของพรรค”

คู่ขนานกับพรรคหน้าใหม่-พุ่งแรงอย่างพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) โดย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคใช้ “สื่อโซเชียล” ระดมเงิน-เร่ขายใบตอบรับสมัครสมาชิกภายใต้แคมเปญ “จ้างอนาคตใหม่ 100 บาททวงคืนประชาธิปไตย” และเตรียมจะเปิดตัวนโยบายในเดือนตุลาคมนี้

ขณะที่พรรคเก่า พรรคปลาไหล-พรรคจอมเสียบ ปรากฏความเคลื่อนไหวท่ามกลางกระแสพลังดูดว่า พรรคชาติพัฒนา (ชพ.) ของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” จะยุบรวมกับพรรคพลังประชารัฐ จนต้องออกมาดาหน้าแถลงข่าวตอบโต้ และเตรียมประชุมใหญ่ภายในเดือนกันยายนนี้

ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ของ “ทายาทหลงจู๊”-วราวุธ ศิลปอาชา เตรียมประชุมกรรมการบริหารพรรคในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ เพื่อกำหนดวาระการประชุมใหญ่ในวันที่ 5 ตุลาคม เพื่อแก้ไขข้อบังคับและเปิดทาง “เจเนอเรชั่นใหม่” ที่มีนายวราวุธเป็นหัวหน้าพรรค-“สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ” อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ ชทพ. เป็นเลขาธิการ

ขณะที่พรรคของ “เสี่ยหนู-เสี่ยเน” อนุทิน ชาญวีรกูลและเนวิน ชิดชอบ แห่งพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เอาฤกษ์เอาชัยด้วยเค้กวันเกิด “เสี่ยหนู” ในวัย 52 กะรัต โดยจะมีการประชุมในวันที่ 24 กันยายน และประชุมใหญ่ในวันที่ 2 ตุลาคม

90 วันก่อนนับถอยหลัง 150 วันเลือกตั้ง ฝุ่นตลบทั้งกระดานการเมือง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0