โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เช็คอัพ สถานีชาร์จไฟฟ้า พุ่งเกินพันจุดรอรับ EV เกิด

Manager Online

อัพเดต 21 ก.ย 2561 เวลา 02.13 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2561 เวลา 02.13 น. • MGR Online

รถยนต์ไฟฟ้า เป็นกระแสที่ทุกค่ายรถยนต์ต่างยอมรับว่า มาแน่นอน 100% เนื่องจากทุกค่ายกำลังพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของตัวเองอย่างเร่งด่วน ซึ่งเราได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ กำลังทยอยเปิดตัวอย่างต่อเนื่องในต่างประเทศ ทั้งจากแบรนด์หลัก ไล่เรียงมาไม่ว่าจะเป็น บีเอ็มดับเบิลยู ไอ3, เมอร์เซเดส-เบนซ์ เปิดตัวรุ่น EQC, จากัวร์ เปิดตัว I-PACE และที่ลืมไม่ได้ นิสสัน ลีฟ รุ่นใหม่ ทั้งหมดเป็นรถไฟฟ้าแบบใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ล้วน

ขณะที่คู่แข่งรายสำคัญเปิดตามออกเมื่อวานนี้ได้แก่ อาวดี้ E-tron รถไฟฟ้าเต็มรูปแบบจากค่ายสี่ห่วง และยังมีรถไฟฟ้าจากค่าย ปอร์เช่ ที่ประกาศชื่อ ไทคันน์ ออกมาอย่างเป็นทางการแล้วก่อนที่คันจริงจะเผยโฉมพร้อมขายในปีหน้า จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ค่ายรถยนต์หลักเริ่มเดินหน้ารถไฟฟ้าอย่างจริงจัง ซึ่งในระหว่างนี้นอกจากรถไฟฟ้าล้วนแล้ว ยังมีรถลูกผสมอย่าง ปลั้กอิน-ไฮบริด (PHEV) ออกมาทำตลาดในแทบทุกโมเดลแล้ว

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลของประเทศในทวีปยุโรปต่างออกมาตรการที่เข้มงวดในเรื่องของมลพิษ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เหล่านั้น ต้องทำให้ได้ตามมาตรฐานไอเสียที่กำหนด ถ้าหากไม่ทำหรือทำไม่ได้ จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งอาจจะถึงขั้นต้องยุติแบรนด์ตัวเองไปก็เป็นได้

เมื่อหันกลับมามองในประเทศไทย ซึ่งคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเข้ามาของรถไฟฟ้าเหล่านี้ได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงประกาศเป็นนโยบาลส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ผ่านการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งบรรดาค่ายรถยนต์ในประเทศไทย ตอบรับเข้าร่วมหลายค่าย อาทิเช่น โตโยต้า, มาสด้า, มิตซูบิชิ, เมอร์เซเดส-เบนซ์, บีเอ็มดับเบิลยู, นิสสัน และเอ็มจี โดยยังมีอีกหลายค่ายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อยื่นขอสนับสนุนด้านการลงทุน

จากทิศทางดังกล่าว ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐบาล มีการประกาศและคาดการณ์เป้าหมายว่า จะมีรถไฟฟ้าวิ่งทั่วประเทศอยู่ที่ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2576 หรือในอีก 18 ปีข้างหน้า โดยรถไฟฟ้าในนิยามของรัฐบาล หมายความรวมถึงรถไฟฟ้าแบบปลั้กอินไฮบริด และไฮบริดด้วย

สำหรับรถแบบไฮบริดนั้น ไม่มีอะไรที่น่ากังวล เนื่องจากยังใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน ซึ่งจะแตกต่างจากรถไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรี่ที่จะใช้ไฟฟ้าล้วนในการขับเคลื่อน ไม่ใช้น้ำมันและไม่ปล่อยมลพิษจากปลายท่อไอเสีย ดังนั้น รถไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่นี้ จึงจำเป็นต้องมีที่ชาร์จ

การชาร์จแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้านั้น จะแบ่งเป็น 2 แบบหลัก คือ แบบชาร์จปกติ ใช้ชุดชาร์จที่ติดมากับรถชาร์จไฟฟ้าจากที่บ้านหรือปลั้กธรรมดา มีข้อจำกัด คือ ใช้เวลานานหลายชั่วโมงในการชาร์จแต่ละครั้ง กับแบบชาร์จเร็ว ซึ่งจะมีหัว

ชาร์จแบบพิเศษ สามารถชาร์จได้ 0-80% ในเวลาประมาณ 30-40 นาที ขึ้นกับปริมาณกระแสไฟที่จ่ายเข้า

การชาร์จแบบเร็วนั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งของรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ เนื่องจากด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการชาร์จแบบรวดเร็ว เพื่อช่วยให้สามารถเดิน ทางอย่างต่อเนื่องได้ ดังนั้น สถานีชาร์จไฟฟ้าจึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการเดินทางของรถยนต์ไฟฟ้า เปรียบได้กับปั้มน้ำมันของรถใช้เครื่องยนต์นั่นเอง

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย หน่วยงานของภาครัฐ การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการำฟฟ้านครหลวง ถือเป็นตัวจักรสำคัญในการกระจายสถานีชาร์จไฟฟ้า โดยแต่ละที่ต่างรับผิดชอบตามขอบเขตของตัวเอง ซึ่ง การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA ล่าสุด มีการประกาศเปิดตัวแอพพลิเคชัน MEA EV เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานรถไฟฟ้า สามารถหาจุดชาร์จไฟฟ้าได้อย่างง่ายดาย

จากข้อมูลบนแอพพลิชันดังกล่าว มีการระบุผู้ให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า เอาไว้ทั้งสิ้น 8 ราย มาดูกันว่าแต่ละรายมีจำนวนสถานีชาร์จและแผนการอย่างไรบ้าง

เริ่มกันที่เจ้าภาพอย่าง การไฟฟ้านครหลวงหรือ MEA มีคำให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวงจะมีสถานีชาร์จครบทั้ง 13 สาขาของ MEA ปัจจุบันมีจุดชาร์จไฟฟ้าแล้วทั้งสิ้น 10 สาขา สามารถชาร์จได้โดยไม่คิดค่าบริการ ยังฟรีอยู่ แต่จำเป็นต้องมีการลงทะเบียนก่อนเพื่อเปิดใช้งานที่ชาร์จ

ถัดมาคือ จุดชาร์จไฟของ บ.พลังงานบริสุทธิ์หรือ EA Anywhere ซึ่งเป็นบริษัท เอกชนที่รุกเข้ามาทำสถานีชาร์จ โดยประกาศว่า จะมีจุดชาร์จไฟ 1,000 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้กระจายทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงหัวเมืองใหญ่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น หัวหินและพัทยา เป็นต้น (ยืนยันจากตำแหน่งภาพบนแอพพลิชัน น่าจะใกล้เคียง 1,000 จุดแล้ว)

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA อีกหนึ่งหน่วยงานที่รุกพัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้า เป็นรายแรกๆ พร้อมเปิดให้ใช้บริการชุดแรก ณ สถานีของการไฟฟ้าพื้นที่นั้นๆ โดยมีทั้งสิ้น 11 แห่ง 10 แห่งกระจายตามหัวเมือง ได้แก่ อยุธยา, นครปฐม, นครราชสีมา, พัทยาและหัวหิน ส่วนอีกหนึ่งแห่งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ หลังจากนั้น ได้พัฒนาเพิ่มอีก 10 จุดทั่วจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรองรับการใช้งานรถตุ๊กๆ ไฟฟ้า ของจังหวัดเชียงใหม่

การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ EGAT หนึ่งในหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพใหญ่ ทั้งด้านพลังงานและการทดสอบใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าที่มาจากการดัดแปลงนำรถยนต์เก่ามาติดตั้งระบบการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ปัจจุบัน มีสถานีชาร์จไฟฟ้าอยู่ 5 จุด ภายใต้การดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต รวมถึงมีจุดชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถบัสหรือรถเมล์ไว้ให้บริการด้วย

ขณะที่ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของประเทศไทย เข้าร่วมบุกเบิกการให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้าด้วย โดยบางจาก มีการเปิดสถานีชาร์จไฟฟ้า 2 แห่ง ส่วน ปตท. มี 21 แห่ง แต่ยังไม่เปิดให้ประชาชนเข้าใช้งาน แต่มีแผนจะเปิดสถานีเพิ่มอีก 20 แห่ง ภายในปีนี้

สำหรับรายที่ 8 บนแอพพลิเคชั่น MEA EV คือ ค่ายรถยนต์นิสสัน มีจุดชาร์จไฟฟ้า อยู่ที่โรงงานบนถนนบางนาตราด กม. 21 ซึ่งแน่นอนว่า ค่ายนิสสัน ประกาศชัดเจนในการนำ “นิสสัน ลีฟ” เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย โดยนิสสัน ลีฟ คือรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในโลก ด้วยยอดจำหน่ายมากกว่า 300,000 คันแล้ว

ส่วนเอกชนรายอื่น อย่างเช่น ชาร์จนาว (ChargeNow) เครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งเป็นการร่วมมือของหลายบริษัทฯ มีผู้นำคือ บีเอ็มดับเบิลยู มีจุดชาร์จไฟฟ้าถึง 50 จุดกระจายทั่วกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับที่ค่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้ขยายจุดชาร์จไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ EQ ดำเนินการแล้วเสร็จ 50 จุด โดยปีนี้ ตั้งเป้าเอาไว้ที่ 63 แห่ง และจะขยายไปถึง 200 แห่งทั่วประเทศ

ถึงบรรทัดนี้ หากนับรวมๆ แล้ว สถานีชาร์จไฟฟ้าของไทยปัจจุบัน น่าจะอยู่ที่ประมาณ1,200 จุด ทั่วประเทศ อาจจะดูไม่มาก แต่เมื่อเทียบกับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) 1,394 คัน (ตามการรายงานของกระทรวงพลังงาน) ถือว่าเยอะมาก แต่หากนับรวมรถปลั๊กอินไฮบริด(PHEV) จำนวน 102,308 คัน ที่เข้ามาใช้บริการด้วยแล้ว ยังถือว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะในพื้นที่สำคัญ อย่างห้างสรรพสินค้า ที่มักจะหาที่ว่างจอดชาร์จได้ยาก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0