โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เช็ก 10 สัญญาณ 'เสพติดการช้อปปิ้ง' ดึงสติ 'หยุดช้อปออนไลน์'

MATICHON ONLINE

อัพเดต 28 พ.ค. 2563 เวลา 03.25 น. • เผยแพร่ 28 พ.ค. 2563 เวลา 03.20 น.
หยุดช้อปออนไลน์_๒๐๐๕๒๘_0005

เช็ก 10 สัญญาณ ‘เสพติดการช้อปปิ้ง’ ดึงสติ ‘หยุดช้อปออนไลน์’

หยุดช้อปออนไลน์ – แม้จะไม่ได้ออกไปช้อปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ได้สะดวกเหมือนเคย ต้องหันมากดสั่งของออนไลน์มาใช้เมื่อยามจำเป็นแทน แต่ไปๆ มาๆ ก็ดูเหมือนว่าของที่ช้อปปิ้งมาของหลายๆ คนนั้น จะไม่ได้น้อยลงกว่าแต่ก่อนเท่าไหร่

ยิ่งกับโลกออนไลน์ ที่ทุกอย่างใกล้เพียงปลายนิ้ว เลื่อนเจอของถูกใจก็กด ซีเอฟ ของได้ง่ายๆ และมีแอพพลิเคชั่นช้อปออนไลน์ ที่ขยันจัดโปรโมชั่นเอาใจลูกค้ากันรัวๆ ก็ยิ่งทำให้หลายคนอดจะกดสั่งซื้อ เตรียมรับของมาส่งบ้านกันแทบทุกวัน ก่อนจะมานั่งกลุ้มใจในช่วงสิ้นเดือนแทน

ถึงเวลาที่ต้องหันกลับมาสำรวจตัวเองแล้วว่า พฤติกรรมของคุณ เข้าข่ายเสพติดการช้อปปิ้ง หรือไม่ โดยสัญญาณ ที่อาจบอกว่าคุณ ช้อปอะโฮลิก ง่ายๆ อาทิ

1.มักจะซ่อนใบเสร็จจากครอบครัว หรือคนรัก

2.ใช้จ่ายเกินวงเงินที่วางไว้ในแต่ละเดือน เพราะช้อปออนไลน์ รวมทั้งเป็นหนี้บัตรเครดิตมากขึ้น

3.มีบัตรเครดิต “ลับๆ” อีกใบไว้ช้อปออนไลน์

4.ทะเลาะกับคนรัก เรื่องการช้อปปิ้ง เพราะคนรอบข้างเริ่มเป็นห่วงกับการใช้จ่ายของคุณ

5.รู้สึกผิดบ่อยๆ หลังจากเพิ่งซื้อของออนไลน์ไป

6.รู้สึกผิดหวัง หากเว็บล่ม หรือไม่สามารถเข้าเว็บไซต์โปรดไปช้อปออนไลน์ได้ และร้อนอกร้อนใจ หากพลาดดีลดีๆ ไป

7.ช้อปปิ้งจนไม่มีห้องให้เก็บของอีกต่อไป

8.มักจะซื้อของที่ไม่จำเป็น เพราะว่ามันกำลังลดราคา

9.เลือกดีลออนไลน์ แทนที่จะทำงาน หรือกิจกรรมอื่นๆ อย่างการรับประทานข้าว ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ แม้แต่ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

10.รู้สึกเหมือนกับว่า หยุดช้อปปิ้งออนไลน์ไม่ได้ และนึกถึงการช้อปออนไลน์อยู่ตลอดเวลา

สำนักข่าว ซีเอ็นบีซี รายงานว่า อาการติดช้อปออนไลน์นี้ มักเกิดขึ้นกับคนเจนเอ็กซ์ หรือคนยุคมิลเลนเนียม ที่มักควบคุมไม่ได้ และกลายเป็นปัญหา ทั้งด้านการเงิน การวางเป้าหมายในชีวิตระยะยาว รวมถึงด้านความสัมพันธ์ด้วย และยังเผยอีกว่า ความยุ่งยากในการคืนสินค้า เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนซื้อแล้วซื้ออีก เพราะยังไม่ได้ดั่งใจ และมักไม่ได้เปรียบเทียบสินค้าจากหลายๆ แหล่ง

แล้วทำอย่างไร จะควบคุมการใช้จ่ายเหล่านี้ได้

1.จดรายการที่สำคัญก่อนช้อป

เพื่อไม่ให้ซื้อของโดยไม่จำเป็น ก่อนจะช้อปปิ้ง เราควรจะจดบันทึกรายการที่สำคัญก่อนช้อป รวมทั้งเปรียบเทียบราคาว่าที่ไหน ถูกกว่า หรือมีโปรโมชั่นที่ดีกว่า รวมไปถึงการจดบันทึกรายรับรายจ่าย หากไม่มีสมุดบันทึก ก็ใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ ในสมาร์ทโฟนช่วยจด อย่าลืมจด สิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นการซื้อน้ำข้างทาง หรือซื้อไอศกรีม ที่เราอาจมองข้ามไป ก็จะช่วยวางแผนการใช้เงินในอนาคตได้

2.ยกเลิกอีเมล์การแจ้งเตือนต่างๆ

เพื่อจะไม่ต้องให้ โปรโมชั่นเด็ดๆ ที่จะมายั่วยวนจิตใจให้ต้องช้อปโดยไม่จำเป็น ควรจะกด เลิกติดตามอีเมล์เหล่านี้ รวมไปถึงคอลัมน์สินค้าใหม่ๆ ในนิตยสาร และเว็บไซต์ต่างๆ

3.ปิดการแจ้งเตือน กรุ๊ปช้อปปิ้งต่างๆ ในเฟซบุ๊ก

เพราะการที่เห็นสมาชิกในกรุ๊ปโพสต์ขายของ หรืออาจจะทำให้เราอยากจะช้อปขึ้นมาได้ ปิดการแจ้งเตือน หรือออกจากกรุ๊ปนั้นๆ เลย ก็จะช่วยได้เยอะ

4.ล้างโซเชียลมีเดียให้มีแต่สิ่งจำเป็น

การกดติดตามแอคเคาต์บ้านสวยๆ เสื้อผ้า อาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยววันหยุด ทำให้คุณเกิดกิเลสได้ง่ายๆ กดซ่อนหรืออันฟอลโลว์สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยได้มาก

5.ลบข้อมูลบัตรเครดิตผ่านแอพพ์ต่างๆ

การใส่ข้อมูลบัตรเครดิตเชื่อมไว้ในแอพพลิเคชั่นต่างๆ ยิ่งทำให้ง่ายต่อการช้อปปิ้งเพียงปลายนิ้ว การลบข้อมูล และทิ้งบัตรนั้นไว้นิ่งๆ ไม่แตะต้อง ทำให้เราใช้เวลามากขึ้นในการช้อปปิ้ง ได้ไตร่ตรองความจำเป็น และ อาจตัดสินใจไม่ซื้อในที่สุด

6.ลบแอพพลิเคชั่นออกจากโทรศัพท์

นอกจากเลิกติดตาม ร้านค้าต่างๆ ในโลกออนไลน์แล้ว การลบแอพพลิเคชั่นซื้อสินค้าออนไลน์ ก็เป็นการหักดิบได้ดีอีกอย่างหนึ่ง หากบางคนรู้สึกว่า เสพติดการช้อปมากเกินไป และกลัวอดใจจะเข้าเว็บช้อปออนไลน์ไม่ไหว อาจใช้ LeechBlock เว็บที่จะแจ้งเตือนและบล็อกการเข้าใช้งาน ผ่านเบราเซอร์ไฟร์ฟ็อกซ์ได้

7.ทำตัวดีเลย์

เมื่อเห็นอะไรที่อยากได้จริงๆ ลองปล่อยเวลาไว้สักวันหรือสองวัน และลองพิจารณาอีกทีว่ายังอยากได้อยู่หรือเปล่า สุดท้ายแล้วอาจจะรู้ว่าไม่ได้ต้องการสิ่งนั้นมากจริงๆก็ได้

8.ลองยืม ก่อนซื้อ

ก่อนจะซื้ออะไรบางอย่าง ลองพิจารณาดูก่อนว่า สิ่งของเหล่านั้นมีความจำเป็นหรือไม่ ใช้ได้กี่ครั้ง และสามารถยืมคนอื่นได้หรือเปล่า ก็จะช่วยประหยัดได้มาก

9.หากิจกรรมอย่างอื่นทำแทน

เอาเวลาที่เข้าไปเข้าเว็บช้อปปิ้งออนไลน์ ไปทำกิจกรรมอื่นๆ ให้ตัวเองมีอะไรทำ อย่างอ่านหนังสือ ดูหนัง ออกกำลังกาย ก็จะเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจได้ดี

10.จัดบ้านใหม่

การจัดบ้านใหม่จะทำให้เรารู้ว่า เราซื้ออะไรมาบ้าง และมีอะไรที่เกินความจำเป็น เพื่อเวลาที่ครั้งหน้าจะกดซื้อของ จะได้รู้ว่าต้องการจะซื้อจริงๆ หรือไม่

หากลองหยุดซื้อของออนไลน์ได้สักอาทิตย์ ก็จะแสดงออกว่าเราหยุดซื้อสินค้าได้แล้ว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เศรษฐกิจไม่แน่นอน! เตือน ‘คนเจนวาย’ ช้อปออนไลน์เพลินช่วงสเตย์โฮม เงินหมดไม่รู้ตัว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0