โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"เชื้อเจ้า ปากไม่เป็นเจ้า มาตบกัน" ชื่น ศรียาภัย สตรีดังวงการมวย VS หม่อมเจ้าหญิงวังหน้า

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 04 มี.ค. 2566 เวลา 17.33 น. • เผยแพร่ 04 มี.ค. 2566 เวลา 17.27 น.
ภาพปก-ชื่น
(ซ้าย) การชกมวยโชว์สมัยคาดเชือกระหว่างศิริ สุวรรณวยัคฆ์ กับ จีน พลจันทร ณ เวทีแข่งขันมวยนักเรียนสนามสวนกุหลาบวิทยาลัย พ.ศ. 2470 (ขวา) ชื่น ศรียาภัย (ภาพจาก ปริทัศน์มวยไทย, 2550)

สำรวจวีรกรรมพระศรีราชสงคราม ปราบโจรสลัด และธิดาของท่าน นามว่า “ชื่น ศรียาภัย” ต้นตอมวยบ้านไชยา ผู้เคยถวายฎีกาเพื่อปลดหนี้ เจ้าของวาทะ “เชื้อเจ้า ปากไม่เป็นเจ้า มาตบกัน”

หากท่านผู้อ่านที่ติดตาม “ศิลปวัฒนธรรม” เป็นประจำ หลายท่านน่าจะผ่านตาเรื่องราวเกี่ยวกับมวยวังเปรมประชากร กันมาบ้างแล้ว ในที่นี้มีโอกาสเอ่ยถึงอีกกลุ่มหนึ่งอย่างสายบ้านไชยา ซึ่งหากจะเอ่ยถึงกลุ่มนี้ย่อมต้องกล่าวย้อนไปถึงพระศรีราชสงคราม ผู้ปราบจราจลและเป็นบิดาของ ชื่น ศรียาภัย สตรีเจ้าของบ้านไชยา

เรื่องราวที่จะเล่าถึงในที่นี้อ้างอิงจากข้อเขียนของเขตร ศรียาภัย ซึ่งเผยแพร่ในปริทัศน์มวยไทยตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2510 ผู้เขียนต้นฉบับถือเป็นอีกหนึ่งกูรูที่คลุกคลีกับวงการมวยไทย ซึ่งชื่น ศรียาภัย ที่เอ่ยถึงนั้นก็เป็น “พี่สาว” ของเขตร ศรียาภัย นั่นเอง

วีรกรรมปราบโจรสลัดจีนอั้งยี่

สำหรับพระศรีราชสงคราม เป็นบิดาของเขตร และชื่น ศรียาภัย ข้อเขียนในปริทัศน์มวยไทย เล่าไว้ว่า บิดา (พระศรีราชสงคราม) เคยปราบจราจลสมัยที่ชาวจีนทำเหมืองรวมตัวเป็นอั้งยี่ก่อจลาจลที่ภูเก็ต จากที่เหมืองไม่มีเงินให้กลุ่มแรงงานเพียงพอตามข้อเรียกร้อง

เขตร เล่าว่า ช่วงเวลานั้นแรงงานชาวจีนรวมแล้วมีจำนวนถึง 50,000 คน (อ้างอิงแค่คำบอกเล่า) รวมตัวกันเคลื่อนไหว หัวเมืองต่างๆ ถูกเรียกระดมมาช่วยกันปราบ เมื่อหัวเมืองมีกำลังคนน้อยต้องขอกำลังทัพเรือ จึงได้ทหารเรือราว 200 คนมา ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากเลยเมื่อเทียบกับกลุ่มชาวจีน

แม้เขตร มองว่า กำลังพลของอั้งยี่มีเหนือกว่ากำลังบ้านเมือง และไม่กล้าทำรุนแรง เพราะไม่สามารถประมาณกำลังได้แน่นอน แต่กลุ่มอั้งยี่ก็ปล้นสะดมคนไทยตามที่ต่างๆ ซึ่งมีกำลังคนไม่มาก และยังล่วงเลยไปถึงวัด วัดฉลองมีหลวงพ่อแช่มเป็นกำลังสำคัญในด้านกำลังใจต้านทาน เรื่องที่เล่าขานกันมานั้นลงเอยว่า ศิษย์หลวงพ่อแช่มขับไล่อั้งยี่หนีไป กระนั้นก็ยังไม่กลับ กลายเป็นโจรสลัดปล้นสะดมตามน่านน้ำจังหวัดนราธิวาสถึงประจวบคีรีขันธ์

การปราบปรามโจรสลัดครั้งนั้นทำให้พระศรีราชสงคราม บิดาของเขตร ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม

เขตร เล่าวิธีที่ทำให้พิชิตโจรสลัดไว้ว่า

“ท่านเห็นว่ากำลังของทางบ้านเมืองมีแต่เรือโป๊ะ ซึ่งเป็นเรือท้องแบนแบบเรืออีแปะ ลำยาว มีใบเดียว ความลำบากอยู่ที่ออกน้ำลึกไม่ได้ จะไล่เรือใบของจีนอั้งยี่ก็ไม่มีทางจะทัน ท่านจึงใช้วิธีให้เรือเล็กแอบอยู่ตามเกาะ เมื่อเรือใหญ่เข้ามาใกล้จึงออกไปโจมตีปรากฏว่าได้ผล เพราะเรือสามเสากว่าจะชักใบได้ย่อมไม่คล่องแคล่ว…

ก่อนหน้านั้นท่านก็ได้เตรียมการฝึกอาวุธ ซึ่งท่านประดิษฐ์ขึ้นเอง โดยไปเตรียมถางป่าไว้เป็นลานกว้างประมาณ 5 เมตร ยาวประมาณ 20 เมตร ใช้หม้อดินที่เรียกว่าหม้อตาลนั่นเอง บรรจุดินปืนซึ่งทำขึ้นเอง เอาถ่านไฟไว้บนฝาละมีซึ่งวางหงาย ให้ใช้หัดขว้างให้ได้ไกลขนาด 10 วา ใช้หม้อดินนี้เองขว้างไปที่เรือใหญ่ให้ไประเบิดเป็นไฟไหม้ขึ้นบนลำเรือ แม้จะตกน้ำไปบ้าง ถ่านไฟพลัดตกไปจากหม้อดินเสียก่อนบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ได้ผล เป็นเหตุให้พวกจีนเกรงกลัวและหนีไปดังกล่าว

เนื่องจากการปราบโจรสลัดด้วยการประดิษฐ์หม้อดินระเบิด ซึ่งท่านบอกว่าได้ความคิดมาจากการอ่านหนังสือมหายุทธสงครามนั้นเอง ที่ท่านได้เลื่อนบรรดาศักดิ์อีกครึ่งหนึ่ง คราวนี้เป็นพระยาไวยวุฒิวิเศษฤทธิ์

“พี่ชื่น” ชื่น ศรียาภัย

ส่วนชื่น ศรียาภัยนั้น เป็นกำพร้ามารดาตั้งแต่เล็ก จึงได้รับการดูแลจากบิดาของเขตร อย่างใกล้ชิด เมื่อบิดารักและตามใจมาก ผู้เป็นน้องจึงเล่าว่า “พี่ชื่น” จึงมีลักษณะของผู้ชายมากกว่าสตรี (เขตร เกิด พ.ศ. 2445 อ่อนกว่าพี่สาว 30 ปี)

ชื่น ศรียาภัย เขียนอัตชีวประวัติของตัวเองไว้ในหนังสืออภินันทนาการแก่บรรดาผู้นับถือคุ้นเคย คาดว่าพิมพ์ในสมัย พ.ศ. 2461 ใจความส่วนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าเกิดที่เมืองไชยา อันเมืองไชยากับกรุงเทพฯ สมัยโน้น ทางไปมายังลำบาก เรือเมล์ก็ยังไม่มีเดิน ข้าพเจ้าได้มาเห็นกรุงเทพฯ เมื่อคราวพระเมรุพระศพสมเด็จพระนางสุนันทาเป็นครั้งแรก…

ต้นสกุลทางบิดาข้าพเจ้าเป็นคนเมืองไชยา ส่วนมารดาเป็นคนชาวกรุงเทพฯ ญาติทางฝ่ายแม่ก็ยังมีตัวอยู่หลายคน แต่ข้าพเจ้าเป็นกำพร้าแม่มาแต่เล็กๆ จึงห่างเหินกันไปหมด…

บิดาข้าพเจ้าได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม ผู้ว่าราชการเมือง แต่โดยมากครั้งกระโน้นเรียกกันว่า พระยาไชยาเช่นเจ้าเมืองอื่นๆ…

บิดาข้าพเจ้านั้นโปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นเจ้าเมืองที่สุราษฎร์ราวสามสี่ปีจึงออกจากหน้าที่เจ้าเมือง บิดาข้าพเจ้าก็ดี ท่านเจ้าเมืองอื่นๆ ก็ดี สมัยก่อนไม่ได้รับเงินเดือน เงินเดือนเพิ่งจะได้รับเมื่อตั้งข้าหลวงเทศาภิบาลแล้ว ฉะนั้นท่านผู้ใดถนัดในการงานอย่างใด ก็หารายได้ที่ไม่ผิดกฎหมายได้ตามถนัด บิดาข้าพเจ้าเป็นคนมีพวกพ้องมากจึงเข้าในการทำภาษีอากรและการค้าเป็นรายได้ ได้มาซื้อบ้านเรือนไว้ในกรุงเทพฯ เพราะต้องมากรุงเทพฯ ในทางราชการบ้าง ธุระส่วนตัวบ้างอยู่เสมอๆ ส่วนตัวข้าพเจ้าถ้าสบโอกาสก็ได้มากรุงเทพฯ บ้าง อยู่รักษาบ้านเดิมที่เมืองไชยาบ้าง จนภายหลังบิดาจึงได้มารับราชการในกระทรวงมหาดไทย และพ้นราชการออกรับบำนาญและถึงแก่กรรม ณ บ้านไชยานี้”

ครอบครัวของเขตร ศรียาภัย (ชื่น ศรียาภัย เล่าว่ามีพี่น้องร่วมบิดาสี่คน คนที่สี่คือเขตร ศรียาภัย) เรียกได้ว่าเป็นมวยกันแทบถ้วนหน้า บิดาเป็นมวย และคนในรั้วอีกหลายรายก็เป็นมวยเช่นกันจึงมักฝึกซ้อมเป็นประจำ ชื่น ศรียาภัย ที่เป็นสตรีก็ได้รับอบรมหัดมวยด้วย คู่ซ้อมของชื่น ศรียาภัย เป็นสตรีเช่นกัน ชื่อว่า อาบ อับเวช เคยขึ้นเวทีชกกับนักมวยสตรี

ด้วยลักษณะแบบผู้ชายนี้เอง เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งให้บิดาอยากอบรมให้มีลักษณะสมกับเป็นกุลสตรี จึงส่งมาอยู่วังกับพระองค์เฉิดโฉม เข้าเรียนที่โรงรียนแหม่มโคลวังหลัง

ข้อเขียนของเขตร ยังเล่าไว้ว่า ด้วยลักษณะที่เป็นผู้ชายนี้ ทำให้สมัยอยู่ในวัง “พี่ชื่น” จึงมักถูกหม่อมเจ้าองค์หนึ่งนินทาว่ากิริยาวาจาไม่สมกับเป็นผู้หญิงเป็นลูกพระยาเจ้าเมืองเสียเลย เมื่อเจ้าตัวได้รู้เข้าเลยออกจากวังตั้งแต่นั้น โดยบอกว่า

“มีเชื้อเป็นเจ้า แต่ปากไม่เป็นเจ้ามาตบกันคนละอันสองอันก็ยังได้” (ฟ้าเมืองไทย, ปีที่ 6 ฉบับที่ 273 พฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2517)

ในส่วนอัตชีวประวัติในหนังสืออภินันทนาการ มีเล่ากรณีนี้เพิ่มเติมไว้ว่า

“…มีหม่อมเจ้าหญิงวังหน้าองค์หนึ่ง แต่ก่อนก็คุ้นเคยกับข้าพเจ้า แต่ต่อมาเป็นเพราะอัธยาศัยไม่สู้จะถูกอารมณ์ท่าน ท่านและข้าพเจ้าจึงห่างกันไปเลย วันหนึ่งได้พบกันที่ประตูวังหน้า แต่พอเดินคล้อยกันนิดเดียวเท่านั้นท่านก็ออกปากด่าให้ทันที ท่านหาว่าข้าพเจ้าไม่ไหว้ พระยาไชยาไม่สั่งสอนลูก ลูกจึงจองหอง เวลานั้นข้าพเจ้ายังไม่แก่ แต่จะว่าสาวรุ่นก็ไม่ได้ ถ้าจะเปรียบด้วยใบไม้ ก็พอเป็นใบเพสลาด คือไม่อ่อนแต่ไม่แก่จนเกินไปนัก…

พอข้าพเจ้าแว่วยินคำที่ท่านด่าก็ชักเดือด ลืมคิดไปว่านี่เป็นเมืองไทย เมืองไทยไม่ใช่อเมริกา รีบเดินไปถามว่าท่านด่าใคร ท่านนิ่งไม่ตอบ ก็มันมีธรรมเนียมที่ไหน ด่าเขาแล้วทำทองไม่รู้ร้อน ท่านคงรู้ดีว่า พ่อแม่ใครๆ ก็ต้องรักต้องบูชา เมื่อท่านไม่ตอบ ข้าพเจ้าก็ตอบเอาเองว่าพ่อหม่อมฉันไม่ใช่เลขขึ้นแก่ท่าน ท่านจงรู้ไว้ อะไร เป็นเจ้าเป็นนายไม่ไว้องค์ให้ดี เที่ยวด่าคนเล่นง่ายๆ พระรูปโฉมก็เป็นตุ๊กตาเสียบกบาล ยังโอษฐร้ายอีกเล่า เป็นบุญนักหนาที่ท่านออกได้ก็รีบสาวเท้าเดินเข้าวังไปเลย ถ้าท่านด่าซ้ำให้อีก ก็ไม่แน่ว่าจะเกิดอะไรต่อไป เคราะห์หามยามแบก ข้าพเจ้าอาจต้องโทษถึงเข้าตะรางก็ได้

ในครู่นั้นเองข้าพเจ้าก็เข้าไปในวังหน้า ไปทูลเล่าเรื่องให้เสด็จพระองค์เฉิดโฉมทรงทราบโดยละเอียด เสด็จฯ ก็ไม่ทรงกริ้วที่ข้าพเจ้าพูดสามหาวแก่ญาติของท่าน รับสั่งแต่ว่า ขิงก็ราข่าก็แรง แล้วท่านก็ทรงซ้อมละครของท่านต่อไป…”

(ในหนังสือยังเล่าเพิ่มเติมว่า วังหน้านั้นเพิ่งรื้อในสมัยรัชกาลที่ 6 เจ้านายผู้หญิงย้ายไปอยู่วังหลวงแต่นั้นมา พระองค์เฉิมโฉมเป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เวลานั้นยังประทับอยู่วังหน้า ต่อมาวังหน้าถูกรื้อหมดจึงไปประทับในวังหลวง…)

เกี่ยวกับเรื่องกิริยาและบรรยากาศในวัง ชื่น เขียนเล่าเกี่ยวกับตัวเองในหนังสืออภินันทนาการ อีกว่า

“เมื่อยังเล็ก พ่อไปไหนนอกจากราชการต้องไปตามเสด็จ ข้าพเจ้าก็เป็นเงาตามพ่อไปทุกๆ แห่ง จนพ่อถึงแก่ออกปากว่า ไก่ตัวผู้เลี้ยงลูก ลูกกำพร้าแม่สงสารมันเห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้จึงทำให้ข้าพเจ้าเกะกะ ใครๆ ว่าก็ไม่ฟังเสียงใครๆ ทั้งนั้น นึกจะทำอะไรก็ทำตามใจตัว ขี่ม้า ขี่ควาย ชักว่าว เล่นไม้หึ่ง เตะตะกร้อ ชกมวย กัดจิ้งหรีด กัดปลา เอาทั้งนั้น…

โกนจุกแล้วความรักลูก พ่อก็ใคร่ให้ลูกเป็นชาววังมีกิริยาและระเบียบเรียบร้อยเหมือนๆ กับเขาทั้งหลาย แต่ข้าพเจ้าก็ระเบียบอยู่ไม่ไหว ต้องกลับไปบ้านนอกตามเดิม ทั้งนี้เพราะว่าถ้าถูกนั่งพับเพียบหรือหมอบอยู่สักครู่สักยามก็รู้สึกว่าถูกทำโทษอย่างร้ายแรง นี่น่ะแหละท่านผู้ใหญ่จึงพูดไว้ว่าตามใจเด็กทำให้เด็กเสีย แต่พ่อท่านก็พูดแก้ว่ามันเป็นเด็ก เด็กต้องซน มันโตเป็นสาวแล้วมันก็หายไปเอง”

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงรุ่นสาวแล้วก็ยังแก่นแก้วเสมอ ดังที่ชื่น เขียนเล่าเกี่ยวกับตัวเองไว้ว่า

“อาๆ มีหลายคนก็ล้วนผู้ชายทั้งนั้นไม่มีใครจะหัดกิริยามารยาทให้หลานแก่นแก้วได้ จนโกนจุกรุ่นสาวแล้วก็ยังแก่นแก้วอยู่เสมอ พอโตเป็นสาวก็จึงชอบสวยชอบงาม ชอบเครื่องแต่งตัว เครื่องเพชรๆ ทองๆ จนพ่อออกปากและสอนว่า ลูกเอ๋ยเราเป็นคนบ้านนอกจะไปเอาอย่างคนในกรุงนั้นไม่ได้ เท่าที่พ่อเลี้ยงเจ้ามานี้ พ่อคิดว่าดีกว่าคนที่มีสภาพเท่ากับพ่อเลี้ยงลูกเขาเสียอีก คนจะดีไม่ต้องแต่งเครื่อง แต่งดำก็สวย ถ้าเจ้าทำระยำ ถึงพ่อจะเอาทองมาหุ้มตัวเจ้า เจ้าก็คงระยำอยู่นั่นเอง

ข้อสำคัญ อย่าทำให้คนดูถูกเราได้ และก็อย่าไปดูถูกใครง่ายๆ คนที่เป็นผู้รู้ท่านไม่ดูถูกคนจนดอก คนผู้ดีต้องมีดีจริงๆ ไม่ใช่ผู้มั่งมี ผู้มั่งมีนั้นเขาเรียกว่าผู้มี เป็นอีกประเภทหนึ่งต่างหาก

คำสอนของพ่อนี้เป็นคุณแก่ตัวข้าพเจ้ามาก เพราะข้าพเจ้าได้จำคำของพ่อไว้จนขึ้นใจ ไม่ได้ดูถูกดูหมิ่นใครเลย ฉะนั้นจึงไม่เคยได้ยินใครมาดูถูกดูหมิ่น (ต่อหน้า) ข้าพเจ้า แต่ก็นั่นแหละ โบราณย่อมว่าคนรักเท่าผืนหนังคนชังเท่าผืนเสื่อ (เสื่อผืนโตๆ อาจปิดคลุมผืนหนังมิดได้) กลอนพระอภัยมณีมีอยู่ว่า

‘ที่รักกันสรรเสริญเจริญสิ้น ที่ชังนินทาแถลงทุกแห่งหน การกระหายร้ายดีหนีไม่พ้น จะกลัวคนครหาอยู่ว่าไร'”

ถึงจะมีกิริยาลักษณะเป็นชาย แต่เขตร ยังเล่าว่า มีชายหนุ่มมาชอบพี่สาว ส่งคนไปติดต่อบิดาเพื่อเจรจาสู่ขอ บิดาตอบกลับไปว่าต้องเจรจากับเจ้าตัวเอง ชายหนุ่มรายนั้นจึงให้สตรีเป็นแม่สื่อเจรจาทาบทาม อ้างว่า ชายหนุ่มนั้นหัวนอก มีความดีหลายประการ คำตอบที่พี่สาวตอบกลับคือ “ก็เมื่อเขาเป็นคนดีขนาดนั้นทำไมเธอจึงไม่แต่งกับเขาเสียเอง” แม่สื่อเลยไม่กล้าเจรจาอีก

วีรกรรมของ “ชื่น ศรียาภัย”

ด้วยลักษณะดังที่เล่าข้างต้นว่า “นึกจะทำอะไรก็ทำตามใจตัว” ภายหลังจึงมีหนี้อยู่บ้างทั้งที่อยู่บ้าน โดยชื่น เล่าว่า “อยู่บ้านฟุ้งเฟ้อในการจ่ายมากไป” ดังข้อความว่า

“…ครั้งหนึ่งพ่อไปราชการ ข้าพเจ้าอยู่บ้านฟุ้งเฟ้อในการจ่ายมากไป เงินหมดไม่รู้ตัวจึงไปยืมราชทูตอเมริกันมาใช้แก้จนไปได้ ทูตคนนั้นชื่อแฮมิลตัน บ้านใกล้วัดม่วงแค การยืมเงินไม่ต้องมีใบสำคัญอะไร ท่านให้ยืมโดยไม่มีดอกเบี้ยด้วยซ้ำ เพราะแหม่มและบุตรหญิงของท่านชอบข้าพเจ้ามาก ทูตคนนี้ตายที่เมืองไทย นำศพไปฝากไว้ ณ สุสานโปรเตสแตนท์บางขวาง วันแห่ศพข้าพเจ้าไปส่งศพด้วย เจ้านายและขุนนางไทยไปกันมาก

มีผู้ประหลาดใจและเห็นขวางที่ข้าพเจ้าไปส่งศพด้วย เพราะสมัยนั้นหญิงไทยยังคืบคลานกันอยู่ ไม่เผ่นโผนแผ่เผยเช่นเวลานี้ ทราบว่าเพื่อนของพ่อที่ข้าพเจ้าเรียกว่าคุณลุง เคยทักท้วงว่าทำไมจึงปล่อยลูกนัก แต่พ่อได้บอกว่ามันเคยเป็นหนี้เงินตากิง เมียตากิงชอบมันมาก ผมเองไม่ค่อยจะได้อยู่บ้านและมันก็ไม่มีแม่ สงสารมัน ตามมันจนเคยตัว มันก็โตแล้ว จะอย่างไรก็ตามบุญตามกรรมของมัน”

บุคคลที่ “ชื่น” ไปยืมเงินอีกท่านคือ “เจ้าคุณภักดีฯ (เลิศ)” ดังที่อัตชีวประวัติเล่าไว้ว่า

“เจ้าคุณภักดี (เลิศ) ก็เป็นอีกผู้หนึ่งพร้อมด้วยคุณหญิงของท่าน ในข้อที่ท่านเป็นคลังของข้าพเจ้า ไม่มีเงินไปขอยืมได้ และทั้งไม่ให้ดอกเบี้ยเสียด้วย เงินที่ยืมนั้นไม่จำนวนพันๆ ยืมครั้งละหมื่นๆ ทีเดียว หาไปใช้ได้ก็ใช้ไป ยังหาไม่ได้ไอโอยูไว้ และใช่แต่เงินยืม แต่ยังมีส่วนแป๊ะเจี๊ยะอีกเล่า…”

ความเกี่ยวข้องกับมวย

ในแง่มวยนั้น ช่วงที่บิดาของเขตร เป็นเจ้าเมืองอยู่ที่ไชยา ก็มีบ้านอยู่กรุงเทพฯ คือบ้านที่ตรอกวัดม่วงแค ติดสถานทูตอังกฤษในเวลานั้น (ภายหลังเป็นที่ทำการไปรษณีย์กลางบางรัก) บิดาจึงเดินทางไปมาระหว่างเมือง โดยมีเรือเดินทะเล เพราะมีการค้ารังนก หุ้นกับพระยาบริบูรณ์ราชสมบัติ (ภายหลังได้เป็นที่พระยาโชฎึกราชเศรษฐี)

การค้ารังนกขาดทุนอย่างหนักในภายหลัง ไม่สามารถชำระค่าภาษีให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติของรัฐบาล ต้องขายบ้านที่นั้นและที่ดินทดแทนเป็นค่าภาษี ย้ายไปอยู่บ้านใหม่ที่สีลม คือบ้านไชยา (ภายหลังเป็นที่ตั้งของห้างเซ็นทรัล)

การขายบ้านยังไม่พอชำระค่าภาษี ต้องขายช้าง เรือใบ 15 ลำ เรือเดินทะเล แต่ก็ยังขาดอีก 25 หมื่น สมัยนั้นเป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งโปรดการมหรสพ พี่ชื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอให้ยกเลิกหนี้สินค้างอยู่ (ได้ชำระมามากแล้ว ไม่สามารถชำระต่อไปได้)

เขตร เล่าว่า เมื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาแล้ว มีรับสั่งว่า เรื่องลือกันที่ว่าพี่ชื่น เล่านิทานเก่ง ให้เล่านิทานถวายจึงจะโปรดประทานให้ยกเลิกหนี้สินภาษีรังนก

เนื้อหาในส่วนต่อมา เขตร เล่าว่า

“ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสิงคโปร์ ไม่มีใครเล่านิทานถวายหน้าที่นั่งได้ เพราะโปรดฟังนิทานที่…สองแง่สองง่าม พี่ชื่นก็เสมือนผู้ชายคนหนึ่งดังได้เล่ามาแล้วจึงขันอาสา แต่ก่อนจะเล่าก็ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว

เมื่อมีพระบรมราชานุญาตพี่ชื่นจึงได้เล่าถวายอย่างไม่อั้น ปรากฏว่าทรงพระสรวลเป็นที่โปรดปรานยิ่งนัก จนกระทั่งเข้าที่พระบรรทม ครั้นรุ่งเช้าโปรดให้หาพี่ชื่นเข้าเฝ้า

พี่ชื่นเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า ‘ป้าชื่นไปนอนร้องละครได้แล้ว จะพูดกับพระองค์ศุภโยคให้’ ทรงหมายถึงพระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในสมัยนั้น

การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาของพี่ชื่นจึงได้ผล เป็นอันว่าหมดหนี้สิน และได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านไชยา ถนนสีลม ใกล้กับโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย หรือที่ห้างเซ็นทรัล…”

เรื่องนี้ย่อมแสดงถึงลักษณะของ “พี่ชื่น” ของเขตร ได้เป็นอย่างดี อีกประการหนึ่งคือ ชื่น ศรียาภัย ไปเกี่ยวกับวงการมวยได้ เนื่องด้วยสมัยที่เกิดสนามมวยสวนกุหลาบขึ้น เพื่อเก็บเงินบำรุงกองเสือป่า หัวเมืองต่างๆ ส่งมวยฝีมือดีเข้ามาแสดง

มวยนัดแรกของสนามมวยสวนกุหลาบคือ หมื่นมือแม่นหมัด มวยลพบุรี กับ ผ่อง ปราบสบบ อันเป็นมวยโคราช ชกกันบนสนามโดยยังไม่มีตั้งเวที

เจ้าคุณนนทิเสนฯ นายสนามมวยสวนกุหลาบสมัยนั้น ขอนักมวยจากเมืองต่างๆ มา มีแต่มวยภาคอื่น ไม่มีมวยภาคใต้ เจ้าคุณนนทิเสนฯ จึงหารือกับ เจ้าคุณภักดีนรเศรษฐ และเจ้าคุณโอวาทวรกิจ ซึ่งได้ให้คำปรึกษาว่าให้ทาบทาม ชื่น ศรียาภัย ผู้เป็นดั่ง “เทศาภิบาล” (เรียกอย่างสัพยอก เพราะเป็นคนกว้างขวาง ผู้คนยำเกรงเสมือนเท่าตำแหน่งราชการนั้น) สองเจ้าคุณจึงติดต่อกับชื่น ศรียาภัย

ในเรื่องความกว้างขวางนั้น ชื่น บรรยายถึงตัวเองเอาไว้ในหนังสืออภินันทนาการด้วยว่า

“…พ่อข้าพเจ้ามีพวกพ้องมาก ข้าพเจ้าเป็นลูกพ่อจึงมีพวกพ้องมาก และอาจอวดได้ว่ามีตั้งแต่ชั้นสูงถึงชั้นต่ำที่สุดของที่สุดและกล้าพูดได้ว่าข้าพเจ้าไม่เคยจะเบียดเบียนใครนอกจากท่านที่ข้าพเจ้าได้รับความเอื้อเฟื้อ โดยความกรุณาและอารีของท่าน…”

ชื่น ศรียาภัย สามารถสั่งมวยปักษ์ใต้เข้ามาหลายราย เนื่องด้วยมีที่พักสะดวกสบาย ให้พักที่บ้านไชยา เป็นที่หลับนอนไปด้วย และมวยที่สั่งมาจากปักษ์ใต้มีฝีมือเป็นที่ต้องตา กรมหลวงชุมพรฯ ทรงทราบเข้าเพราะเคยเสด็จปักษ์ใต้ จึงเรียกพวกมวยนี้ไปฝึกซ้อมที่วังเปรมประชากรนั่นเอง

เรื่องราวในรั้วมวยบ้านไชยา ยังมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจอีกหลายประเด็น หากมีโอกาสจะมานำเสนอเล่าสู่กันฟังใหม่

สำหรับชื่น ศรียาภัย ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 82 ปี ในบรรดาสตรีแห่งวงการมวยไทย ภายหลังจากชื่น ศรียาภัย ยังมีอุไร ฉวีวงษ์ ที่มีบทบาทสนับสนุนวงการมวยไทยอยู่หลายปีด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

เขตร ศรียาภัย. ปริทัศน์มวยไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550

หมายเหตุ: ปริทัศน์มวยไทย นำลงในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย รายสัปดาห์ยุคแรกๆ เริ่มในช่วงพ.ศ. 2515 ภายหลังหลานปู่ค้นหาต้นฉบับมารวมเล่มตีพิมพ์เมื่อปี 2550

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 เมษายน 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0