โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เชียงใหม่คืบหน้า"รถไฟฟ้าสายสีแดง"กลุ่มทุนไทย-จีน-ฝรั่งเศสจ่อ PPP

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 29 ม.ค. 2563 เวลา 08.54 น. • เผยแพร่ 29 ม.ค. 2563 เวลา 08.47 น.
358966

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 มกราคม 2563) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (สรุปผลการศึกษาโครงการ) งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) โดยมีผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา เข้าร่วมการประชุมกว่า 250 คน ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 นี้ เป็นการนำเสนอผลการศึกษาแนวเส้นทาง สถานี รูปแบบโครงการ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบผลการศึกษา พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงผลการศึกษาให้มีความสมบูรณ์ คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการในขั้นตอนนี้ราว 2 เดือน จากนั้นราวเดือนพฤษภาคม 2563 จะนำผลการศึกษาฉบับปรับปรุงดังกล่าว มานำเสนอในเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ที่จังหัดเชียงใหม่ เป็นครั้งสุดท้าย และคาดว่าในส่วนของรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็จะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมเช่นกัน

“ในช่วงบ่ายของวันนี้ เราจะเปิดเวทีประชุมเพื่อทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Market Sounding) ที่สนใจร่วมทุนโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งโครงการนี้จะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในสัดส่วนรัฐ 80% เอกชน 20% เพื่อนำไปประกอบการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการที่เหมาะสมต่อไป”

นายภคพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีกลุ่มทนที่ให้ความสนใจร่วมทุนโครงการด้วยหลายกลุ่ม เป็นกลุ่มทุนไทยรายใหญ่ 3 กลุ่ม กลุ่มทุนจีน กลุ่มทุนฝรั่งเศส และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น โดย รฟม.จะนำเสนอรายละเอียดโครงการให้กับกลุ่มทุนที่เข้าร่วมรับฟังในครั้งนี้ ถึงรูปแบบการร่วมลงทุน และความคุ้มค่าของการลงทุน และในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 จะเปิดเวทีให้กลุ่มทุนที่สนใจรับฟังแนวทางและรายละเอียดโครงการที่กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ตามแผนงานเมื่อการศึกษาออกแบบแล้วเสร็จและมีการปรับปรุงผลการศึกษาอย่างสมบูรณ์ทุกขั้นตอน รวมถึงได้กลุ่มผู้รวมทุนโครงการ จนนำมาสู่ขั้นตอนรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุน (PPP) คาดว่าจะสามารถนำเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรีได้ราวปลายปี 2563 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการได้ภายในปี 2565 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ราวปี 2570

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ ถือว่ามีความคืบหน้าอย่างมากและมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในเชิงพื้นที่ได้มีการสำรวจทั้งแนวเส้นทางบนดินและใต้ดิน ซึ่งการก่อสร้างจะดำเนินการครั้งละ 1 เส้นทาง เริ่มจากสายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) เป็นระบบรถรางไฟฟ้า (Tram) มีลักษณะเป็นระบบรถไฟฟ้าที่วิ่งตามแนวทางวิ่งหรือราง มีรูปแบบคล้ายกับรถไฟฟ้า MRT แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยวิ่งตามแนวเหนือ-ใต้ รวมระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร มีสถานีรับ-ส่งผู้โดยสาร 16 สถานี ได้แก่ สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์ สถานีศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ สถานีสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี สถานีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ สถานีแยกหนองฮ่อ สถานีโพธาราม สถานีข่วงสิงห์ สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งช้างเผือก สถานีมณีนพรัตน์ สถานีประตูส่วนดอก สถานีแยกหายยา สถานีแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ สถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่ สถานีบ้านใหม่สามัคคี และสถานีแม่เหียะสมานสามัคคี โดยเป็นทางวิ่งระดับดินประมาณ 9 กิโลเมตร และเป็นทางวิ่งใต้ดินประมาณ 7 กิโลเมตร สำหรับมูลค่าการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง อยู่ที่ราว 27,000 ล้านบาท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0