โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"เชฟโรเลต" ทิ้งตลาดเมืองไทย "ซัพพลายเออร์-ดีลเลอร์-ลูกค้า" เคว้ง

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 20 ก.พ. 2563 เวลา 05.16 น. • เผยแพร่ 19 ก.พ. 2563 เวลา 14.10 น.
74577931_533686777444365_1494235176866152448_n

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ค่ายรถยนต์บิ๊กทรีสัญชาติอเมริกันอย่าง จีเอ็มและ เชฟโรเลต ที่เข้ามาทำตลาดในบ้านเรา ประกาศพับฐานเก็บกระเป๋ากลับบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้วภายในสิ้นปีนี้ โดยตัดสินใจขายศูนย์การผลิตรถยนต์จีเอ็มที่จังหวัดระยองให้กับ เกรท วอล มอเตอร์ส จากประเทศจีน

ข่าวเชฟโรเลตจะหนีกลับบ้าน เราได้ยินกันบ่อยมากแต่ก็ไม่มีใครคอนเฟิร์ม แม้ว่าจะมีการส่งสัญญาณมาเป็นระยะ ๆ ตลอดช่วงเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา ทั้งการปลดคน ลดขนาดองค์กร ยุติไลน์ผลิตและขายรถยนต์นั่ง เหลือไว้เพียงปิกอีพ และกลุ่มรถเอสยูวี จนกระทั่งเมื่อเช้าวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฝ่ายประชาสัมพันธ์จีเอ็มและเชฟโรเลตยืนยันการยุติบทบาทในตลาดประเทศไทย โดยจะเคลียร์ทุกอย่างให้จบภายในปี 2563 นี้

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อนหน้า จีเอ็มได้หอบเงินมาลงทุนในบ้านเราด้วยฟอร์มใหญ่รัชดาลัยสไตล์อเมริกัน หลังจากเลือกยุทธศาสตร์ในการปักหมุดหมายใหม่เพื่อใช้ไทยเป็นหัวหอกในการทำตลาดรถยนต์ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

จีเอ็ม ประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2536และเริ่มก่อสร้างศูนย์การผลิตรถยนต์เมื่อปลายปี 2539 ด้วยการขนเม็ดเงินลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท มาจับจองลงหลักปักฐานบนเนื้อที่ ขนาด 440 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง เพื่อผลักดันและก่อตั้งเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์จีเอ็ม ประเทศไทย เป็นศูนย์การผลิตที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดีที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อผลิตรถยนต์เชฟโรเลต และแบรนด์อื่น ๆ ของจีเอ็ม สำหรับจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก

เปิดไทม์ไลน์ “จีเอ็ม”

เริ่มจากวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2543เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ตัดสินใจเริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้กลุ่มบริษัทจีเอ็มในประเทศไทย ประกอบด้วยศูนย์การผลิตยานยนต์จีเอ็ม ประเทศไทย ศูนย์การผลิตเครื่องยนต์จีเอ็ม เพาเวอร์เทรน ประเทศไทย ในจังหวัดระยอง และเชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย

เดือนสิงหาคมปีเดียวกันได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระกรุณาฯเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์การผลิตรถยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทยใน จ.ระยองภายใต้การนำทัพของ “ริค แวกอเนอร์”ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส จำกัดในขณะนั้นด้วยการส่งรถเชฟโรเลตซาฟิร่า

โมเดลแรกที่ประกอบขึ้นจากโรงงานประเทศไทย ซึ่งครั้งนั้นถือว่าสร้างปรากฏการณ์กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ส่งผลให้รถรุ่นนี้ครองแชมป์เอ็มพีวี 3 ปีซ้อนด้วยยอดขายถล่มทลาย และยังส่งให้ซาฟิร่ามีกลุ่มแฟนที่เหนียวแน่นจนทุกวันนี้

จากนั้นในปีถัดมาได้มีการแนะนำรถยนต์นั่งนำเข้าอย่างเชฟโรเลต ลูมิน่า จากออสเตรเลียเข้ามาทำตลาด และตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาค่ายรถยนต์สัญชาติอเมริกันค่ายนี้ยังส่งรถยนต์ ออกสู่ตลาดบ้านเราหลากรุ่นหลายโมเดล ทั้งเปิดตัวรถยนต์นั่งเชฟโรเลต ออพตร้า, อาวีโอ, โซนิค, ครูซ, รถปิกอัพโคโลราโด, รถยนต์นั่งอเนกประสงค์อย่างสปิน, เทรลเบลเซอร์ และแคปติวา

เรียกได้ว่าแต่ละรุ่นที่เปิดตัวออกสู่ตลาดบ้านเรานั้น ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างดี

ผลิตเครื่องยนต์ 5 แสนเครื่อง

หลังจากเดือนสิงหาคม 2553 จีเอ็มประเทศไทย ได้เดินหน้าการก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องยนต์ดีเซลแห่งใหม่เสร็จสมบูรณ์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อมสำหรับแผนงานการติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล และในเดือนกันยายนปีเดียวกันโรงงานผลิตรถยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทย ที่จังหวัดระยอง ผลิตรถยนต์ครบจำนวน 750,000 คัน

จากนั้นในเดือนตุลาคม 2553 ได้มีการฉลองการเปิดตัวรถยนต์เชฟโรเลตครูซครั้งแรกที่ออกจากสายการผลิตจากโรงงานระยอง ด้วยความหมายมั่นปั้นมือให้ไทยเป็นฐานผลิตที่สำคัญ โดยเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 จีเอ็ม เพาเวอร์เทรน ประเทศไทย ผลิตเครื่องยนต์ดูราแม็กซ์ ดีเซล เทอร์โบ ที่ผลิตให้กับเชฟโรเลต โคโลราโด และเทรลเบลเซอร์ครบ500,000 เครื่องยนต์ นับตั้งแต่เริ่มเดินสายการผลิต เพื่อรองรับทั้งตลาดในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่านี่คือศูนย์การผลิตเครื่องยนต์ระดับโลกที่ชาวเชฟโรเลตและจีเอ็มทุกคนร่วมกันทำงานโดยยึดมั่นในคุณภาพและมาตรฐานการผลิต

*ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจ *

แต่กราฟธุรกิจไม่ได้มีไว้ให้ขึ้นเพียงอย่างเดียว เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 เชฟโรเลต ประเทศไทยได้ออกจดหมายครั้งสำคัญถึงการปรับโครงสร้างธุรกิจในประเทศไทย ที่ร่วมถึงสำนักงานในกรุงเทพฯและศูนย์การผลิตที่ระยอง ด้วยการประกาศถอนการลงทุนในโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 มูลค่า 13,000 ล้านบาท

พร้อมทั้งประกาศยุติสายการผลิตรถยนต์นั่งเชฟโรเลต โซนิค รวมทั้งรถเอ็มพีวีอย่างเชฟโรเลต สปิน ที่สำคัญยังประกาศรีดไขมันเพื่อกระชับองค์กรด้วยการลดพนักงานลง 30% ภายใต้โครงการ “ลาออกโดยสมัครใจ” หรือ Voluntary Separation Program

ครั้งนั้น “มาร์คอส เพอร์ตี้” กรรมการผู้จัดการ จีเอ็ม ประเทศไทย และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกมายืนยันและให้คำมั่นว่า เชฟโรเลตยังพร้อมที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจในประเทศไทยต่อเนื่อง และไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณเพื่อที่เตรียมละฐานการลงทุนแห่งนี้เหมือนเช่นที่หลายคนตั้งข้อสงสัยในขณะนั้นว่า ฐานการผลิตในประเทศไทยจะถูกทิ้งเฉกเช่นเดียวกับฐานการผลิตอื่น ๆ หรือไม่

แต่การปรับเปลี่ยนครั้งนั้นเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อให้สามารถมีโอกาสทางการแข่งขันและการเติบโตต่อไปได้สำหรับตลาดประเทศไทย เพื่อให้การเติบโตในระยะยาวและเพิ่มรายได้แก่ธุรกิจ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปรับโครงสร้างที่จีเอ็มเตรียมดำเนินการทั่วทั้งภูมิภาค

หลังจากนั้น ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันเชฟโรเลตประกาศยุติการผลิตรถยนต์ที่ศูนย์เบกาซี ใกล้กับกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ที่ผลิตรถเอ็มพีวี รุ่นสปิน โฟกัสเฉพาะปิกอัพ-เอสยูวี ภายใต้แผนงานควบรวมจีเอ็ม ประเทศไทย เวียดนามและอินโดนีเซีย

เมื่อครั้งนายเอียน นิโคลส์ ประธานกรรมการ จีเอ็ม เอเชียตะวันออกฉียงใต้ได้กล่าวว่าจากการปรับโครงสร้างทางธุรกิจในภูมิภาคนี้จะเป็นการมุ่งการยกระดับศักยภาพการดำเนินงานและการสร้างผลกำไรเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจเพื่อการเติบโตในระยะยาว

และครั้งนี้เชฟโรเลตประกาศพลิกฟื้นธุรกิจครั้งสำคัญ โดยโฟกัสไปที่กลุ่มรถปิกอัพและรถเอสยูวีในการทำตลาด ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์และความต้องการของประเทศไทย เนื่องจากเป็นตลาดหลักและมีส่วนแบ่งทางการตลาดค่อนข้างสูง แต่ยังมีกั๊กไม่ทิ้งตลาดรถยนต์นั่งโดยสิ้นเชิง เหลือเชฟโรเลต ครูซเพียง 1 รุ่น แต่สุดท้ายก็ถอดโมเดลนี้ออกจากตลาด

*ข่าวลือว่อนปิดกิจการ *

ปี 2561 ที่ผ่านมาถือเป็นปีแห่งการขับเคลื่อนของเชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย และเป็นการสร้างรากฐานของแบรนด์ให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งหนึ่ง โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญไปที่งานบริการลูกค้า เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่นเดียวกับการทำงานภายในองค์กรที่จะเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งด้านการตลาด การขาย และบริการหลังการขาย ภายใต้ “โกลบอลมาร์เก็ตติ้ง”

เพียงแต่ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของแต่ละประเทศจะปรับใช้อย่างไรให้เหมาะสม เชฟโรเลต ประเทศไทย เลือกปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร ควบคู่ไปกับการสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวแทนจำหน่าย ปรับฐานใหม่เพื่อหวังรองรับการเติบโตในอนาคต พร้อมชูโมเดลโชว์รูมและศูนย์บริการ 2S เพื่อเสริมทัพ หวังให้ผู้แทนจำหน่ายมีการลงทุนน้อยที่สุด

พร้อมทั้งยังคงเดินหน้าเสริมทัพส่งสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดอย่างเชฟโรเลต แคปติวาแต่ปรากฏว่ากระแสไม่เปรี้ยงปร้าง และตลอดช่วงระยะเวลา 3-5 ปีที่ผ่านมา กระแสการลดพนักงานของค่ายเชฟโรเลตมีออกมาสั่นคลอนเป็นระลอก ๆ จนล่าสุดราวเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมาจีเอ็ม ประเทศไทยประกาศเลิกจ้างทั้งพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราวกะทันหัน เป็นเหตุให้พนักงานประจำและพนักงานชั่วคราวตกงานแบบฟ้าผ่ากว่า 300 คน ท่ามกลางข่าวลือว่ามีแผนจะปิดกิจการ

*เคว้ง “ชิ้นส่วน-ดีลเลอร์-พนง.” *

ข่าวลือมักตามมาด้วยข่าวจริงบ่อยครั้งจีเอ็มและเชฟโรเลตร่อนจดหมายประกาศยุติการจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตในประเทศไทย พร้อมการตัดสินใจขายศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทยในจังหวัดระยองให้แก่เกรท วอล มอเตอร์ส ซึ่งเป็นแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีนภายในสิ้นปี 2563 นี้ กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ แต่ที่น่าตกใจคือ ดีลเลอร์เกือบทุกรายทราบข่าวนี้จากสื่อสารมวลชน แม้ในเนื้อความจะระบุใจความสำคัญ ว่า รองประธานฝ่ายกลยุทธ์ระดับโลกของเกรท วอลมอเตอร์ส “หลิว เซียงชาง” กล่าวว่า เกรท วอล มอเตอร์ส ได้เข้าซื้อศูนย์การผลิตของจีเอ็ม ประเทศไทยใน จ.ระยองจะช่วยพัฒนาธุรกิจของเกรท วอล มอเตอร์สในตลาดประเทศไทยและอาเซียน

เกรท วอล มอเตอร์สจะขยายธุรกิจไปทั่วภูมิภาคอาเซียนโดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงประเทศออสเตรเลียด้วย และจีเอ็มยืนยันว่าจะคงดำเนินการให้บริการและความช่วยเหลือแก่ลูกค้าเชฟโรเลต

สำหรับการบริการหลังการขายการซ่อมบำรุง และการรับประกันคุณภาพรถยนต์ “เฮกตอร์ บีจาเรียล” ประธานกรรมการจีเอ็ม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้คำมั่นสัญญาจะดูแลช่วยเหลือพนักงานและลูกค้า จะปรับเปลี่ยนการดำเนินงานต่าง ๆ สำหรับลูกค้า พนักงานผู้จัดจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตและผู้จัดหาวัตถุดิบหรือบริการให้สำเร็จเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งความช่วยเหลือและมอบแพ็กเกจเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดในจำนวนที่มากกว่ากฎหมายแรงงานไทยกำหนด

แต่คำถามที่เชฟโรเลตและจีเอ็ม ประเทศไทย ต้องตอบให้ได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการชาวไทยและลูกค้าชาวไทยนั้น จะมีการชดเชยหรือช่วยเหลืออย่างไร ทั้งในเชิงธุรกิจ ทั้งสต๊อกอะไหล่ ราคาขายต่อรถยนต์เชฟโรเลต และการลงทุนจำนวนมากมายมหาศาลของบรรดาดีลเลอร์

ทุกอย่างยังต้องการคำตอบ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0