โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เฉลียว ยันสาด ผู้ปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำสาธารณะ “บึงวงฆ้อง” เมืองชัยนาท

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 23 มี.ค. 2562 เวลา 23.00 น.
24 เฉลียวผู้กล้า

คุณเฉลียว ยันสาด เป็นประชาชนธรรมดาผู้ยากจน มีอาชีพเป็นกรรมกรรับจ้างรายวัน เนื่องจากไม่มีพื้นที่ทำกิน พื้นที่ที่มีอยู่ก็เพียง 98 ตารางวา สำหรับปลูกบ้านเท่านั้น คุณเฉลียว อ้างสิทธิของประชาชน ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในบึงวงฆ้อง ซึ่งเคยเป็นแหล่งอาหาร เลี้ยงดูชีวิต และครอบครัว มาตั้งแต่ตนเองยังเป็นเด็กด้วยเป็นแหล่งน้ำทางการเกษตร และการประมงน้ำจืดของครอบครัว

คุณเฉลียวได้ชักชวนชาวบ้านคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่รอบบึงกว่า 3 ตำบล มาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีทั้งตำบลห้วยงู ตำบลนางลือ และตำบลแพรกศรีราชา แต่ไม่ค่อยมีใครกล้าเข้าร่วม คุณเฉลียวจึงลุกขึ้นมาปกป้องบึงวงฆ้องด้วยหลักฐานที่เป็นเอกสาร และกระบวนการทางกฎหมาย

คุณเฉลียวได้ใช้ความกล้าหาญในฐานะประชาชน ลุกขึ้นมาเป็นโจทย์ฟ้องร้อง อธิบดีกรมที่ดินเป็นจำเลย เนื่องจากเป็นผู้ออก นส.3 ก ทับพื้นที่บึงวงฆ้อง ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นเพียงผู้เดียวที่กระทำการอย่างอาจหาญ ในการทวงคืนที่ดินสาธารณประโยชน์บึงวงฆ้อง จากกลุ่มนายทุน และชาวบ้านบางส่วนที่ออกเอกสารสิทธิทับซ้อนที่ดินสาธารณประโยชน์ มาเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล

โดยใช้แผนที่ทหาร ที่ออกก่อนปี 2477 มาเป็นหลักฐาน และดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรม มาเป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน เพื่อให้บึงวงฆ้องได้กลับมาเป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันดังเคยเป็นมาเช่นในอดีต โดยสามารถทวงคืนพื้นที่ได้จำนวน 77 แปลง จาก 60 ราย รวมเนื้อที่ 640 ไร่ 2 งาน 14 ตารางวา ซึ่งศาลปกครองสูงสุด ให้เป็นผู้ชนะคดีต่ออธิบดีกรมที่ดิน ได้เป็นผลสำเร็จ

ในความเป็นจริงแล้วคุณเฉลียวเป็นผู้มุ่งมั่น แน่วแน่ แก้ไขความอยุติธรรม ไม่ย่อท้อต่อปัญหา และอุปสรรค ใฝ่รู้ ศึกษาหาข้อมูลกระบวนการ พยายามเก็บข้อมูลรวบรวมหลักฐานต่างๆ อย่างรัดกุม และเป็นระเบียบตามมิติของเวลา รวมถึงวิธีการต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อความถูกต้อง มาอย่างยาวนานเป็นเวลากว่า 25 ปี จึงได้พื้นที่สาธารณประโยชน์กลับคืนมา แม้ว่ายังมีพื้นที่อีกบางส่วน ประมาณเกือบครึ่งหนึ่งที่ผู้บุกรุกยังไม่ยอมคืน ทั้งที่ศาลสั่งแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ถือว่าคุณเฉลียวเป็นผู้อุทิศตน เสียสละเวลาเป็นส่วนใหญ่มาดูแลบึงวงฆ้อง ตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้าถึง 1 ทุ่มของทุกวัน ด้วยการปลูกและดูแลต้นไม้ ตัดหญ้า จัดการพื้นที่บึงบางส่วนให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา รวมถึงช่วยสอดส่องดูแลผู้ที่มาใช้ประโยชน์ในบึงวงฆ้อง ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ของชุมชนทุกอย่าง ทำด้วยจิตอาสาไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น

คุณเฉลียว ยันสาด เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2501 ที่ตำบลห้วยงู อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท บิดาชื่อ คุณเลาะ มารดาชื่อ คุณชัว มีพี่น้องทั้งสิ้น 8 คน ช่วงวัยหนุ่มมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ที่อำเภอหันคา และกรุงเทพมหานคร เนื่องจากฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน วัยเด็กได้ติดตามพ่อแม่มาหาปลา และใช้ประโยชน์จากบึงวงฆ้อง เป็นแหล่งหากินเป็นหลัก จึงเห็นและผูกพันกับบึงวงฆ้อง ว่าเป็นแหล่งน้ำสาธารณะ อันเป็นมรดกของชุมชน

คุณเฉลียวมีคุณลำเพย ยันสาด ซึ่งมีอาชีพรับจ้างรายวันเช่นกัน เป็นคู่ชีวิต มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือคุณสุริยาวุธ ยันสาด อายุ 37 ปี ประกอบอาชีพรับจ้างทำงานโรงงานที่จังหวัดอุบลราชธานี

และคุณนฤพล ยันสาด ปัจจุบันอายุ 34 ปี ในช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยหนุ่ม ได้อาศัยอยู่วัดในกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียนหนังสือ ขณะเดียวกัน ก็ชกมวยเป็นค่าเล่าเรียน และส่งเงินบางส่วนมาเกื้อกูลบิดามารดา ด้วยความมานะ อดทน จึงเรียนสำเร็จวิชากฎหมาย และกำลังยื่นขอจดทะเบียนเป็นทนายความ หลังจากเรียนจบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมกันนี้ ก็กำลังเข้าเรียนเนติบัณฑิตไทย

คุณเฉลียว ยันสาด เรียนหนังสือจบเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เท่านั้น แม้จะอยากศึกษาต่อแต่ก็ขาดทุนทรัพย์ เมื่อถึงช่วงเวลาเกณฑ์ทหารก็ได้เป็นทหารเกณฑ์ อยู่หน่วยปืนใหญ่ประจำการอยู่ที่ ป.พัน 1 ศูนย์ 1 ลพบุรี สนใจและสามารถเรียนรู้เรื่องการดูแผนที่จนเชี่ยวชาญ เมื่อฝึกอยู่ในป่า

เมื่อคุณเฉลียว ได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิด สังเกตเห็นว่า “บึงวงฆ้อง” เนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ อันเคยเป็นแหล่งหาอยู่หากินของครอบครัวยันสาด และชาวบ้านมากกว่า 3 ตำบลรอบบึงวงฆ้อง แต่เหตุไฉนจึงถูกบุกรุกจับจองเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล กระทั่งออกป็นเอกสารสิทธิ (นส.3 ก) ทับที่สาธารณประโยชน์ ตนเองในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเช่นเดียวกับชาวบ้านอีกหลายหมู่บ้านใน 3 ตำบล จึงได้คิดหาวิธีที่จะนำบึงวงฆ้องกลับมาเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน

ในปี พ.ศ. 2537 จึงเริ่มจากชักชวนหาแนวร่วมจากแกนนำในชุมชนกว่า 10 คน เพื่อรวบรวมเอกสาร และสืบหาข้อมูล จนพบว่าบึงวงฆ้องได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 จึงยื่นคำร้องที่บรรจงเขียนด้วยลายมือตนเอง ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบเอกสารสิทธิในพื้นที่บึงวงฆ้อง

จากนั้นจึงทำหนังสือร้องเรียนไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบบึงวงฆ้อง แต่ไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งมีสัสดีจังหวัดชัยนาท แนะนำให้ศึกษาเรื่องหลักเกณฑ์การพิสูจน์หลักฐานการครอบครองที่ดินของราษฎร ในเขตที่ดินของรัฐ ของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.)

จากการศึกษาข้อมูลของ กบร. ทำให้คุณเฉลียวและกลุ่มผู้ร่วมคิดการ นำหลักเกณฑ์การพิสูจน์หลักฐานการครอบครองที่ดินของราษฎรในเขตที่ดินของรัฐ โดยนำภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร หลังวันประกาศหรือวันสงวนที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2478 มาดำเนินการจัดทำเรื่องแผนที่ในบึงวงฆ้อง ขณะเดียวกัน ก็ได้ไปขอคำปรึกษาจากสำนักงานกฤษฎีกา เกี่ยวกับการจัดทำเอกสารการเขียนคำร้อง และกฎหมายที่ดิน แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า มาเป็นระยะเวลาหลายปี

ล่วงเลยมาถึงปี พ.ศ. 2541 คุณเฉลียวและเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรม จึงได้รวบรวมเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าไปถวายฎีกา ที่สวนจิตรลดา โดยได้ยื่นเรื่องกับแผนกฎีกา กองราชเลขานุการ ในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สำนักราชเลขานุการสวนจิตรลดา โดยมี คุณสุโรจนา ศรีอักษร เป็นผู้รับเรื่อง หลังจากนั้นไม่นาน จึงมีคำสั่งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาดำเนินการตรวจสอบที่ดินบึงวงฆ้องตามลำดับ โดยมี คุณอารยะ วิวัฒน์วานิช ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้จัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบบึงวงฆ้องขึ้น

จนถึงปี พ.ศ. 2547 สามารถตรวจสอบพื้นที่แปลงที่แปลงออกเอกสารสิทธิทับซ้อนพื้นที่สาธารณประโยชน์บึงวงฆ้อง จำนวน 77 แปลง 60 ราย รวมเนื้อที่ 640 ไร่ 2 งาน 14 ตารางวา จากนั้นจึงได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินให้ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินสาธารณะ แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

ดังนั้น ปี พ.ศ. 2549 ได้ทำหนังสือถึงนายก อบต.ห้วยงู ให้ดำเนินการกับกลุ่มเอกชนที่บุกรุกพื้นที่บึงวงฆ้อง แต่เมื่อเวลาผ่านไป 45 วัน นับจากวันที่รับหนังสือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่มีการดำเนินการดังกล่าว คุณเฉลียวจึงได้ดำเนินฟ้องนายก อบต.ห้วยงู ฐานละเลยต่อหน้าที่

คุณเฉลียวจึงดำเนินการฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ในปี พ.ศ. 2551 ต่อศาลปกครอง เนื่องจากไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินสาธารณะ จนระยะเวลาล่วงมาถึง 7 ปี

อย่างไรก็ดี ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในปี พ.ศ. 2558 ให้ดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินของผู้บุกรุกทั้งหมดที่ออกในเขตที่สาธารณประโยชน์บึงวงฆ้อง จากนั้นจึงทำเรื่องดำเนินการบังคับคดีเร่งรัด ให้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครอง ไปยังกรมบังคับคดี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้มีการดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิจำนวน 41 แปลง ส่วนอีก 16 แปลง อยู่ระหว่างการพิจารณา เพื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

นอกเหนือจากการดำเนินการขอคืนพื้นที่สาธารณะ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันแล้ว คุณเฉลียว ยันสาด ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น เพื่อดูแลพื้นที่บริเวณรอบๆ บึงวงฆ้อง ได้ขอกล้าไม้จากสถานีเพาะชำ กล้าไม้จังหวัดชัยนาท นำพันธุ์ไม้ประเภท ยางนา ประดู่ป่า แดง เต็ง มะค่าแต้ สัก ตะเคียนทอง มะค่าโมง พะยูง เป็นต้น มาปลูกทุกวันบนเนื้อที่เกือบร้อยไร่

และหมั่นดูแลบำรุงรักษาต้นไม้อยู่เสมอ อีกทั้งกันพื้นที่สำหรับอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ โดยจำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา รวมถึงผลักดันผู้นำในชุมชน เพื่อนำที่ดินบางส่วนของบึงวงฆ้องจดทะเบียนเป็นป่าชุมชน จำนวน 99 ไร่ กล่าวได้ว่า คุณเฉลียว ยันสาด เป็นประชาชนตัวอย่างที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติธรรม เพื่อเรียกร้องสิทธิในการจะได้พื้นที่ชุ่มน้ำกว่าพันไร่ อันเป็นสาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของผู้คนนับหมื่นครัวเรือนคืน แม้ว่าจะมีผู้มีอิทธิพลขู่ฆ่า รวมถึงเสนอเงินจำนวนนับล้านบาท ให้คุณเฉลียวยุติการดำเนินงานต่างๆ แต่คุณเฉลียวปฏิเสธ ด้วยยึดมั่นในอุดมการณ์ จึงนับเป็นผลงานอันพึงยกย่องเชิดชูเป็นอย่างยิ่ง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0