โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ สายใยรักสองราชสำนัก เชียงใหม่-เชียงตุง "รุ่นสุดท้าย"

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 13 ธ.ค. 2565 เวลา 06.50 น. • เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2565 เวลา 17.12 น.
สุคันธา ณ เชียงใหม่
เจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่

วันที่ 15 มกราคม 2546 เจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ พระธิดาเจ้าหอคำเชียงตุง เจ้าฟ้าก้อนแก้นอินทรแถลง ผู้เป็นชายาของเจ้าอินทนนท์ ราชบุตรของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่ ได้สิ้นลมหายใจด้วยวัยชรา 93 ปี ที่นครเชียงใหม่ ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดเจดีย์หลวง โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานพวงมาลา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานผ้าไตร 5 ชุด พร้อมพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ณ ฌาปนกิจสถานสันกู่เหล็กในวันที่ 19 มกราคม 2546

ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ จึงขอบันทึกเรื่องราวความสัมพันธ์ของเชียงใหม่-เชียงตุง เป็นเครื่องเคารพศพ “เจ้านางคนสุดท้ายแห่งสองราชสำนักเชียงใหม่-เชียงตุง”

1. ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงตุงกับเชียงใหม่ในสมัยราชวงศ์มังราย

เชียงใหม่มีความสัมพันธ์กับเชียงตุงมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย โดยตำนานเมืองเชียงตุงกล่าวว่า พญามังรายเป็นผู้สร้างเมืองเชียงตุงเมื่อ พ.ศ. 1810 ตำนานระบุว่าเดิมเมืองเชียงตุงเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวลัวะมาก่อน ต่อมาพญามังรายได้ขยายอาณาเขต “ครุบชิงเอาเมืองทัมมิละมาเป็นเมืองขึ้นแห่งตน” ในระยะแรกได้ให้มังคุมและมังเคียน ซึ่งเป็นลัวะไปครองเมือง ต่อมาโปรดให้เจ้าน้ำท่วมซึ่งเป็นหลาน (พงศาวดารเชียงตุงว่าเป็นลูก) ครองเชียงตุง

ในสมัยพญาไชยสงคราม (พ.ศ. 1854-1868) ได้ส่งราชบุตรคือเจ้าน้ำน่านไปครองเมืองเชียงตุง โทษฐาน “บ่ซื่อต่อกูผู้เป็นพ่อ” ครั้นสมัยพญาแสนพู (พ.ศ. 1868-1877) และสมัยพญาคำฟู (พ.ศ. 1877-1879) ได้ส่งขุนนางมาครองเชียงตุง

ต่อมาในสมัยพญาผายูได้ส่งราชบุตรคือเจ้าเจ็ดพันตูเชี้อสายราชวงศ์มังรายไปปกครองเชียงตุง ในสมัยเจ้าเจ็ดพันตูครองเชียงตุง เชียงตุงเจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้านอาณาจักรและพุทธจักร โดยในปี พ.ศ. 1882 พญาผายู (พ.ศ. 1879-1877) ได้ส่งพระเถระจากเชียงใหม่ขึ้นไปเชียงตุงเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาหนยางกวง พระเถระหงษ์ได้สร้างวัดขึ้นในที่ป่าช้านอกเวียง ให้ชื่อว่าวัดราชฐานหลวง ซึ่งต่อมาชาวเชียงตุงได้เรียกว่า วัดยางกวง

ในสมัยพญากือนา (พ.ศ. 1898-1928) พุทธศาสนาในเชียงใหม่ได้เจริญรุ่งเรืองมากทรงนิมนต์พระมหาสมุนเถรจากสุโขทัยมาเผยแผ่ศาสนาลังกาวงศ์ที่เชียงใหม่ มีศูนย์กลางที่วัดสวนดอก ต่อมาจึงเรียกนิกายสวนดอก พญากือนาทรงสนับสนุนให้พระภิกษุจากเชียงแสนเชียงตุง มาศึกษาพุทธศาสนานิกายสวนดอกที่วัดสวนดอก ทำให้เชียงตุงได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากเชียงใหม่ โดยวัดในเชียงตุงรุ่นแรกเช่นวัดยางกวงเป็นนิกายสวนดอกเชียงใหม่

ต่อมาในสมัยพญาสามฝั่งแกน พระมหาญาณคัมภีร์ได้นำพุทธศาสนาจากลังกามาเชียงใหม่เรียกว่า “ลังกาวงศ์ใหม่” มีศูนย์กลางที่วัดป่าแดง จึงเรียก “นิกายป่าแดง” ต่อมานิกายป่าแดงได้แพร่หลายออกจากเชียงใหม่ไปทั่วล้านนาถึงเชียงตุง ซึ่งใน พ.ศ. 1989 พระยาสิริธัมมจุฬาเจ้าเมืองเชียงตุงได้สร้างวัดป่าแดงถวายเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี

ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงตุงและเชียงใหม่ได้ดำเนินอย่างดีสืบมา จนกระทั่งล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปีเศษ เชียงตุงรัฐชายขอบของล้านนาจึงต้องขึ้นต่อพม่าด้วย จนใน พ.ศ. 2317 พญาจ่าบ้าน (บุญมา) และเจ้ากาวิละได้ร่วมกับกองทัพกรุงธนบุรีขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ เชียงใหม่จึงมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของสยามตั้งแต่นั้นมา ความขัดแย้งระหว่างสยามและพม่าได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่และเชียงตุงเริ่มเปลี่ยนไป นำไปสู่สงครามเชียงตุงในสมัยรัตนโกสินทร์หลายครั้ง (ดู สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อมรินทร์ 2539 หน้า 188-189)

2. การอพยพชุมชนไทเขินจากเชียงตุงมาสู่เชียงใหม่

ในสมัยพระเจ้ากาวิละครองเชียงใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2325 นั้น ภารกิจสำคัญคือการขับไล่พม่าที่ยังอยู่เชียงแสนออกจากดินแดนล้านนา และเร่งฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ โดยรวบรวมกำลังคนที่อพยพหนีภัยสงครามไปอยู่ตามป่าเขาและจากเมืองต่างๆ เข้ามาไว้ในเมืองเชียงใหม่ ทรงใช้วิธีการเกลี้ยกล่อมและส่งกองกำลังเข้าตีเมืองต่างๆ หลายครั้ง เช่นในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2341-2344 มีการ “เทครัว” คนจากแถบแม่น้ำคง (สาละวิน) เช่น เมืองปุ บ้านงัวลาย บ้านสะต๋อย บ้านวังลุง วังกาด สร้อยไร ท่าช้าง บ้านนาฯ มาไว้ที่เชียงใหม่ และใน พ.ศ. 2345 สามารถตีเมืองสาดและเมืองเชียงตุงได้สำเร็จ

ในปี 2347 กองทัพเชียงใหม่ร่วมกับกองทัพสยามตีเชียงแสนได้สำเร็จ มีการ “เทครัว” คนไทยวนจากเชียงแสนไปไว้ที่ต่างๆ เช่น 1. บ้านฮ่อมในเชียงใหม่ 2. อำเภอคูบัว จังหวัดราชบุรี 3. อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ฯลฯ จากนั้นพระเจ้ากาวิละได้มอบหมายให้ท้าวแก่นคำนำกองกำลังขึ้นไปเชียงตุงเกลี้ยกล่อมให้เจ้าเมืองเชียงตุงขณะนั้นคือ เจ้ามหาสิริชัยสารัมพยะยอมสวามิภักดิ์ ซึ่งเจ้าเมืองเชียงตุงยินยอมและพร้อมนำเจ้านาย ขุนนาง และชาวเขินจากเชียงตุงมาอยู่ในเชียงใหม่

ครั้งนั้นพระเจ้ากาวิละโปรดให้เจ้านายไทเขิน ขุนนางและกลุ่มช่างมีฝีมืออยู่พื้นที่ระหว่างกำแพงชั้นในและชั้นนอกรอบวัดนันทาราม วัดดาวดึงษ์ วัดธาตุคำ วัดเมืองมาง วัดศรีสุพรรณ ส่วนกลุ่มคนที่เป็นเกษตรกรได้อยู่รอบนอกเวียง เช่น ที่วัดป่างิ้ว วัดสันต้นแหน วัดสันข้าวแคบ วัดสันกลาง วัดสันก้างปลา ในเขตอำเภอสันกำแพง และแถบอำเภอดอยสะเก็ดที่วัดป่าป้องเป็นชุมชนไทเขินสืบมาถึงปัจจุบัน

3. สายสัมพันธ์รักเชียงตุง-เชียงใหม่-ลำปาง

เจ้าฟ้าเชียงตุงที่มาอยู่ในเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2347 เป็นลูกๆ ของเจ้าฟ้าชายสามเจ้าหอคำเชียงตุง (พ.ศ. 2203-2309 และ พ.ศ. 2312-2329) มี 8 คนคือ 1. เจ้ากระหม่อมต้นสกุลพรหมศรี 2. เจ้าแสนเมือง 3. เจ้าฟ้ามหาศิริชัยสารัมพยะหรือเจ้าฟ้ากองไท 4. เจ้าเมืองเหล็ก (เจ้าดวงทิพย์) 5. เจ้ามหาขนาน (เจ้าดวงแสน) 6. เจ้ามหาพรหม (สมรสกับเจ้าศรีแก้ว ธิดาของเจ้าบุรีรัตน์ (น้อยกาวิละ) อนุชาของเจ้าพุทธวงศ์เจ้าหลวงเชียงใหม่เป็นต้นสกุลสิโรรสและกาวิละเวส 7. เจ้านางศรีแก้ว 8. เจ้านางคำแดง (ดู จิตติ เทพรัตน์. จากเจียงตุ๋งมาฮอดเจียงใหม่ บ้านไทยเขินวัดนันทราม 2545 หน้า 26-27)

ในบรรดาพี่น้องดังกล่าวมีเจ้ามหาขนาน (เจ้าดวงแสง) คนเดียวที่ไม่ยอมมาเชียงใหม่ ขอต่อสู้กับพม่าโดยมีฐานที่เมืองหลวย เมืองยาง ต่อมาพม่าให้ท้าวคำวังคนของเจ้ามหาขนานเกลี้ยกล่อมสำเร็จ และยกเจ้ามหาขนานเป็นเจ้าเมืองเชียงตุง เรียกว่าเจ้าฟ้าหลวงเขมรัฐมหาสิงหะบวรสุธรรมราชาธิราช ซึ่งผู้สืบสายทายาทในสายนี้คนหนึ่ง คือเจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่

กล่าวถึงเจ้ามหาขนาน (เจ้าดวงแสง) ผู้เป็นเจ้าหอคำเชียงตุงมีบุตร 7 คน ลูกคนที่ 7 ชื่อเจ้าฟ้าโชติกองไท (เกิดจากเทวีเชียงแขงจึงเป็นเจ้าฟ้าเชียงแขง) ได้ครองเชียงตุงสืบต่อจากพี่ชายคนโตคือเจ้าหนานมหาพรหม

เจ้าฟ้าโชติกองไทมีลูก 6 คน ลูกคนที่ 4 คือเจ้าฟ้าก๋องคำฟู ได้เป็นเจ้าหอคำเชียงตุงสมัยอังกฤษเข้ามาปกครองพม่า ครองเชียงตุงได้ 9 ปีก็พิราลัย ลูกคนที่ 5 ของเจ้าฟ้าโชติกองไท คือ เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลง ขึ้นเป็นเจ้าหอคำเชียงตุงสืบแทน

เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลงมีชายา 6 คน มีลูกรวม 19 คน (ดู อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง 27 มกราคม 2533. หน้า 119-120) ในจำนวนนี้มี 3 คนมีสายสัมพันธ์รักกับคนในล้านนา คือ

1. ลูกชายคนหนึ่งที่เกิดจาก “เจ้าแม่เมือง” (อัครมเหสี) แม่เจ้าปทุมมหาเทวี (ธิดาเจ้าเมืองสิง) (คนเชียงตุงเรียกเจ้าแม่เมือง มีอำนาจมาก) คือเจ้าฟ้าพรหมลือ ต่อมาได้มีสายสัมพันธ์รักกับเจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง (พ.ศ. 2446-2532) หลานสาวของเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าหลวงลำปางองค์ที่ 13 (มารดาคือเจ้าหญิงฝนห่าแก้วเป็นธิดาเจ้าหลวงลำปาง)

เจ้าฟ้าพรหมลือเป็นเจ้านายชั้นสูงของเชียงตุงที่สามารถกางสัปทนและนั่งเสลี่ยงได้ ซึ่งมีเพียง 3 พระองค์คือ 1. เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลง เจ้าหอคำ 2. เจ้าฟ้ากองไท (รัชทายาท) 3. เจ้าฟ้าพรหมลือ (โอรสเจ้าแม่เมือง) เจ้านายคนอื่นใช้ได้แค่ “จ้องคำ” (ร่มทอง) (ดู ความทรงจำที่เมืองเชียงตุงของเจ้านางสุคันธา อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ 19 มกราคม 2546)

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลสยามได้เชียงตุงจัดตั้งเป็นสหรัฐไทยเดิม ร.8 โปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าพรหมลือเป็นเจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยศสรพรหมลือ ครองสหรัฐไทยเดิม แต่เมื่อสิ้นสงครามรัฐบาลสยามต้องมอบเชียงตุงคืนสหประชาชาติ เจ้าฟ้าพรหมลือต้องพาครอบครัวเข้าไทยพำนักที่กลางเวียงเชียงใหม่จนพิราลัยใน พ.ศ. 2498 (ปัจจุบันคือที่ตั้งศาลาธนารักษ์ของกรมธนารักษ์) (ดู อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง 27 มกราคม 2533)

2. ลูกชายคนหนึ่งที่เกิดจาก “นางฟ้า” เจ้านางจามฟองคือเจ้าขุนศึก ต่อมาได้สมรสกับนางสาวธาดา พัฒนถาบุตร ธิดาของแม่บัวจันทร์และนายดาบแดง พัฒนถาบุตร (2430-2523) คหบดีบ้านวัวลาย เชียงใหม่ (ดู ชีวิตเจ้าฟ้า อนุสรณ์งานประชุมเพลิงเจ้าฟ้าขุนศึก เม็งราย 4 มีนาคม 2538)

3. ธิดาคนหนึ่งที่เกิดจาก “นางฟ้า” เจ้านางทิพย์หลวงหรือเจ้านางบัวทิพย์หลวง คือเจ้านางสุคันธา ต่อมาได้สมรสกับเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ ราชบุตรของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 9

4. เจ้านางคนสุดท้ายแห่งราชสำนักเชียงใหม่-เชียงตุง

เจ้านางสุคันธาพระธิดาแห่งเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลง เจ้าหอคำเชียงตุง กับเจ้านางทิพย์หลวงหรือเจ้านางบัวทิพย์หลวง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2453 ในหอหลวงเมืองเชียงตุง เจ้านางเรียกเจ้าพ่อว่า “ฟ้าหม่อม” (ดู ความทรงจำที่เมืองเชียงตุงของเจ้านางสุคันธา อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ 19 มกราคม 2546) มีพี่น้องร่วมมารดา 5 คนคือ 1. เจ้านางแว่นแก้ว 2. เจ้านางสุคันธา 3. เจ้านางแว่นทิพ 4. เจ้าสิงห์ไชย 5. เจ้าแก้วเมืองมา ได้เสกสมรสกับเจ้าชายแห่งราชสำนักเชียงใหม่คือเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ ราชบุตรพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่ ณ หอคำเชียงตุง โดยมีเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลงเจ้าหอคำ เจ้านางปทุมมหาเทวีเป็นเจ้าภาพเมื่อ พ.ศ. 2476 มีร้อยเอกโรแบรด์ ข้าหลวงอังกฤษผู้กำกับราชการนครเชียงตุงร่วมเป็นเกียรติในงานมงคลสมรส (ดู อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง หน้า 113)

เจ้านางสุคันธาและเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ จึงเป็นสายใยแห่งความรักของราชสำนักเชียงใหม่-เชียงตุงรุ่นลูก “เจ้าหลวง” สองราชสำนักรุ่นสุดท้าย และบัดนี้เจ้านางคนสุดท้ายแห่งราชสำนักเชียงใหม่-เชียงตุงก็ได้คืนสู่สวรรคาลัย นับเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ล้านนาคนหนึ่งที่ชาวล้านนาเพิ่งรู้จักและให้การเคารพ โดยเฉพาะชาวเขินในล้านา เพิ่งรับรู้ว่าเจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ คือเจ้านางแห่งนครเชียงตุง ขัตติยนารีของชาวเขินที่มีสายสัมพันธ์รักกับเจ้าชายแห่งราชสำนักเชียงใหม่ ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายในนครเชียงใหม่ตราบสิ้นลมหายใจ

อย่างไรก็ดี ก่อนเจ้านางสุคันธาจะสิ้นลมหายใจ ทายาทคนหนึ่งของเจ้านางสุคันธาและเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ คือเจ้าวิไลวรรณ ณ เชียงใหม่ ได้พบกับลูกหลานไทเขินบ้านนันทารามเมื่อ 27 ธันวาคม 2545 เพื่อแนะนำการแต่งกายแบบไทเขินและเป็นประธานเปิดนิทรรศการ“กาดคัวฮักคัวหาง คัวเงิน” ที่วัดนันทาราม เมื่อ 3 มกราคม 2546 ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างลูกหลานไทเขินที่บรรพบุรุษได้มาอยู่ในเชียงใหม่แน่นแฟ้นขึ้นอีกวาระหนึ่ง

ขอเจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ (พ.ศ. 2453-2546) สายใยรักแห่งสองราชสำนักเชียงใหม่-เชียงตุงคืนสู่สวรรคาลัยด้วยปีติเทอญ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2560

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0