โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เจ็บแล้วจำคือคน เจ็บแล้วทนคือ..? เปิดเหตุผลทำไม “ผู้หญิง” ถึงยอม “ถูกทำร้าย” มากขึ้นทุกวัน!

Another View

เผยแพร่ 08 ม.ค. 2562 เวลา 05.00 น.

เจ็บแล้วจำคือคนเจ็บแล้วทนคือ..?เปิดเหตุผลทำไมผู้หญิงถึงยอมถูกทำร้ายมากขึ้นทุกวัน!

จากข่าวการทำร้ายร่างกายที่โดยมากผู้เคราะห์ร้ายจะเป็นฝ่ายหญิง และโดยมากไปกว่านั้นคือเธอมักจะถูกกระทำจาก‘คนรัก’ ของเธอเองที่มากขึ้นทุกวัน  รวมทั้งสถิติล่าสุดจากการเก็บข้อมูลของสำนักงานกิจการยุติธรรม ว่าในปีที่ผ่านมา มีความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัวสูงถึง 83.6%เฉลี่ยได้ว่าในแต่ละวันจะมีคนถูกทำร้ายมากถึง 5 คน / วัน 

นอกจากนี้ยังมีรายงานจากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่บอกว่าในหนึ่งปีมีคนเข้าไปขอความช่วยเหลือศูนย์พึ่งได้ 20,018 คน แต่มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการเพียง 700 กว่าคดี และออกสู่หน้าสื่อเพียงแค่ 466 คดีในหนึ่งปี นั่นหมายความว่ามีคนถูกทำร้ายร่างกายในแต่ละปีเกิดขึ้น โดยคนธรรมดาทั่วไปไม่เคยรับรู้อีกนับหมื่นคน! 

เรื่องที่น่าเศร้าที่สุดคือ แทนที่ยิ่งตัวเลขมากขึ้น แล้วเราควรจะมีมาตการป้องกันให้เหตุการณ์ดังกล่าวลดน้อยลง แต่กลายเป็นว่าตัวเลขกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซ้ำร้ายที่สุด มีหลายคนที่เริ่มอ่านข่าวเหล่านี้ ด้วยความคิดชินชา ไม่รู้สึกรู้สาประหนึ่งว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในสังคม 

หากมองเพียงผิวเผินในฐานะคนนอกที่ไม่ได้อยู่ร่วมเหตุการณ์ คงจะมีแต่คำถามว่าทำไมคนที่ถูกทำร้ายเหล่านั้นถึงไม่พาตัวเองออกมาจากสถานการณ์เลวร้าย และยัง ‘ยอม’ ให้ตัวเองกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาแบบไม่มีวันจบสิ้น 

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเธอไม่ได้ยอมเสียทีเดียว หากแต่เป็นเพราะด้วย ‘ปัจจัย’ หลาย ๆ อย่าง ทำเธอไม่สามารถ ‘เลือก’ ที่จะเดินออกมาได้ง่ายดายอย่างที่หลายคนเข้าใจ 

1. ทัศนคติคร่ำครึที่ปลูกฝังว่าคนเราไม่เท่าเทียมกัน 

จากการปลูกฝังค่านิยมโบราณในยุคที่ ‘ผู้ชาย’ คือหัวหน้าครอบครัวที่ควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเอง ทำให้หลายคนเกิดความคิดว่าเป็นผู้หญิงต้องยอมผู้ชายทุกอย่าง คือฝ่ายชายก็คิดว่าตัวเองมีสิทธิทำอะไรกับผู้หญิง และผู้หญิงหลายคนก็มีความคิดไปเหมือนว่า ตัวเองเป็นช้างเท้าหลัง ต้องทนถูกทำร้ายต่อไปเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้โลกหมุนไปจนถึงปี 2019 ที่ทุกคนควรจะมองเห็นความจริงได้แล้วว่า ไม่ว่าคุณจะเกิดมาเป็นใคร เพศใด ผิวสีแบบไหน ก็ล้วนเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มี ‘คุณค่า’ และไม่จำเป็นต้องยอมให้ใครมาทำร้ายเช่นเดียวกัน 

2. ภาระหลายอย่างที่ต้องแบกรับ 

ผู้หญิงบางคนอาจจะรู้ตัวว่าแท้จริงแล้วมนุษย์ทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน แต่เมื่อกลับมามองที่สภาพความเป็นจริงในครอบครัว เธออาจจะเป็นผู้หญิงที่เติบโตมาในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ที่ผู้ชายเป็นหัวเรือหลักในการหารายได้ให้ครอบครัวมาตลอด ทำให้เธอคิดว่าหากเธอเดินออกมาตอนนี้ ทั้งโอกาส ความรู้ ความสามารถที่มีอยู่อย่างจำกัด อาจทำให้เธอไม่สามารถมีชีวิตรอดได้หากฝ่ายชายถูกจับ หรือเธอตัดสินใจเดินออกมา 

ยิ่งถ้าเป็นครอบครัวที่มีลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจด้วยแล้วก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะคำว่า‘ครอบครัวสมบูรณ์’ กับแนวคิดไม่อยากให้ลูกเป็นเด็ก ‘มีปัญหา’ ก็ยิ่งเหนี่ยวรั้งให้ผู้หญิงหลายคนทนอยู่ในสภาพถูกทำร้ายแบบนั้นมากขึ้นไปอีก 

3. เรื่องของคนในครอบครัวคนอื่นอย่ายุ่ง 

จากแนวคิดทำนองที่ว่า ‘ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า’ ผสมกับสายตาของคนรอบข้าง ที่พร้อมจะเปิดวงซุบซิบนินทากันอยู่เสมอเมื่อครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเกิดมีปัญหากันขึ้นมา และแทนที่จะมองว่านั่นคือปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข แต่ทิศทางของบทสนทนาส่วนใหญ่มักจะมีแนวโน้มที่จะพูดให้คนในครอบครัวนั้น ๆ (โดยเฉพาะฝ่ายหญิง) ได้รับความอับอาย 

ทำให้หลายครั้งเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ผู้หญิงหลายคนจึงเลือกที่จะเก็บปัญหาเอาไว้คนเดียว ไม่ปริปากบอกใคร เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้เหตุการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังมีแต่จะตกเป็นเป้าถูกนินทากันอย่างสนุกปากอีกต่างหาก 

แม้กระทั่งในกระบวนการยุติธรรมเองบางครั้ง เมื่อคู่รักที่ถูกทำร้ายไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วมักจะถูกคำพูดทำนองว่า ‘เป็นเรื่องในครอบครัว’ ให้ ‘ไกล่เกลีย’ กันเองก่อน จนทำให้บางคนรู้สึกหมดหวัง และไม่อยากพาตัวตัวเองเข้าสู่กระบวนการใด ๆ อีกเลย 

4. มองเห็นแต่ข้อดีของเขาและเฝ้าคิดว่าทั้งหมดเป็นความผิดของตัวเอง

นับว่าเป็นเหตุผลที่อันตรายมาก ๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือหนึ่งในปัจจัยหลักที่ผู้หญิงหลายคนมีแนวคิดนี้อยู่กับตัว  เพราะแทนที่จะมองว่าผู้ชายที่ทำร้ายตัวเองนั้นเป็นคนไม่ดี แต่กลายเป็นว่าผู้หญิงหลายคน มักจะเฝ้าโทษตัวเองว่า ที่เขาทำร้ายตัวเธอนั้น เป็นเพราะว่าเธอยังดีไม่พอสำหรับเขา คนด้อยค่าแบบเธอสมควรแล้วที่จะถูกทำร้ายต่อไป เพราะหากว่าเธอทำตัวดีมากพอ แล้วเขาก็น่าที่จะเลิกทำร้ายเธอไปเอง 

รวมทั้งการพยายามคิดถึงความดีเพียงเล็กน้อยที่ผู้ชายคนนั้นเคยทำให้ และเอามากลบความผิดที่เขาทำร้ายร่างกายจนหมดสิ้น สุดท้ายเลยได้แต่เฝ้าเก็บกดความรู้สึกเอาไว้ว่าสักวันหนึ่งเขาจะกลับมาทำดีกับเราเหมือนเดิม

5. รสหวานของการทะเลาะเบาะแว้ง

ปัจจัยนี้กลายเหตุผลสุดเศร้าที่เริ่มเกิดขึ้นมากขึ้นช่วงหลัง ๆ ในวันที่ผู้คนมองว่าความเหงาและการอยู่คนเดียวกลายเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดมากกว่าการถูกทำร้าย 

บางคนมองว่าความว่างเปล่าเมื่อนอนอยู่ในห้องคนเดียวสร้างความเจ็บปวดได้มากกว่าการถูกคนที่นอนอยู่ข้าง ๆ กันทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจต่อไปเรื่อย ๆ เพราะมองว่า ‘ชีวิตคู่’ คือสรณะสุดท้ายที่ต้องยึดเหนี่ยวเอาไว้ให้ได้ 

อย่างน้อยการมีใครสักคนให้เรียกว่า ‘แฟน’ หรือ ‘คนรัก’  ถึงแม้ว่าคน ๆ นั้นจะเลวร้ายกับเรามากขนาดไหน ก็ยังดีกว่าการถูกมองว่า ‘เป็นคนไม่มีแฟน’ ‘ไม่มีคนมองเห็นคุณค่า’ 

ทั้งที่จริง ๆ แล้วทุกคนล้วนมี ‘คุณค่า’ อยู่ในตัวเอง และสามารถมองเห็นได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้ชาย หรือ ‘คนรัก’ ห่วย ๆ มานิยามและทำร้ายเราต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น

อ้างอิง

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/808864

https://www.schoolofchangemakers.com/knowledge/11215

https://www.khaosod.co.th/pr-news/news_757839

https://prachatai.com/journal/2017/09/73121

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0