โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เจ็บช้ำดอกเบี้ยบ้านแพงโหด!! เปิดเทคนิคโปะบ้าน หนี้หมดเร็ว

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 20 ก.ค. 2561 เวลา 13.22 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ผ่อนบ้านเมื่อไรจะหมด? เงินต้นไม่ลดสักที…เป็นคำถามของหลายๆคน และปวดหัวกับภาระดอกเบี้ย หลังหมดโปรโมชั่นดอกเบี้ยต่ำกับธนาคารแล้ว

ส่วนเคล็ดลับการผ่อนบ้านให้หมดเร็ว คงไม่พ้นการโปะเงินให้มากที่สุด และการรีไฟแนนซ์ หลังปีที่ 3 ด้วยการกู้เงินก้อนใหม่จากธนาคารอื่น ซึ่งต้องหาข้อมูลตรวจสอบเงื่อนไข เลือกดอกเบี้ยที่ถูกกว่า มาจ่ายคืนธนาคารเดิมที่เคยกู้ ที่สำคัญหากใครอยู่ระหว่างการตัดสินใจซื้อบ้านที่อยู่อาศัย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง ควรเลือกราคาให้เหมาะสมกับรายได้

สำหรับเทคนิคการโปะ หลายกูรูแนะนำว่า ควรโปะช่วงโปรโมชั่น 1-5 ปีแรก แล้วแต่เงื่อนไขของธนาคาร ซึ่งเป็นช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำ จะทำให้เงินต้นลดลงมากกว่าการโปะในช่วงอัตราดอกเบี้ยพุ่งตาม MRR อย่างเช่น ผ่อนบ้านเดือนละ 1 หมื่นบาท ให้เพิ่มเงินอีก 1 เท่า รวมเป็น 2 หมื่นบาท จะช่วยลดเงินต้นไปได้มาก รวมถึงดอกเบี้ยในเดือนถัดไปลดลงตามไปด้วย และยังลดระยะเวลาการผ่อนอีกด้วย

หากใครมีภาระรายจ่ายอย่างอื่นไม่สามารถทำได้ ก็สามารถโปะเงินเพิ่มประมาณ 10-15% แล้วแต่ความสะดวกสภาพคล่องของแต่ละคน และรอโปะหนักๆ ช่วงได้โบนัส หรือมีรายได้เสริมเข้ามา นำเงินก้อนมาโปะ เพื่อให้เงินต้นลดไปให้มากที่สุด วิธีนี้ต้องวางแผนกันดีๆ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้จ่าย หรือเกิดมีเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงินขึ้นมา

ขณะที่ ณัฐพงษ์ อภินันท์กูล เลขาธิการสมาคมนักวางแผนการเงินไทย แนะนำเทคนิคในการโปะบ้าน ว่า สิ่งสำคัญผู้กู้บ้านควรทำบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งปัจจุบันมีแอปพลิเคชันช่วยคำนวณเป็นจำนวนมาก ทำให้เห็นตัวเลขใช้จ่าย รวมถึงแอปพลิเคชันคำนวณการผ่อนบ้าน ทำให้รู้ว่าได้ดอกเบี้ยคืนกลับมาเท่าไร หากมีการผ่อนตามเทคนิคที่แนะนำ ทั้งนี้การผ่อนบ้านอาจจะเริ่มจากการโปะเพิ่มเดือนละ 1 พันบาท จะช่วยลดหนี้และประหยัดดอกเบี้ย

“การโปะบ้านในช่วงโปรโมชั่นจะทำให้เงินต้นลดลงได้เร็วจากเงิน 100 บาทที่จ่ายไป ทำให้เงินต้นลดลงไปมากกว่าช่วงอัตราดอกเบี้ยปกติ แต่บางคนมองว่าไม่อยากนำเงินไปโปะในช่วงนี้ เนื่องจากนำเงินไปลงทุนอย่างอื่นดีกว่า ได้กำไร 4-5% ก็สามารถโปะบ้านในช่วงอัตราดอกเบี้ยปกติก็ได้ สำคัญต้องคุมรายจ่ายให้ได้ หรือผ่อนบ้านเดือนละ 1 หมื่น แล้วหักดิบนำเงินมาอีก 1 พันบาทมาโปะ แม้คนส่วนใหญ่บอกทำไม่ได้ มีเรื่องจำเป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นต้องทำบัญชีไม่ให้เกิดรูรั่ว ซึ่งการหักดิบจะได้หรือไม่ ขึ้นอยู่แต่ละบุคคล ต้องมีการวางแผน และมีวินัยจริงๆ”

นอกจากนี้ กรณีได้เงินมาก้อนใหญ่ ยกตัวอย่าง เงินโบนัส หรือเงินพิเศษ เมื่อมีการแบ่งเป็นรางวัลให้กับตัวเองแล้ว ควรนำมาโปะหนี้บัตรเครดิต และหนี้บ้าน ต้องมีแผนการใช้เงิน เนื่องจากมีบางคนเงินหมดก่อน 3 เดือน ก่อนโบนัสออก โดยไปรูดบัตรเครดิตใช้จ่ายก่อน ดังนั้นต้องมีการวางแผน และมีวินัย เพราะการผ่อนยาว ตามที่ธนาคารกำหนด ดอกเบี้ยที่จ่ายไปจะเท่ากับเท่าหนึ่งของราคาบ้าน เช่น บ้านราคา 1.5 ล้าน จะเท่ากับ 3 ล้านบาท คือครึ่งหนึ่งเป็นดอกเบี้ย

“การที่หลายคนมองว่าอัตราดอกเบี้ยบ้านแพงไป เพราะที่ผ่านมามีการผ่อนน้อยเกินไป ผ่อนไปเป็น 10 ปี เงินต้นไม่ลด เหมือนกรณีหนี้ครู จนเกิดปฏิญญามหาสารคาม จะขอพักหนี้ไม่จ่ายกับออมสิน อย่างเป็นหนี้ 1 ล้าน ผ่อนจ่ายแค่เดือนละ 6-7 พัน อย่างนี้เงินต้นลดน้อยอย่างแน่นอน ดังนั้นหากจะลดหนี้ ให้เหลือ 10-15 ปี ต้องโปะเพื่อให้ดอกเบี้ยลดลง หากดึงเงินมาโปะ 10% อาจเหลือระยะเวลาผ่อน 25 ปี จาก 30 ปี”

สำหรับเทคนิคโปะบ้าน เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นโดยสมมติ บ้านราคา 1.5 ล้านบาท ผ่อนระยะ 30 ปี เดือนละ 9 พันบาท จากอัตราดอกเบี้ย 6% หากผ่อนปกติ จนครบ 30 ปี ดอกเบี้ยจะเท่าหนึ่งของราคาบ้าน เป็น 3 ล้าน แต่หากผ่อนเพิ่มอีก 10% เป็นเงิน 9 พัน 9 ร้อยบาท จะทำให้ระยะเวลาผ่อนบ้านลดลงมาประมาณ 6 ปี หรือ 24 ปี จาก 30 ปี สามารถประหยัดดอกเบี้ยไปได้ 4 แสนบาท แม้เงินต้นจะลดไม่มาก แต่ได้ทำให้ดอกเบี้ยกลับมาอยู่ฝั่งคนผ่อน แทนที่ดอกเบี้ยจะไปฝั่งแบงก์

พร้อมทิ้งท้ายเทคนิคเคล็ดลับในการโปะบ้าน ”ควรโปะเงินทีเดียวในการกำหนดเวลาวันจ่ายเท่านั้น” เพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาด จากเงื่อนไขที่แบงก์ตั้งไว้.

ดอกเบี้ยบ้านในไทย สูงมาก!! ซื้อบ้าน 3 ล้าน เท่ากับจ่าย 7 ล้าน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0