โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"เจิมศักดิ์" ซัด ส.ว.ชุดปัจจุบันยิ่งกว่า "สภาผัวเมีย"

new18

อัพเดต 07 มิ.ย. 2563 เวลา 03.43 น. • เผยแพร่ 06 มิ.ย. 2563 เวลา 15.50 น. • new18
“เจิมศักดิ์” ซัด ส.ว.ชุดปัจจุบันยิ่งกว่า “สภาผัวเมีย” คสช.เลือกทั้งหมด ขัดหลักการ ไม่ยึดโยงประชาชนแต่กลับให้อำนาจมาก

"เจิมศักดิ์" ซัด ส.ว.ชุดปัจจุบันยิ่งกว่า "สภาผัวเมีย" คสช.เลือกทั้งหมด ขัดหลักการ ไม่ยึดโยงประชาชนแต่กลับให้อำนาจมาก

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมเสวนา "เวทีแสวงหาฉันทามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย" โดยเพจ New Consensus Thailand"จัดขึ้นในหัวข้อ "ส.ว.ไทย อย่างไรดี ?" โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า หากถามว่า ส.ว. มีไว้ทำไม ต้องเริ่มจากการมีรัฐสภา ซึ่งแยกอำนาจออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติ ก็คือฝ่ายควบคุมและตรวจสอบฝ่ายบริหาร ทำหน้าที่ในการออกกฎหมายให้รัฐบาลว่าทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้ เท่านั้นไม่พอ ต้องคอยตรวจสอบว่าที่รัฐบาลทำไปนั้นถูกหรือไม่ เช่น การตั้งกระทู้ถาม ตั้งญัตติ การรักษาให้กระบวนการเป็นไปตามกฎหมาย ระบบรัฐสภาแบ่งเป็น 2 แบบ หนึ่งคือสภาเดียว มีผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. เป็นตัวแทนของประชาชนเลือกขึ้นมาตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ส่วนอีกแบบคือ สองสภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎรและสภาสูง อย่างอังกฤษเรียก House of Lords หรือวุฒิสภา

"ถามว่าจำเป็นต้องมีวุฒิสภาหรือไม่ ตอบว่าไม่ค่อยยึดว่าจำเป็นหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้ามีต้องออกแบบให้ได้ประโยชน์จริงๆไม่งั้นไม่มีดีกว่า ประโยชน์จริงๆ ที่ว่าก็คือ ส.ว. ควรเป็นสภาของผู้ทรงคุณวุฒิ มีประสบการณ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญจากในหลายด้านมารวมกันเพื่อติติงท้วงติงหากไม่เห็นด้วยกับ ส.ส. แต่ต้องออกแบบหน้าที่กับที่มาให้สอดคล้องกัน ถ้าไม่สอดคล้องไม่มีดีกว่า และหลักการก็คือ ที่มาของ ส.ว.ต้องสัมพันธ์กับประชาชน หากมากก็ให้มีอำนาจได้มากขึ้น แต่ถ้าสัมพันธ์กับประชาชนน้อยก็ต้องมีอำนาจน้อยลงไปเรื่อยๆ หลักการนี้ต้องยึดไว้จึงจะคุยกันได้ การยึดโยงกับประชาชนมากที่สุดก็คือ การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้ออกแบบการเลือกตั้งเป็นรายจังหวัด ซึ่งไม่ค่อยต่างจาก ส.ส.นัก แต่ตอนที่ผมตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. กรุงเทพมหานคร ครั้งนั้นก็ตื่นเต้นเพราะคิดว่ายึดโยงประชาชนแล้ว ซึ่ง ส.ว.ชุดนั้นมีวาระ 6 ปี ยอมรับว่าปีแรกค่อนข้างดี มีความเป็นอิสระจากพรรคการเมือง เป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิที่มีไว้ท้วงติงตามเจตนาที่ตั้งไว้ อำนาจ ส.ว.ชุดนี้มีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนที่ทำแค่การกลั่นกรองกฎหมายเพราะยึดโยงประชาชน จึงมีอำนาจไปถึงการที่สามารถถอดถอนรัฐมนตรีและองค์กรอิสระ รวมทั้งเลือกสรรองค์กรอิสระได้” นายเจิมศักดิ์ กล่าว

นายเจิมศักดิ์ ยังได้เล่าถึงบรรยากาศในการทำงานของ ส.ว.ชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดว่า ตอนนั้นเป็นรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ซึ่งไม่ได้เข้ามาแทรกแซงการทำงานของวุฒิสภาเลย หลายคนยังพูดว่า มองเห็น กกต.เป็นเรื่องราวสุดก็ชุดแรก ปปช.ชุดแรกก็ดูดี แต่หลังจากปี 43 ซึ่งมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ หลังจากปี 2544 เป็นต้นมา วุฒิสภาได้ลดความเป็นอิสระไปเรื่อยๆ เริ่มต้นจากสภาผัวเมีย สภาพี่น้อง สภาพ่อลูก ที่บอกว่าเป็นอิสระจากสภาผู้แทนราษฎรจึงเริ่มไม่อิสระ ในที่สุดก็กลายเป็นผู้รับเงินเดือนจากพรรคการเมืองเดือนละ 50,000 บาทบ้าง เดือนละ 100,000 บ้าง เวลาเลือกองค์กรอิสระจะมีโผหรือใบสั่งออกมา ก็แทบจะรู้ทันทีเวลาอยู่ในสภาใครจะได้รับเลือก แม้แต่เด็กก็รู้ว่า ส.ว.เป็นอิสระหรือไม่ ยังคิดว่าน่าจะดีขึ้นในตอนท้ายๆ เพราะจะหมดวาระ แต่กลับไม่ใช่กลายเป็นยิ่งคิดถึงตัวเองว่า หมดวาระ ส.ว.จะเป็นอะไรต่อ จะเป็น ส.ส.หรือไปนั่งองค์กรอื่นได้อย่างไร ก็ใช้วิธีไปสร้างความผูกพันธ์กับผู้มีอำนาจต่อไป ระบบอุปถัมป์ก็มาเลย

"ในที่สุด ส.ว.ชุดนั้นก็ไม่ต่างจากสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องบอกว่าโมเดลการเลือกตั้ง ถ้าเลือกเชิงพื้นที่จะไม่ต่างจาก ส.ส. ตอนนี้ ส.ว. มีวาระ 5 ปี คิดรวมๆต้องใช้งบประมาณเกือบหมื่นล้าน เพราะนอกจากเงินเดือนก็ต้องมีผู้ช่วย ผู้ติดตาม เจ้าหน้าที่สภามาทำตรงนี้ ถ้า ส.ว.ไม่ต่างจาก ส.ส. มีสภาเดียวประหยัดเงินไปหมื่นล้านไม่ดีกว่าหรือ แต่ถ้าเลือกว่ามีก็ต้องออกแบบว่าจะให้ยึดโยงกับประชาชนอย่างไรและแตกต่างไป คิดว่าน่าจะให้เลือกโดยอาชีพ สมมติมีสัก 40 ล้านที่ออกเสียงได้ คนหนึ่งอาจจะมีหลายอาชีพ แต่ให้เลือกมาหนึ่ง สมมติมีสักสิบกลุ่มอาชีพ แต่ละกลุ่มอาชีพให้เลือกทั้งประเทศตามกลุ่ม พอเป็นทั้งประเทศ การซื้อเสียงจะยาก กลุ่มไหนมีคนลงทะเบียนเยอะก็จะมีสัดส่วนมากกว่า ส.ว.ก็จะต่างจาก ส.ส. เพราะที่มาคนละแบบ ส่วนจะให้มีอำนาจมากแค่ไหนก็ว่ากันไป แต่อำนาจต้องสอดคล้องกับที่มา" นายเจิมศักดิ์ กล่าว

นายเจิมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งคือ ยอมประนอมอำนาจบ้าง แม้เราอยากเห็นอำนาจอยู่กับประชาชน แต่ต้องยอมรับความจริงว่า มันมีอำนาจอื่นจากหลายสถาบันที่ไม่ใช่ประชาชนด้วย หากออกแบบให้ผสมผสานระหว่างหลายอำนาจมาอยู่ตรงนี้ด้วยก็ได้ แต่ต้องลดอำนาจวุฒิสภาให้น้อยลงเพราะเขาไม่ได้ยึดโยงประชาชนชนทั้งหมด ถ้าสองสภาขัดแย้งต้องยึดสภาผู้แทนเป็นหลัก แนวคิดนี้คือรับอิทธิพลมาจาก House of Lords แบบอังกฤษ วุฒิสภาจะไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีดีที่สุดต้องยึดโยงประชาชน ตัวแทนกลุ่มอาชีพอาจจะดีกว่าชุดปี 43-49 ที่ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งก็ได้

เมื่อถามถึง ส.ว.ชุดปัจจุบัน นายเจิมศักดิ์ ตอบว่า ไม่ได้ยึดโยงกับใครทั้งสิ้น ยึดโยงกับ คสช.อย่างเดียว จึงขัดกับหลักการและกลับหัวกลับหางจากแนวทางที่มากับอำนาจอย่างสิ้นเชิง ชุดนี้มาจาก คสช. แต่มีลูกเล่นในกฎหมายในบทเฉพาะกาล หากไม่ลงรายละเอียดพูดแบบหยาบๆก็คือ คสช. เลือกทั้งหมด ก็ขัดหลักการว่า อะไรที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนควรให้อำนาจน้อย แต่อันนี้ไม่ยึดโยงประชาชนเลยแต่กลับให้อำนาจมาก มากถึงกับสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ มันกลับหัวกลับหางกันหมด อันนี้ยิ่งกว่าสภาผัวเมีย 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0