โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เจาะไอเดีย ธนพล ศิริธนชัย เบื้องหลังความฮอตฮิตของ "สามย่านมิตรทาวน์"

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 24 ม.ค. 2563 เวลา 08.05 น. • เผยแพร่ 24 ม.ค. 2563 เวลา 08.05 น.
1315363

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง
ธนศักดิ์ ธรรมบุตร : ภาพ

“สามย่านมิตรทาวน์” โครงการมิกซ์ยูสแห่งใหม่ในโซนใจกลางเมือง ณ แยกสามย่าน เปิดให้บริการเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทันทีที่เปิดให้บริการก็กลายเป็นสถานที่ฮอตฮิตแห่งใหม่ มียอดผู้ใช้บริการวันละ 70,000-80,000 คน ถือว่าเกินคาดไปมากจากที่ผู้พัฒนาโครงการตั้งเป้าเอาไว้วันละ 35,000 คน โดยวางกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษาและคนวัยทำงานในพื้นที่ แต่เมื่อเปิดให้บริการสักระยะหนึ่งกลับพบว่ามีคนสูงวัยและกลุ่มครอบครัวมาเดินกันเยอะแบบที่ไม่ได้คาดคิดไว้

ด้วยความฮอตของศูนย์การค้าแห่งใหม่ที่ถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงได้ไปพูดคุยเจาะไอเดียการสร้างสรรค์โครงการนี้จากบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสามย่านมิตรทาวน์ นั่นก็คือ ธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด

ธนพลเล่าความเป็นมาและไอเดียการสร้างสรรค์โครงการนี้ให้ฟังว่าเริ่มจากการที่แผ่นดินทองฯได้รับความไว้วางใจจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ขนาด 14 ไร่ของจุฬาฯ โดยเป็นสัญญาเช่าระยะเวลา 30 ปี ทางบริษัทแผ่นดินทองฯคิดว่าการจะใช้ศักยภาพของที่ดินตรงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดควรทำเป็นโครงการมิกซ์ยูส ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.ศูนย์การค้า 2.อาคารสำนักงาน 3.คอนโดฯและโรงแรม โดยออกแบบให้บาลานซ์กันทั้งหมด ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งที่ใหญ่กว่า

“การจะทำโครงการ สิ่งที่เราให้ความสำคัญ คือ เราต้องคิดคอนเซ็ปต์ก่อน เราไม่อยากสร้างตึกที่สูงที่สุด สวยที่สุด แต่เราอยากสร้างอะไรที่คนจะจดจำมากที่สุด หลักการคิดของเราเป็นการคิดย้อนว่าเราอยากให้คนจดจำเราที่จุดสุดท้ายยังไง แล้วเราค่อยกลับไปคิดคอนเซ็ปต์ว่าเราต้องเริ่มต้นยังไง เราจะทำยังไงให้แตกต่างท่ามกลางการแข่งขัน เราอยู่ในแหล่งการศึกษา เราอยากทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องความรู้ เพราะเราเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด และพื้นที่ตรงนี้เมื่อก่อนเคยเป็นตลาดสามย่าน เป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งที่ใช้ชีวิตสบาย ๆ เราก็เลยคิดเรื่องอาหาร ทำยังไงที่จะเป็นแหล่งรวมของกิน ดึงเอาของอร่อย ๆ ในอดีตกลับขึ้นมาได้ สองเรื่องหลักที่เราทำ คือ ความรู้กับอาหาร เป็นคอนเซ็ปต์คลังของอาหารและการเรียนรู้”

เมื่อมีคอนเซ็ปต์ชัดเจนแล้วจึงเอาคอนเซ็ปต์นี้ไปเลือกร้านค้าแล้วออกแบบร้านและการตกแต่งให้ตอบโจทย์คอนเซ็ปต์หลักทั้งสองอย่าง โดยมีแนวทางการออกแบบ คือ 1.สมาร์ท ออกแบบให้ทันสมัยล้ำยุค ใช้เทคโนโลยี ใช้วัสดุอย่างชาญฉลาด 2.เป็นมิตร เข้าถึงง่าย ให้คนมาเดินแล้วรู้สึกสบาย ๆ ไม่รู้สึกเกร็ง

แนวทางที่ต้องการเป็นมิตรกับผู้ใช้บริการสะท้อนออกมาในชื่อ “สามย่านมิตรทาวน์” (SAMYAN MITRTOWN) ซึ่งธนพลอธิบายว่า “สามย่าน” มาจากชื่อทำเลที่ตั้งโครงการ ส่วน “มิตรทาวน์” เป็นการเล่นคำพ้องเสียงกับ “midtown” ที่แปลว่าใจกลางเมือง แต่ที่นี่ใช้คำว่า “มิตรทาวน์” เพื่อสื่อถึงความเป็นมิตร เป็นสถานที่ที่ให้ทุกคนเข้ามาใช้ชีวิตและเรียนรู้ด้วยกันอย่างเป็นมิตร

“ตอนแรกเราคิดว่าทาร์เก็ตกรุ๊ปจะเป็นนิสิตนักศึกษาหรือคนทำงาน แต่ถ้าไปเดินดูจะเห็นว่ามีกลุ่มซีเนียร์รุ่นอาเจ๊ก อาแปะ อากง อาม่า มาใช้บริการค่อนข้างเยอะ มันก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าทำไมเขามากันเยอะ เพราะมาแล้วมันเป็นมิตร สบาย ๆ คนมาที่นี่มีตั้งแต่ใส่ชุดทำงานหรูหราไปจนกระทั่งใส่รองเท้าแตะ กางเกงขาสั้น เพราะเขาไม่รู้สึกเกร็ง อยากเดินก็เดิน ไม่มีใครมาจับตามอง ไม่รู้สึกว่าฉันอาย นี่เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่ามันทำให้อยากมาอยู่ในบรรยากาศแบบนี้”

ธนพลวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จในก้าวแรกของสามย่านมิตรทาวน์ ว่า เป็นเพราะมีคอนเซ็ปต์ชัดเจนจึงสามารถดึงคนจากที่ต่าง ๆ เข้ามา เขาอธิบายลงรายละเอียด ว่า การทำศูนย์การค้าในสมัยก่อนจะมองกลุ่มลูกค้าแค่ใน catchment area แต่สมัยนี้การเดินทางสะดวกสบาย เพราะฉะนั้น ศูนย์การค้าสมัยนี้สามารถจับกลุ่มคนที่มีความต้องการ-ความชอบเรื่องเดียวกันได้ ไม่ใช่ตั้งเป้าไว้แค่คนในพื้นที่เท่านั้น อย่างที่นี่ทำเรื่องความรู้และอาหาร คนที่มีความชอบด้านนี้ก็จะมาจากหลาย ๆ พื้นที่ แม้กระทั่งมาจากจังหวัดก็มี “ขอให้มันเจ๋งจริง ฮิตจริง ผมว่าคนมา”

จุดที่เป็น attraction สำคัญของสามย่านมิตรทาวน์ คือ อุโมงค์ที่หน้าตาเหมือนยานอวกาศ ซึ่งคนจำนวนมากตั้งใจไปเพื่อถ่ายรูปและเช็กอินตรงจุดนี้ ธนพลเล่าถึงไอเดียการสร้างสรรค์อุโมงค์ตรงนี้ ว่า ตอนแรกก็คิดแค่เรื่องประโยชน์การใช้งานเท่านั้น แต่ระหว่างที่ทำก็เห็นว่าวัสดุที่เป็นปูนดิบ ๆ นั้นสวยดี และคิดว่าอุโมงค์นี้ก็เหมือนอุโมงค์รถไฟใต้ดิน เพียงแต่คนที่โดยสารอยู่ในรถไฟไม่สามารถมองเห็นอุโมงค์ได้ จึงคิดว่าถ้าทำอุโมงค์โดยเปลือยให้คนเห็นโครงสร้าง เห็นว่าอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินหน้าตาเป็นอย่างไร ใช้วัสดุอะไร ก็จะตอบโจทย์คอนเซ็ปต์เรื่องการเรียนรู้ของโครงการ ด้วยความแตกต่างตรงนี้จึงเกิดเป็นไวรัลขึ้นมา

อีกหนึ่ง attraction คือโซนที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยมี “SAMYAN CO-OP” โคเวิร์กกิ้งสเปซที่ให้บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมงเป็นจุดดึงดูดสำคัญในโซนนี้

“เราจับในเรื่องไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ยกตัวอย่าง เรามีโซนที่เปิด 24 ชั่วโมงเพื่อรองรับเทรนด์ของเด็กรุ่นใหม่หรือผู้ใหญ่ ฟรีแลนซ์ คนที่ทำงานออนไลน์ สื่อดิจิทัลมีเดีย ชีวิตเขาเริ่มสาย ๆ จบเที่ยงคืนตีหนึ่งตีสอง เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีแหล่งที่เขาใช้งานได้ปลอดภัย 24 ชั่วโมง เด็กมาอ่านหนังสือกินข้าวตีหนึ่งตีสองเขาไม่จำเป็นต้องไปผับแล้ว มาที่นี่มีทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต มีร้านอาหาร มีฟิตเนส แล้วก็มีโคเวิร์กกิ้งสเปซให้เขามาใช้ชีวิตได้ ผมว่ามันก็เห็นเทรนด์ แรก ๆ คนก็ยังไม่มั่นใจ แต่ถ้าเราสร้างให้คนมั่นใจว่า ถ้าไปที่นี่หลังเที่ยงคืน ยังไงก็มีที่กิน มีที่นั่ง คนก็จะมา อันนี้เป็นกระแสที่เราเห็นว่ามันเริ่มเปลี่ยนไป”

ประธานอำนวยการ “แผ่นดินทองฯ” ภูมิใจนำเสนอว่า สามย่านมิตรทาวน์ชัดเจนในคอนเซ็ปต์และแตกต่างจากที่อื่น เขาไล่เรียงยกตัวอย่างสิ่งที่มีในโครงการว่ามีร้านอาหารอร่อย ๆ มากมาย ส่วนที่ภูมิใจนำเสนอมาก ๆ ก็คือส่วนที่สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ “ความรู้” ทั้งโรงเรียนสอนตัดเสื้อ โรงเรียนสอนเต้นรำ โรงเรียนสอนภาษา โรงเรียนสอนชกมวย ร้านอาร์ตแอนด์คราฟต์ ที่ขายวัสดุอุปกรณ์และสอนงานอาร์ตงานคราฟต์ โรงภาพยนตร์นอกกระแส ฯลฯ ซึ่งเขายืนยันว่า“มาแล้วจะรู้สึกไม่เหมือนที่ไปเดินที่อื่น”

“ที่นี่เรามีพื้นที่ให้กับสาธารณะอย่าง ชั้น 5 มีอัฒจันทร์กลางแจ้งขนาดใหญ่ให้คนมานั่งชมวิวกินอาหารพูดคุย ข้างล่างด้านหน้าเราปลูกต้นไม้ยาวตามถนนพญาไท มีช่องตรงกลางให้คนเดินเล่น ซึ่งผมคิดว่าเราควรให้กับชุมชนรอบข้างก่อนแล้วเราถึงจะได้กลับมา เราไม่จำเป็นต้องสร้างเต็มพื้นที่แล้วให้ทุกอย่างอยู่ในห้องแอร์ ผมว่าคนมาที่นี่เขาก็รู้สึกได้ว่าที่นี่สเปซมันเยอะ อันนี้ผมว่าเป็นความแตกต่าง เทียบกับศูนย์การค้าหรือโครงการพัฒนาอื่น ๆ”

ณ วันนี้ที่เห็นผลตอบรับดีเกินคาดชนิดที่ว่า“คะแนนเต็ม 10 ให้ 15 เลยครับ” แต่มองย้อนไปที่กระบวนการตอนต้น ๆ ธนพลบอกว่า ที่โครงการนี้ออกมาเป็นแบบนี้ก็ด้วยความไม่รู้ เพราะความไม่รู้ทำให้กล้าลอง

“มันเป็นโครงการแรกที่ผมทำค้าปลีก การมิกซ์กันระหว่างที่ทำงาน ที่เที่ยว กับที่อยู่อาศัย เราไม่เคยทำ เพราะฉะนั้น มันเกิดขึ้นด้วยความไม่รู้ การที่เราทำด้วยความไม่รู้ มันทำให้เรากล้าทำ ถ้าเกิดว่าเราให้มืออาชีพด้านศูนย์การค้ามาทำ เขาอาจจะมีสูตรสำเร็จและมีพาวเวอร์ในมือที่จะดึงร้านค้าเข้ามา เขาอาจจะอันนั้นก็ไม่เอา อันนี้ก็ไม่เอา ไม่เอาโรงเรียนต่าง ๆ แต่เราไม่มีอะไร เรามีแค่คอนเซ็ปต์ไปขาย เพราะฉะนั้น ในช่วงต้นต้องทำการบ้านเยอะ ขอข้อมูลเยอะ อะไรที่ไม่เคยทำเราก็ลองทำ ผมว่าอันนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราต่างจากคนอื่น ผมคิดว่าเงินมันจะมาทีหลัง หลังจากที่คุณสามารถทำให้คนรู้สึกอยากมา ผมเชื่ออย่างนั้น”

ย้อนกลับไปตรงที่บอกว่า “หลักการคิดของเราเป็นการคิดย้อนว่าเราอยากให้คนจดจำเราที่จุดสุดท้ายยังไง แล้วเราค่อยกลับไปคิดคอนเซ็ปต์ว่าเราต้องเริ่มต้นยังไง” ถามว่าอยากให้คนจดจำอย่างไร เขาตอบว่า อยากให้จำอย่างเดียว คือ เป็น meeting place เป็นสถานที่ที่เรานัดเจอกัน มาใช้ชีวิต กิน หาความรู้ และเรียนรู้ด้วยกัน

“ข้อดีของตรงนี้อย่างหนึ่ง คือ เรามีโรงเรียน มีมหาวิทยาลัย มีคนหมุนเวียนมาตลอด เด็กจบไปก็มีรุ่นใหม่เข้ามาอีก เพราะฉะนั้น คนรุ่นนี้อีกสัก 20 ปี ผมเชื่อว่าเขาก็อยากจะกลับมารำลึกว่าสมัยก่อนเรามาจีบกันที่สามย่านมิตรทาวน์นะ เรานั่งมุมนี้ จับมือกันครั้งแรกที่นี่ อีก 30 ปีเขาอาจจะมาถ่ายภาพแต่งงานกันใหม่ที่นี่ มาดูตำนานความรัก ผมคิดว่าความสำเร็จ คือ สุดท้ายแล้วคนเหล่านี้เขากลับมาที่นี่ และมีความสุขความทรงจำที่ดี ๆ กับตรงนี้”

ตลอดการสนทนา ประธานอำนวยการ บริษัทแผ่นดินทองฯยิ้มแฮปปี้กับความสำเร็จของโครงการที่ปลุกปั้นมากับมือ ถึงแม้คนมักจะบอกว่า การทำศูนย์การค้ามี honeymoon period แค่ 3 เดือน เดี๋ยวหลัง 3 เดือนก็หมดแล้ว แต่เขาบอกว่า ไม่เป็นไร อย่างน้อยได้ฮันนีมูนก็ยังดี“ตอนนี้เกินความคาดหมายแล้ว แต่จะทำอย่างไรที่จะรักษาต่อยอด ต่อไปเราจะรักษาตรงนี้ไว้ได้ยังไง จะทำให้เขามาแล้วอยากกลับมาอีกได้ยังไง เป็นความท้าทายที่เราจะต้องทำต่อไป” นั่นคือก้าวต่อไปของสามย่านมิตรทาวน์ที่ธนพล ศิริธนชัย บอกอย่างมุ่งมั่น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0