โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เจาะใจ The Lounge : ความรักของคนบนรถเข็น

Johjai Online

อัพเดต 20 ก.พ. 2562 เวลา 10.26 น. • เผยแพร่ 20 ก.พ. 2562 เวลา 17.00 น. • johjaionline.com
เจาะใจ The Lounge : ความรักของคนบนรถเข็น
เรื่องราวน่าประทับใจของคนบนรถเข็น ‘พี่ตี๋และพี่เปิ้ล’ คู่รักที่ป่วยเป็นโรคอัมพาตท่อนล่างและโรคโปลิโอตั้งแต่เด็ก

เรื่องราวน่าประทับใจของคนบนรถเข็น ‘พี่ตี๋และพี่เปิ้ล’ คู่รักที่ป่วยเป็นโรคอัมพาตท่อนล่างและโรคโปลิโอตั้งแต่เด็ก… เมื่อล้อวีลแชร์ไม่ใช่อุปสรรคของความรักและการใช้ชีวิต ทั้งคู่เติมเต็มซึ่งกันและกันผลักดันไปสู่ความสำเร็จในการคว้าปริญญาตรีเกียรตินิยม ทั้งคู่พร้อมถ่ายทอดพลังงานเชิงบวกของความรักให้กับผู้อ่านตามแบบฉบับ ‘ความรักของคนบนรถเข็น’
 
ต้นทุนชีวิต
พี่ตี๋ : คือตอนเด็กๆก็ปกติดีนะครับ แต่พออายุ 15 ปี พบว่ามีอาการแขนขาอ่อนแรง แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอกในโครงกระดูกสันหลัง ซึ่งต้องผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อมาตรวจ ผลจากการผ่าตัดทำให้เป็นอัมพาตท่อนล่าง จากนั้นก็ไม่สามารถเดินได้ปกติ ต้องนั่งรถเข็นตลอดเวลา
พี่เปิ้ล : ส่วนพี่เปิ้ลเอง เป็นโรคโปลิโอตั้งแต่อายุ 10 เดือนค่ะ ตอนนี้พอเคลื่อนไหวได้บ้างแต่จะเคลื่อนไหวลำบากมากหากต้องเดินทางไกล ดังนั้นต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วย อย่างรถเข็นในการเคลื่อนที่ค่ะ
 

 
วันที่ยากที่สุด
พี่ตี๋ : เรื่องต่างๆที่ผ่านเข้ามา ไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าวันที่รู้ว่าต้องใช้ชีวิตบนรถเข็น วินาทีเข้ารับการผ่าตัดแล้วเดินไม่ได้ มันเหมือนหักด้ามพร้าเลยทีเดียว ด้วยความที่ทางบ้านเราให้กำลังใจว่า เดี๋ยวมันก็หาย จากวันเป็นอาทิตย์ จากอาทิตย์เป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จนแล้วจนเล่า…จนเราซึมซับการใช้ชีวิตอยู่บนรถเข็น อาบน้ำ กินข้าว วันหนึ่งเราก็คิดได้ด้วยตัวเองว่ามันคือส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ถ้ามันไม่หายเราก็ต้องสามารถใช้ชีวิตต่อให้ได้ ดงัน้นเวลาเกิดปัญหาอะไรเราก็จะมองจุดนี้เป็นต้นแบบเสมอ
 
พี่เปิ้ล : พี่นิยามตัวเองว่า ’เราคือคนไม่ปกติที่ใช้ชีวิตโดยปกติได้’ เรียนให้ได้เหมือนคนปกติ ทำงานให้ได้เหมือนคนปกติ ทำอะไรได้ในชีวิตประจำวันให้เหมือนปกติ

 
การศึกษาคือจุดเริ่มต้น
พี่ตี๋ : ผมเริ่มเข้าเรียนสาขาโปรแกรมเมอร์ที่โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนอาชีพสำหรับคนพิการ พี่เข้าศึกษาก่อนจากนั้นคุณเปิ้ลก็เป็นรุ่นน้องตามมาทีหลัง ได้รู้จักกันในที่นี่ครับ จากนั้นก็สนิทกันมากขึ้น ตอนเราทั้งคู่เรียนอุดมศึกษา
 
พี่เปิ้ล : จริงๆแล้วมันได้ในเรื่องของอาชีพแต่ยังไม่สามารถเทียบวุฒิกับทางรัฐได้ เหมือนว่าเราได้เรียนทักษะการเป็นโปรแกรมเมอร์ การเขียนโปรแกรม และการดูแลรักษาคอมพิวเตอร์ แต่ใช้เทียบเป็นวุฒิ ม.5 หรือ ม.6 อะไรอย่างนี้ไม่ได้ เราเลยอยากจะไปให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ พอจบจากที่นี่ปุ๊บก็เลยตัดสินใจต่อปริญญาตรีสาขาสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกค่ะ ซึ่งตอนแรกพี่ก็มีคิดนะว่าเราพอจะทำงานได้แล้ว ไม่ต้องเรียนต่อก็ได้มั้ง แต่พอเอาเข้าจริงๆ ค่าตอบแทนมันแปรผันโดยตรงกับวุฒิการศึกษานะ อย่างจบมาแรกๆได้เงินหลักพัน เราต้องมาเสียค่าเช่าบ้าน ค่ารถ ค่าต่างๆ ก็เลยมีความคิดว่าควรเรียนต่อเถอะ เพื่อฐานเงินเดือน เพื่อทักษะที่มากขึ้นด้วย
 

 
อุปสรรคในการเรียนและการใช้ชีวิต
พี่เปิ้ล : เราไม่เคยมองว่าเรื่องการศึกษาสำหรับคนพิการมันจะยากกว่าคนปกติเลย ก็เหมือนคนทั่วไปนะเพราะเราสองคนยังอ่านออกเขียนได้ปกติ แต่สิ่งที่ยากจริงๆคือการเดินทางไปเรียน และการแบ่งเวลาระหว่างเรียนกับทำงาน ยากคูณสิบเลย… เรื่องเวลาและการเดินทางเป็นปัญหาสำหรับผู้พิการที่ต้องนั่งรถวีลแชร์ค่อนข้างมาก เพราะว่าการเดินทางมันจะลำบาก รถรับจ้างส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยอยากรับนะ บางครั้งมันก็แบกรถวีลแชร์ขึ้นไปไม่ได้บ้าง บางทีติดถังแก๊สในรถบ้างอะไรแบบนี้ ถึงขนาดต้องชะลอการเรียนพักหนึ่ง เพื่อหารถตัวเองสักคันในการเดินทาง รองมาก็เป็นเรื่องอาคารและสถานที่ที่ไม่เอื้ออำนวยสำหรับผู้พิการค่ะ

 
ผลักดันจนได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม
พี่เปิ้ล : ตอนนี้ก็คบกันมาถึง 12 ปีแล้ว มันเหมือนกับค่อยๆซึมซับค่อยๆเรียนรู้กันไป สมัยที่พี่เรียนที่มหาไถ่เราก็ขี้เกียจระดับหนึ่งเลยนะ (หัวเราะ)  จนมาถึงปริญญาตรีพี่ตี๋เขาก็ช่วยเราเยอะ คอยผลักดันเราเสมอ พี่เป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือ พี่ตี๋เขาอ่านเสร็จก็จะมาแชร์ให้เราตลอด อะไรที่มันยากๆ พอฟังที่พี่ตี๋เขาสรุปเราก็เก็ทได้เลย
 
พี่ตี๋ : ตอนเรียนสารสนเทศเราก็พยายามให้กำลังใจกันและกัน พี่จะบอกเขาว่า เรียนได้ไม่ยากหรอก พวกเรามีประสบการณ์จากสมัยเรียนวิชาชีพ เราเรียนสายโปรแกรมเมอร์มาล่ะ เราเข้าใจคอมพิวเตอร์มาและการเขียนโปรแกรมมาระดับหนึ่ง เราก็เอาความรู้และก็ประสบการณ์จากที่เราเรียน ที่เราทำงานมาสร้างความเข้าใจในบทเรียนเนื้อหาในวิชานั้นๆ พอทีนี้เราเข้าใจพื้นฐานแล้วเราก็สามารถที่จะแปลงจากไอ้บทความ Paragraph ที่มันยากๆ ถ่ายทอดให้เปิ้ลเข้าใจได้ง่ายขึ้น ส่วนในเรื่องเกียรตินิยม ถามว่าคาดหวังไหม…เราไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องได้เกียรตินิยมจริงๆ เพราะว่าจุดมุ่งหมายของเราคือต้องจบปริญญาตรีแค่นั้น แต่พอเราทั้งคู่ได้รับ ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง
 

 
ดังในชั่วข้ามคืน
 
พี่เปิ้ล : หลังจากเพจนางฟ้าซาลอนลงเรื่องราวของเรา ตอนนั้นพี่เพิ่งออกมาจากห้องประชุม หลานก็วิ่งเอามือถือมาให้ดูก็ตกใจเล็กๆ พี่ไม่ได้คิดว่าเป็นแบบอย่างให้ใครขนาดนั้น ตอนที่มีคนมาบอกว่าคุณเก่ง คุณดี พี่ยังนั่งคุยกับพี่ตี๋เลยว่าเราเหมาะสมจะเป็นแบบอย่างให้ใครจริงๆเหรอ
 
พี่ตี๋ : จริงๆต้องขอบคุณพี่นางฟ้าฯ เพราะตอนนั้นกำลังจะรับปริญญา เหมือนกับว่าเราพิการด้วยและก็ทุนทรัพย์น้อยเราก็หาช่างแต่งหน้าช่างทำผมยากมาก และช่วงนั้นก็คิวทุกคนเต็ม ก็เลยลองค้นหาในเฟสบุก ก็รู้จักกับพี่นางฟ้าซาลอน พี่เขาก็อาสามาช่วยฟรีๆ ประทับใจมากๆ
 
พี่เปิ้ล : ส่วนคำถามว่าเราเป็นเรื่องต้นแบบให้ใครไหม ไม่รู้สิถ้าอะไรที่มันเป็นข้อดี ขอให้ทุกคนนำสิ่งที่คิดว่าดีจากเรา หยิบไปใช้ได้ อะไรที่คุณรู้สึกว่ามันแย่ก็ขอโทษที่ว่าเรายังทำตรงจุดนั้นได้ไม่เต็มที่
 
ความคาดหวังต่อสังคม
 
พี่เปิ้ล : พี่ว่าพี่กับพี่ตี๋ค่อนข้างโชคดีตรงที่ว่าคนรอบข้างที่เราเจอยอมรับได้ คือเขายอมรับในศักยภาพมากกว่าในภาพลักษณ์ภายนอก เขาดูที่ฝีมือ ดูที่การกระทำอะไรอย่างนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งหมดทั้งมวลมันขึ้นอยู่กับเราด้วยว่า เราได้ถ่ายทอดตัวเราในแบบไหน
 
พี่ตี๋ : คนพิการที่ไม่ต้องนอนติดเตียงหลายคนถูกเหมารวมว่าต้องได้รับการสงเคราะห์หรือการช่วยเหลืออะไรอย่างนี้ เรายอมรับว่าพักหนึ่งพี่เคยคิดแบบนี้เหมือนกัน พอถึงจุดหนึ่งเราต้องลุุกขึ้นมาใช้ชีวิตให้ได้ด้วยตัวเองและพัฒนาตัวเองด้วย
 
สิ่งที่คนพิการอยากบอก
 
พี่เปิ้ล : ถ้าคุณเจอเขา(ผู้พิการ) คนยิ้มให้เขาก็ดีใจแล้วค่ะ แต่ถ้าคุณสงสัยว่าเขาอยากได้ความช่วยเหลืออะไรไหม สามารถเข้าไปถามได้เลย มันช่วยพวกเราได้เยอะเลยนะ หรือถ้าในเรื่องของการทำงาน อยากให้นายจ้างทุกคนให้โอกาส ลองให้เขาได้พรีเซนต์ตัวเองว่าเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง
 
พี่ตี๋ : ยกตัวอย่างตัวพี่เอง ทุกวันนี้เราก็ใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป ไปเที่ยว ไปห้าง หลายครั้งก็มีคนมองด้วยสายตาหลายแบบนะ ทั้งมองชื่นชมมีทั้งมองแบบสงสัย เราก็แค่ยิ้มให้ แล้วเขายิ้มตอบมาก็ดีใจแล้วครับ
 
พี่เปิ้ล : ตอนที่มาอยู่ระยองใหม่ๆ พี่เป็นคนแปลกของจังหวัดนี้เลยนะ(หัวเราะ) เพราะว่าเขาไม่เคยเห็นไง พี่กับพี่ตี๋จะไปทุกที่ ที่ไม่มีคนพิการไป เราอยากไปเดินตลาด เราอยากไปกินของอร่อยๆ เราก็ลงรถไปโดยที่มีคุณลุงคุณป้าฮือฮาว่ามีคนพิการจะมากินข้าว ต้องทำอย่างไงและจะช่วยยังไง เราก็จะบอกเขาว่าขอโต๊ะตรงนั้นได้ไหมคะ ขอตรงนี้ได้ไหม คือพี่อยากฝากถึงคนพิการว่าเราอย่ากลัว สื่อสารไปได้เลยค่ะ หลายคนเขาพร้อมจะเต็มที่กับเรา เพียงแต่วินาทีแรกเขาอาจจะยังไม่ทราบว่าทำแบบไหนดี
 

ความประทับใจ
พี่เปิ้ล : พี่ตี๋เป็นคนไม่คิดอะไรซับซ้อน…ไม่คิดเยอะ อยู่ด้วยแล้วมันได้รับพลังในการใช้ชีวิต แล้วเขาเป็นคนจิตใจดี ไม่คิดร้ายกับใคร
 
พี่ตี๋ : เขาเอาใจใส่ดูแลเรา อยู่กับเราทุกๆช่วงเวลา เขาไม่รังเกียจที่เรานั่งรถเข็น เหมือนเป็นผู้หญิงคิดบวก เอ๊ะ!คิดบวกหรือคิดไม่เหมือนคนอื่นไม่รู้นะ(หัวเราะ) 
 
ความรักของคนบนรถเข็น
พี่เปิ้ล : ความรักไม่เกี่ยวกับกายภาพมันคือเรื่องของความรู้สึก เหมือนคนปกติคนหนึ่ง ที่วันหนึ่งต้องแก่ตัว ต้องนั่งรถเข็น เพียงแต่ของเรามันดันเร็วกว่า พี่คิดแบบนี้นะ
 
พี่ตี๋ : ความรักมันเกิดจากความไม่สมบูรณ์แบบ แต่ว่าพอได้มาอยู่ด้วยกันมันจะมาเติมเต็มกันและกัน อะไรที่พี่ทำไม่ได้ พี่เปิ้ลก็จะมาคอยช่วย อะไรที่พี่เปิ้ลทำไม่ได้พี่ก็จะไปคอยช่วยอะไรแบบนี้ เราคอยอยู่เคียงข้างกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0