โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เจาะเบื้องลึก”ค่าเงินลีรา”ดิ่งเหว

Money2Know

เผยแพร่ 14 ส.ค. 2561 เวลา 23.30 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
เจาะเบื้องลึก”ค่าเงินลีรา”ดิ่งเหว

จู่ๆ ตุรกีก็เป็นข่าวขึ้นมา จนหลายคนอาจจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าเป็นไงมาไงกันแน่ และมีคำถามมากมาย เช่น

ทำไมค่าเงินตุรกีก็จู่ๆ อ่อนยวบ

คำตอบคือเศรษฐกิจตุรกีเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะหลัง โดยปีที่แล้วขยายตัวถึง 7% ประกอบกับเงื่อนไขต่างๆ ในโลกก็เอื้อด้วย ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วตรึงดอกเบี้ยในระดับต่ำที่เกือบ 0% เป็นเวลาหลายปี ทำให้เป็นเรื่องน่าดึงดูดสำหรับบริษัทตุรกีในการกู้ยืมเงินสกุลต่างประเทศ

ขณะที่นักลงทุนซึ่งได้ผลตอบแทนไม่เป็นกอบเป็นกำสำหรับการลงทุนระยะสั้นในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐ พบว่าจะได้ผลตอบแทนสูงขึ้นหากเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่อย่างตุรกี นอกจากนั้น ราคาน้ำมันที่ต่ำก็มีส่วนหนุน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปัจจัยเหล่านี้กลับทิศทางไปเป็นตรงกันข้าม เพราะธนาคารกลางสหรัฐกำลังขึ้นดอกเบี้ย และราคาน้ำมันสูงขึ้น

นอกจากนั้น ตุรกียังอาจทำร้ายตัวเองด้วย เพราะเศรษฐกิจแสดงสัญญาณของความร้อนแรงเกินไปมานานพอสมควร ด้วยเงินเฟ้อ 15.9% มีการขาดดุลการค้าจำนวนมาก และพึ่งพาการลงทุนรวมถึงการกู้ยืมจากต่างชาติ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอาจเป็นปัจจัยหนึ่งในการถ่วงค่าเงิน โดยเฉพาะเมื่อการลงทุนจากต่างประเทศหยุดไหลเข้ามา

เมื่อเงินอ่อนค่า นักลงทุนต่างชาติก็อาจถอนเงินลงทุนออกจากตลาดหุ้นและพันธบัตรของตุรกี เพราะการลงทุนในรูปของเงินลีราสูญเสียคุณค่าไป ซึ่งก็เท่ากับต้องขายเงินลีรา อันยิ่งทำให้เงินอ่อนค่า

การดำดิ่งของเงินลีราเลวร้ายลงเมื่อประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ขอให้ธนาคารกลางอย่าเพิ่งขึ้นดอกเบี้ย ทั้งที่การกระทำดังกล่าวเป็นเครื่องมือหลักในการหนุนค่าเงินและสู้กับเงินเฟ้อ แต่อาจฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดูเหมือนธนาคารกลางก็ทำตามด้วยการไม่ขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่หลายสถาบันกระตุ้นให้มีการปรับขึ้น สิ่งดังกล่าวทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นในธนาคารกลาง และเทขายเงินลีรา

การตัดสินใจของแอร์โดอันในการเสนอชื่อลูกเขยเป็นรัฐมนตรีคลัง ยิ่งทำให้ผู้คนสงสัยเกี่ยวกับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ

การตัดสินใจของตุรกีที่จำคุกบาทหลวงโปรเตสเตนท์หัวอนุรักษ์ อันเป็นกลุ่มฐานเสียงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ทำให้สหรัฐคว่ำบาตรรัฐมนตรีตุรกี ทั้งยังขู่จะขึ้นภาษีศุลกากรเหล็กกับอลูมิเนียมจากตุรกีเป็น 2 เท่า ซึ่งยิ่งทุบเงินลีราให้ลดลง

การดำดิ่งของเงินลีราเป็นปัญหาสำหรับภาคธุรกิจและธนาคารตุรกี ที่มีรายได้ในรูปเงินลีราแต่ติดหนี้ในรูปเงินดอลลาร์หรือยูโร โดยปีนี้เงินลีราอ่อนค่าลง 40% แล้วเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หมายความว่าการใช้หนี้เป็นเงินดอลลาร์จะแพงมากขึ้น จนเกิดความวิตกว่าธุรกิจหรือธนาคารอาจล้มละลาย

อาจมีคำถามว่าแล้วประเทศนอกตุรกีจะได้รับผลกระทบบ้างมั้ย

คำตอบคือมีกระแสวิตกว่าธนาคารในยุโรปจะสูญเสียเงินกู้ที่ปล่อยให้ตุรกีหรือไม่ ขณะที่นักวิเคราะห์คำนวณว่าธนาคารในยุโรปเกี่ยวข้องกับตุรกีค่อนข้างจำกัด อย่าง BBVA ของสเปนมีกำไรก่อนเสียภาษี 31% จากการดำเนินงานในตุรกี

ขณะเดียวกัน ปัญหาในตุรกีอาจทำให้นักลงทุนประเมินใหม่ เกี่ยวกับการถือครองสินทรัพย์หรือการลงทุนในตลาดเกิดใหม่

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหานั้น ทางทฤษฏีแล้วผู้นำตุรกีสามารถขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ หรืออาจจำกัดการถ่ายโอนเงินเพื่อสกัดเงินทุนไหลออก แต่ยังไม่มีสัญญาณว่าจะทำสองสิ่งที่กล่าวมา เพราะการต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟจะถือเป็นเรื่องเสียศักดิศรีสำหรับแอร์โดอัน ส่วนการควบคุมเงินทุนจะมีผลเสียเพราะตุรกีต้องการการลงทุนจากต่างชาติ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0