โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เจาะลึกขุมกำลังรถไฟฟ้าความเร็วสูงซีพี

Manager Online

อัพเดต 21 พ.ย. 2561 เวลา 13.11 น. • เผยแพร่ 21 พ.ย. 2561 เวลา 13.11 น. • MGR Online

ศึกชิงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท สองกลุ่มชิงดำระหว่าง “ซีพี และ บีทีเอส” นับว่าประเดิมยกแรกกันแล้วเมื่อวันที่ 19พ.ย.ที่ผ่านมา หลังการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดซองที่ 1 ว่าด้วย “คุณสมบัติ” แล้วให้ผ่านทั้งคู่

ยกที่สอง และ ยกที่สาม กำลังจะตามมา โดย กำหนดเปิดข้อเสนอซองที่ 2 เรื่อง เทคนิค พิจารณาช่วงวันที่ 20 พ.ย.-11 ธ.ค. 61 และพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 เรื่องการเงิน วันที่ 12-17 ธ.ค. 61 นี้

ก่อนที่ยกสุดท้ายจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในช่วงวันที่ 18-28 ม.ค. 62 เพื่อไปสู่เป้าหมายลงนามสัญญาภายในวันที่ 31 ม.ค. 62

คณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการนี้ มูลค่าปัจจุบันไม่เกิน 119,425,750,000 บาท โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องเสนอวงเงินที่ให้รัฐร่วมลงทุนในโครงการต่ำที่สุด

เมื่อวิเคราะห์ดูจากพันธมิตรร่วมของทั้งสองฝ่าย กลุ่ม CP ที่รวมตัวกันในชื่อ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และ พันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD, China Railway Construction Corporation Limited, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM นับว่า มีความหลากหลายที่น่าสนใจยิ่ง

เช่น บริษัท China Railway Construction Corporation หรือ CRCC จากประเทศจีน เป็นรัฐวิสาหกิจด้านวิศวกรรมการก่อสร้างขนาดใหญ่เชี่ยวชาญการก่อสร้างด้านระบบสาธารณูปโภคทุกประเภทถนน ทางด่วน อาคารขนาดใหญ่ และผลิตสายรถไฟกว่า 100,000 กิโลเมตร ทั้งรถไฟใต้ดิน Maglev และโมโนเรลซึ่ง CRCC ถูกจัดอันดับเป็นบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่และมีอิทธิพลมากที่สุดระดับโลก

ผนึกกับยักษ์ใหญ่วงการก่อสร้างของไทย อย่าง อิตาเลียนไทย และ ช.การช่าง ต่างเป็นบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ขณะที่ BEM เชี่ยวชาญด้านขนส่งและคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบริหารจัดการโครงการระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า เช่น MRT

ด้านการเงิน มีทั้ง Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development : JOIN ประเทศญี่ปุ่น และ CITIC Group Corporation สาธารณรัฐประชาชนจีน หนุนหลัง

กลุ่ม SUPPLIER ที่เข้าร่วมกับซีพีครั้งนี้ เป็นผู้ผลิตตู้รถไฟที่เป็นค่ายใหญ่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย Siemen (ประเทศเยอรมนี) Hyundai (ประเทศเกาหลี) CRRC-Sifang (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ที่ผลิตตู้รถไฟส่งขายทั่วโลก

นอกจากนี้ยังมีบริษัท Ferrovie dello Stato Italiane : FS (ประเทศอิตาลี) เป็นบริษัทที่รัฐบาลถือหุ้น100% เชี่ยวชาญการบริหาร และบำรุงรักษาระบบรางและรถไฟความเร็วสูง ที่สามารถทำกำไรได้ดีเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ

จุดแกร่งอีกข้อของ CP คือ ความช่ำชองเรื่องการทำธุรกิจ ที่น่าจะสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำคะแนน “Business Plan”

เมื่อรวมกับ China Resources (Holdings) Company Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่เน้นด้านการส่งออกของจีน ดำเนินธุรกิจหลากหลายทั้งพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก ซึ่งบริษัทนี้จะช่วยให้แผนการพัฒนาพื้นที่ทั้งในและนอกโครงการเชื่อม 3 สนามบินเติบโตได้ด้วย

ถ้าพืจารณาตามTOR ซึ่งกำหนดไว้ว่า ให้รัฐจ่ายน้อยที่สุดและได้ประโยชน์สูงสุด น่าคิดว่า พันธมิตรที่แข็งแกร่งและหลากหลายจะพากลุ่ม CP ไปถึงจุดที่มุ่งหวังไว้หรือไม่

ใครจะเข้าวิน ยกสุดท้าย 31 มกราคม 2562 จะได้รู้กัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0