โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เจาะความสำเร็จ การ "ปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออก" บนดินลูกรัง

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 08 ธ.ค. 2565 เวลา 10.11 น. • เผยแพร่ 11 ธ.ค. 2565 เวลา 05.00 น.
มะม่วง ดินลูกรัง

ดินลูกรัง จัดเป็นดินที่มีความสมบูรณ์ต่ำ มีส่วนของหน้าดินลึกประมาณ 50 เซนติเมตร เท่านั้น ลึกจากนั้นลงไปจะเป็นชั้นของดินลูกรัง ชั้นกรวด และดินดาน ดินประเภทนี้จะมีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ เป็นที่สังเกตว่าในสภาพพื้นที่ดินลูกรังจะปลูกไม้ผลให้ประสบความสำเร็จได้ยาก

แต่สำหรับพื้นที่ในเขตตำบลวังทับไทร กิ่งอำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร พื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นดินลูกรัง เกษตรกรส่วนใหญ่ได้ใช้พื้นที่นี้ปลูกมะม่วงเป็นหลัก มีเกษตรกรหลายรายของที่นี่ได้มีการปรับปรุงพื้นที่และใช้เทคโนโลยีจนประสบความสำเร็จในการปลูกมะม่วงได้คุณภาพดี และสามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศได้

คุณจรัญ อยู่คำ อยู่บ้านเลขที่ 63 หมู่ที่ 1 ตำบลวังทับไทร กิ่งอำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร ปลูกมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง บนเนื้อที่ประมาณ 120 ไร่ บนดินลูกรัง คุณจรัญบอกว่า ในการเตรียมหลุมปลูกมะม่วงจึงมีความจำเป็นจะต้องขุดหลุมขนาดใหญ่กว่าปกติ คือขุดให้มีความกว้าง ยาว และลึก ประมาณ 80 เซนติเมตร โดยขุดดินทั้งหมดมากองไว้บริเวณปากหลุมและคลุกเคล้าด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า ในอัตราหลุมละ 2-3 ปุ้งกี๋ และนำดินผสมเหล่านั้นใส่ลงไปในหลุมแล้วปลูกต้นมะม่วงลงไป

ประสบการณ์ในการเลือกซื้อ

กิ่งพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง

ปัจจุบัน พันธุ์มะม่วงที่จะปลูกเพื่อการส่งออกและตลาดต่างประเทศมีความต้องการมากที่สุดคือ พันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง สำหรับเกษตรกรมือใหม่ที่คิดจะปลูกมะม่วงสายพันธุ์นี้ควรเลือกซื้อกิ่งพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ เนื่องจากที่ผ่านมามีการย้อมแมวขายพันธุ์มะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 หรือน้ำดอกไม้ทั่วไป โดยอ้างว่าเป็นพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง

ถ้าดูจากลักษณะของใบแยกออกได้ยากมาก และแหล่งที่จะซื้อกิ่งพันธุ์จะต้องตรวจสอบประวัติต้นที่ใช้ขยายพันธุ์ด้วยว่า เคยมีประวัติการราดสารแพคโคลบิวทราโซลมาก่อนหรือไม่ เนื่องจากกิ่งพันธุ์ที่ขยายพันธุ์จากต้นที่เคยราดสารมาก่อนเมื่อนำมาปลูกต้นจะแคระแกร็นและเจริญเติบโตช้ามาก กิ่งพันธุ์ที่ดีควรจะชำลงในถุงดำมาแล้วอย่างน้อย 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง ถ้าเป็นกิ่งใหญ่ที่ทาบ 2 ตุ้ม จะดีมาก (หลายคนสั่งทำพิเศษ) เพื่อให้ต้นมะม่วงเจริญเติบโตได้เร็ว

สำหรับฤดูกาลปลูกมะม่วงของพื้นที่ตำบลวังทับไทรนั้น ส่วนใหญ่จะปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ปลูกโดยอาศัยจากน้ำฝนไม่ต้องเสียเวลาในการรดน้ำ เนื่องจากพื้นที่ในเขตตำบลวังทับไทรจะหาแหล่งน้ำค่อนข้างยาก

เทคนิคและวิธีการผลิต

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออก

คุณจรัญ ได้บอกถึงหลักการที่สำคัญในการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกว่า“จะต้องซื่อสัตย์ต่อตนเอง” สารเคมีชนิดใดที่ห้ามใช้จะต้องไม่ใช้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากเมื่อมีการตรวจสอบสารเคมีต้องห้ามเกินมาตรฐาน จะทำให้เสียชื่อเสียงและขาดความเชื่อถือ มะม่วงจะถูกตีกลับส่งไปขายไม่ได้ อีกประการหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือไม่ควรไปรับซื้อมะม่วงจากสวนอื่นที่ไม่รู้ประวัติการใช้สารเคมีมาขายอย่างเด็ดขาด

คุณจรัญ บอกว่า ต้นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่ปลูกในสภาพดินลูกรังนั้น จะเริ่มให้ผลผลิตในเชิงพาณิชย์เมื่อต้นมีอายุเฉลี่ย 4-5 ปี (จะให้ผลผลิตสูงสุดเมื่อต้นมีอายุได้ 8 ปี ขึ้นไป) ดังนั้น ต้นมะม่วงที่จะราดสารแพคโคลบิวทราโซลเพื่อบังคับให้ออกดอกติดผลนอกฤดูจะต้องมีอายุต้นอย่างน้อย 4-5 ปี ถ้าราดให้กับต้นที่มีอายุน้อยกว่านี้จะส่งผลกระทบต่อระบบโครงสร้างของต้น ต้นจะมีอาการเลื้อย แคระแกร็นและพบปัญหากิ่งแตกก่อนเวลาอันควร

การราดสารแพคโคลบิวทราโซลของการผลิตมะม่วงเขตตำบลวังทับไทร จะทำหลังจากที่มีฝนตกใหญ่ จากที่ได้กล่าวมาแล้วว่า นอกจากพื้นที่ปลูกมะม่วงเกือบทั้งหมดของตำบลวังทับไทรมีสภาพเป็นดินลูกรัง ปลูกในสภาพดอน คือปลูกเป็นไร่และหาแหล่งน้ำยากมาก ในการราดสารแพคโคลบิวทราโซล (เช่น แพนเที่ยม) จะราดหลังจากที่มีฝนตกใหญ่ลงมาอย่างน้อย 1-2 ครั้ง ซึ่งจะอยู่ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี จะต้องจำไว้เสมอว่า ก่อนที่จะราดสารแพนเที่ยม สภาพดินจะต้องมีความชื้น ถ้าราดในสภาพดินแห้งจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร

หลังจากราดสารแพนเที่ยมไปได้ประมาณ 20 วัน (ขณะที่ราดใบมะม่วงอยู่ในระยะใบเพสลาด) ใบมะม่วงเริ่มแก่ คุณจรัญจะเร่งการสะสมอาหารและสร้างความสมบูรณ์ให้กับต้นมะม่วงด้วยการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ สูตร 0-52-34 อัตรา 7 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร โดยผสมฮอร์โมน “โปรดั๊กทีฟ” อัตรา 500 ซีซี ลงไปด้วย จะฉีดพ่นประมาณ 2-3 ครั้ง ห่างกันประมาณ 10 วัน และในช่วงก่อนกระตุ้นการออกดอก ประมาณ 15 วัน (2 สัปดาห์ โดยประมาณ) จะฉีดพ่นด้วยปุ๋ยซุปเปอร์เค อัตรา 2 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร โดยฉีดพ่นเพียงครั้งเดียว จะพบว่าใบมะม่วงแก่จัดและมีความสมบูรณ์มากพร้อมที่จะออกดอก

พื้นที่ปลูกมะม่วงเขตตำบลทับไทร

ถ้าดึงช่อแบบ “ดึงผ่าฝน” มักจะไม่ประสบผลสำเร็จ

จากประสบการณ์ในการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของคุณจรัญพบว่า การดึงช่อดอกให้ออกในช่วงฝนตกชุกในช่วงเดือนกันยายนหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ดึงผ่าฝน” มักจะไม่ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะกับมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ ถึงแม้จะดึงให้ออกดอกและติดผลได้ก็ตาม ในช่วงที่ติดผลอ่อนและมีฝนตกลงมามากมักจะพบปัญหาเรื่องโรคแอนแทรกโนสเข้าทำลายจนควบคุมไม่อยู่ คุณจรัญบอกว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดของการดึงช่อดอกคือ ช่วงปลายฤดูฝนหรือปลายเดือนตุลาคม

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีเรื่องน่ายินดีที่มีการนำสารป้องกันและกำจัดเชื้อราชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า ฟริ้นท์+แอนทราโคลโกลด์ ฉีดพ่นเพื่อป้องกันโรคแอนแทรกโนสในช่วงออกดอกขณะที่ฝนตกชุกได้ผลดี หรือฉีดผ่าฝนได้และมีประสิทธิภาพดีกว่ายาป้องกันและกำจัดราหลายชนิด

สูตรดึงดอกที่คุณจรัญใช้เป็นประจำ

การันตีว่า ไม่เคยพลาด

หลังจากต้นมะม่วงมีความพร้อมต่อการดึงช่อดอก คุณจรัญจะใช้โพแทสเซียมไนเตรต อัตรา 8 กิโลกรัม ผสมไทโอยูเรีย (เช่น ไทเมอร์) อัตรา 3 กิโลกรัม และผสมสาหร่าย-สกัด อัตรา 2 ลิตร ผสมน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดพ่น 2 ครั้ง ห่างกันไม่เกิน 7 วัน หลังจากฉีดพ่นครบ 2 ครั้ง แล้วนับไปอีก 10-15 วัน จะเริ่มเห็นตามะม่วงเริ่มแทงออกมา

คุณจรัญบอกว่าเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับช่อดอกจะต้องบำรุงด้วยปุ๋ยเฟอร์ติไจเซอร์ อัตรา 2 กิโลกรัม และเฟตามิน อัตรา 500 ซีซี ผสมน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดพ่นอีก 1-2 ครั้ง ช่อดอกจะสมบูรณ์มาก ดอกจะสดนานวันและพบการขึ้นลูกเร็วมาก

ในช่วงต้นมะม่วงแทงช่อดอกจะพบแมลงศัตรูที่สำคัญมากคือ“เพลี้ยไฟ” คุณจรัญย้ำว่าในการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกนั้น การเลือกใช้สารเคมีฉีดพ่นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก การป้องกันและกำจัดเพลี้ยไฟให้ได้ผลดีและไม่เป็นอันตรายต่อดอก แนะนำให้ฉีดพ่นสาร “โปรวาโด” อัตรา 2 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ถ้าพบการระบาดเพลี้ยไฟรุนแรงให้เพิ่มอัตราการใช้สาร “โปรวาโด” เพิ่มขึ้นเป็น 4-5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ในช่วงเลี้ยงผลจะต้องไม่ฉีดพ่นสารเคมีในกลุ่มคลอไพรีฟอสอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะฉีดพ่นเพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งและเพลี้ยหอย มะม่วงน้ำดอกไม้ของไทยที่ส่งไปญี่ปุ่นเคยตรวจพบสารเคมีชนิดนี้ตกค้างบนผลมะม่วงเกินค่ามาตรฐานถูกตีกลับทั้งหมด

คุณจรัญ บอกว่า ในช่วงที่ดอกมะม่วงบานนั้นเกษตรกรจะต้องหมั่นตรวจดูเพลี้ยไฟทุกวัน และในการใช้สารเคมีฉีดพ่นนั้น คุณจรัญ บอกว่า เหมือนกับหมอรักษาคนไข้ ถ้าใช้ยาที่ไม่ถูกจะแก้ปัญหาไม่ได้ ในการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกนอกจากจะควบคุมในเรื่องของการใช้สารเคมีแล้ว ยังต้องดูแลเรื่องของผิวมะม่วงจะต้องสวยงามและไม่มีร่องรอยของโรคและแมลง

กระดาษห่อน้ำดอกไม้สีทอง

ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ 2 ชั้น

คุณจรัญจะห่อผลมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเมื่อมีขนาดของผลได้ 3 นิ้ว ขนาดผลใหญ่กว่าไข่ไก่เล็กน้อย ก่อนห่อจะต้องคัดผลไม่สวย ผลกะเทย และผลที่ไม่ได้รูปทรงออก เลือกห่อเฉพาะผลที่ดีและสมบูรณ์ กระดาษที่ใช้ห่อจะใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ 2 ชั้น (เคยใช้กระดาษชั้นเดียว พบปัญหาแดดเผาทำให้สีของผลไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะด้านตะวันตกที่สัมผัสแดดสีจะออกแดงและด้าน ตลาดไม่ต้องการ)

เกษตรกรรายใด ผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้คุณภาพตรงตามมาตรฐาน จะขายผลผลิตส่งออกได้ราคาสูงกว่าขายในประเทศ 2-3 เท่า คุณจรัญ บอกว่า ปัจจุบันที่สวนมะม่วงจะผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกเป็นหลัก และบอกว่ามีเกษตรกรมือใหม่หลายคนคิดว่าการผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกเป็นเรื่องที่ยากเกินความสามารถ

แต่คุณจรัญกลับมองว่า “การทำงานทุกอย่างอยู่ที่ความตั้งใจ” ถ้าตั้งใจแล้วจะทำได้แน่นอน เกษตรกรที่สามารถผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้คุณภาพตรงตามมาตรฐานจะขายผลผลิตได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 50 บาท ในขณะที่ราคาซื้อ-ขาย ภายในประเทศในช่วงมะม่วงออกชุกจะเหลือเพียง 10-15 บาท ต่อกิโลกรัม เท่านั้น

คุณจรัญได้กล่าวส่งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า เกษตรกรที่ยังไม่เคยผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกเมื่อพบปัญหาแล้วอย่าท้อถอยอย่างเด็ดขาด ในปีแรกอาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากคุณจรัญเคยมีประสบการณ์มาก่อนในการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในช่วงแรกๆ เก็บผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองมาเพื่อต้องการส่งออก จำนวน 1,000 กิโลกรัม แต่เมื่อพ่อค้ามาคัดเลือกผลผลิตเพื่อการส่งออกแล้ว คัดมะม่วงส่งออกได้เพียง 200 กิโลกรัม เท่านั้น

คุณจรัญได้นำปัญหาและอุปสรรคมาเป็นบทเรียนและแก้ปัญหาให้ถูกจุด โดยมองว่าสาเหตุที่ส่งขายไม่ได้เพราะอะไร และหาทางแก้ไขจนปัจจุบันนี้ คุณจรัญเก็บผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จำนวน 1,000 กิโลกรัม คัดเลือกส่งขายต่างประเทศได้เกือบทั้งหมด

คุณจรัญ อยู่คำ นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเกษตรกรไทยพัฒนาพื้นที่ดินลูกรัง ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เป็นพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกจนประสบผลสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้

เผยแพร่ทางออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2564

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0