โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เจน ฟอนด้า : ฉันอายุ 81 ปีแล้ว และฉันจะมาประท้วงเพื่อให้ถูกจับทุกๆ วันศุกร์

The Momentum

อัพเดต 23 ต.ค. 2562 เวลา 15.19 น. • เผยแพร่ 23 ต.ค. 2562 เวลา 15.19 น. • รุ้งรวี ศิริธรรมไพบูลย์

In focus

  • เจน ฟอนด้า นักแสดงวัย 81 ปี เจ้าของสองรางวัลออสการ์จากการแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Klute ในปี1971 และComing Home  ในปี1978 ถูกจับสองครั้งจากการชุมนุมประท้วงเรื่องโลกร้อนที่หน้าตึก The Capitol อาคารรัฐสภาในวอชิงตันดีซี
  • หลังได้รับการปล่อยตัว เธอวางแผนจะจัดชุมนุมประท้วงทุกวันศุกร์ โดยให้ชื่อว่า ‘Fire Drill Fridays’ หน้าอาคารรัฐสภาทุกๆ วันศุกร์ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเกรตา ธันเบิร์ก ที่โดดเรียนทุกวันศุกร์มานั่งประท้วงเรื่องโลกร้อนเช่นเดียวกัน ซึ่งมีองค์กรที่เข้าร่วมด้วยอย่าง Greenpeace, Friends of the Earth และOil Change International
  • ในปี1972 เธอเคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการประท้วงสงครามเวียดนาม จนได้ฉายาว่า ‘เจน ฮานอย’ และทำกิจกรรมเพื่อสังคมเรื่อยมา โดยเธอวางแผนไว้ว่าวันที่ 21 ธันวาคมนี้ เธอจะจัดการประท้วงใหญ่เพื่อเป็นของขวัญวันครบรอบวันเกิด82 ปีของเธอ

รุ่นแม่ฉันอาจจะรู้จักเจน ฟอนด้า จากวิดีโอสอนเต้นแอโรบิกตอนเช้าๆ หรือหนังเรื่องKlute ในปี1971 และComing Home  ในปี1978 ซึ่งเธอคว้าออสการ์มาครองได้ทั้งสองตัว 

สำหรับรุ่นฉันรู้จักเธอจากหนังเรื่องMonster In Law ที่เล่นกับเจนนิเฟอร์ โลเปซ ส่วนเด็กวัยรุ่นรุ่นนี้ก็คงรู้จักเธอจากซีรีส์Grace and Frankie ทางเน็ตฟลิกซ์ อ้อ…และล่าสุด ก็ในฐานะนักแสดงวัย81 ปีที่ถูกจับหลายครั้งหลายคราจากการไปประท้วงเรื่องโลกร้อนหน้าตึกThe Capitol อาคารรัฐสภาในวอชิงตันดีซี ซึ่งเธอบอกว่าเธอวางแผนจะไปไประท้วงที่นั่นทุกวันศุกร์เพื่อให้ถูกจับทุกวันศุกร์ จับได้จับไป แต่เธอก็จะประท้วงต่อไป 

จะว่าไปนี่ไม่ใช่ครั้งแรกในการทำกิจกรรมทางการเมืองของป้าเจน เพราะเมื่อครั้งที่ป้ายังสาวๆ ป้าก็เปรี้ยวอย่าบอกใคร ด้วยการร่วมกิจกรรมต่อต้าน‘สงครามเวียดนาม’ ในปี1970 เธอร่วมมือกับนักศึกษาที่มีแนวคิดต่อต้านสงครามเวียดนาม โดยเตรียมการจัดทำใบปลิวต่อต้านสงครามและจะนำไปแจกให้กับเหล่าทหารในฟอร์ต มีด รัฐแมรี่แลนด์ แต่เธอก็ถูกจับเสียก่อน 

เพราะฉะนั้นการถูกจับจากการประท้วงเรื่องโลกร้อนในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องจิ๊บจ้อยสำหรับเธอ

เธอหายหน้าจากวงการฮอลลีวู้ดและทำกิจกรรมทางสังคมอย่างจริงจัง ทั้งการเข้าร่วมเดินขบวนประท้วงBlack Panthers (ไม่เกี่ยวอะไรกับหนังBlack Panthers นะคะ) เพื่อเรียกร้องสิทธิของชาวอินเดียนแดง 

จากนั้นในปี1972 เธอมีโอกาสเดินทางไปยังฮานอยประเทศเวียดนาม เพื่อดูว่าสงครามก่อให้เกิดอะไรบ้าง จากเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้เธอได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากชาวอเมริกัน โดยเฉพาะภาพถ่ายที่เธอนั่งทับปืนกลที่ถูกถ่ายมาแล้วเผยแพร่ อันเป็นชนวนเหตุให้เธอถูกก่นด่าว่าไม่เคารพทหารกล้าอเมริกันชนที่เสียชีวิตในสงครามเวียดนามกว่า58,000 นาย 

โดยในภายหลังเธอได้ออกมาแสดงความเสียใจและกล่าวคำขอโทษ แต่ภาพนั้นก็ยังคงตามหลอกหลอนเธอมาจนถึงทุกวันนี้ พร้อมด้วยชื่อเรียกใหม่ที่ขนานนามเธอว่า เจน ฮานอย(Jane Hanoi) และหลังกลับมาจากเวียดนามเธอก็ให้สัมภาษณ์สื่ออย่างจริงจังถึงความโหดร้ายของสงครามเวียดนาม จนทางการออกมาบอกว่า“ใครก็ได้ตัดลิ้นยัยคนนี้ที”

แต่ถึงอย่างนั้นจุดยืนในการต่อต้านสงครามของเธอก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง

ในวัย81 ปี เรายังเห็นผลงานการแสดงของเธออย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกันกับการก้าวมาทำกิจกรรมทางสังคมอีกครั้งในแคมเปญเรื่องโลกร้อนจนถูกจับกุมตัวไปแล้วสองครั้ง ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ และได้รับความสนใจจากสื่อมวลในสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก เจนบอกว่าเธอได้แรงบันดาลใจมาจากเกรตา ธันเบิร์ก

“นี่มันเป็นเรื่องวิกฤติ เราต้องร่วมมือกัน ดังนั้นฉันจึงตัดสินใจใช้ความดังของฉันเพื่อพยายามทำให้ทุกคนรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องเร่งด่วน ฉันย้ายไปวอชิงตัน เพื่อทำการประท้วงเรื่องนี้โดยเฉพาะ และเตรียมการประท้วงเพื่อให้ถูกจับกุมทุกวันศุกร์” เจนกล่าวในการสัมภาษณ์กับCNN

เธอเรียกการประท้วงหน้าตึกThe Capitol ทุกวันศุกร์ของเธอว่า‘Fire Drill Fridays’ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการที่เกรตา ธันเบิร์ก โดดเรียนไปนั่งประท้วงทุกวันศุกร์ โดยเธอร่วมมือกับองค์กรอย่างGreenpeace, Friends of the Earth และOil Change International ในการจัดประท้วงเล็กๆ ทุกวันศุกร์หน้าตึกThe Capitol เธอถูกจับครั้งแรกในวันที่11 ตุลาคม และครั้งที่สองในวันที่18 ตุลาคม พร้อมเพื่อนนักแสดงแซม วอเตอร์สัน(ซึ่งเพิ่งมาร่วมประท้วงและถูกจับครั้งแรก) และผู้ร่วมประท้วงอีก15 คน 

“สิ่งที่เจ็บปวดที่สุด ไม่ใช่การถูกจับในวัย81 ปี แต่เป็นเพราะถูกจับด้วยสายรัดข้อมือที่ทำจากพลาสติกสีขาว แทนที่จะเป็นกุญแจมือโลหะ” เจนกล่าว

ในปี2016 เจนเคยเข้าร่วมประท้วงเรื่องท่อก๊าซในนอร์ธ ดาโกตา เธอทำการประท้วงทั้งที่ลอสแองเจลิส แวนคูเวอร์ และซีแอตเทิล เธอใช้ชีวิตด้วยรถพลังงานไฟฟ้า ปฏิเสธที่จะนั่งเครื่องบินถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เพราะนั่นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดรอยเท้าคาร์บอน(อันเป็นชนวนเหตุให้เธอทะเลาะกับลิลี ทอมลิน นักแสดงคู่กับเธอในเรื่อง  Grace and Frankie ที่รีเควสต์การนั่งเครื่องบินเสมอ)

บ้านของเธอที่แคลิฟอร์เนียใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เธองดใช้พลาสติกและไม่กินเนื้อแดง นอกจากเกรตา ธันเบิร์กแล้ว สิ่งที่ทำให้เธอลุกขึ้นมาใช้มาตรการการประท้วงในครั้งนี้ก็คือการได้อ่านหนังสือของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล โจเซฟ สติกลิตซ์ เรื่อง‘People, Power, and Profits: Progressive Capitalism for an Age of Discontent’ และหนังสือเรื่อง‘On Fire: The (Burning) Case for a Green New Deal.’ ของนาโอมิ ไคลน์ 

“ฉันแก่แล้ว ฉันไม่มีอะไรจะเสีย” 

เจน เรียกร้องให้บริษัทผลิตพลังงานฟอสซิลทั้งหลายออกมาแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งการดำเนินงานของบริษัทเหล่านี้คือหนึ่งในสาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน  นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้เกิดนโยบายพร้อมงบประมาณในการแก้ปัญหาวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การทำการเกษตรอย่างยั่งยืน การปกป้องและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งที่ทำให้เธอต้องออกมา‘ประท้วง’ ซึ่งดูเหมือนเป็นกิจกรรมที่เต็มไปด้วยความก้าวร้าวรุนแรงนี้ก็เพราะเธอบอกว่าเราเหลือเวลาอีกไม่มาก หากไม่รีบทำในตอนนี้

“มันเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่เหมือนทุกคนทำอย่างกับมันไม่เร่งด่วน เพราะฉะนั้นฉันจึงต้องทำให้ทุกคนรู้สึกว่ามันเร่งด่วน” 

ในวันที่21 ธันวามคมนี้ แม้จะตรงกับวันเสาร์ ไม่ใช่วันศุกร์ แต่จะเป็นวันที่เจน ฟอนด้ามีอายุ82 ปี และเธอจะจัดการประท้วงใหญ่เพื่อเป็นของขวัญวันครบรอบวันเกิด82 ปีของเธอ และเธอกล่าวว่า  “ฉันพร้อมจะถูกจับอีกครั้งในวัย82 ปี”

อ้างอิง

https://thehill.com/blogs/in-the-know/in-the-know/465722-jane-fonda-said-she-is-prepared-to-get-arrested-every-friday

https://www.latimes.com/entertainment-arts/story/2019-10-11/jane-fonda-arrested-washington-dc

https://edition.cnn.com/videos/world/2019/10/14/jane-fonda-climate-crisis-protest-arrest.cnn/video/playlists/amanpour/

https://www.washingtonpost.com/climate-environment/jane-fonda-plans-climate-change-civil-disobedience-on-the-capitol-steps/2019/10/10/c7cd534e-eab1-11e9-9306-47cb0324fd44_story.html

ภาพ : Sarah Sibiger/REUTERS

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0