โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทำไมคนไทยมีชื่อเล่น? รำลึกเจน-นุ่น-โบว์ และไอเดียรัฐ เคยรณรงค์ตั้ง "ชื่อเล่น" เป็นคำไทย

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 26 มิ.ย. 2566 เวลา 03.50 น. • เผยแพร่ 24 มิ.ย. 2566 เวลา 13.19 น.
ภาพปก-เจนนุ่นโบว์
กลุ่มศิลปิน

ทำไมคนไทยมีชื่อเล่น? รำลึก เจน-นุ่น-โบว์ และไอเดียรัฐ เคยรณรงค์ตั้ง “ชื่อเล่น” เป็นคำไทย

ในที่นี้ต้องบันทึกไว้ว่าชื่อเล่นซึ่งโด่งดังสุดในช่วงปลายเดือนมีนาคมจนถึงต้นเมษายน พ.ศ. 2563 คือ “เจน-นุ่น-โบว์” สามสาววง “ซุปเปอร์วาเลนไทน์” น่าสนใจว่า หากย้อนไปสิบกว่าปีก่อน เมื่อพ.ศ. 2550 กระทรวงวัฒนธรรมเคยมีนโยบายอนุรักษ์ภาษาไทย ภาษาถิ่น ด้วยการรณรงค์ให้พ่อแม่คนไทยตั้งชื่อเล่นลูกเป็นภาษาไทย หากเป็นเช่นนั้น ไม่แน่ว่าในอนาคตวลีติดหู “เจน-นุ่น-โบว์” อาจต้องเปลี่ยนคำร้องกันก็เป็นได้

ในช่วงพ.ศ. 2550 ปรากฏข่าวเรื่อง “วธ.ทำคู่มือตั้งชื่อเล่นมุ่งอนุรักษ์ภาษาไทย” ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับ 14 กันยายน พ.ศ. 2550 ในเนื้อหาข่าวยังปรากฏผลสำรวจชื่อเล่นของประชาชนโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศในช่วงเวลานั้น วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่รายงานแก่นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ว่า การวิจัยเชิงสำรวจความนิยมในการตั้งชื่อเล่นของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 22 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ ประชาชนจำนวน 1,582 คน ชาย 745 คน หญิง 837 คน ช่วงระหว่าง ก.ค.-ส.ค. 2550

ผลสำรวจพบว่า คนเชียงใหม่ตั้งชื่อเล่นเป็นภาษาไทย 1,190 คน คิดเป็นร้อยละ 75.20 ชื่อภาษาไทยยอดนิยม 5 อันดับ ได้แก่ แดง แก้ว นก ฝน และแมว ชื่อเล่นเป็นภาษาอังกฤษมี 392 คน ชื่อเล่นภาษาอังกฤษยอดนิยม ได้แก่ เอ็ม เมย์ แอปเปิล และการ์ตูน

เรียกได้ว่า“นโยบาย” เป็นจริงเป็นจังกันเลยทีเดียว

คำถามที่หลายคนอาจถามกันต่อมาคือ “ทำไมคนไทยถึงมีชื่อเล่น?”

แน่นอนว่า ก่อนจะมี “ชื่อเล่น” ได้ ย่อมต้องมี“ชื่อจริง” การสืบเสาะจึงต้องเริ่มจากชื่อจริงของชาวไทยก่อน

ชื่อของคนไทย

สำหรับชื่อของคนไทยนั้น นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการชื่อดังสันนิษฐานว่า หากย้อนไปก่อนหน้าสมัยรัชกาลที่ 5 คนไทยมีแต่ชื่อจริง ส่วนใหญ่ก็เป็นคำพยางค์เดียว เช่น ทอง บุญ หรือเป็นคำพื้นๆ ใช้กันทั่วไป ตั้งใช้ให้ไพเราะ ความหมายดี

เมื่อสืบเสาะเพิ่มเติมยังพบความเชื่อเรื่องการตั้งชื่อให้น่าเกลียด เช่น หมา จากความเชื่อเรื่องผีของคนสมัยโบราณที่มีคติว่า ถ้าตั้งชื่อให้น่าเกลียด ผีจะไม่มาเอาตัวเด็กไป

งานวิจัยเรื่อง “การใช้ภาษาในการตั้งชื่อของคนไทย” โดยสุภาพรรณ ณ บางช้าง (2526) ศึกษาเรื่องการตั้งชื่อ โดยแบ่งการตั้งชื่อเป็นสมัยต่างๆ ตั้งแต่สุโขทัย มาจนถึงรัตนโกสินทร์ โดยสรุปแล้ว ในสมัยสุโขทัย ปรากฏรายชื่อคนทั่วไปที่รวบรวมจากศิลาจารึก ชื่อเหล่านี้ปรากฏในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ราว พ.ศ. 1900-1927 ชื่อเกือบทั้งหมดเป็นชื่อพยางค์เดียว มีชื่อชาย 7 ชื่อ และหญิง 7 ชื่อ

ชื่อในสมัยสุโขทัยนี้ ผู้ศึกษามองว่า สะท้อนแนวคิดของคนยุคบุกเบิกสร้างบ้านและชุมชนในแง่บ่งบอกความสัมพันธ์แบบญาติ บ่งบอกว่า คนนี้เป็นลูกของใคร เช่น “ไส” “ไสดำ” หรือชื่อที่มีความหมายถึง “นายดําผู้เป็นลูกคนที่ 4 ของครอบครัว” ประกอบกับคติเรื่องความมั่นคงและรุ่งเรืองของชุมชน เช่น ชื่อ “คง” “ผากอง” หรือ “ร่วง” ซึ่งหมายถึงเจริญรุ่งเรือง

ในสมัยอยุธยาและธนบุรี มีทั้งชื่อที่เป็นภาษาไทย บาลีสันสกฤต หรือบาลีสันสกฤตผสมไทย ชื่อที่ตั้งมีความหมายแสดงวิถีชีวิต เช่น ชื่อต้นไม้ดอกไม้ อาทิ “จัน” หรือชื่อธาตุอย่างทอง อาทิ “ทอง” “ก้อนทอง” “ทองขวัญ” ชื่อสัตว์ ชื่อของใช้ ไปจนถึงแสดงกิริยาอาการ เช่น ผูก มา เลือน พูน

อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ ข้อสังเกตของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่มองว่า สมัยก่อนคนไทยบางคนก็เคยมีชื่ออื่นที่ไม่ใช่ชื่อตัว แต่ไม่ใช่ชื่อเล่น หากแต่เป็นสมญา เช่น “พระยาเสือ” ความหมายว่าท่านดุ หรือในยุคต่อมาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่จะกล่าวถึงต่อไปนั้น ก็มีกวีที่เรียกชื่อกันว่า “นายจุ้ยฟันขาว” บอกให้รู้ว่านายคนนี้ไม่กินหมาก (กระมัง) ซึ่งการใช้สมญาแทนหรือเป็นชื่อเสริมก็ปรากฏในหลายวัฒนธรรม กษัตริย์ฝรั่งสมัยโบราณ ก่อนนับแบบเรียงเบอร์ ก็ใช้สมญาเพื่อแยกกษัตริย์ เช่น ใจสิงห์, นักบุญ, โหดเหี้ยม

เมื่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในช่วงที่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ งานวิจัยระบุว่า ยังใช้ชื่อที่เป็นภาษาไทยเป็นส่วนใหญ่ มีบาลีสันสกฤต และบาลีสันสกฤตผสมภาษาไทยบ้างแต่เป็นส่วนน้อย ความเปลี่ยนแปลงอีกประการคือเริ่มปรากฏชื่อคนไทยที่เป็นภาษาเขมรร้อยละ 1.4 และ 1.9 สำหรับชื่อผู้ชายและผู้หญิงตามลำดับ ความหมายของชื่อยังไม่แตกต่างจากยุคอยุธยาและธนบุรีมากนัก จำนวนพยางค์เริ่มมี 3 พยางค์ กรณีของผู้หญิงอาจมี 3-4 พยางค์

เมื่อมาถึงยุครัตนโกสินทร์ในระบอบประชาธิปไตยช่วงต้น ชื่อภาษาไทยระหว่างพ.ศ. 2479-2486 มีพยางค์ยาว 4-5 พยางค์อยู่บ้างแต่ไม่มาก ชื่อที่เป็นภาษาบาลีสันสกฤตเพิ่มมากขึ้น ความหมายของชื่อก็แตกต่างจากคตินิยมดั้งเดิม ปรากฏชื่อที่แสดงอำนาจ ชัยชนะ การสงครามมากขึ้น เช่น ณรงค์ เฉลิมพล กริช ชื่อเทพเจ้า เช่น อินทร์ นรินทร์ ชื่อที่แสดงเกี่ยวกับภูมิความรู้ เช่น ปรีชา เวทย์

ยุคระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน ย่อมเห็นได้ทั่วไปว่า จำนวนพยางค์เริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นิยมชื่อภาษาบาลีสันสกฤตมาก เริ่มหาชื่อที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากที่มีมา ข้อสังเกตหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับจำนวนพยางค์ของชื่อนั้น เชื่อว่าอาจมาจากจำนวนประชากรมากขึ้น ชื่อพยางค์สั้นๆ มีโอกาสซ้ำกันมากขึ้น การตั้งชื่อให้ยาวขึ้นหรือบ่งบอกเชิงเอกลักษณ์ทั้งในแง่เชิงพื้นที่ หรือลักษณะกายภาพต่างๆ จึงอาจเป็นทางออกหนึ่ง

และนั่นย่อมเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำมาสู่สันนิษฐานต่อมาว่า ชื่อเล่น อาจเริ่มมาจากการใช้ชื่อจริงที่เริ่มมีคำมากขึ้น เรียกไม่สะดวก จึงเกิดเรียกชื่อเล่น ที่เป็นพยางค์เดียวขึ้น

สู่ “ชื่อเล่น” แบบไทย

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ชื่อเล่นแบบ “กิ๊ก” ที่เป็นอีกชื่อแยกต่างหากจากชื่อจริงโดยไม่ใช่ชื่อแบบสมญาหรือชื่อย่อ (ทำนอง “ไมเคิล” แล้วเป็น “ไมค์”) นั้น เพิ่งเกิดในวัฒนธรรมไทยไม่นานมานี้ คือ“ตั้งแต่คนไทยเริ่มตั้งชื่อบุตรหลานเป็นภาษาแขกยาวๆ หรือขลังๆ” ซึ่งข้อสังเกตนี้ใกล้เคียงกับข้อสังเกตข้างต้นว่าด้วยเรื่องจำนวนพยางค์ของชื่อที่มากขึ้น

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ยัง “เดา” ว่า “เพิ่งเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 4” ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ พระราชโอรสของรัชกาลที่ 2 ยังทรงพระนามเดิมเหมือนบุคคลทั่วไป เช่น ทับ, นวม, กลาง, น้อย ฯลฯ

“…จนรุ่นพระราชโอรสในร.4 นั่นแหละ จึงพระราชทานพระนามเริดหรู เช่น มนุษนาคมานพ, ดิศวรกุมาร ฯลฯ กลายเป็นประเพณีที่เจ้านายพระราชทาน, ประทานนามแก่บุตรหลานด้วยภาษาแขก หรือภาษาไทยเชิงร้อยกรองสืบมา

ประเพณีนี้แพร่หลายจากเจ้ามาถึงขุนนางและก็เลื่อนลงมาถึงคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ แล้วก็ต่อมาก็ถูกแยกเพศ คือชื่อหญิงชื่อชายควรมีความหมายหรือเสียงที่ส่อให้รู้ว่าเป็นหญิง หรือชายด้วยในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม (เพศสภาพถูกทำให้หยุดนิ่งไปพร้อมกัน) แล้วต่อมาก็เลื่อนไปถึงคนไทย (หรือที่อยากเป็นไทย) อื่นๆ”

ในเวลาต่อมายังมีคติให้พระตั้งชื่อให้ด้วย ซึ่งนิธิ เอียวศรีวงศ์ มองว่า ถึงตอนนี้เองที่ความจำเป็นต้องตั้งชื่อเล่นจึงเกิดขึ้น โดยวิเคราะห์ว่ามี 2 เหตุผลซึ่งอธิบายความจำเป็นนี้

ข้อแรก คนใกล้ชิดโดยเฉพาะในครอบครัวจะเรียก “อุดมศักดิ์” ตลอดเวลาก็อาจดูห่างเหิน จะเรียก “ไอ้มืด” ก็ดูเป็นการตำหนิ จึงต้องตั้ง “ชื่อเล่น” เพื่อแสดงความใกล้ชิด ความรัก และผูกพันต่อกัน ข้อนี้เข้าใจได้ไม่ยาก

ข้อสอง อาจเข้าใจยากขึ้นนิด กล่าวคืิอ ชื่อคนถูกตั้งขึ้นเพื่อให้ได้คุณลักษณะเชิงนามธรรมบางประการ นิธิ เอียวศรีวงศ์มองว่า “ชื่อทำให้เกิดคุณลักษณะ ไม่ใช่คุณลักษณะทำให้เกิดชื่อ” เทียบกับฝรั่งตั้งชื่อลูกตามชื่อปู่ย่าตายายและพ่อแม่ เพื่อสืบทอดตัวเองหรือตัวตนให้ดำรงต่อ ชาวคริสต์ และมุสลิมตั้งชื่อนักบุญหรือผู้มีชื่อในศาสนาเพื่อให้คนคนนั้นมีคุณลักษณะดีๆ ของวีรบุรุษ (หรือวีรสตรี)

ชื่อไม่เพียงแค่บอกคุณลักษณะของเจ้าของชื่อ ยังบอกสิ่งอื่นได้อีกหลายอย่าง อาทิ คุณสมบัติ บอกความหวัง ความใฝ่ฝัน และค่านิยมของครอบครัวต่อคนนั้น

ชื่อสำหรับ “คนวงใน-คนวงนอก”

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ยังมองว่า “ชื่อเล่น” ที่ตั้งกันหลังสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา มีบทบาทสำคัญในแง่ครอบครัวและคนใกล้ชิด แสดงความใกล้ชิดกัน หากมองในแง่บริบทการใช้งานแล้ว จากการบอกเล่าของนิธิ เอียวศรีวงศ์ เมื่อครั้งที่เป็นเด็กจนถึงหนุ่ม การเรียกชื่อเล่นในหมู่เพื่อนฝูง โดยเฉพาะเพศตรงข้าม ไม่เป็นที่นิยม เพราะมีเส้นแบ่งความสนิทสนมบางอย่างคั่นอยู่ก่อนจะข้ามไปถึงชื่อเล่น ดังนั้น ชื่อเล่นจึงเป็นชื่อของ “คนวงใน” ที่เรียกขานด้วยความรัก ความสนิทสนม ตั้งแต่ครอบครัวไปจนถึงเพื่อนสนิทพิเศษ

ส่วนชื่อจริง เป็นชื่อของ “คนวงนอก” หรือสังคม บอกให้ผู้อื่นในสังคมรับรู้ว่าเป็นใครมาจากไหน ตัวเขาเองและครอบครัวมีความฝันใฝ่อะไรในชีวิต โดยยกตัวอย่าง คนที่มีชื่อจริงว่า “ศรีสุข” “ประชาธิปไตย” หรือ “เนวิน”

ขณะที่ความนิยมใช้ชื่อเล่นเป็นภาษาอังกฤษ ตามความเห็นของนิธิ เอียวศรีวงศ์ มองว่า

“ไม่ต่างอะไรกับประเพณีการตั้งชื่อเล่นที่มีมาแต่เดิม เพราะจำนวนมากของชื่อเล่นเป็นแต่เพียงเสียงที่ไร้ความหมาย หากฟังดูน่ารักน่าเอ็นดูเท่านั้น เช่น ติ๊ก, โด่ง, ดี๋, ดู๋ ฯลฯ เป็นต้น

แต่ความต่างเมื่อตั้งชื่อเล่นเป็นภาษาฝรั่งไม่ได้อยู่ที่ว่ามันเป็นฝรั่ง (จึงไม่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ “ความเป็นไทย) แต่อยู่ที่จุดมุ่งหมายที่จะให้ชื่อเล่นสื่อความหมายบางอย่างแก่สังคมต่างหาก เช่น ชื่อบอลมีความหมายมากกว่าความน่ารักในหมู่คน ‘วงใน’ ยังมีความรักความภาคภูมิใจของครอบครัวที่มีต่อ ภราดร ศรีชาพันธุ์ ด้วย…

ชื่อเล่นของไทยกำลังเปลี่ยนจาก ‘วงใน’ ไปสู่ ‘วงนอก’ ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมไทยที่น่าสนใจจึงอยู่ที่การกำหนดพื้นที่ของคนไทยกำลังเปลี่ยน พื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยขีดเอาไว้สำหรับคนใกล้ชิดกันเพียงไม่กี่คน อาจหดตัวแคบลงไปอีก หรืออาจกลืนกันไปกับพื้นที่ส่วนอื่น หรือ ‘วงนอก’…

เป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะคนไทยปัจจุบัน (2550) มีสำนึกปัจเจกชนสูงขึ้น ‘วงใน’ จริงๆ ของแต่ละคนจึงไม่เหลือความสัมพันธ์กับคนอื่นอีกเลย เมื่อไหร่ที่นึกถึงความสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องของ ‘วงนอก’ ไปหมด…”

เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจทีเดียว ยิ่งหากลองใช้กรณีตัวอย่างของเนื้อเพลงซึ่งมีคำแนะนำตัวเองแก่ผู้ชม อาจสะท้อนภาพที่ช่วยอธิบายวัฒนธรรมและการใช้งาน “ชื่อเล่น” ได้อีกแง่มุมหนึ่ง

บทส่งท้าย

นอกเหนือจากประเด็นเรื่อง “ชื่อเล่น” ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่สะท้อนผ่านเพลงซึ่งสามารถเอ่ยถึงในที่นี้ คือเรื่องเพลงไวรัล ซึ่งปรากฏบ่อยครั้งในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ในระดับโลกมีเพลงอย่าง GANGNAM STYLE (2012) ที่เคยทำสถิติทะลุยอดวิวพันล้านวิวในยุคแรกๆ

มาจนถึงเพลง PPAP “Pen-Pineapple-Apple-Pen”

ล่าสุด ไม่นานมานี้เพิ่งมีดนตรีท่อนหนึ่งของคลิปโปรโมทตลาดน้ำของไทย ซึ่งจัดทำโดยดิสนีย์ (คลิกอ่านเพิ่มเติม เรื่องกำเนิดกระรอกจิ๋วของดิสนีย์ ตัวละครท่อนร้อง “ชิปกับเดลมีสองพี่น้อง…”) เป็น “เพลงไวรัลติดหู” หรือที่เรียกว่า Earworm คือฟังแล้วทำนอง-เนื้อร้องวนเวียนติดอยู่ในหัวแบบสลัดออกยากเหลือเกิน

เคยมีงานวิจัยเมื่อปี 2016 วิเคราะห์องค์ประกอบที่ทำให้เพลงบางชิ้นติดอยู่ในหัวแบบสลัดไม่หลุด เพลงที่ติดหูแบบ earworm มักมีองค์ประกอบคล้ายกันคือ

  • จังหวะความเร็วค่อนข้างกลางๆ ขึ้นไป (Upbeat)
  • มีแพทเทิร์นเสียง(ท่วงทำนอง)คล้ายๆ กับเพลงที่โด่งดังอื่นๆ
  • ระยะห่างระหว่างโน้ตที่ติดกันมักเป็นโน้ตที่กว้าง (ตัวนึงต่ำ ตัวต่อมาขึ้นสูงทันที) เช่น การร้องเมโลดี้เนื้อร้อง “Somewhere Over the Rainbow”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

“วธ.ทำคู่มือตั้งชื่อเล่นมุ่งอนุรักษ์ภาษาไทย”. เดลินิวส์. ฉบับวันที่ 14 กันยายน 2550. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2563.

ศศิวิมล กาลันสีมา. การรู้จำชื่อเฉพาะภาษาไทย: การศึกษาชื่อบุคคล สถานที่ และองค์กร. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2553. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2563.

สุภาพรรณ ณ บางช้าง. การใช้ภาษาในการตั้งชื่อคนไทย. ในงานวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉลอง 700 ปี ลายสือไทยลำดับที่ 6. กรุงเทพ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. อ้างถึงใน น้องนุช มณีอินทร์. 2543. การปรับเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2563.

ไมเคิล ไรท. “ชื่อเล่นนั้นสำคัญไฉน?”. มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับที่ 1415 (28 ก.ย.-4 ต.ค. 2550). น. 70.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. “ชื่อเล่นจริงๆ”. มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับที่ 1413 (14-20 ก.ย. 2550) . น. 91-92.

อํานาจ ปักษาสุข. “ชื่อจริงและชื่อเล่นในสังคมไทย”. สืบค้นจากฐานข้อมูลออนไลน์ https://arts.tu.ac.th/culture/010257.pdf.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 เมษายน 2563

youtube
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0