โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เงินไปไหน ? หมอโอด 4.5 หมื่นล้าน ถึงบางโรงพยาบาลแค่หลักแสน

Thai PBS

อัพเดต 05 มิ.ย. 2563 เวลา 05.16 น. • เผยแพร่ 05 มิ.ย. 2563 เวลา 05.16 น. • Thai PBS
เงินไปไหน ?  หมอโอด 4.5 หมื่นล้าน ถึงบางโรงพยาบาลแค่หลักแสน

เงินกู้ก้อนใหญ่ 1 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งถูกเฉือนไปใช้ในด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท

วงใน สธ. มีใบสั่งไปยัง รพ.ต่างๆ ให้รีบตั้งงบฯ ขอเงินไปใช้ “ตั้งการ์ด” รับมือโควิด-19 มีการคาดการณ์วงเงินกว้างๆ ที่จะจัดสรรเป็น 3 ส่วน

1.เพิ่มค่าตอบแทน อสม.      1 หมื่นล้านบาท
2.อุดหนุน สปสช.             1.3 หมื่นล้านบาท
3.จัดสรรให้ รพ.ทั่วประเทศ   2.1 หมื่นล้านบาท

(ข้อ ณ ที่นี้คือปลายเดือน พ.ค. ก่อนที่ รมว.สาธารสุขจะชี้แจง 3 มิ.ย.นี้)

ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ คือ “ใบสั่ง” ที่ส่งมาล่วงหน้า พอถึงเวลาเอาเข้าจริงกลับถูกปรับลดวงเงินถึง 70 % รพ.ใหญ่ๆ ที่จะได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยหลัก “สิบล้าน” จึงเหลือเงินไม่กี่ล้านบาท เป็นเบี้ยหัวแตก

1.

เบื้องหลังความเคลื่อนไหวในวงการเสื้อกาวน์ วันที่ 25 พ.ค. มีใบสั่งไปยัง รพ.ให้ตั้งเรื่องของบฯ ให้ส่งรายละเอียดตามลิสต์ของ สธ. ทั้งสเปคและใบเสนอราคาที่กำหนด

กลุ่ม รพ.ปฐมภูมิ เช่น รพ.สต. ,สสจ. ฯลฯ                 แห่งละ 5.5 แสนบาท – 1 ล้านบาท
กลุ่ม รพ.ทุติยภูมิ เช่น รพช. เล็ก กลาง ใหญ่ แม่ข่าย     แห่งละ    5 ล้านบาท – 25 ล้านบาท
กลุ่ม รพ.ตติยภูมิ เช่น รพ.ศูนย์ , รพ.ทั่วไป                แห่งละ  50 ล้านบาท  - 70 ล้านบาท

แม้ รพ.บางประเภทจะได้งบฯ น้อย แต่ดูในภาพรวมแล้วไม่น้อย! ตีตัวเลขกลมๆ คือกว่า 2 หมื่นล้านบาท
(ไม่สามารถเปิดเผยเอกสารตัวจริงที่กำหนดรายละเอียดของ งบฯ และขนาดโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของแหล่งข่าว)

พอถึงวันที่ 2 มิ.ย.2563 (หลังจากดีใจได้ 1 สัปดาห์) เอกสารที่ตั้ง งบฯ ไปกลับเป็น โมฆะ! โดย สธ. ส่งใบสั่งใหม่เปลี่ยนกรอบวงเงิน

ลดลง 70% จากเดิมกว่า 2 หมื่น เหลือเพียง 6 พันล้านบาท และสั่งให้ส่งภายในวันที่ 3 มิ.ย.2563 ตัวอย่างเช่น

กลุ่ม รพ.ปฐมภูมิ เช่น รพ.สต.                               แห่งละ 3 แสนบาท
กลุ่ม รพ.ทูติยภูมิ เช่น รพช. เล็ก กลาง ใหญ่          แห่งละ 1 ล้านบาท -  5 ล้านบาท
กลุ่ม รพ.ตติยภูมิ เช่น รพ.ศูนย์ –รพ.ทั่วไป             แห่งละ 8 ล้านบาท - 14 ล้านบาท

2.

ปัญหาที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่าง รพ.ทั่วไปขนาดเล็ก เดิมมีเกณฑ์ได้เงินสูงสุด 50 ล้านบาท แต่พอปรับเกณฑ์เพดานงบฯ ก็ลดลงมาตามสัดส่วนเหลือเพียง 8 ล้านบาท

แผนที่วางไว้เตรียมสร้างวอร์ดใหม่ แยกกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ออกจากผู้ป่วยทั่วไป จัดพื้นที่ลดแออัด และซื้อเครื่องไม้เครื่องมือ ฯลฯ เป็นอันต้องพับแผนไป

บางแห่งถึงขั้นไปคุยกับ รับเหมา-ดีลเลอร์ ให้เร่งเสนอราคา… ทว่าสุดท้ายไม่มีเงินจ่าย ที่หนักกว่าคือบางแห่งเริ่มดำเนินการไปแล้ว โดยโยกเงินมาจากส่วนอื่น และหวังว่าเมื่อได้งบฯ มาแล้วจะนำไปโปะ

แต่ที่น่าเป็นห่วง ไม่ใช่เรื่องเสียหน้า-เสียเครดิต แต่ที่สำคัญเกณฑ์เหล่านี้ไม่ได้ดูความเสี่ยงพื้นที่ เสี่ยงมาก-เสี่ยงน้อย แต่กลับได้เงินในเพดานที่เท่ากัน

ที่ผิดหวังกว่าใครเพื่อนคือกลุ่ม รพ.สต. เดิมเจียดงบฯ ให้โรงพยาบาลเหล่านี้ได้เงิน “หลักแสน” ยิ่งมากดงบฯ เหลือแห่งละไม่ถึง “3 แสน” นักรบด่านหน้าจึงตั้งคำถามว่า ได้เงินเจียดมาแค่ 2.9 พันล้านบาท สำหรับ รพ.สต. เกือบ 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศอย่างนั้นหรือ

และมีคำถามถึงเงินส่วนต่างที่หายไป กว่า 1 หมื่นล้านว่า สธ. กั๊กไว้ทำไม ? แต่กลับได้คำตอบจาก “ผู้ใหญ่” ว่ากันไว้ใช้ยามฉุกเฉิน… 

การกลับลำของ สธ. ส่งผลให้กลุ่ม รพช.-รพ.สต. ล่ารายชื่อ ขอให้พร้อมใจกัน “ไม่คีย์” ข้อมูลชุดใหม่ที่ สธ. กดงบฯ

ว่าง่ายๆ คือ หมอขอให้ยึดกรอบงบฯ ที่ขอไปครั้งแรก (25 พ.ค.) ไม่ยอมรับกรอบงบฯ ที่ สธ.ขอให้กรอบข้อมูลใหม่ครั้งหลัง (2 มิ.ย.)

"แต่ถ้า สธ.ยืนยันจะจัดงบฯ ให้ตามแผนวันที่ 2 มิ.ย. ขอไม่รับงบฯ กู้จัดซื้อคุรุภัณฑ์ทางการแพทย์"

ล่าสุด มี รพ.ลงชื่อแล้ว 269 แห่ง

ฝุ่นยังไม่ทันหายฟุ้ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข เร่งแจงการจัดการเงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท ที่น่าสังเกต คือเวอร์ชั่นของนายอนุทิน แตกต่างกับเวอร์ชั่น “ใบสั่ง” ที่ สธ. จั่วไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2

นายอนุทิน แจงว่าแบ่งเงินเป็น 5 ส่วน

1.เพิ่มเงิน อสม.   1 หมื่นล้านบาท
2.อุดหนุน สปสช. 1 หมื่นล้านบาท
3.กันเงินไว้ซื้อวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ ฯลฯ หากระบาดในรอบ 16 เดือน 1 หมื่นล้านบาท
4.จ่ายโรงพยาบาล รพ.สต. รพช. รพ.ทั่วไป รพ.ศูนย์ ฯลฯ               1 หมื่นล้านบาท
5.จ่ายโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทรายลัย-หน่วยงานราชการ               5 พันล้านบาท

3.

มาถึงจุดนี้จึงถึงบางอ้อ ว่า “เงินไปไหน” ที่แท้เงินไม่ได้หายไปไหน แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดการของ สธ.

เท่ากับว่า “ใบสั่งแรก” ที่เปิดโอกาสให้ รพ.ตั้งงบฯ วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท มาจากการจัดการของ “ใครบางคน” ที่เชื่อว่าจะมีการจัด “วงเงิน” 2 หมื่นล้านบาท แจกจ่าย รพ.ทั่วประเทศ

แต่ทางปฏิบัติกลับพบว่า สธ.ไม่ได้จัดเงินตามนั้น แต่กั๊กไว้ 1 หมื่นล้านบาท ไว้ใช้ยามฉุกเฉิน และยังเจียดบางส่วนให้กับ รพ.ในสังกัดหน่วยงานรัฐและมหาวิทยาลัย

สรุปเงินไม่ได้ “หาย” ไปไหน แต่เงินถูกโยกไปไว้ส่วนใดคงเห็นชัดเจนแล้ว

ที่ผิดหวังคือบรรดาหมอๆ กลุ่มแพทย์ชนบท ซึ่งส่วนใหญ่รับผิดชอบ รพช.และ รพ.สต. ที่หนักคือ รพ.สต.ที่ถูกกดงบฯ ไม่ว่าใบสั่งไหนก็ถูกจัดสัดส่วนน้อย

รพ.สต.โผแรก เพดาน 5.5 แสนบาท โผหลังกดเหลือ 3 แสนบาท โครงการที่ตั้งไว้ก็คงต้องพับไปตามระเบียบ

สิ่งคั่งค้างในใจคนเสื้อกาวน์ เงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ที่กู้มาและจ่ายไป คงเฉลี่ยถึงมือหมอน้อยนิด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0