โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เงินสะพัด"เทศกาลกินเจ" อาหาร-เครื่องดื่ม4,650ล้าน 

เดลินิวส์

อัพเดต 21 ก.ย 2561 เวลา 09.26 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2561 เวลา 09.16 น. • Dailynews
เงินสะพัด
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย"ระบุเทศกาลกินเจปีนี้คนกรุงใช้จ่ายด้านอาหาร-เครื่องดื่มกว่า 4,650 ล้านบาท ขยายตัว 3.3%  เผยเมนูสร้างความแปลกใหม่เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ จูงใจผู้บริโภคเลือกซื้อได้เร็วขึ้น-กระตุ้นยอดขายเพิ่ม 

รายงานข่าวจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า  เทศกาลกินเจปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.-17 ต.ค. ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มเจสะพัดกว่า 4,650 ล้านบาท ขยายตัว 3.3%  เมื่อเทียบกับปีก่อน จากจำนวนคนที่สนใจกินเจเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เลือกกินเจเป็นบางวันเฉลี่ยอยู่ที่ 4 วัน และมีค่าใช้จ่ายในการกินเจประมาณ 315 บาท/คน/วัน  ทั้งนี้ คนกรุงฯ ส่วนใหญ่ยังสนใจที่จะกินเจ โดยช่องทางหลักในการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มเจคือ ซื้อจากร้านอาหารมาทาน เพราะสะดวก ง่าย เข้ากับไลฟ์สไตล์ของชีวิตคนกรุงฯ ที่เร่งรีบและไม่ค่อยมีเวลา ส่วนรสชาติและภาพลักษณ์ของอาหารและเครื่องดื่มเจ ถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคคนกรุงฯ ค่อนข้างสูง ดังนั้น การปรับภาพลักษณ์อาหารเจให้ดูไม่จำเจ น่ารับประทานและมองเป็นอาหารเชิงสุขภาพ (มีสารอาหารครบถ้วน แคลอรี่ต่ำ) จะช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคมีทัศนคติและมุมมองต่ออาหารเจในเชิงบวกมากขึ้น ซึ่งเอื้อต่อโอกาสในการทำการตลาดในปีนี้และปีต่อๆ ไป 

"  แม้ว่าระยะหลังจะมีกระแสเกี่ยวกับการบริโภคอาหารเจที่อาจทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะโปรตีน แต่จากกระแสการปนเปื้อนสารพิษต่างๆ ในเนื้อสัตว์ รวมถึงโอกาสในการเจ็บป่วยหรือเป็นโรคได้ง่ายขึ้น ยังเปิดกว้างให้อาหารเจมีโอกาสทำตลาดเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเจ ชูจุดขายเรื่องคุณค่าทางอาหารที่ครบถ้วน มีประโยชน์เชิงสุขภาพ และสร้างความแปลกใหม่ให้กับเมนูอาหารและวัตถุดิบที่ใช้ที่แตกต่างจากคู่แข่ง น่าจะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อได้เร็วขึ้น ซึ่งกระตุ้นยอดขายให้กับธุรกิจได้ โดยเฉพาะกับผู้บริโภคอาหารเจที่ไม่ได้จำกัดการบริโภคเฉพาะในช่วงเทศกาล

สำหรับแนวโน้มของคนที่กินเจจะยังมีสัญญาณเพิ่มขึ้น แต่ระยะหลังมานี้ ผู้บริโภคหลายคนที่ทานเจ รวมถึงที่ไม่สนใจทานเจ ต่างก็เริ่มมีความกังวลในเรื่องของการบริโภคอาหารเจว่า อาจจะทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะโปรตีนที่อาจได้รับไม่เพียงพอ อาหารเจมีความมัน/ เลี่ยน ซึ่งเกรงว่าจะไม่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการอาจจะต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะการชูจุดขายในเรื่องของคุณค่าทางสารอาหารที่ครบถ้วนและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงการใส่ใจในเรื่องของรสชาติและการสร้างความแปลกใหม่ให้กับเมนูอาหารและวัตถุดิบที่ใช้ ก็น่าจะช่วยคลายกังวลในเรื่องของการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ และจูงใจให้ผู้บริโภคสนใจที่จะรับประทานอาหารเจเพิ่มขึ้น

กลุ่มเป้าหมายที่น่าจะเข้าไปทำตลาดมากที่สุด คือ กลุ่มวัยทำงาน (อายุ 35-55 ปี) และกลุ่มวัยเกษียณ (อายุ 55 ปีขึ้นไป) เพราะมีกำลังซื้อสูง ยอมจ่ายให้กับกลุ่มสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ อีกทั้งยังมีการรับรู้ข่าวสารอย่างรวดเร็ว ทั้งจากการบอกกล่าวจากคนใกล้ตัวและการเข้าไปหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะใช้ช่องทางนี้เป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการได้

อย่างไรก็ตาม มุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อการเลือกรับประทานอาหารเจไม่ได้จำกัดอยู่ในช่วงเทศกาลกินเจเท่านั้น แต่ขยายไปสู่ช่วงเวลาอื่นๆ ด้วย เช่น วันพระ วันเกิดหรือช่วงเวลาที่สะดวก นอกจากนี้ กระแสการปนเปื้อนสารพิษต่างๆ ในเนื้อสัตว์ รวมถึงโอกาสในการเจ็บป่วยหรือเป็นโรคได้ง่ายขึ้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนยุคใหม่ ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป กลุ่มเนื้อแดง ดังนั้น แนวโน้มผู้บริโภคอาหารในกลุ่มเจ/มังสวิรัติ น่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งสร้างโอกาสทางการตลาดให้ผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มเจได้ตลอดทั้งปี 

"การจะทำตลาดในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเจให้ประสบผลสำเร็จ การคำนึงในเรื่องของคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน และดีต่อสุขภาพ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความคุ้มค่าที่จะจ่ายมากที่สุด ภายใต้การวางแผนกลยุทธ์ส่งเสริมการขายให้ตรงความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย และในยุคนี้ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ควรจะมีบริการส่งอาหารถึงที่เพื่อสร้างความสะดวกและรวดเร็ว"

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0