โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เงินสดล้นมือ BTS ลงทุน ต่อยอด อสังหาฯ-สื่อ

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 22 ก.ย 2562 เวลา 08.16 น.

โบรกฯเผย BTS เข้าลงทุนในกิจการอื่นเพื่อบริหารกระแสเงินสด มองการเข้าซื้อเป็นสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่หวังบริหารงาน แต่รับผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากและพันธบัตร เน้นจับธุรกิจเอื้อรถไฟฟ้า ไม่ขยายลงทุนนอกกลุ่มอสังหาฯ-สื่อ

จากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับตํ่า หลังธนาคารกลางทั่วโลกต่างประกาศปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่อง ทำให้การลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดี แข็งแกร่ง ให้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงิน หรือซื้อพันธบัตรรัฐบาล ถึงแม้จะปลอดภัยกว่าก็ตาม ซึ่งการลงทุนดังกล่าว สอดคล้องกับการเข้าซื้อหุ้นในธุรกิจต่างๆ ของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) (BTS) โดยที่ผ่านมาได้ลงมาเป็นนักลงทุนด้วยการซื้อหุ้นและร่วมลงทุนในหลายๆ บริษัท เพื่อต่อยอดและช่วยผลักดันธุรกิจซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2558-2562 BTS ได้เข้าร่วมลงทุนและซื้อหุ้นหลายรายการ ทั้งโดยตรงและใช้บริษัทย่อยเข้าลงทุน ประกอบด้วย บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) (บมจ.) (SIRI), บมจ.ยูซิตี้(U), บมจ. มาสเตอร์ แอด(MACO), บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส(ประเทศไทย) จำกัด, บมจ.แพลน บี มีเดีย(PLANB), บมจ.คอมเซเว่น(COM7), บมจ. อาร์เอส(RS) และล่าสุดร่วมกับพันธมิตรก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ(ตารางประกอบ)

 

 

 สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2562/2563 มีรายได้รวมจากการดำเนินงานอยู่ที่ 9,086 ล้านบาท เติบโต 194.0% มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานของธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ธุรกิจสื่อโฆษณาและธุรกิจบริการ ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 894 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 131.2% ขณะที่ เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอยู่ที่ 15,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 274.7% นอกจากนี้ ยังจ่ายเงินปันผลประจำปี 2561/2562 งวดสุดท้ายจำนวนไม่เกิน 3,139.2 ล้านบาท ที่หุ้นละ 0.25 บาท ซึ่งจ่ายเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 คิดเป็นเงินปันผลทั้งปีประมาณ 5,152.5 ล้านบาท หรือหุ้นละ 0.42 บาท คิดเป็นอัตราเงินปันผลตอบแทนประจำปีที่ 3.98%

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงธุรกิจของ BTS ว่า แต่ละปีบริษัทจะมีรายได้และผลกำไรที่เติบโตอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ลงทุนในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมาไปแล้ว ส่งผลให้มี BTS ต้องบริหารจัดการกระแสเงินสดที่มีเข้ามามากให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยช่วงที่ผ่านมา การเข้าลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทต่างๆ ของ BTS มองว่าเป็นการบริหารกระแสเงินสดที่มีอยู่ค่อนข้างมาก และเป็นการต่อยอดธุรกิจหลัก โดยจะเข้าร่วมลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และสื่อโฆษณา เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เอื้อต่อรถไฟฟ้า

 

“หลังจากเร่งลงทุนตั้งแต่ต้น ทำให้ปัจจุบัน BTS อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวรายได้และกำไร ส่งผลให้กระแสเงินสดที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก บริษัทจึงต้องบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ นอกจากการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นแล้ว ก็ต้องเข้าไปลงทุนเพื่อเสริมแกร่งให้กับธุรกิจอีกด้วย ซึ่งการลงทุนของ BTS เป็นลักษณะเข้าไปซื้อหุ้นในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ถึงกับต้องเข้าไปบริหาร โดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาฯ ที่มีความต้องการใช้เงินลงทุน ขณะที่ กลุ่มสื่อก็ต้องใช้เงินทุนในการดำเนินงานเพื่อให้เติบโตได้ในระยะยาวด้วย ทั้งนี้ หาก BTS จะขยายการลงทุนอีก คาดว่าจะไม่ออกไปจาก กลุ่มอสังหาฯ และสื่อ”

บทวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ จก. ระบุว่า ยังคงคำแนะนำ“ถือ” สำหรับ BTS ด้วยราคาเป้าหมายที่ 13 บาท โดยรอผลการเจรจาอย่างเป็นทางการสำหรับสัมปทานสายสีเขียว หากได้รับการต่อสัญญาสัมปทาน ประเมินเบื้องต้นจะมี upside ประมาณ 0.7-1.40 บาทต่อหุ้นขึ้นกับเงื่อนไขของสัมปทาน ส่วนโครงการมอเตอร์เวย์ 2 สาย เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา(M6) บางใหญ่-กาญจนบุรี(M81) มูลค่ารวม 39,138 ล้านบาทสำหรับงานออกแบบและดำเนินงานซ่อมบำรุง คาดจะเสนอครม.และลงนามในต้นปี 2563 ประเมิน upside ประมาณ 0.30 บาทต่อหุ้น

นอกจากนี้ มีแผนเข้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เพิ่มเติมจากการเข้าประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกอยู่ระหว่างการตรวจสอบด้านเทคนิคและเหลือคู่แข่งเพียง 1 รายเท่านั้น ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยเสี่ยงมาจากการเจรจาต่อรองเงื่อนไขสัมปทานสายสีเขียวที่ล่าช้า ความล่าช้าของโครงการต่างๆ และสภาวะเศรษฐกิจที่จะกระทบต่อธุรกิจอื่นๆ ของบริษัท

 

BTS มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(Market Cap)  ณ วันที่ 19 กันยายน อยู่ที่ 167,003.42 ล้านบาท โดยมีนายคีรี กาญจนพาสน์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 3,099,221,052 หุ้น สัดส่วน 24.68% คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ที่ถือ 41,220 ล้านบาท(ราคาปิด BTS เมื่อ 19 ก.ย. 62 ที่ 13.30 บาท) เพิ่มขึ้น 42% จากมูลค่าหลักทรัพย์ที่“คีรี” ถือในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีมูลค่า 28,978 ล้านบาท(ราคาปิด BTS เมื่อ 20 ก.ย. 61 ที่ 9.35 บาท)

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,507 วันที่ 22-25 กันยายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0