โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

'เงินบาทแข็ง-เงินบาทลอยตัว'บทเรียนทรงคุณค่าของไทย

สยามรัฐ

อัพเดต 18 ม.ค. 2563 เวลา 12.38 น. • เผยแพร่ 18 ม.ค. 2563 เวลา 12.38 น. • สยามรัฐออนไลน์
'เงินบาทแข็ง-เงินบาทลอยตัว'บทเรียนทรงคุณค่าของไทย

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชื่อพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ระบุว่า ..“เงินบาทแข็ง-เงินบาทลอยตัว” บทเรียนที่ทรงคุณค่าของไทย !!

“ค่าเงินบาทไทยแข็ง” หรือค่าเงินบาทมีอัตราสูงกว่าค่าเงินบาทที่แท้จริงที่หลายฝ่ายเห็นว่าเป็นสาเหตุของปัญหาเศรษฐกิจ ประเทศไทยเคยประสบและบทเรียนมาแล้ว มาแล้วที่เรียกว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมาหรือ ๒๐ กว่าปีมาแล้ว ขออนุญาตแชร์ประสบการณ์ที่มีอยู่ จากการเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนในคดีการขายสินทรัพย์ของ ๕๖ สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ คดี ปรส เป็นประสบการณ์ที่ได้จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับ “ค่าเงินบาทแข็ง” ด้วย มาเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กล่าวคือ

ในช่วงที่รัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วง ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐ ส่วนตัวได้เคยขออนุญาตพบเพื่อสัมภาษณ์และซักถาม พล.อ. ชวลิตฯ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๙ ท่านได้กรุณาให้ทำการบันทึกถ้อยคำท่านไว้ด้วย พร้อมทั้งได้ สรุปถึงบริบทของปัญหาในขณะนั้นว่า

“สภาพของประเทศไทยในขณะนั้นพบว่ามีปัญหาด้านเศรษฐกิจจากการก่อหนี้ต่างประเทศอย่างต่อเนื่องจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง และปัญหาคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงิน จนเป็นเหตุให้เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศชะลอลง ในขณะที่การไหลออกของเงินทุนต่างประเทศจากการเรียกหนี้คืน โดยเฉพาะหนี้ระยะสั้น ส่งผลให้เกิดปัญหาสภาพคล่องในประเทศ และมีผลกระทบต่อฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างรุนแรง จึงได้ตราพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๐ (ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อ วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๐) เพื่อจัดตั้ง “องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน” เรียกโดยย่อว่า “ปรส.” ขึ้น”

กรณี ปรส เป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่า คือ ต่อมาในสมัยอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี คำสั่งที่ ๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๕ ลงนามโดยนายสมคิดฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาเพื่อป้องกันการเกิดวิกฤติกรณีทางเศรษฐกิจ ขึ้นมี นายยุวรัตน์ กมลเวชช์ เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศเพื่อป้องกันการเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ (หรือ ศสปป.) และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถจำนวนหนึ่งเป็นคณะกรรมการ และมีทีมงานศึกษาวิจัยจากนักวิชาการสนับสนุนด้วย

ผลการศึกษาของคณะกรรมการทั้งหมดได้นำมาพิจารณาและรวบรวมเป็นหลักฐานในสำนวนการสอบสวนด้วย ซึ่งจำได้ว่ามีประมาณเกือบ ๔๐ เล่ม(ให้ส่งเป็นเอกสารในสำนวนการสอบสวนไปด้วย) กรณีสาเหตุการเกิดวิกฤติกรณีทางเศรษฐกิจมีหลายประการ แต่ที่เกี่ยวเนื่องกับ “เงินบาทแข็ง”ด้วย พอสรุปได้ว่าเกิดจาก

“…รัฐบาลในช่วงปี พ.ศ.๒๕๓๕ – ๒๕๓๖ ได้การกำหนดนโยบายการผ่อนคลายระเบียบกฎเกณฑ์และข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวงและสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับภาคธุรกิจ และเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๓๖ ได้จัดตั้งวิเทศธนกิจ (International Banking Ficilities,IBF) ได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์และสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างชาติดำเนินธุรกิจวิเทศธนกิจ มีการระดมเงินจากต่างประเทศมาปล่อยกู้ภายในประเทศ (Out-In Transaction for Foreign Currencies) และเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ แต่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ภายในประเทศอยู่ในระดับสูง การมีส่วนต่างมาก ทำให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่าง ๆ แข่งขันการทำกำไร เร่งนำเข้าเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศมาปล่อยกู้ และเมื่ออัตราดอกเบี้ยภายในประเทศถูกกำหนดให้อยู่ในระดับค่อนข้างสูง การลงทุนผลิตสินค้าจึงขยายตัวน้อย ทำให้การขยายสินเชื่อสู่ภาคการผลิตสินค้ามีขอบเขตจำกัด เหลือแต่ภาคการผลิตที่มีการเก็งกำไร เช่นธุรกิจเก็งกำไรที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ อีกส่วนหนึ่งเป็นสินเชื่อเพื่อซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยใช้หุ้นคำประกัน (Margin Loan) การซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ และธุรกิจจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งมีผลทำให้หนี้สินต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น มีการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ราคาที่ดินสูงขึ้น มีการใช้เงินตราต่างประเทศไปในทางไม่ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น ต้องยอมรับว่าช่วงเริมนโยบายอัตราการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับสูง ทำให้หลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของไทยจะเจริญรุ่งเรืองต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่แล้วโดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ การขยายตัวการส่งออกหยุดชะงักอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ค่าเงินบาทไทยที่ใช้ระค่อนข้างคงที่มีอัตราสูงกับค่าเงินบาทที่แท้จริง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของเจ้าหนี้และนักลงทุนต่างประเทศ เริ่มเข้มงวดการปล่อยกู้และต่ออายุสัญญาเงินกู้ เงินตราต่างประเทศได้ไหลออก นักค้าเงินต่างประเทศ สถาบันการเงินไทย และนักธุรกิจไทย หันมาเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนมีการโจมตีค่าเงินบาทหลายครั้งในปี ๒๕๓๙-๒๕๔๐ ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอเกือบหมด”

พล.อ.ชวลิต ตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ นั้น ซึ่งหลังลอยค่าเงินบาทให้เป็นราคาตามจริง ได้เกิดทั้งวิกฤติและโอกาส กล่าวคือภายใน ๑ ปี ค่าเงินบาทอ่อนตัวจาก ๒๕ บาทต่อเหรียญสหรัฐ ไปสูงมากที่สุดเป็น ๕๖ บาทต่อเหรียญสหรัฐ (ม.ค.๒๕๔๑) ได้เกิดปัญหาใหญ่กับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่พุ่งขึ้นไป ๔๗ เปอร์เซ็นต์ พวกนายแบงก์ นักลงทุนที่กู้เงินต่างชาติได้รับผลกระทบมาก เศรษฐกิจที่ทรุดตัวลงอย่างหนักหลังประกาศลอยตัวค่าเงินบาทส่งผลทางการเมืองจน พล.อ.ชวลิตฯ ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ในอีก ๔ เดือนต่อมา

แต่ที่เป็นผลดีที่เป็นโอกาส คือหลังจากประเทศไทย จากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ในเวลาต่อมา คือ เศรษฐกิจประเทศไทยโดยรวมพัฒนาดีขึ้น มีรายได้เกินดุลบัญชีเดินสะพัด ประชาชนมีรายได้มากขึ้นจากการท่องเที่ยว สินค้าเกษตรและการส่งออกของประเทศเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจฟื้นตัวทำให้มีศักยภาพคืนหนี้ต่างประเทศต่อมา

“อดีต” เป็นสมบัติของมวลมนุษย์ทั้งโลกเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ แต่เราสามารถเรียนรู้ชีวิตผู้อื่นจากอดีตโดยไม่จำกัด ชาติและวัฒนธรรม ซึ่งบทเรียนในอดีตถ้าเป็นเรื่องอันเจ็บปวดเราจะต้องไม่ให้เกิดซ้ำรุ่นต่อ ๆ ไป เพราะ “คนฉลาดเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต แต่จะฉลาดกว่าถ้าเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น” ดังนั้นบทเรียน กรณี “เงินบาทแข็ง-เงินบาทลอยตัว” จึงถือว่าเป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่าของไทย !!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0