โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องหลังจาก กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ย

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 21 มิ.ย. 2561 เวลา 10.38 น.
เศรษฐกิจ06

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.82/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (20/6) ที่ระดับ 32.79/81 บาท/ดอลลาร์ หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ต่อปี ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะกลับมาสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยและมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ด้วยระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวและอัตราเงินเฟ้อไทยที่ยังต่ำ ประกอบกับสถานะการเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง จะเป็นปัจจัยรองรับผลกระทบจากดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ ที่สูงขึ้นได้ อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่เกินดุลไปมากและเงินทุนสำรองที่มีขนาดใหญ่สามารถรองรับความผันผวนจากเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ ทาง กนง.จึงยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเฟด แต่มีโอกาสที่จะทยอยปรับขึ้นในช่วงต้นปีหน้า ทั้งนี้ด้วยอัตราผลตอบแทนที่ดีกว่า ส่งผลให้นักลงทุนหันมาถือครองเงินดอลลาร์มากขึ้น ค่าเงินบาทจึงยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าจากเงินทุนไหลออก

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน พ.ค. 61 โดยการส่งออกมีมูลค่า 22,256 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 11.40% ส่วนการนำเข้ามีมูลคีา 221,053 ดอลลาร์ ขยายตัว 11.71% ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 1,103 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 61) การส่งออกมีมูลค่า 104,031 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 11.55% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 102,154 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 16.60% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,877 ล้านดอลลาร์

ในส่วนของสหรัฐนั้น สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองร่วงลง 0.4% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 5.43 ล้านยูนิต โดยเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ถูกกระทบจากภาวะขาดแคลนบ้านในตลาด และอัตราดอกเบี้ยจำนองที่พุ่งขึ้นนักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดขายบ้านเพิ่มขึ้น 1.5% สู่ระดับ 5.52 ล้านยูนิตในเดือน พ.ค.เมื่อเทียบรายปี ยอดขายบ้านมือสองลดลง 3.0% ในเดือน พ.ค. โดยเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 สต็อกบ้านในตลาดลดลง 6.1% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 36 นอกจากนี้ ราคาเฉลี่ยของบ้านเพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 264,800 ดอลลาร์ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 75 ติดต่อกัน นอกจากนี้ กลุ่มผู้ว่าการธนาคารกลางรายใหญ่ ๆ ของโลก ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มบั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และคาดว่าจะกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจโลก นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า ประเด็นการค้าเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง โดยขณะนี้เริ่มมีบริษัทเอกชนตัดสินใจเลื่อนการลงทุนและการจ้างงานบ้างแล้ว ทั้งนี้ในระหว่างวัน ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 32.82-33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.96/32.98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (21/6) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1570/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (20/6) ที่ระดับ 1.1566/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนที่จะปรับตัวอ่อนค่าลงมาในช่วงบ่ายที่ระดับ 1.1545/47 ด้านนายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ตอนก็มีความกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจและผู้บริโภค พร้อมกับเตือนว่า ความขัดแย้งทางการค้าและนโยบายคุ้มครองการค้าไม่เคยให้ผลลัพท์ที่ดี ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1506-1.1580 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1525/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (21/6) เปิดตลาดที่ระดับ 110.40/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (20/6) ที่ระดับ 110.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามกระแสเงินทุนไหลเข้า ส่งผลให้ราคาในสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ เงินเยนและทองคำปรับตัวลดลง ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 110.34-110.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 110.41/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีกำลังการผลิตเยอรมัน (22/6) ดัชนีกำลังการผลิตยูโรโซน (22/6) และดัชนีกำลังการผลิตสหรัฐ (22/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.0/-2.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.5/1.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0