โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เคอร์ฟิว : จากมาตรการป้องกันไฟไหม้สู่มาตรการควบคุมโรคระบาด

The101.world

เผยแพร่ 07 เม.ย. 2563 เวลา 00.00 น. • The 101 World
เคอร์ฟิว : จากมาตรการป้องกันไฟไหม้สู่มาตรการควบคุมโรคระบาด

ปกป้อง ศรีสนิท เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

I

หลักการของเคอร์ฟิว

 

เคอร์ฟิว (curfew) คือ มาตรการห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานตามเวลาที่กำหนด เคอร์ฟิวเป็นมาตรการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ประกาศใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของสังคม (public order) เคอร์ฟิวเป็นเพียงหนึ่งในมาตรการที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังมีมาตรการอื่นอีกมากมายที่รัฐสามารถนำมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เป็นภัยต่อประชาชน เช่น มาตรการห้ามใช้เส้นทางคมนาคม มาตรการปิดสถานที่ รวมทั้งมาตรการอพยพประชาชนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เป็นต้น[1]

แม้มาตรการเคอร์ฟิวจะเป็นมาตรการที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน และอาจส่งผลถึงระบบเศรษฐกิจระยะยาว แต่ความชอบธรรมของการประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิวในแต่ละครั้งต้องตอบจากหลักการพื้นฐานในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน 3 ข้อ คือ วัตถุประสงค์ของมาตรการ(objective) เพื่อป้องกันการระบาดของโรค ความจำเป็น (necessity) คือไม่มีมาตรการอื่นใดที่ทำได้ดีกว่านี้ และความได้สัดส่วน (proportionality) หมายถึงมาตรการนี้ได้สัดส่วนเมื่อเทียบกับการกระทบสิทธิประชาชน ในกรณีของโรคระบาดโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายในชีวิต ร่างกาย สุขภาพ กับประชากร และต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมอย่างกว้างขวาง ประกอบกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ที่ชี้ให้เห็นว่ามีการติดต่อที่ง่ายและกว้างขวางจากการพบปะกันในชีวิตประจำวันของคน มาตรการเคอร์ฟิวจึงถูกนำมาใช้ในหลายประเทศ ในระดับหนักเบาต่างกัน รวมทั้งประเทศไทย

 

II

ประวัติของเคอร์ฟิว

เคอร์ฟิว (curfew) มีที่มาจากภาษาฝรั่งเศส ว่า couvre-feu หากแปลตามตัว คำว่า couvre (คูฟ) เป็นประโยคคำสั่งแปลว่า 'คลุม' และ feu (เฟอ) แปลว่า 'ไฟ'[2]

เหตุที่เคอร์ฟิวคือการคลุมไฟ เพราะในยุโรปสมัยกลาง (medieval Europe) สมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้า การให้แสงสว่างเวลากลางคืนคือการจุดฟืน จุดเทียนไข หรือใช้คบเพลิง ประชาชนบางคนลืมดับไฟตอนกลางคืนทำให้ไฟลุกไหม้บ้านเรือนประชาชนเสียหาย  คำสั่ง 'คลุมไฟ' หรือ couvre-feu จึงเกิดขึ้นเพื่อป้องกันไฟไหม้ในชุมชน[3] โดยช่วงสองทุ่มถึงสามทุ่มจะมีเจ้าหน้าที่ตีระฆังเป็นสัญญาณให้ประชาชน “ดับไฟ!”

ในศตวรรษที่ 17 คำว่า 'curfew' ถูกนำมาเรียก 'ฝาชีเหล็กคลุมไฟ' ในเนเธอร์แลนด์ ลักษณะของ curfew ที่เป็นฝาชีเหล็ก ก็คล้ายฝาชีคลุมอาหารบ้านเรา แต่ทำด้วยโลหะทึบไม่ให้อากาศเข้าออก เวลาเราต้องการดับไฟ เราก็ใช้ curfew คลุมฟืนไว้เพื่อให้ระอุอยู่ตลอดเวลา เพื่อเวลาเราต้องการจุดไฟใหม่จะทำให้จุดไฟง่ายขึ้น

ปัจจุบัน ภาษาฝรั่งเศสก็ยังเรียกมาตรการห้ามออกนอกเคหสถานว่า couvre-feu เหมือนต้นกำเนิดของคำนี้ในสมัยยุคกลาง ในขณะที่ภาษาอังกฤษแผลงไปเป็นคำว่า curfew

 

III

เคอร์ฟิวในกฎหมายไทย

กฎหมายที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศไทยมี 3 ฉบับ ทั้ง 3 ฉบับมีบทบัญญัติที่ให้รัฐออกมาตรการเคอร์ฟิวได้ทั้งสิ้น ไล่จากกฎหมายที่ใช้ในสถานการณ์ที่หนักสุดลงไปเบาสุด

สถานการณ์หนักสุด คือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ใช้บังคับในสถานการณ์สงคราม ฝ่ายทหารจะมีอำนาจเหนือพลเรือน ในมาตรา 11 บัญญัติให้ทหารสามารถออกคำสั่งห้ามประชาชนที่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึกได้หลายมาตรการ  ในมาตรา 11 (6) ได้ให้อำนาจสั่ง "ห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานภายในระหว่างระยะเวลาที่กําหนด" การฝ่าฝืนเคอร์ฟิวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกไม่มีโทษทางอาญา แต่คงเป็นเหตุที่เจ้าหน้าที่จะจับตัวมาขังไม่เกิน 7 วัน ตามมาตรา 15 ทวิ

สถานการณ์เบาลงมา คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เมื่อประกาศแล้วอำนาจที่เคยเป็นของกระทรวง กรม หรือส่วนราชการต่างๆ จะรวมศูนย์มาที่นายกรัฐมนตรี เพื่อการสั่งการอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในมาตรา 9 (1) มีบทบัญญัติเรื่องเคอร์ฟิวเช่นกัน คือ "ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น" การฝ่าฝืนเคอร์ฟิวตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจะมีความผิดอาญาตามมาตรา 18 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว และได้มีคำสั่งเคอร์ฟิวแล้วทั่วประเทศตั้งแต่เวลา 4 ทุ่มถึงตี 4

สถานการณ์ที่เบาสุด คือพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เมื่อท้องที่ใดได้ถูกประกาศให้อยู่ภายใต้กฎหมายนี้แล้ว อำนาจจะรวมศูนย์ที่ กอ.รมน. ซึ่งสามารถกำหนดแผนรักษาความมั่นคงได้ กฎหมายฉบับนี้จะใช้บังคับเมื่อสถานการณ์ไม่ถึงกับรุนแรงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่มีภัยต่อความมั่นคง ซึ่งผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าคือสถานการณ์ใด ผมมองว่าเป็นกฎหมายที่ซ้ำซ้อนกับ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรก็มีมาตรการเคอร์ฟิวกับเขาด้วยเช่นกันในมาตรา 18 (3) ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้ … (3) ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด" ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24

กฎหมายที่กำหนดให้อำนาจรัฐออกเคอร์ฟิวทั้ง 3 ฉบับ ล้วนแต่เป็นกฎหมายที่ใช้ในสถานการณ์ไม่ปกติทั้งสิ้น และวัตถุประสงค์ คือ การใช้ชั่วคราว เมื่อสถานการณ์ปกติก็จะยกเลิกข้อกำหนดดังกล่าว

 

IV

เคอร์ฟิวกับโรคระบาด

จากคำแนะนำของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่ทราบกันแล้วโดยทั่วไป มาตรการ social distancing สามารถลดการแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 ได้ หากมาตรการ social distancing ไม่สามารถลดกราฟปริมาณผู้ป่วยสะสมได้ มาตรการห้ามออกนอกเคหสถานภายในเวลาที่กำหนดก็จะเป็นมาตรการที่เข้มข้นอีกระดับหนึ่ง ประเทศไทยเราเคยชินกับการใช้เคอร์ฟิวในเวลากลางคืน เพราะเคอร์ฟิวที่ประกาศใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้ในสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ภายหลังรัฐประหาร หรือ ใช้ในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ก่อการร้ายหรือก่อความไม่สงบต่างๆ ซึ่งสภาพตอนกลางคืนเหมาะสำหรับการรวมตัวกันซ่องสุมกองกำลังหรือปฏิบัติการที่กระทบกับความปลอดภัยของรัฐ อีกทั้งเวลากลางคืนเป็นเวลาที่พิสูจน์ตัวตนของบุคคลได้ยากลำบาก ย่อมทำให้พยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดผู้กระทำการย่อมยากขึ้น

เชื้อโรคทำงาน 24 ชั่วโมง เชื้อโรคไม่ต้องการที่หลบซ่อนขณะปฏิบัติการ การออกมาตรการเคอร์ฟิวเฉพาะเวลากลางคืนคงจะมีประโยชน์เฉพาะกลุ่มที่ชอบสังสรรค์ตามพื้นที่สาธารณะ แทนที่ผับบาร์ที่ถูกปิด ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น การออกเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงคงอาจถูกนำมาใช้

ไม่ว่าจะเคอร์ฟิวตอนกลางคืนแบบในปัจจุบัน หรือเคอร์ฟิวตลอด 24 ชั่วโมง รัฐบาลควรพิจารณาจัดตั้งศูนย์อุปโภคและบริโภคให้ประชาชน งบประมาณของรัฐควรจะผันจากกระทรวงต่างๆ ที่คงไม่ได้ใช้แล้วช่วงนี้ งบดูงาน งบประชุม ค่าน้ำค่าไฟที่ไม่ได้ใช้ ให้ลงมาที่ศูนย์นี้และให้มีกระจายอยู่หลายแห่งเพียงพอกับการเข้าถึงของประชาชน และควรให้ฟรีกับประชาชนทุกคน คนเดือดร้อนลำบากจากการตกงานในช่วงนี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสักหนึ่งซองยังมีค่าสำหรับเขาและครอบครัว และโปรดอย่าลืมหาวิธีแจกของแบบไม่ต้องให้เข้าคิวแออัดแบบแจกเงิน 5,000 บาทด้วย ส่วนคนที่มีความสามารถเลี้ยงตัวเองได้แต่อยากได้ของฟรีก็ปล่อยเขา เพราะไปคัดกรองยิ่งลำบากไปอีก ตั้งศูนย์ไปสักพัก ผู้มีจิตกุศล จิตอาสา รวมทั้งเจ้าสัวก็จะมาช่วยงานหรือช่วยบริจาคสิ่งของเหล่านี้เพิ่มขึ้นเอง เหมือนตอนน้ำท่วมใหญ่ ผมว่าคนไทยใจกุศล สำคัญที่ต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสมให้กับผู้มีใจกุศลเขาด้วย

ขอให้พวกเราปลอดภัยจากโรคระบาด และขอส่งกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครทุกคนที่เป็นผู้เสียสละอยู่แนวหน้า

 

 

[1] พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรา 9 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

(1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น

(2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร

(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ

(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้”

[2] Pascal Tréguer, word histories, how words and phrases came into existence, the original meaning of 'curfew' was 'cover the fire'.

[3] Ibid.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0