โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เควซาร์ให้กำเนิด "สึนามิอวกาศ" คลื่นความร้อนพลังงานสูงซัดทำลายกาแล็กซี

Khaosod

อัพเดต 31 มี.ค. 2563 เวลา 19.31 น. • เผยแพร่ 31 มี.ค. 2563 เวลา 19.22 น.
_111476644_quasarnasaesastsci.png

เควซาร์ให้กำเนิด "สึนามิอวกาศ" คลื่นความร้อนพลังงานสูงซัดทำลายกาแล็กซี - BBCไทย

เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิซัดทำลายบ้านเรือนและกลืนชีวิตผู้คนบนชายฝั่ง ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในทะเลบนโลกของเราเท่านั้น เพราะในห้วงอวกาศลึกอันไกลโพ้นก็มี "เควซาร์" (Quasar) หลุมดำมวลยิ่งยวดใจกลางดาราจักรที่ปลดปล่อยคลื่นความร้อนพลังงานมหาศาลด้วยความเร็วสูง จนกาแล็กซีต้นกำเนิดของมันฉีกขาด และยังซัดทำลายกาแล็กซีที่อยู่รอบข้างจำนวนมากไปด้วย

ข้อมูลดังกล่าวได้จากการติดตามสังเกตการณ์เควซาร์ 13 แห่ง ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และพบว่าในจำนวนนี้มีอยู่ 3 แห่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "สึนามิอวกาศ" ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยล้วนเป็นเหตุการณ์ที่เปล่งแสงสว่างเจิดจ้ายิ่งกว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกถึงหลายร้อยเท่า

NASA ภาพจำลองของเควซาร์ (Quasar) ซึ่งเป็นหลุมดำใจกลางกาแล็กซีที่เปล่งแสงเจิดจ้าเหมือนมีดาวฤกษ์อยู่จำนวนมาก

ดร. นาหุม อารพ จากสถาบันโพลีเทคนิคและมหาวิทยาลัยรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia Tech) ของสหรัฐฯ ผู้นำทีมวิจัยซึ่งตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นลงในวารสาร The Astrophysical Journal ฉบับ Supplement Series ระบุว่า

"ปรากฏการณ์นี้สามารถปลดปล่อยพลังงานกลได้สูงที่สุดปรากฏการณ์หนึ่งในจักรวาล โดยหลุมดำใจกลางดาราจักรที่เปล่งแสงสว่างเจิดจ้าหรือเควซาร์ จะปะทุคลื่นความร้อนมหาศาลที่แผ่ล้นออกมาในรูปของรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าหลากหลายแบบ โดยคลื่นพลังงานนี้จะเดินทางด้วยความเร็วราว 1/15 ของความเร็วแสง"

"คลื่นความร้อนสูงนับพันล้านองศาเซลเซียสนี้ พัดออกไปทุกทิศทางเหมือนลมพายุ ฉีกทำลายดาราจักรของตัวเองและซัดกวาดเอามวลสารต่าง ๆ โดยรอบ ในปริมาณเท่ากับมวลของดวงอาทิตย์หลายร้อยดวงให้เคลื่อนห่างออกไปในแต่ละปี"

"มวลสารเช่นกลุ่มก๊าซในห้วงอวกาศเหล่านี้ เดิมทีเป็นวัตถุดิบในการให้กำเนิดดาวฤกษ์ดวงใหม่ ๆ แต่เมื่อมันถูกเหวี่ยงกระจายออกไปด้วยสึนามิอวกาศ จึงทำให้การเติบโตของดาราจักรสะดุดหยุดลง"

"ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับแนวโน้มที่ว่า เรามักพบเควซาร์ในใจกลางกาแล็กซีที่มีอายุน้อย และปรากฏการณ์รุนแรงจากเควซาร์เช่นนี้จะดำเนินไปประมาณ 2-3 พันล้านปี ก่อนที่หลุมดำที่เป็นแหล่งกำเนิดพลังงานของเควซาร์จะเริ่มสงบนิ่งลง เพราะไม่มีมวลสารในบริเวณใกล้เคียงให้ดูดกลืนหรือปะทุพลังงานใส่อีกต่อไป" ดร. อารพกล่าว

ด้าน ศ. เยเรไมอาห์ ออสไตรเคอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจักรวาลวิทยาประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันของสหรัฐฯ แสดงความเห็นต่องานวิจัยดังกล่าวเพิ่มเติมว่า

"นักวิทยาศาสตร์รู้กันมานานแล้วว่า มีกลไกบางอย่างซึ่งทำให้ดาราจักรที่ถือกำเนิดมาระยะหนึ่งต้องหยุดการเติบโตและไม่ขยายตัวต่อไปอีก แต่ก็ยังไม่ทราบชัดว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่ ดังนั้นผลการศึกษาเรื่องคลื่นพลังงานจากเควซาร์ในครั้งนี้ จึงอาจเป็นคำตอบหนึ่งที่ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับขั้นตอนพัฒนาการของเหล่าดาราจักรได้"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0