โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เคล็ด(ไม่)ลับ”เกษียณวัย 37″ ฝันของหนุ่มวัย 28

Money2Know

เผยแพร่ 21 ส.ค. 2561 เวลา 00.02 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
เคล็ด(ไม่)ลับ”เกษียณวัย 37″ ฝันของหนุ่มวัย 28
ปกติแล้ว คนอเมริกันมักเกษียณที่อายุ 63 แต่หนุ่มยุคมิลเลนเนียลคนหนึ่งในเมืองมินนีแอโพลิส วางแผนร่นอายุเกษียณขึ้นมาเร็วกว่านั้น 20 ปี และจะวางมือจากการงานตอนอายุ 37

หนุ่มคนนี้ขอสงวนนามตัวเอง โดยตอนอายุ 25 ทรัพย์สินของเขาเป็นเลข 6 หลักเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันด้วยวัย 28 ปี เขามีเงินฝากธนาคารกว่า 250,000 ดอลลาร์ หรือกว่า 8 ล้านบาท

หนุ่มคนนี้เขียนในบล็อกส่วนตัว My Money Wizard ว่าที่มีเงินเก็บเยอะ ไม่ได้เป็นมรดกที่พ่อแม่หรือปู่ย่าตายายให้มา และไม่ได้เป็นลาภลอยจากไหน แต่เป็นเงินที่เก็บออมมาด้วยตัวเอง ผสมกับเงินจากการลงทุนพื้นๆทั่วไป และงานประจำในแวดวงการเงินที่รายได้ของเขาไม่ได้สูงไปกว่าคนอื่นมากนัก

หนุ่มคนนี้มีแผนการหลายอย่างเพื่อให้ตัวเองได้เกษียณตอนอายุ 37 แผนการแรกคือ เก็บออมแต่เนิ่นๆ เขาเล่าว่าปู่ของเขาไม่ได้ร่ำรวยอะไร ต้องเลี้ยงลูก 5 คน ขับรถเก่าๆ และทำงานได้เงินหลักหมื่น แต่สามารถเก็บเงินมากกว่าล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เพราะดอกเบี้ย ตัวเขาเองนั้นเริ่มฝากประจำตั้งแต่อายุ 16 และเริ่มคิดอย่างจริงจังเรื่องการเก็บเงินเพื่อจะได้เกษียณไวๆ ตอนได้งานทำครั้งแรกเมื่ออายุ 23

แผนการที่สองคือกำหนดเป้าหมาย

หนังสือ "Early Retirement Extreme" ของ Jacob Lund Fisker เป็นแรงจูงใจอย่างดีให้หนุ่มคนนี้อยากเกษียณเร็วๆ ส่วนหนึ่งเพราะชี้ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเศรษฐีถึงจะเกษียณได้

หนุ่มคนนี้บอกว่าเขาก็เหมือนคนส่วนใหญ่ ที่ชอบคิดว่าต้องมีเงินหลายๆ ล้านถึงจะเลิกทำงานได้ แต่คนเขียนหนังสือเล่มนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถเกษียณได้โดยไม่ต้องมีเงินเยอะขนาดนั้น ตัวเลขนี้ไม่ได้ตายตัวสำหรับทุกคน เพราะขึ้นอยู่กับว่าเราใช้เงินมากน้อยเท่าไร และเสียเงินไปกับเรื่องอะไรบ้าง

เขาใช้สูตร “4%” และคำนวณว่าต้องมีเงินในธนาคาร 750,000 ดอลลาร์จึงจะเกษียณได้สบายๆ ซึ่งตัวเลขนี้ค่อนข้างต่ำ และจะเปลี่ยนไปมากหากเขามีครอบครัวและลูก

แผนการสำคัญลำดับถัดมาคือติดตามการใช้จ่าย

แทนที่จะนั่งทำงบอย่างตายตัวเพื่อเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมาย หนุ่มคนนี้กลับเริ่มติดตามการใช้จ่ายของตัวเอง ซึ่งเขามองว่าเป็นก้าวแรกที่ทุกคนควรทำหากต้องการเก็บเงินได้เพิ่มขึ้น หรือควบคุมการเงินของตัวเอง เพราะทันทีที่เริ่มติดตามว่าใช้จ่ายอะไรไปบ้างแล้วเอาใบเสร็จขึ้นมาดูตอนหลัง หลายคนคงร้องอุทานว่า “ตายแล้ว ฉันทำไปได้ไงเนี่ย ดูสิเดือนที่แล้วเสียเงินค่ากินข้าวนอกบ้านตั้ง 400 ดอลลาร์” หนุ่มคนนี้บอกว่าถ้ารวบรวมยอดค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้ แล้วกลับมาดูย้อนหลังก็จะเห็นชัดเจนว่าสิ้นเปลืองไปกับอะไรบ้าง

หนุ่มคนนี้ใช้แอป Numbers ของไอโฟนสำหรับติดตามการใช้จ่าย แต่ก็มีแอปอื่นอย่าง Mint, You Need a Budget หรือ Personal Capital

เมื่อเวลาผ่านไป เขาสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ปรากฏว่ามีเงินเหลือเก็บมากขึ้น โดยตอนแรกที่เริ่มติดตามการใช้จ่าย เขาออมเงิน 35% ของรายได้ แต่เมื่อรู้ว่าใช้เงินสิ้นเปลืองตรงไหนบ้าง ปรากฏว่าเขาใช้จ่ายอย่างมีสติมากขึ้น และออมเงินได้มากกว่า 60% ของรายได้

ประการต่อมาคือหักเงินสะสมเก็บไว้

ตั้งแต่สำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2556 รายได้ของหนุ่มคนนี้เพิ่มจากปีละ 50,000 ดอลลาร์เป็น 80,000 ดอลลาร์ แต่เขาไม่ได้ใช้เงินเพิ่มขึ้นตามรายได้ แต่ให้บริษัทหักเงินสะสมมากขึ้นใน 401(k) (เป็นการวางแผนการสะสมเงินในระยะยาวจนกระทั่งเกษียณอายุ) ไม่เช่นนั้นก็นำเงินไปลงทุนมากขึ้น

ดังนั้นเงินออมจึงมีแต่เพิ่มขึ้น ซึ่งยิ่งมีเงินออมมากขึ้นเท่าไร ก็จะมีอิสรภาพทางการเงินเร็วขึ้นเท่านั้น

การทำเช่นนี้ไม่ได้เป็นการใช้ชีวิตแบบตึงเกินไป เพราะชีวิตก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อเงินเดือนขึ้น ดังนั้นจึงไม่รู้สึกว่าต้องสูญเสียอะไร

ประการต่อมาคือรักษาค่าใช้จ่ายตายตัวให้ต่ำ

มีอยู่ 2 สิ่งที่หนุ่มคนนี้ใช้เงินมากที่สุด คือบ้านกับรถยนต์ โดยเขาซื้อรถยนต์คันละ 13,000 ดอลลาร์ด้วยเงินสด ทำให้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ส่วนบ้านนั้นก็จ่ายค่าเช่าคนละครึ่งกับแฟน พอซื้อบ้านเป็นของตัวเองก็ช่วยกันผ่อนส่งบ้าน

การมีค่าใช้จ่ายตายตัวที่ไม่สูง ทำให้เขามีเงินเหลือสำหรับกินข้าวนอกบ้านและท่องเที่ยวเปิดหูเปิดตาเป็นบางครั้ง

ประการต่อมาคือ ให้เงินทำงาน

เงินออมของเขามีทั้งเงินสด ส่วนที่เหลือลงทุนผ่าน 401(k) กับบริษัท และลงทุนในหุ้น รวมถึงออมผ่าน Roth IRA (บัญชีเกษียณส่วนบุคคล) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการลงทุนธรรมดาทั่วไป อันสวนทางกับความคิดของคนจำนวนมากที่มองว่าคนวัย 20 กว่าที่มีเงินหลักล้านคงต้องลงทุนในอะไรที่หวือหวาอย่างบิตคอยน์หรือมีเทคนิคลงทุนในหุ้นแบบพิเศษ

แม้การคำนวณของเขาอาจคลาดเคลื่อนหรืออาจต้องมีการปรับแผนบ้าง แต่หนุ่มคนนี้คิดว่าอย่างน้อยเขาก็สามารถเกษียณได้เร็วกว่าคนอเมริกันทั่วไป และเขาไม่ได้ฝันว่าเมื่อเกษียณแล้วก็จะนั่งจิบเครื่องดื่มบนชายหาดไปตลอดชีวิต เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่เขามองหา

สิ่งที่เขามองหาคืออิสรภาพ นั่นคือหากเขาอยากทำงานต่อไป ก็สามารถทำได้ หรือหากไม่อยากทำแล้ว ก็ไปทำอย่างอื่นแทน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0