โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เคล็ดลับปลูกมังคุดเกรดพรีเมี่ยม ต้นทุนต่ำ มาตรฐานส่งออกญี่ปุ่น ของ “สวนคุณลูกหมู”

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 25 เม.ย. 2562 เวลา 03.51 น.
25 มังคุด

*ระยะนี้ เป็นช่วงฤดูของผลไม้อันเลื่องชื่อของภาคตะวันออก ทั้ง ทุเรียน มังคุด ลองกอง มีให้ชมและชิมกันอย่างจุใจ ในฉบับนี้ขออาสาพาไปชม “สวนคุณลูกหมู” ของ “คุณกิติภูมิ พรเจีย” เกษตรกรคนเก่ง ที่ปลูกไม้ผลนานาชนิดที่มีคุณภาพดีเกรดพรีเมี่ยม มาตรฐานส่งออก ฟันกำไรได้ก้อนโต แต่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าชาวบ้าน หากอยากรู้เขามีเคล็ดลับเทคนิคการบริหารจัดการอย่างไร …ไปหาคำตอบด้วยกันได้เลย    *

*สวนคุณลูกหมู  *

เดิมที สวนแห่งนี้ปลูกเงาะมาก่อน แต่เจอปัญหาผลผลิตล้นตลาด ขายเงาะกิโลกรัมละไม่ถึง 10 บาท คุณกิติภูมิ พรเจีย จึงตัดสินใจตัดต้นเงาะทิ้ง และหันมาปลูกทุเรียนหมอนทอง 600 ต้น ผสมผสานกับต้นมังคุดจนเต็มพื้นที่ 34 ไร่

คุณกิติภูมิ เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า ใส่ใจนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาพัฒนาระบบการผลิต การตลาด การจัดการผลผลิต และส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรในท้องถิ่น เพื่อร่วมกันผสมปุ๋ยใช้เอง เพื่อลดต้นทุนการผลิตในปี 2540-2545 ตั้งกลุ่มปรับปรุงคุณภาพ มังคุด-ทุเรียน เพื่อการส่งออก เพื่อรวบรวมผลผลิตส่งขายตรงกับตลาดปลายทางเพื่อลดปัญหาพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้กลุ่มผลิตไม้ผลคุณภาพตำบลชากไทยเกี่ยวกับการผลิตไม้ผลคุณภาพและการตัดแต่งกิ่งมังคุด ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนรักษ์มังคุด บ้านเนินมะหาด-มูซู หมู่ที่ 5 ตำบลชากไทย อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เข้าร่วมโครงการเมืองเกษตรสีเขียวและโครงการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่

คุณกิติภูมิ ได้รับเชิญจากหน่วยงานภาครัฐได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ประเทศไต้หวันเกี่ยวกับการผลิตไม้ผล (การตัดแต่งกิ่ง) การตลาดและระบบสหกรณ์ สามารถจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไป โดยจัดตั้งกลุ่มกันเองขึ้นมาและไม่ได้พึ่งงบจากทางราชการเลย

คุณกิติภูมิ มีจิตอาสาในการรวบรวมเพื่อนพี่น้องเกษตรกรชาวสวนมังคุดทำกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยกย่องให้เป็น “ประธานเครือข่ายมังคุดจันทบุรี” และเป็นสมาชิกมังคุดแปลงใหญ่อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ขณะเดียวกันคุณกิติภูมิวางระบบบริหารจัดการสวนมังคุดที่ดี ตั้งแต่การเพาะปลูกจนกระทั่งการเก็บเกี่ยว และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพปลอดภัยและเหมาะสมต่อการบริโภค ตามมาตรฐาน Good Agriculture Practices (GAP)

สำหรับมังคุดแปลงใหญ่ตำบลชากไทย อำเภอเขาคิชฌกูฏ เป็นกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง มีสมาชิก 34 ราย พื้นที่รวม 415 ไร่ ผลผลิตประมาณ 450 ตัน สมาชิกมีการรวบรวมผลผลิตออกขายตลาดประมูลอย่างต่อเนื่อง สามารถขายผลผลิตได้ทุกเกรดคุณภาพ ในราคาประมูลเฉลี่ย 53 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้สูงกว่าราคาตลาดทั่วไป เฉลี่ย 45 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ดีขึ้นกว่าเดิม

 

ศพก. เขาคิชฌกูฏ สำนักงานเกษตรอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ยกย่องให้ คุณกิติภูมิ พรเจีย เป็นเกษตรกรต้นแบบด้านมังคุด และใช้พื้นที่สวนแห่งนี้ที่อยู่ บ้านเลขที่ 90/5 หมู่ที่ 5 ตำบลชากไทย อำเภอเขาคิชฌกูฏ เป็นสถานที่ตั้งของ “ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการเกษตร (ศพก.) เขาคิชฌกูฏ” โดย คุณกิติภูมิ รับหน้าที่ ประธาน ศพก. เขาคิชฌกูฏ

ผู้สนใจที่มีโอกาสเข้าเยี่ยมชม “ศพก. เขาคิชฌกูฏ” แห่งนี้ จะได้เรียนรู้เรื่องการผลิตมังคุดคุณภาพที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บนพื้นที่ดำเนินงาน 6 ไร่ ประกอบด้วยฐานเรียนรู้การลดต้นทุนการผลิต การจัดการดินและปุ๋ย การผลิตมังคุดคุณภาพ การผลิตแปลงใหญ่มังคุดเขาคิชฌกูฏ การผลิตลองกอง การอารักขาพืช การผลิตกล้วยไข่เพื่อการส่งออก การผลิตทุเรียนคุณภาพ การผลิตสะละคุณภาพ ฐานเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ เทคโนโลยีการผลิต 4.0 (เครื่องตรวจวัดสภาพอากาศ) และการจัดการสิ่งแวดล้อม (การคัดแยกขยะการเกษตร)   เรียกว่า มาสวนคุณลูกหมูแห่งเดียว มีโอกาสเรียนรู้ปลูกดูแลไม้ผลหลากหลายชนิด ทั้งมังคุด ทุเรียน ลองกอง สะละ ฯลฯ คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม

ตัดแต่งกิ่งเทคนิคไต้หวัน

ระหว่างเดินตามคุณกิติภูมิไปเที่ยวชมสวน สังเกตว่า ต้นมังคุดอายุหลายสิบปีแล้ว ทำไมมีลำต้นเตี้ย สูงไม่เกิน 4 เมตร แค่เดินผ่านก็สามารถยื่นมือเด็ดผลจากต้นได้เลย คุณกิติภูมิ บอกว่า ผมนำความรู้ที่ได้จากศึกษาดูงานที่ประเทศไต้หวันมาดูแลการตัดแต่งกิ่ง ทำให้ต้นมังคุดมีลำต้นเตี้ย

ถามว่า ทำไม ต้องตัดแต่งทรงพุ่ม คุณกิติภูมิ ให้คำตอบว่า ช่วยไม่ให้ต้นมังคุดสูงเกินไป ลดการทิ้งกิ่งล่าง ทำให้ทรงพุ่มสวยงาม ประหยัดและสะดวกในการพ่นสารเคมี ลดการระบาดของโรคและแมลง ต้นมังคุดที่มีทรงพุ่มโปร่ง แสงส่องผ่านทั่วทรงพุ่ม กระตุ้นการแตกใบอ่อน มีโอกาสออกดอกเร็วขึ้น แถมได้ผลผลิตที่มีขนาดใหญ่ ผิวมันเก็บเกี่ยวง่ายและรวดเร็ว ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ส่งออกได้มากขึ้น

แนวทางตัดแต่งทรงพุ่มมังคุดของคุณกิติภูมิ เริ่มจากตัดปลายกิ่งที่ประสานกันออก ให้มีช่องว่างระหว่างชายพุ่มโดยรอบกับต้นข้างเคียง ประมาณ 50-75 เซนติเมตร ตัดยอดที่สูงเกินต้องการออก ตัดกิ่งประธาน หรือกิ่งรองออกด้านละ 1-5 กิ่ง เพื่อเปิดช่องให้แสงส่องผ่านเข้าไปในทรงพุ่ม และเลี้ยงกิ่งแขนงในทรงพุ่มไว้ (กิ่งที่อยู่ในทรงพุ่มสามารถให้ผลผลิตได้ และมีโอกาสเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพสูงกว่ากิ่งที่อยู่ชายทรงพุ่ม)

ดูแลสวนมังคุดแบบมืออาชีพ

การให้น้ำ ช่วงก่อนออกดอก (ชะลอน้ำ) จะให้น้ำสปริงเกลอร์ 1 หัว นาน 30 นาที (1 หัว = 120 ลิตร/ชั่วโมง) ช่วงติดดอกและผลให้น้ำสปริงเกลอร์ 2 หัว นาน 1 ชั่วโมง (240 ลิตร/ชั่วโมง)

ด้านปุ๋ย ช่วงหลังเก็บเกี่ยว ใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 จำนวน 2 กิโลกรัม/ต้น ปุ๋ยอินทรีย์ 5 กิโลกรัม/ต้น ช่วงบำรุงผล ใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 จำนวน 2 กิโลกรัม/ต้น 1 ครั้ง

การกำจัดโรคและแมลง ระยะใบอ่อนใช้อะบาเม็กตินสลับกับโปรวาโด 2 ครั้ง (ใบเริ่มปริ-ใบกาง) เมื่อเริ่มเห็นดอกระยะปากนกแก้ว ก่อนบานใช้สารอะบาเม็กติน 10 ซีซี+แคลเซียมโบรอน 20 ซีซี+สาหร่าย 20 ซีซี+แมนโคเซ็บ 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 2 ครั้ง ระยะดอกบาน-ผลขนาด 60 กรัม ใช้เหมือนระยะปากนกแก้ว แต่ยกเว้นแมนโคเซ็บ ฉีดพ่น 3 ครั้ง (การใช้สารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชต้องสำรวจก่อนว่าเกิดมากน้อยเพียงใด จึงตัดสินใจใช้) ทั้งนี้ คุณกิติภูมิจะเริ่มเก็บเกี่ยวเมื่อมังคุดเริ่มมีผิวสีชมพู

ด้านการตลาด สามารถหาตลาดส่งต่างประเทศได้โดยการประชาสัมพันธ์ผลไม้ของตัวเองให้ผู้รับซื้อมั่นใจในคุณภาพของผลผลิต

วิธีลดต้นทุนผลิตมังคุดลง 50%

ก่อนหน้านี้ คุณกิติภูมิ ใช้ปุ๋ยยาเคมีในการดูแลสวนมังคุด เฉลี่ยปีละ 300,000 บาท และมีต้นทุนการผลิตทุเรียนเฉลี่ยกิโลกรัมละ 23 บาท แต่ทุกวันนี้คุณกิติภูมิสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ถึง 50% โดยมีต้นทุนการผลิตทุเรียนเหลือแค่กิโลกรัม 10.50 บาท เท่านั้น หลังจากที่คุณกิติภูมิเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตขึ้นเองเป็นตัวช่วยลดต้นทุนทดแทนการใช้ปุ๋ยและสารเคมี

การผลิตน้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูง ที่คุณกิติภูมิใช้ ทำได้ไม่ยาก เริ่มจากเตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ ปลาป่น 20 กิโลกรัม น้ำตาลอ้อย 20 กิโลกรัม นมผงเกรดเลี้ยงสัตว์ 6 กิโลกรัม สาหร่ายผง 5 กิโลกรัม ฮิวมิคชนิดผง 5 กิโลกรัม ธาตุอาหารเสริม 3 กิโลกรัม สารเร่ง พด.2 จำนวน 3 ซอง ถังขนาด 200 ลิตร พร้อมฝาปิด ไม้พายกวน 1 อัน

ขั้นตอนการทำ เริ่มจาก เทน้ำสะอาด ประมาณ 120 ลิตร ลงในถังหมัก นำส่วนผสมทุกอย่างละลายในถังหมัก และใช้ไม้พายคนให้เข้ากัน เติมน้ำจนเกือบเต็มถัง 7 วันแรกไม่ต้องปิดฝา คนทุกวัน วันละ 3 ครั้ง ปิดฝาถังหมักทิ้งไว้ 1 เดือน จึงนำไปใช้งานได้

วิธีการใช้งาน เริ่มจากนำน้ำหมักมากรองเอากากออกทิ้งไว้ให้ตกตะกอน 20-30 วัน ดูดเอาน้ำชั้นบนของปุ๋ยที่มีสีเหลืองออกเล็กน้อย นำไปบรรจุขวดปิดฝาให้สนิท เก็บไว้ในที่ร่มได้นาน 3-5 ปี ส่วนตะกอนที่เหลืออยู่ในก้นถังที่มีสีดำสนิทและเข้มข้นนำไปผสมน้ำ ราดหรือฉีดพ่นลงดิน ใช้ปุ๋ย 1 ลิตร ต่อน้ำ 50 ลิตร 2-3 ครั้ง/ปี นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ปุ๋ยน้ำหมักฉีดพ่นทางใบ โดยใช้น้ำชั้นบนของปุ๋ยที่มีสีเหลืองออกคล้ำ ใช้ 0.5-1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร ทุกๆ 7-10 วัน

ประโยชน์ที่ได้ คือช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืชให้เติบโตสมบูรณ์แข็งแรง ให้ดอกออกผลได้ดี พืชมีผลผลิตที่ดี มีคุณภาพเพิ่มผลผลิต ช่วยให้ดินร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดีขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี

 *จีน สั่งซื้อทุเรียนไม่อั้น *

ในอดีต เกษตรกรชาวสวนทุเรียนขายผลผลิตได้ในราคาไม่ค่อยสูงสักเท่าไร จนกระทั่ง คุณเกียรติศักดิ์ ตั้งเจริญสุทธิชัย (เฮียไต๋) ผู้บริหาร บริษัท ไต๋ฟู้ด จำกัด ผู้ส่งออกผลไม้ในพื้นที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ประสบความสำเร็จในการส่งออกทุเรียนไทยไปขายจีน ทำให้คนจีนรู้จักและชื่นชอบการบริโภคทุเรียนไทย ทำให้เกษตรกรขายทุเรียนป้อนตลาดส่งออกได้ราคาดี ช่วงแรกๆ คุณกิติภูมิก็ขนทุเรียนหมอนทองจันทบุรีไปส่งขายที่อำเภอแกลง จังหวัดระยองเช่นเดียวกับชาวสวนทุเรียนรายอื่นๆ แต่ทุกวันนี้ คุณกิติภูมิไม่ต้องวิ่งขายทุเรียนให้เหนื่อย เพราะมีล้งคนไทย-คนจีนเปิดรับซื้อทุเรียนในจันทบุรีถึง 300 แห่ง

โดยปกติทุกปี ราคาทุเรียนช่วงต้นฤดู ผลผลิตมีน้อย เกษตรกรขายทุเรียนได้ราคาสูง กิโลกรัมละร้อยกว่าบาท เมื่อผลผลิตเข้าตลาดมาก ราคาขายก็อ่อนตัวลง เหลือแค่กิโลกรัมละ 70-80 บาท แต่ปีนี้คุณกิติภูมิคาดว่า ราคาทุเรียนจะยืนราคาสูงต่อเนื่องตลอดฤดูการผลิต เพราะล้งรับซื้อผลผลิตไม่อั้น เมื่อปีที่แล้ว ล้งรับซื้อทุเรียนหมอนทองเกรดเอ-บี ในราคากิโลกรัมละ 110-120 บาท แต่ปีนี้แม้กระทั่งทุเรียนเกรดซี ก็ยังขายได้ในราคาเดียวกับทุเรียนเกรดเอ-บี เพราะออเดอร์สั่งซื้อทุเรียนจากจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปีนี้ ทุเรียนมีมากเท่าไร ล้งก็รับซื้อหมดทุกเกรด ยกเว้นทุเรียนตกไซซ์ ผลดำ มีหนอน ที่ล้งไม่เอา ทุเรียนพื้นบ้าน ราคาขายได้ราคาสูงเช่นกัน ทุเรียนพวงมณี ขายได้กิโลกรัมละ 140 บาท ทุเรียนชะนีและกระดุมราคาขายก็เฉียด 100 บาท

“คนที่ชอบซื้อทุเรียนกวน ทุเรียนทอดกรอบ ปีนี้คงต้องทำใจสักหน่อย หาซื้อสินค้าได้ยาก หากมีขายก็ราคาสูงมาก เพราะราคาทุเรียนหน้าสวนยังตกกิโลละร้อยกว่าบาทไปแล้ว เดิมสวนผมก็ทำทุเรียนทอดขาย โดยมีต้นทุนทุเรียนสดที่กิโลละ 40 บาท แต่ปีนี้ราคาทุเรียนสูงเฉียด 100 บาท ผมก็หยุดทำทุเรียนทอดไปโดยปริยาย เพราะต้นทุนการผลิตสูงมาก ขายทุเรียนผลสดได้กำไรมากกว่า” คุณกิติภูมิ กล่าว

คุณกิติภูมิ พรเจีย สะสมองค์ความรู้เรื่องการดูแลจัดการสวนมังคุด ทุเรียน และไม้ผลอื่นๆ ไว้มากมาย ข้อมูลที่นำมาบอกเล่าในครั้งนี้ ยังไม่ถึงครึ่งที่คุณกิติภูมิเล่าให้ฟังระหว่างเดินชมสวน หากใครสนใจอยากเยี่ยมชม สวนคุณลูกหมู สามารถร่วมเดินทางไปกับ มติชนอคาเดมี ในโปรแกรมทัวร์เกษตร ชม-ชิม-ช็อปปิ้งผลไม้จันท์-ตราด ภายในเดือนพฤษภาคม 2562 ผู้สนใจ สำรองที่นั่งกันได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ (02) 954-3977-84 ต่อ 2123, 2124 และ (082) 993-9097, (082) 993-9105

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0