โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เครือเศวตภูลังกา พืชชนิดใหม่ของโลก พบโดยนักพฤษศาสตร์ชาวไทย ในเขตอุทยานแห่งชาติภูลังกา

BLT BANGKOK

เผยแพร่ 05 มิ.ย. 2563 เวลา 13.15 น. • BLT Bangkok
เครือเศวตภูลังกา พืชชนิดใหม่ของโลก พบโดยนักพฤษศาสตร์ชาวไทย ในเขตอุทยานแห่งชาติภูลังกา

เว็บไซต์ PhytoKeys เปิดเผยการค้นพบพืชชนิดใหม่ในสกุลเครือภู (Argyreia Lour.) ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง (Convolvulaceae) ในประเทศไทย และได้รับการตีพิมพ์เป็นพืชชนิดใหม่ในวารสารนานาชาติ PhytoKeys เล่มที่ 149 ปี 2020

เครือเศวตภูลังกา พืชชนิดใหม่ของโลก

โดยเว็บไซต์ PhytoKeys ระบุว่า ในระหว่างการสำรวจทางพฤกษศาสตร์ของ นางสาวปวีณา ไตรเพิ่ม ผู้เชี่ยวชาญวงศ์ผักบุ้งจากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนายสมราน สุดดี นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ทีมงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดบึงกาฬ ได้มีการค้นพบพืชชนิดใหม่สายพันธุ์ Argyreia โดยมีความโดดเด่นของรูปทรงกลีบดอก ที่คล้ายกับพืชในวงศ์มะเขือ (Solanaceae)
ซึ่ง นางสาวปวีณา ไตรเพิ่ม ผู้เชี่ยวชาญวงศ์ผักบุ้งจากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า “เศวตภูลังกา หรือ Argyreia pseudosolanum Traiperm & Suddee” มีลักษณะเป็นไม้เลื้อยดอกสีขาวบริสุทธิ์ ถูกค้นพบบนยอดเขาภูลังกา เขต อ.บึงโขงหลง ซึ่งเป็นบริเวณรอยต่อระหว่าง จ.บึงกาฬ และนครพนม จากการออกสำรวจทางพฤกษศาสตร์ของทีมงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ในเดือนกันยายน 2561

โดยได้ออกสำรวจติดตามหลายครั้ง และจากการตรวจสอบพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ในสกุลเครือภู (Argyreia Lour.) จึงได้เขียนตีพิมพ์โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Argyreia pseudosolanum Traiperm & Suddee คำระบุชนิด “pseudosolanum” หมายถึงลักษณะดอกซึ่งเมื่อบานดูคล้ายดอกของพืชในวงศ์มะเขือ (Solanaceae) ชื่อไทยตั้งตามลักษณะของดอก และสถานที่พบ โดยเศวตแปลว่าสีขาว ตัวอย่างต้นแบบ S. Suddee, P. Puudjaa, C. Hemrat & W. Kiewbang 5363 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของเครือเศวตภูลังกา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของเครือเศวตภูลังกา เป็นไม้เลื้อย ยาวได้ถึง 2 เมตร ใบเดี่ยว รูปรีแคบ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก กว้าง 1–5 ซม. ยาว 7–17 ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มหรือมนกลม ขอบเรียบ ผิวใบด้านบนเกลี้ยง สีเขียวเข้ม ด้านล่างมีขนสีเงินเป็นมัน ช่อดอกออกตามซอกใบ เป็นช่อสั้นๆ แต่ละช่อมีดอก 3–5 ดอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ผิวด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอด ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม.

ประเทศไทยอาจเป็นศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ของพืชสกุล “เครือภู”

นอกจากนี้ นางสาวปวีณา ไตรเพิ่ม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการศึกษาทบทวนพืชสกุล “เครือภู” ทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยอาจเป็นศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ของพืชสกุลนี้ เนื่องจากมีจำนวนชนิดมากถึง 1 ใน 3 ของชนิดทั้งหมด และอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีการค้นพบชนิดใหม่อยู่เสมอ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ของไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งการค้นพบพืชชนิดใหม่ เป็นผลพลอยได้จากการศึกษาเชิงลึกของนักอนุกรมวิธานพืชในกลุ่มนั้นๆ

อ้างอิง https://phytokeys.pensoft.net/article/50379/?fbclid=IwAR3GH74YcB7CzKyY6bs-P75U_5IlI4QC_KAYf9N63plARBpGFf3AGaNaLFY

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0