โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เครือข่ายน้ำเมารายย่อยค้าน‘ห้ามขายออนไลน์’ ชี้ตัดช่องทางทำกิน-เอื้อทุนใหญ่ผูกขาด

แนวหน้า

เผยแพร่ 30 มิ.ย. 2563 เวลา 14.32 น.

เครือข่ายน้ำเมารายย่อยค้าน‘ห้ามขายออนไลน์’ ชี้ตัดช่องทางทำกิน-เอื้อทุนใหญ่ผูกขาด

30 มิถุนายน 2563 เครือข่ายผู้ผลิต จำหน่ายและนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อย รวมถึงกลุ่มประชาชนที่มีรสนิยมบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวม 9 องค์กร เตรียมเข้ายื่นหนังสือที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และที่สำนักนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 ก.ค. 2563 เพื่อขอให้เลื่อนการพิจารณาเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยระบุว่า

ตามที่ (ร่าง) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 วันที่ 2 ก.ค. 2563 นั้น ในการนี้พวกข้าพเจ้า ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อย มีข้อสังเกตที่ขอกราบเรียนให้ท่านพิจารณาดังนี้

1.ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจ ปัจจุบันภาคธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อย ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการถูกสั่งปิดกิจการห้ามขาย และในปัจจุบันแม้จำหน่ายได้แต่ยังคงมีมาตรการป้องกันต่างๆ จึงจำต้องสื่อสารกับผู้บริโภคให้มีรายได้พอประทังค่าใช้จ่าย หากประกาศฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบ จะยิ่งทำให้ประกอบธุรกิจได้ยากลำบากมากขึ้น เป็นการซ้ำเติมในเวลาที่ประสบปัญหาให้ผู้ประกอบการรายย่อยเดือดร้อนมากกว่าที่เป็นอยู่

2.นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลมีนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ปฏิรูปประเทศไทยสู่ดิจิทัลไทยแลนด์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิต การบริการ

การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ ย่อมหมายถึงการจำกัดการทำธุรกรรมการสั่งซื้อและการขายด้วยวิธีที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ได้แก่ อีเมล์ แอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ เช่น ไลน์ เฟสบุ๊ค อินสตาแกรม และระบบร้านค้าออนไลน์ของเว็บไซต์ต่างๆ ทั้งนี้ย่อมเป็นการจำกัดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศซึ่งมีรายได้จากภาษีสุราเป็นจำนวนมาก และขัดแย้งกับนโยบายดิจิทัลไทยแลนด์ของรัฐบาลอย่างชัดเจน

3.การแข่งขันทางการค้า ในการร่างกฎหมายเพื่อใช้บังคับต่อประชาชนทั่วไป ควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่ไม่ต้องการให้มีกฎหมายที่จำกัดสิทธิของประชาชนมากเกินความจำเป็น และไม่กระทบกับการประกอบอาชีพของประชาชน การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ อาจมีลักษณะเป็นการกีดกันทางการค้า และเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคให้รู้จักกับสินค้าได้ แต่ผู้ผลิตรายเดิมสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้จากการรับรู้ที่มีอยู่แล้ว

สินค้าแต่ละประเภท มีกลุ่มลูกค้าแตกต่างกัน ไม่ควรกีดกันคนทั่วไปโดยใช้วิธีห้ามจำหน่ายแบบเหมารวม เพราะสินค้าหลายชนิดจะเสียเปรียบ หมดช่องทางการจำหน่าย ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ รัฐควรคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถแข่งขันในตลาดได้โดยไม่เสียเปรียบ ขณะที่สินค้าจากผู้ผลิตรายใหญ่ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของหน่วยงานราชการจะไม่ได้รับความเสียหายเท่ากับรายย่อย เพราะมีสินค้าอยู่ในชั้นวางสินค้าทุกมุมเมืองทั่วประเทศ ผิดกับสินค้าทางเลือกของผู้ประกอบการรายย่อย ที่ปัจจุบันใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในการสื่อสารกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากเป็นช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงที่สุด ราคาถูกที่สุด และสามารถจำกัดวงผู้เข้าถึงสื่อได้ง่ายที่สุด ดังนั้นการห้ามขายแบบเหมารวม จะทำให้เกิดการผูกขาดมากยิ่งขึ้น

4.มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอยู่แล้ว ในปัจจุบันมีกฎหมายจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้วหลายมาตรการ ได้แก่ การกำหนดเวลาขาย คือให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ระหว่างเวลา 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. รวมวันละเพียง 10 ชั่วโมง และมีกฎหมายห้ามขายแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องมีกฎหมายห้ามวิธีการขายเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากการจำกัดการเข้าถึงตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้ว สินค้าสุรายังถูกจำกัดการเข้าถึงด้วยโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่รัฐจัดเก็บเพิ่มเติมจากภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น คราฟต์เบียร์ที่มีราคาสูง เยาวชนยากที่จะมีกำลังซื้อได้ สำหรับข้อกังวลที่ว่าการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้มีการขายนอกเหนือเวลาที่กำหนด และไม่มีการควบคุมการขายให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีนั้น ในทางปฏิบัติผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ โดยจัดทำระบบสั่งซื้อทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้ผู้ซื้อแสดงบัตรประชาชนเพื่อแสดงอายุ และกำหนดเวลาในการสั่งซื้อสินค้าตามข้อกำหนดของกฎหมาย และเมื่อมีการส่งสินค้าแล้ว ต้องมีการลงชื่อรับสินค้าด้วยลายมือของผู้ที่มีอายุเกิน 20 ปีเท่านั้น เป็นต้น

5.การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง (ร่าง) ประกาศฉบับนี้ มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก แต่ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นหรือหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน กรมควบคุมโรคเลือกใช้วิธีห้ามจำหน่ายเบ็ดเสร็จซึ่งเป็นทางออกที่ง่ายสำหรับหน่วยงานราชการ โดยไม่คำนึงว่าจะสร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการเพียงใด การร่างกฎหมายควรจะมีการหารือร่วมกันระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และหน่วยงานราชการ ไม่ควรร่างกฎหมายที่เป็นมุมมองจากฝ่ายควบคุมเพียงฝ่ายเดียว

6.การควบคุมโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 เนื่องด้วยความสำเร็จในการรับมือและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยจากนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษต่อเหตุการณ์นี้ หนึ่งในองค์ประกอบความสำเร็จของการรับมือและยับยั้งโรคดังกล่าว คือการเปลี่ยนความประพฤติของผู้บริโภค จากการจับจ่ายซื้อขายสินค้าในพื้นที่ขายสินค้าจริง มาเป็นการซื้อสินค้าทางออนไลน์แทน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 และนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล

แต่การออกกฎหมายห้ามขายสินค้าใดๆ ก็ตามทางออนไลน์นั้น อาจทำให้ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้า กลับไปสู่พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการทำให้โรคโควิด-19 แพร่ระบาดมากขึ้น คือการกลับไปจับจ่ายซื้อสินค้าในพื้นที่ขายสินค้าจริงนั่นเอง ดังนั้น กฎหมายห้ามขายสินค้าแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ จึงจะเป็นอุปสรรคต่อการรับมือและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

7.ความเสียหายทางเศรษฐกิจ หากมีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว จะทำให้เกิดความเสียหายโดยเฉพาะกับภาคธุรกิจรายย่อยจำนวนมาก จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปี พ.ศ.2563 มีนิติบุคคลที่ทำธุรกิจขายปลีกที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 735 ราย ยังไม่รวมผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน โดยรวมมีนับพันราย ในรายงานประจำปีกรมสรรพสามิต พ.ศ.2562 มีผู้ขอใบอนุญาตจำหน่ายสุรา ยาสูบและไพ่ ประมาณ 700,000 รายทั่วประเทศ บางส่วนมีหน้าร้านเพียงอย่างเดียว บางส่วนมีการจำหน่ายสินค้าออนไลน์อย่างเดียว

แต่โดยแนวโน้มในอนาคตแน่นอนว่าย่อมมีการเพิ่มการให้บริการทางออนไลน์เสริมกับหน้าร้าน เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีในการบริโภคจับจ่ายใช้สอยมากขั้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีหน้าร้านออนไลน์ เฉพาะในเครือข่ายมากกว่า 50 เจ้า ซึ่งถ้ามีการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ รายได้จากส่วนนี้จะหายไปมากกว่าปีละ 600-800 ล้านบาท

นั่นหมายถึงความเสียหายของผู้ประกอบการรายย่อยตลอดซัพพลายเชน ไม่ว่าจำเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่าย ไปถึงร้านค้าต่างๆ ที่ต้องสูญเสียรายได้จำนวนมากที่นำมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจ ดูแลพนักงาน และสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย และจะส่งผลต่อภาษีสรรพสามิตหลักร้อยล้านบาทซึ่งเป็นรายได้ของรัฐโดยตรง นี่ยังไม่รวมถึงผู้ประกอบการอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายและต้องโดนผลกระทบแบบเหมารวม

ด้วยเหตุผลดังกล่าว บรรดาข้าพเจ้าจึงขอกราบเรียนท่านได้โปรดพิจารณา ให้ชะลอหรือเลื่อนการพิจารณาเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ ออกไปก่อน จนกว่าจะได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง

โดย 9 องค์กรที่ร่วมคัดค้าน ประกอบด้วย 1.สมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย 2.สมาคมผู้ผลิตไวน์ผลไม้และสุราพื้นบ้านไทย 3.ชมรมผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายคราฟท์เบียร์ 4.ชมรมผู้ประกอบการร้านคราฟท์เบียร์ 5.ชมรมนักวิจารณ์เบียร์ทางเลือก 6.ชมรมเบียร์บูเออร์แห่งประเทศไทย 7.ชมรมประชาชนเบียร์ 8.ชมรมผู้ค้าและตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์และวัตถุดิบทำเบียร์ และ 9.สมาคมศิลปะและวัฒนธรรมสุรา

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0