โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

เคยเป็นไหม? ‘อาการบ้านหมุน’ มาดูกันว่า เกิดจากสาเหตุอะไร

Amarin TV

เผยแพร่ 20 ก.พ. 2562 เวลา 08.00 น.
เคยเป็นไหม? ‘อาการบ้านหมุน’ มาดูกันว่า เกิดจากสาเหตุอะไร
อาการวิงเวียนศีรษะ สิ่งของรอบตัวหมุนเคว้ง รู้สึกโคลงเคลงแม้ยืนนิ่งอยู่กับที่ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า 'อาการบ้านหมุน' ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหต

อาการวิงเวียนศีรษะ สิ่งของรอบตัวหมุนเคว้ง รู้สึกโคลงเคลงแม้ยืนนิ่งอยู่กับที่ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า ‘อาการบ้านหมุน‘ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยหนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยนั้น เกิดจาก โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนคืออะไร?

โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo: BPPV) เกิดจากตะกอนหินปูนภายในอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน เคลื่อนที่หลุดออกจากอวัยวะควบคุมการทรงตัว ทำให้เกิดการส่งสัญญาณไปยังระบบประสาทส่วนกลาง ที่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนขึ้นมา

อาการบ้านหมุน จากโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

  • มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนเมื่อเปลี่ยนท่าทางศีรษะ
  • มีอาการเวียนศีรษะทันทีทันใด เมื่อล้มตัวลงนอน พลิกตะแคงขวา หรือก้มเงยหน้า
  • บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
  • อาการเวียนศีรษะมักเกิดไม่นาน ราว 1 นาที แล้วทุเลาลง
  • อาการอาจกลับมาได้อีก เมื่อขยับศีรษะในท่าเดิมซ้ำ แต่จะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก
  • อาการเวียนศีรษะมักเป็นอยู่หลายวัน แล้วจะดีขึ้นในเวลาสัปดาห์ถึงเดือน

บ้านหมุน เกิดกับใครได้บ้าง?

อาการบ้านหมุน หรือ โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน พบได้ในคนอายุ 30-70 ปี ส่วนมากมักเกิดกับผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อัตราส่วนประมาณ 2:1 โดยโรคสามารถได้เกิดกับหูทั้ง 2 ข้าง แต่โดยทั่วไปมักเกิดกับหูเพียงข้างเดียว

สาเหตุของโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

สาเหตุที่ทำให้หินปูนในหูชั้นในเคลื่อน ได้แก่ การเกิดอุบัติเหตุ การกระแทกบริเวณศีรษะ ความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น มีภาวะอักเสบในหูชั้นใน มีการผ่าตัดหูชั้นกลางหรือใน มีการเคลื่อนไหวศีรษะซ้ำ ๆ เช่น การทำงานที่ต้องก้ม ๆ เงย ๆ

การตรวจวินิจฉัย และแนวทางรักษาอาการบ้านหมุน

แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทดสอบ Dix-Hallpike Maneuver โดยจะให้ผู้ป่วยล้มตัวลงนอนหงายอย่างรวดเร็ว ในท่าศีรษะตะแคง และห้อยศีรษะเล็กน้อย หากพบการกระตุกของลูกตา ร่วมกับอาการเวียนศีรษะ จะเป็นลักษณะที่บ่งชี้ของโรคนี้ ซึ่งหากพบว่า เกิดจากโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน จะมีแนวทางการรักษาดังนี้

  • รักษาตามอาการ ให้ยาบรรเทาการเวียนศีรษะ และแนะนำให้หลีกเลี่ยงท่าทาง หรือกิจกรรมที่กระตุ้นให้เวียนศีรษะ
  • ทำกายภาพบำบัด เน้นฝึกการเคลื่อนไหวศีรษะและลำคอ เพื่อให้ตะกอนหินปูนเคลื่อนกลับเข้าไปภายในอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นในตามเดิม
  • การผ่าตัด ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดไม่ได้ผล

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการบ้านหมุนมากขึ้น เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

พญ.ภัทราพร อุ่ยรุ่งโรจน์ โสต ศอ นาสิกแพทย์ (หู คอ จมูก) โรงพยาบาลเวชธานี
พญ.ภัทราพร อุ่ยรุ่งโรจน์ โสต ศอ นาสิกแพทย์ (หู คอ จมูก) โรงพยาบาลเวชธานี
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0