โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"เคทีซี" เปิดโลกคนทวงหนี้ ดึงบิ๊กดาต้าสแกนลูกหนี้สกัดบิดพลิ้ว

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 18 มิ.ย. 2562 เวลา 09.12 น. • เผยแพร่ 18 มิ.ย. 2562 เวลา 09.08 น.
fin04170662p1

ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน และเป็นปัญหาใหญ่ทำให้ความยากจนยังกระจายอยู่ทั่วประเทศในทุกวันนี้ โดยจะยังคงอยู่ต่อไปอีกระยะ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสิ้นปี 2561 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 12.83 ล้านล้านบาท ซึ่งข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี (มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) สูงอยู่ที่ 77.9% และติดอันดับ 1 ใน 3 ของภูมิภาคเอเชีย

ขณะที่ภาครัฐมีความพยายามที่จะดึงผู้กู้หนี้นอกระบบเข้ามาเป็น “ลูกหนี้ในระบบ” จึงได้เปิดทางให้เพิ่มบริการ “สินเชื่อรายย่อย” 2 ประเภทใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ “พิโกไฟแนนซ์” ที่เป็นเงินกู้อเนกประสงค์ให้กู้แก่บุคคลทั่วไป และ “นาโนไฟแนนซ์” ซึ่งจะช่วยเปิดประตูให้ผู้กู้รายย่อยที่เข้าไม่ถึงสถาบันการเงินหรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สามารถมีทางเลือกกู้ที่ดีกว่ากู้นอกระบบ และที่สำคัญดอกเบี้ยกู้มีเพดานคุมในอัตรา 36% ต่อปี ถือว่า “ถูก” กว่าการกู้นอกระบบ และลูกหนี้ไม่ถูกทวงเงินด้วยวิธีรุนแรงแบบกู้หนี้นอกระบบแน่นอน เพราะมี พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 คุ้มครองดูแลลูกหนี้อยู่ ขณะที่ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) กำลังจะเข้ามาเป็นผู้เล่นอีกรายให้บริการสินเชื่อรายย่อยเพิ่ม คือ พิโกไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ และจำนำทะเบียนรถ ที่กำลังจะเปิดดำเนินการในไตรมาส 3 ปีนี้

“ชุติเดช ชยุติ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส คอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) สะท้อนภาพลูกหนี้ทุกวันนี้ให้ฟัง ในเวทีเสวนาเกี่ยวกับความเสี่ยงหนี้นอกระบบ ว่า จากการสำรวจปี 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าสัดส่วน 5% ของหนี้ครัวเรือนมีการกู้นอกระบบราว 6.4 แสนล้านบาทของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ขณะที่ข้อมูลอ้างอิงจากแหล่งอื่น ๆ บอกว่า คนจนที่ขึ้นทะเบียน 1.3 ล้านคน มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยคนละ 6.5 หมื่นบาท ซึ่งคำนวณยอดรวมออกมาก็มีหนี้นอกระบบจำนวนเยอะมาก ประกอบกับช่วง 2 ปีที่แล้ว ธปท.ได้มีการเปลี่ยนเกณฑ์ผู้ถือบัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสด เพื่อควบคุมการก่อหนี้เพิ่มขึ้นด้วย เพราะเห็นว่าลูกหนี้ทุก 1 ใน 5 คน ช่วงอายุ 31 ปี เป็นกลุ่มที่มีปัญหาการชำระหนี้ หรือติดแบล็กลิสต์ ซึ่งกลุ่มวัยดังกล่าวถือเป็นกำลังสำคัญของประเทศ

“ธปท.มีการสำรวจการเป็นหนี้ี้ โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้และมีปัญหา และกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้และไม่มีปัญหา พบว่า คนกลุ่มแรกมีการใช้จ่ายที่ “มากกว่า” คนในกลุ่มที่สอง จากค่านิยมที่หลงไป ฟุ้งเฟ้อจนเกิดเป็นค่าใช้จ่ายเกินตัว และหากมีคนป่วยขึ้นในครอบครัวไม่สบายจะใช้เงินก้อน ก็จะต้องกู้นอกระบบมาใช้ ขณะที่คนเป็นหนี้นอกระบบ พบว่าเป็นคนที่คิดเร็ว ไม่อยากส่งเอกสาร กู้ (ในระบบ) จนไม่มีที่จะไปแล้ว”

ดังนั้น คนกลุ่มแรกจึงควรเพิ่มภูมิคุ้มกัน คือต้องมีสติในการใช้จ่ายและการก่อหนี้ ต้องคำนึงว่าแต่ละเดือนมีรายได้เท่าไหร่ และวางแผนใช้เงินอย่างไร สิ่งสำคัญควรหยุดใช้จ่ายเกินตัว และคิดให้ดีก่อนก่อหนี้ก้อนใหม่ แต่หากต้องกู้หนี้ก็ควรกู้ในระบบเพราะมีความเป็นธรรมมากกว่า”

ชุติเดชทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้แบงก์และน็อนแบงก์มีสินเชื่อรายย่อยที่หลากหลายให้เลือก ซึ่งหากจะกู้จะต้องรักษาประวัติให้ดี เพราะจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการปล่อยกู้ครั้งต่อ ๆ ไป ดังนั้น เมื่อเป็นหนี้ก็ต้องจ่ายหนี้ให้ตรงเวลา แต่หากเป็นไปได้ คือ ไม่เป็นหนี้ จะดีที่สุด

มาฟังฝั่งธุรกิจบริการติดตามทวงหนี้และด้านกฎหมาย “พรเลิศ เบญจกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท วินเพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ติดตามหนี้ให้กับเคทีซี ได้ร่วมแชร์ข้อมูลในงานเสวนานี้ว่า ปัจจุบันรูปแบบการติดตามหนี้เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ใช้โทรศัพท์ทวงตั้งแต่เริ่มงาน ท่ามกลางการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง โดยองค์กรมีการปรับปรุงพัฒนาให้เหมาะสมกับการบริหารงาน ทั้งกระบวนการติดตามหนี้และด้านเทคโนโลยี รวมถึงเน้นเรื่องข้อมูลการวิเคราะห์ลูกหนี้ และปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการชำระหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการติดตามหนี้

“การดำเนินงานภายในของเรา เน้นไปที่ความรวดเร็วในการติดตามหนี้ และการเข้าถึงลูกหนี้เป็นที่แรก ๆ เพราะลูกหนี้นาโน-พิโกไฟแนนซ์ไม่ได้เป็นลูกหนี้อยู่ที่เดียว (มีเจ้าหนี้รายเดียว) แน่นอน รวมถึงเรามีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน ที่สำคัญที่สุดคือข้อมูลลูกหนี้ที่จะทำให้เห็นตัวตนและพฤติกรรมของลูกหนี้ หรือกลุ่มของลูกหนี้อย่างชัดเจน เพื่อให้เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลและผลที่ได้ไปกำหนดแนวทางในการบริหารและพัฒนาระบบด้านเทคโนโลยีให้สอดรับกับการติดตามหนี้ด้วย”

ทั้งนี้ ตัวอย่างจากการสำรวจพบว่า กลุ่มลูกหนี้ที่ทำงานบริษัทส่วนใหญ่จะรอเงินเดือนเพื่อใช้ชำระหนี้ กลุ่มนี้จะไม่มีอาชีพเสริม ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีการค้างชำระหนี้ราว 35% และจะมีอีกกลุ่มที่ไม่ค่อยสนใจ ละเลย ไม่มีวินัยในการชำระหนี้ จะมีประมาณ 34% ซึ่งลูกหนี้ 2 กลุ่มนี้จะต้องดูว่าจะติดตามหนี้ได้อย่างไรหากกลุ่มนี้กลายเป็นหนี้เสีย แต่ยังไม่ถือว่ามีความเสี่ยงเท่าใดนัก

“ความเสี่ยงจะเกิดขึ้นจริง ๆ จากลูกหนี้ที่มีพฤติกรรมใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัว มีพฤติกรรมหมุนหนี้ คือ กู้เงินจากที่หนึ่งไปจ่ายคืน (เจ้าหนี้) ให้อีกที่หนึ่ง ซึ่งอาจมาจากความยากจนจริง ๆ หรือตกงาน ทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ ซึ่งถ้าเรามีข้อมูลพื้นฐานของลูกหนี้ เราก็ต้องปรับกระบวนการติดตามหนี้แบบ virtual collector เพื่อความรวดเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้เราสามารถเจาะกลุ่มลูกหนี้ ติดตามหนี้ได้ดีกว่าใช้วิธีปฏิบัติเดิม ๆ ยิ่งปัจจุบันลูกหนี้ไม่ค่อยรับโทรศัพท์ด้วย”

อีกอุปสรรคของการติดตามทวงหนี้ “พรเลิศ” กล่าวว่า พ.ร.บ.ติดตามทวงหนี้ กำลังจะออกประกาศเพิ่มเติมเรื่องผู้ให้ทวงถามหนี้ต่อลูกหนี้ หรือบุคคลที่ลูกหนี้ระบุไว้ โดยสามารถโทร.ได้ไม่เกิน 1 ครั้งต่อ 1 วัน และอาจมีการให้ลงทะเบียนผู้ทวงถาม เพื่อให้ลูกหนี้รับทราบว่าใครโทร.มา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้บริษัทรับติดตามทวงหนี้ ยิ่งทำงานยากขึ้นไปอีก

ดังนั้นเจ้าหนี้หรือบริษัทติดตามหนี้จะต้องปรับทัพยกใหญ่โดยทุ่มงบพัฒนาเทคโนโลยี ทำบิ๊กดาต้ามาช่วยสนับสนุนกระบวนการติดตามหนี้ ให้สามารถเข้าถึงตัวลูกหนี้ได้เร็วที่สุด ยุคนี้ใครมีข้อมูลเยอะก็จะได้เปรียบกว่าในการทำธุรกิจ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0