โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เข้าสู่หน้าฝน ระวังลูกป่วย “ปอดอักเสบ”

GedGoodLife

เผยแพร่ 29 มิ.ย. 2563 เวลา 05.18 น. • Ged Good Life ชีวิตดีดี
เข้าสู่หน้าฝน ระวังลูกป่วย “ปอดอักเสบ”

เข้าสู่ฤดูฝน อากาศเปลี่ยนแปลง เป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวังโรคต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ไม่เพียงแค่ไวรัสโควิด-19 เท่านั้น แต่โรคอื่น ๆ ที่มาพร้อมกับสายฝนก็น่าเป็นห่วง อย่างเช่น ปอดอักเสบ ในเด็ก จะมีวิธีการดูแลรักษา และป้องกันได้อย่างไร วันนี้เรามีคำตอบมาฝากคุณพ่อคุณแม่กันแล้ว

ปอดบวม หรือ ปอดอักเสบ (pneumonia) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเนื้อปอดบริเวณหลอดลมฝอยส่วนปลาย (terminal และ respiratory bronchiole) ถุงลม (alveoli) และเนื้อเยื่อรอบถุงลม (interstitium) ซึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อ

“โรคปอดอักเสบติดเชื้อในเด็ก” (Childhood pneumonia) เป็นโรคที่พบบ่อย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งพบว่าในแต่ละปีมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคนทั่วโลก

ปอดอักเสบ
ปอดอักเสบ

สาเหตุโรคปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบติดเชื้อ เกิดจากการติดเชื้อในปอดซึ่งอาจเป็นได้จากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียร่วมกัน

เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุร้อยละ 60-70 ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ไวรัสที่พบบ่อยได้แก่ respiratory syncytial virus, influenza, parainfluenza และ human metapneumovirus
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย คือ Streptococcus pneumoniae
เกิดจากการติดเชื้อโรคชนิดอื่น เช่น เชื้อไมโคพลาสมา (mycloplasma) และเชื้อรา

เมื่อปอดติดเชื้อ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะส่งเม็ดเลือดขาวมาที่เซลล์ปอด และเกิดปฏิกิริยาจากการทำลายเชื้อโรค ทำให้เซลล์ปอดบวมใหญ่ขึ้น เป็นที่มาของคำว่า “ปอดบวม” นั่นเอง

อาการ “ปอดอักเสบติดเชื้อ”

เด็กที่เป็นโรคปอดติดเชื้อ อาจไม่ได้มีอาการไอแห้ง ๆ หรือเป็นไข้ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ และอาจมีอาการของการติดเชื้อที่รุนแรงกว่าได้ อาการที่สำคัญของโรคปอดอักเสบในเด็กส่วนใหญ่ ได้แก่

- มีไข้ มีอาการไอ มีเสมหะ หายใจหอบเหนื่อย
- กลืนอาหาร ดูดนมลำบาก อาเจียน จมูกบาน ซี่โครงบาน อกบุ๋ม ซึม อาจมีอาการตัวเขียวได้
- อาจมีอาการไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ร้องกวน และงอแง หนาวสั่น
- อาการในเด็กทารก ส่วนมากจะไม่มีลักษณะเฉพาะ อาจมีไข้ หรือไม่มีไข้ก็ได้ อาจมีอาการซึม อาเจียน และไม่ยอมดูดนม หรือน้ำ
- อาการในเด็กโต อาจจะมีอาการเจ็บหน้าอก เวลาหายใจเข้าออก

ปอดอักเสบ
ปอดอักเสบ

การรักษาปอดอักเสบติดเชื้อทั่วไป

- ดื่มน้ำมาก ๆ แต่ถ้าหอบมาก จนรับประทานอาหารไม่ได้ ควรให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ป้องกันลูกสำลัก
- ควรให้ออกซิเจน เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณออกซิเจนที่เพียงพอ
- ให้ยาขยายหลอดลม สำหรับรายที่หลอดลมตีบจนเกิดเสียงหายใจวี๊ด
- รับประทาน ยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะ ในกรณีที่ให้สารน้ำเต็มที่แล้วแต่เสมหะยังเหนียวอยู่
- ไม่ควรให้ยาที่ออกฤทธิ์กดการไอ โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี เพราะยาที่กดการไอจะทำให้มีเสมหะคั่งค้างอยู่ภายในถุงลมปอดมากขึ้น ควรให้ไอเพื่อให้เสมหะออกมามากที่สุด
- ทำกายภาพทรวงอก (chest physical therapy) เพื่อช่วยระบายเสมหะให้ถูกขับออกจากปอดและหลอดลมได้ดีขึ้น
- รักษาอื่น ๆ ตามอาการ เช่น รับประทานยาลดไข้
- ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส ยังไม่มียารักษา นอกจากรักษาตามอาการ ยกเว้นเกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ สามารถใช้ยาต้านไวรัสได้
- ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาจรักษาด้วยการใช้ยาปฎิชีวนะ

วิธีป้องกัน “ปอดอักเสบติดเชื้อ หรือ ปอดบวม” ในเด็ก

- ไม่พาลูกไปสถานที่ที่มีคนมาก เช่น ศูนย์การค้า ตลาด สวนสนุก โดยเฉพาะเด็กเล็ก
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ อากาศเย็น ๆ หรือ การใช้แป้งฝุ่นกับเด็ก
- รักษาความสะอาด สุขอนามัย ให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ใช้ช้อนกลางตักอาหาร
- ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ ของเล่น ของที่ลูกต้องสัมผัสเป็นประจำ
- ระวังอากาศเย็น นอนตอนกลางคืน ไม่เปิดแอร์หรือพัดลมจ่อที่ตัวลูก
- ถ้ามีผู้ใหญ่ป่วยในบ้าน ไม่ควรให้อยู่ใกล้ชิดเด็กเล็ก

วัคซีนที่ควรให้ลูกฉีด ป้องกันปอดอักเสบติดเชื้อ

- วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ พอเข้าหน้าฝนควรฉีดป้องกันไข้หวัดใหญ่ไว้ก่อน จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นเป็นประจำทุกปี คุณหมอแนะนำว่า ควรฉีดในช่วงเปลี่ยนฤดู เช่นเข้าฤดฝน หรือ เข้าฤดูหนาว เพื่อป้องกัน หรือ ลดความรุนแรงของโรคได้

- วัคซีนป้องกันโรคไอพีดี (IPD) วัคซีนนี้จะป้องกันการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumonia) ที่ทำให้เกิดปอดอักเสบได้ และช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

ปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม อาจเป็นโรคที่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด โดยเฉพาะเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการดูแลร่างกายลูกให้แข็งแรงอยู่เสมอ จึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่ารอให้เจ็บป่วยหนัก ต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย พาลูกไปเดินเล่น วิ่งเล่น รับอากาศบริสุทธิ์ หากมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย มีไข้ ไอ เจ็บคอ ควรสังเกตอาการ และรีบรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อลดความรุนแรง ไม่ให้อาการเจ็บป่วยลุกลาม

ที่มา: (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8)

"Expert ดีดี" โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0