โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เข็น'ชวน'นั่งนายกฯ 'นิพิฏฐ์'เผย'มหาเธร์โมเดล'โอกาสปชป.เป็นรัฐบาลสูง

ไทยโพสต์

อัพเดต 17 พ.ย. 2561 เวลา 17.01 น. • เผยแพร่ 17 พ.ย. 2561 เวลา 17.01 น. • ไทยโพสต์

    ประชาธิปัตย์เขย่า คสช.-พลังประชารัฐ   "นิพิฏฐ์" ย้ำไม่ปิดประตูจับมือเพื่อไทยหลังเลือกตั้ง!    เชื่อหลังได้นายกฯ มีมหกรรมดูด ส.ส.งูเห่าร่วมรัฐบาลมโหฬาร หากเสียงไม่ถึง 250 ที่นั่ง สูตรแจกเก้าอี้รัฐมนตรี 10 ต่อ 1 ย้ำ ปชป.สูญพันธุ์แน่ ถ้าได้เสียงมาที่สอง แต่ให้พรรคอันดับสามเป็นนายกฯ เตรียมเข็น “ชวน” ชิงนายกฯ ตามรอยมหาเธร์โมเดล     นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ไทยโพสต์ ถึงสถานการณ์ทางการเมืองในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นว่า หลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ไม่มีทางตั้งรัฐบาลครั้งหน้าโดยไม่มีพรรคประชาธิปัตย์อยู่ด้วย ฟันธงเลย ไม่ว่าใครจะตั้งรัฐบาลก็ต้องมีประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลด้วยทั้งนั้น ประชาธิปัตย์เป็นพรรครัฐบาลแน่นอน ไม่ใช่พรรครวมพลังประชาชาติไทยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อย่างที่เคยบอก      "ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลแน่ มีโอกาสมากกว่าพรรคอื่น เพราะอย่างสมมุติพวกพรรคทหาร คุณจะตั้งรัฐบาลได้หรือ เขาถ้าไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมด้วยก็ตั้งไม่ได้ จะตั้งได้อย่างเดียวคือต้องไปรวมกับเพื่อไทย ก็เมื่อคุณไปยึดอำนาจเขามา แล้ววันดีคืนดีจะไปรวมกับเขาได้หรือ ถ้าแบบนั้น ชอบเลย พล.อ.ประยุทธ์ไปรวมกับเพื่อไทยเลย ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านเอง จะเป็นฝ่ายค้านให้คุณดู"     นายนิพิฏฐ์กล่าวอีกว่า พรรคประชาธิปัตย์เราพยายามจะหลีกเลี่ยงการตอบคำถามที่ว่าพรรคจะไปร่วมกับเพื่อไทยได้หรือไม่ ประชาธิปัตย์ไปรวมกับทหารได้หรือไม่ เราไม่ตอบคำถามแบบนี้แล้วในตอนนี้ แต่เราจะถามใหม่กลับไปว่า พรรคเพื่อไทยมาร่วมกับประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ ถ้าร่วมมือกันได้มีเงื่อนไขอะไร หรือทหาร จะมาร่วมกับประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ ถ้าได้ คุณจะมารวมกับเราภายใต้เงื่อนไขอะไร      "ที่เราต้องให้คุณตอบ เพราะว่าเราคือพรรคหลัก แต่ถ้าถามว่าประชาธิปัตย์ไปรวมกับพรรคทหารได้หรือไม่ จะกลายเป็นว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคอะไหล่ หรือหากมาถามเราว่าประชาธิปัตย์ไปรวมกับเพื่อไทยได้ไหม กลายเป็นว่าเราเป็นพรรคสำรอง ถูกเขาดูดไปรวมทำนองนั้น แต่เราจะบอกว่าเพื่อไทยมารวมกับประชาธิปัตย์ได้ไหม ถ้ามาได้ ภายใต้เงื่อนไขอะไร ถ้าพูดแบบนี้แสดงว่าเราเป็นพรรคหลัก หรือทหารมารวมกับประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ ถ้าคุณมารวมกับเราได้ จะมาภายใต้เงื่อนไขอะไร เราจะเริ่มตั้งคำถามแบบนี้แล้ว แบบนี้เท่ากับเราเป็นพรรคหลัก"     เมื่อถามว่า หากผลเลือกตั้งออกมา โดยเพื่อไทยได้อันดับหนึ่ง ประชาธิปัตย์อันดับสอง พลังประชารัฐได้สาม แต่ฝ่ายขั้วเพื่อไทย รวมกันแล้วไม่เกิน 250 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์จะไปหนุนแคนดิเดตนายกฯ ของพลังประชารัฐ ที่มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ขึ้นมาเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ นายนิพิฏฐ์ตอบว่า เราหนุนก็ตั้งนายกฯ ไม่ได้หรอก เพราะการโหวตนายกฯ ต้องได้เสียง 375 ที่นั่งของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ปัญหาคือว่า ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยรวมกันแล้วเกิน 375 ที่นั่งหรือไม่ ในส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ เขาอาจจะมี ส.ว.แล้ว 250 ที่นั่ง แล้วหลังเลือกตั้งฝ่ายเขาไปบวกพวกพรรคเล็กๆ เข้ามา ก็อีกแค่ประมาณ 125 ที่นั่ง ก็เป็น 375 ที่นั่ง เราก็จบเลย     ถามอีกว่า หากฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์มาชวนประชาธิปัตย์ที่ได้เสียงอันดับสองร่วมรัฐบาลด้วย แต่เขายื่นเงื่อนไขว่าขอให้ทางเขาได้เป็นนายกฯ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยอมรับว่า สูตรนี้ยากหน่อย หากประชาธิปัตย์เป็นพรรคอันดับสอง แล้วไปให้พรรคอันดับสามเป็นนายกฯ คิดว่ายากนะ ยากมาก ทำอย่างนั้นเราสูญพันธุ์ได้เลย      "ถ้าเลือกครั้งต่อไป เพราะเราไม่รู้ว่ารัฐบาลตั้งขึ้นมาแล้ว จะอยู่ได้นานไหม หากเป็นอย่างที่บอก บิ๊กตู่ต้องเสียสละให้ประชาธิปัตย์ มันมีความชอบธรรมและอธิบายได้ด้วยว่าเราได้คะแนนมากกว่า แล้วเราไปอยู่กับคุณ คุณต้องเอานายกฯ ไป สมมุติว่าเราเป็นพรรคอันดับสองแล้วเราให้พรรคอันดับสามเป็นนายกฯ แล้วหากรัฐบาลอายุสั้นมาก อยู่ได้สักหนึ่งปีหรือหนึ่งปีต้นๆ แล้วมีการยุบสภา แล้วไปเลือกตั้งกันใหม่ ประชาธิปัตย์แพ้เลย คือการเลือกตั้งครั้งหน้าเมื่อตั้งรัฐบาลเสร็จแล้วต้องคิดว่ารัฐบาลอยู่สั้น อย่าคิดว่าอยู่ยาว เพราะเวลาเราฟอร์มรัฐบาล อันนี้ความเห็นผมส่วนตัว เราต้องคิดเผื่อด้วยว่า ตั้งรัฐบาลร่วมกันแล้ว เราอยู่กันยาวไหม ถ้าเราอยู่กันปีต้นๆ หรือไม่ถึงปี แล้วมีการยุบสภา แล้วมาเลือกตั้งใหม่ แล้วการที่เราเป็นพรรคอันดับสอง แต่พรรคอันดับสาม เป็นนายกฯ เราเอาไปหาเสียงต่อได้ไหม ถ้าเราเอาไปหาเสียงไม่ได้ เราก็จบเลย"     ซักว่า ที่บอกว่าต้องเปลี่ยนคำถามที่ว่าประชาธิปัตย์จะร่วมกับเพื่อไทยได้หรือไม่ มาเป็นคำถามที่ว่า เพื่อไทยจะมาร่วมกับประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ จุดยืนพรรคประชาธิปัตย์คืออย่างไร นายนิพิฏฐ์ตอบว่า เขาบอกว่าก็ต้องดูว่ามีเงื่อนไขอะไร ถ้าเรารับเงื่อนไขเขาได้ เราก็ทำงานร่วมกันได้ ถามอีกว่าคือไม่ได้ปิดประตู  รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า เราจะบอกว่าปิดประตูเลยทีเดียวไม่ได้หรอก แต่ว่านโยบายเราอย่างนี้ นโยบายคุณอย่างนี้ เราทำงานร่วมกันได้หรือไม่     ตั้งคำถามอีกว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่าตราบใดที่เพื่อไทยยังถูกครอบโดยระบอบทักษิณ ก็ทำงานร่วมกันไม่ได้ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอบว่า ก็โอเค หากเขาบอกว่าไม่มีแล้ว นายทักษิณ ชินวัตร อาจประกาศเลยว่ายุติบทบาททางการเมือง โดยให้เพื่อไทยมาร่วมกับเรา ภายใต้นโยบายที่นำความเจริญก้าวหน้า ยุติความขัดแย้งในประเทศ ก็ว่ามา มันต้องมีเงื่อนไขในการร่วมกัน     ถามถึงกรณีหากเพื่อไทยมาอยู่ร่วมกับประชาธิปัตย์ กองเชียร์พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ผิดหวังกับพรรคหรือ ในเมื่อที่ผ่านมาพรรคสู้กับระบอบทักษิณมาตลอด นายนิพิฏฐ์แจงว่า เรารวมกันภายใต้เงื่อนไขอะไร อย่างเช่นเราบอกว่าต่อไปนี้จะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในระยะนี้ เว้นแต่ว่าประชาชนเขาทำประชามติแล้ว ภายใต้เงื่อนไขอย่างนี้ๆ และไม่มีการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่มีการนิรโทษกรรม และมีนโยบายเพื่อแก้ปัญหาปากท้องประชาชนรีบด่วน อย่างนี้ก็มาดู หรือไปรวมกับทหาร ภายใต้เงื่อนไขอย่างนี้ๆ เศรษฐกิจแบบนี้ ก็ว่าไป ประชาชนห่วงเรื่องเศรษฐกิจมากที่สุด เราต้องเข้าใจประชาชน อย่าไปทำเพื่อพรรค เพื่อตัวเราเอง เพื่อกลุ่มการเมือง มันต้องทำเพื่อประชาชน เสนอชื่อ"ชวน"เป็นนายกฯ     นายนิพิฏฐ์กล่าวถึงความชัดเจนของพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคสามรายชื่อที่จะประกาศตอนเลือกตั้งว่า หลายคนเรียกร้องให้นายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาอยู่ในสามรายชื่อด้วย ส่วนรายชื่อที่สามผมไม่รู้ แต่ชื่อที่สองหลายคนอยากให้นายชวนมาอยู่ตรงนั้น คิดว่าต้องเคารพความเห็นของสมาชิก สมาชิกพรรคต้องการอย่างนั้น นายชวนเคยบอกว่าจะไม่เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็แน่นอนเราเคารพท่าน เพราะเคยเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้ว       “เที่ยวนี้เราจะขอร้องท่านว่าขอให้ท่านมาเป็นหนึ่งในสามรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคได้ด้วยเถอะ เพราะเป็นเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ผมเชื่อว่าคนในพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนพร้อมจะไปบอกท่านชวนว่าขอให้มามีชื่ออยู่ หนึ่งในสามรายชื่อของพรรค แต่ท่านจะไปเป็นนายกฯ ต่อหรือไม่ เราไม่รู้ แต่หากท่านมาอยู่ตรงนั้น เราจะหาเสียงง่าย ไม่ใช่แค่ภาคใต้ แต่ทุกภาค คนยังรักท่าน ผู้หลักผู้ใหญ่ต่างๆ ก็เคารพท่าน เพราะท่านเป็นหลักของประชาธิปไตย คนมันมีความหวัง ขนาดมหาเธร์ โมฮัมหมัด อายุตั้ง 90 กว่า ยังกลับมาเป็นนายกฯ ได้เลย ส่วนอีกหนึ่งชื่อ ก็แล้วแต่สมาชิก แต่เราอาจไม่เสนอก็ได้ เราอาจเสนอแค่สองชื่อคือคุณอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคกับคุณชวน หลีกภัย ก็ได้" รองหัวหน้าพรรค ปชป.ระบุ     นอกจากนี้ นายนิพิฏฐ์ยังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า พรุ่งนี้ (18 พ.ย.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือ รปช. และสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย จะเดินพบปะประชาชนที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมในทางการเมือง แม้เคารพนับถือกัน แต่จะไม่ไปต้อนรับ เพราะแยกแยะเรื่องส่วนตัวออกจากส่วนรวม และจะไม่ทำให้ประชาชนสับสน     เวลา 07.30 น. วันเสาร์ที่ผ่านมา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชาชาติไทย นำทีมออกพบปะกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้า เดินคารวะแผ่นดิน และเพื่อหยั่งเสียงหาสมาชิกพรรค และสอบถามเรื่องปัญหาปากท้อง ซึ่งได้รับกระแสตอบรับจากชาว จ.ตรังเป็นอย่างดี      ทั้งนี้ นายสุเทพเดินทางถึง จ.ตรัง ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. ที่อำเภอย่านตาขาว และขณะที่การเดินในเขตเทศบาลนครตรัง โดยเฉพาะในตลาดสดทั้งสองแห่ง ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าและประชาชนต่างฝากความหวังเรื่องของปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำ แต่สินค้ากลับมีราคาแพงขึ้น  "ชวน"ไม่อยู่พบ"สุเทพ"     ก่อนนั้นเวลาประมาณ 06.30 น. นายสุเทพได้เข้าไปที่บ้านของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่บ้านพักถนนวิเศษกุล ในเขตเทศบาลนครตรัง เพื่อแสดงความกตัญญูที่มีต่อคุณแม่ถ้วน หลีกภัย และนายชวน โดยมีนายระลึก หลีกภัย น้องชายนายชวนคอยให้การต้อนรับแทน พร้อมกับบอกนายสุเทพว่านายชวนไปลอกตาที่ กทม. ใช้เวลาการสนทนาประมาณ 15 นาที ก่อนออกมาเดินพบปะกับชาวบ้านในตลาดเทศบาลนครตรัง      นายสุเทพเผยว่า การเข้าไปในบ้านของนายชวน  เป็นการแสดงความเคารพต่อทั้งคุณแม่ถ้วนและนายชวน ซึ่งตนยกย่องคุณแม่ถ้วนมาตลอดว่าเป็นผู้หญิงเก่ง และนายชวนก็เป็นปรมาจารย์ที่สั่งสอนตนมา และทุกครั้งที่ตนเดินทางมา จ.ตรัง ก็จะแวะเข้าไปกราบไหว้ผู้มีพระคุณทุกครั้ง ส่วนแนวทางทางการเมืองจะจับมือกับทุกพรรค ยกเว้นพรรคเพื่อไทย และใครที่ยืนหยัดปฏิรูปประเทศ ก็จะร่วมมือด้วย โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งต้องจงรักภักดี     ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายธวัชชัย อนามพงษ์ และนายแสนคม อนามพงษ์ อดีต ส.ส.จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค โดยนายธวัชชัยกล่าวภายหลังสมัครเป็นสมาชิกพรรคถึงเหตุผลที่ตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ว่า ได้นำทีมมา 3 คน จากจันทบุรี ซึ่งมีมาสมัครก่อนหน้านี้แล้วคือ นายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา โดยก่อนมาสมัครตนได้ฟังเสียงประชาชน ส่วนมากประชาชนในพื้นที่อยากให้มาอยู่ พปชร. เพื่อช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ ที่ขณะนี้มีปัญหาเยอะ      "รัฐบาลเองอยากได้ ส.ส. เมื่อผมได้ฟังเสียงประชาชนจึงอยากมาอยู่ ดังนั้นประชาชนในพื้นที่เข้าใจดี และอยากให้มา ขณะเดียวกันได้เดินสายรับฟังทั้งในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจอัญมณี รวมทั้งข้าราชการและท้องถิ่นก็อยากให้มาอยู่ พปชร. เพื่อจะได้ช่วยจังหวัดจันทบุรีด้วย"     เมื่อถามว่า แสดงว่าที่ผ่านมาไม่สามารถช่วยเหลือปากท้องประชาชนได้เต็มที่ใช่หรือไม่ นายธวัชชัย ตอบว่า เป็น ส.ส.มา 8 สมัย ที่ผ่านมาเป็นฝ่ายค้านเยอะมาก ส่วนกระแสของประชาธิปัตย์ในพื้นที่ลดลงหรือไม่นั้น ไม่อยากพูด แต่ก็ดีกัน      เขาบอกว่า ก็ได้ไปลานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนความสัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์นั้น ที่ผ่านมาก็ไม่ได้อยู่พรรคประชาธิปัตย์มาตลอด และเคยสังกัดพรรคประชากรไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งไปลานายอภิสิทธิ์ ท่านพูดน้อยมาก เพียงขอให้โชคดี แต่ในตอนหลังก็มีการส่งคนมาชักชวนอีก แต่ไม่เอาแล้ว พอแล้ว แต่ส่วนตัวไม่ได้เกลียดท่าน แคลงใจ "อภิสิทธิ์"     ถามว่า การออกจากพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ออกมาด้วยความไม่พอใจกันใช่หรือไม่ อดีต ส.ส.จันทบุรีผู้นี้ตอบว่า ก็นิดหน่อย แต่ก็บอกท่านแล้วว่ายุคนี้ทำไมต้องทำโพลด้วย 8 สมัยแล้ว ซึ่งหลานตนก็ลงบัญชีรายชื่อแสนสี่หมื่นคะแนน ทำไมต้องทำโพลด้วย ถามว่าทำเมื่อไหร่ ไม่ได้ว่าท่านนะ แต่ทำเมื่อปี 60 ดังนั้นไม่ไหว ก็ลาออก ไม่มีอะไรมาก     ผู้สื่อข่าวถามว่า การลงพื้นที่หาเสียงครั้งหน้าจะมีปัญหาหรือไม่ นายธวัชชัยปฏิเสธว่า ไม่มี เพราะครั้งนี้คิดว่าเป็นการเลือกที่ตัวบุคคลไม่ใช่เลือกที่พรรค ดังนั้นต้องไปคุยให้ชาวบ้านเข้าใจ ซึ่งปัญหาชาวบ้านคือเรื่องปากท้องและเรื่องเศรษฐกิจรากหญ้า เราก็เข้าไปคุยว่าจะเป็น ส.ส.เพื่อเข้าไปช่วย      ซักว่า ทำไมมั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่ครองพื้นที่มานาน กับพรรคใหม่อย่าง พปชร. จะไปเปลี่ยนความคิดประชาชนได้ อดีต ส.ส.จันทบุรีตอบว่า ได้คุยกับชาวบ้าน ซึ่งเขาทราบดีว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่ครองพื้นที่มานานมีตนเป็นหัวหน้าทีม ซึ่งตนก็ได้ไปขอลาออกจากนายอภิสิทธิ์เอง เพราะประชาชนเรียกร้องจริงๆ     "มั่นใจ และมั่นใจยกทีม และคิดว่าคนจันทบุรีจะไม่ให้บทเรียนอะไรจากการย้ายพรรคครั้งนี้ เพราะเขาเข้าใจดี ซึ่งตนเล่นการเมืองก็ไปตามกระแสเรียกร้อง" นายธวัชชัยมั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้ง     ถามว่า เหตุใดต้องย้ายมาพลังประชารัฐ ในเมื่อหากพลังประชารัฐเป็นรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ก็สามารถมาร่วมงานได้อยู่ดี นายธวัชชัยกล่าวว่า "ไม่แน่ใจ แต่เมื่อผมมาอยู่กับใครแล้วก็ไม่อยากพูด เพราะท่านอภิสิทธิ์ก็ดีกัน แต่ตอนไปลาท่านก็พูดน้อย พูดแค่ว่าโชคดี ส่วนนายชวน หลีกภัยนั้น ผมไม่ได้พบ แต่ผมเองก็เป็นเพื่อนกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ"     เมื่อถามว่า แสดงว่าที่มีปัญหา เนื่องจากประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นรัฐบาล จึงทำให้การทำงานในพื้นที่ลำบากใช่หรือไม่ นายธวัชชัยยืนยันว่า ก็แบบนั้น เที่ยวที่แล้วก็แบบนั้น เวลาเป็นรัฐบาลทีเราของบประมาณไปจันทบุรีเยอะมาก แต่เวลาเป็นฝ่ายค้านทำงานลำบาก ตนเน้นการทำงาน ตอนนี้มาอยู่ในพลังประชารัฐก็ขอโครงการไปเยอะ เพราะชาวบ้านอยากได้ การเล่นการเมืองยุคนี้ต้องให้ชาวบ้านร้องเรียนปัญหามา ซึ่งตนกำลังจะเชิญนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ไปดูในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีคนหลากหลายอาชีพ ขณะนี้ท่านกำลังดูตารางเวลาที่จะลงไป เพื่อให้เห็นภาพในพื้นที่ที่แท้จริง     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการให้สัมภาษณ์ นายธวัชชัยและนายแสนคมได้เปิดรูปถ่ายจากโทรศัพท์มือถือขณะไปลานายอภิสิทธิ์ให้สื่อมวลชนดูด้วย พลังประชารัฐคึกคัก     สำหรับบรรยากาศการเปิดรับสมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 5 ณ ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ ยังคงมีบรรดาอดีต ส.ส. ศิลปิน นักวิชาการ ทยอยสมัครอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้เดินทางมาสมัครตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 17 พ.ย.     นอกจากนี้ ยังมีนายพีระพงษ์ ทีฆสกุล อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, นายอิทธิพล เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา หรือเวสป้า อดีตนักร้องอาร์สยาม เจ้าของเพลงดัง "100 เหตุผล" รวมถึงนักธุรกิจกลุ่มคนรุ่นใหม่ของสถาบันปัญญาประชารัฐ เข้าสมัครสมาชิก โดยมีนายกอบศักดิ์​ ภูตระกูล​ โฆษกพรรค​และนายณพงศ์​ นพเกตุ อดีต ผอ.นิด้าโพล​ ให้การต้อนรับ      นายสุวิทย์กล่าวว่า พรรคเรามีความเชื่อ 3 เรื่องคือ​ 1.ความสงบสุข ถ้าไม่มีความสงบสุขบ้านเมืองก็ไปไหนไม่ได้ 2.ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง​ เราจึงเชื่อในการมีสังคมสวัสดิการ เพื่อจะเติมเต็มพลังของคนทุกกลุ่ม และ​​ 3.ประเทศไทยต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่โลกที่หนึ่ง เป็นสังคมฐานนวัตกรรม​ จึง​จะเห็นได้ว่าพรรคนี้จะมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาร่วม​ และเราจะฟังเสียงคนเหล่านี้เพื่อเป็นตัวกำหนดนโยบายของพรรค และพรรคมีแนวคิดที่ยิ่งใหญ่ แต่ขออุบไว้ก่อน​ โดยจะใช้ทีมงานคนหนุ่มสาวมาช่วยกันระดมความคิดว่าจะทำให้บ้านเมืองน่าอยู่ขึ้นอย่างไร​      รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐยังให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีว่า ยังไม่มีการหารือ เพราะพลังประชารัฐเพิ่งได้รับการรับรองมาไม่นาน แต่คิดว่าเรื่องนี้ต้องฟังเสียงสมาชิกเป็นสำคัญ     เมื่อถามว่า ยังคงยืนยันที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นนายกฯ ต่อหรือไม่ นายสุวิทย์ตอบว่า "โดยส่วนตัวผมชอบ ผมสนับสนุนท่านเต็มที่ แต่ในส่วนของพรรคต้องมีการหารือกัน เราต้องเคารพมติพรรค โดยส่วนตัวยังไม่ได้ทาบทาม แต่มีการทาบทามในใจ"      ถามว่า ปกติทุกพรรคจะเสนอหัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ นายสุวิทย์กล่าวว่า ตามกฎหมายกำหนดให้พรรคสามารถเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯ ได้ 3 คน เพราะฉะนั้นเราต้องเสนอชื่อหัวหน้าพรรคด้วย ทั้งหมดเป็นกติกา ที่เราต้องทำตามครรลองอยู่แล้ว ซึ่งคงจะหารือกันว่าจะเสนอใครเป็นนายกฯ ในอนาคต     ส่วนความชัดเจนของ 4 รัฐมนตรีที่จะลาออกจากตำแหน่งนั้น นายสุวิทย์ระบุว่า หัวหน้าพรรคได้ประกาศไว้แล้วว่าเราออกแน่นอน แต่ตอนนี้เราต้องรับผิดชอบต่องานปัจจุบันของเราที่มีจำนวนมาก เราอยากปิดงานให้เร็วอย่างกระทรวงใหม่ที่ทำอยู่ก็อยากให้สมบูรณ์ จะได้ตั้งไข่ได้ในรัฐบาลต่อไป อยากปิดจ๊อบเร็วๆ เพราะฉะนั้นอยากให้เข้าใจว่าเมื่อถึงเวลาเราไปแน่ และถ้าไปก็จะไปพร้อมกัน มาด้วยกันก็ต้องไปด้วยกัน      "เรื่องนี้เป็นสิ่งที่อยู่ในใจของเราทั้ง 4 คน ยืนยันไม่เคยคิดที่จะเอาสิ่งเหล่านี้มาสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบ เพราะหากเราออกไปตอนนี้ คนใหม่ที่เข้ามาต้องมาเรียนรู้งานใหม่ ก็จะเสียเวลา ยืนยันอีกสักพักก็จะเห็นเร็วๆ นี้แน่นอน" นายสุวิทย์กล่าว "เทวัญ"นั่งหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา     ที่สำนักงานพรรคชาติพัฒนา นายประเสริฐ บุญชัยสุข เลขาธิการพรรคชาติพัฒนา เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 พ.ย.นี้ เวลา 09.00-15.30 น. ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ พรรคชาติพัฒนา จะดำเนินการจัดการประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของพรรคชาติพัฒนา โดยจะมีสมาชิกพรรคชาติพัฒนาจากทั่วประเทศเข้าร่วมการประชุม     เลขาธิการพรรคกล่าวว่า เราจะมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งตามข้อบังคับพรรค จะมีคณะกรรมการบริหารพรรคไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 30 คน และในวันประชุมสมาชิกพรรคก็จะมีการเสนอชื่อหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคเพื่อทำการเลือกตั้งต่อไป ขณะที่ในส่วนการรับสมัครสมาชิกพรรคชาติพัฒนาขณะนี้นั้น ปัจจุบันมีกลุ่มคนหลากหลายอาชีพมาร่วมสมัคร ทั้ง อดีต ส.ส. คนรุ่นใหม่ นักวิชาการ และคนที่มีประสบการณ์การทำงาน มาร่วมอุดมการณ์กับเรา และพร้อมทำงานเพื่อประชาชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมต่อไป     รายงานข่าวจากพรคชาติพัฒนาเปิดเผยด้วยว่าสำหรับบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา จะเปลี่ยนจาก นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันที่มีปัญหาสุขภาพ ไปเป็นนายเทวัญ ลิปตพัลลภ ประธานสโมสรฟุตบอลนครราชสีมา มาสด้า เอฟซี น้องชายนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรค ขณะที่ตำแหน่งอื่นๆ ที่สำคัญ อาทิ รองหัวหน้าพรรค จะให้ พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ดำรงตำแหน่ง, น.ส.เยาวภา บุรพลชัย ดำรงตำแหน่งโฆษกพรรค, น.ส.เมลิสา มหาพล ดำรงตำแหน่งรองโฆษก เป็นต้น     ส่วนนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และนายรังสิมันต์ โรม ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อและแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อแนะนำพรรคและเชิญชวนชาวเพชรบูรณ์ร่วมสมัครเป็นสมาชิกพรรค โดยร่วมกันเดินพบปะชาวเพชรบูรณ์ 2 จุด ได้แก่ ตลาดสดเทศบาล 1 และตลาดสดเทศบาล 2 ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ เพื่อเชิญชวนชาวเมืองเพชรบูรณ์ที่มาจับจ่ายซื้อของภายในตลาดสด และบรรดาพ่อค้าแม่ค้าให้สมัครเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ พร้อมรับฟังปัญหาชาวเมืองเพชรบูรณ์ไปพร้อมกันด้วย     ทั้งนี้ นายรังสิมันต์พยายามเป็นพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ โดยบอกว่าถ้าหากอยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลง ขอให้ชาวเพชรบูรณ์สมัครเป็นสมาชิกของพรรคอนาคตใหม่      จากนั้นมีการแจกแผ่นพับ และยังแนะนำที่ตั้งศูนย์ประสานงานพรรคอนาคตใหม่ สาขาเพชรบูรณ์ ถนนเมืองเพชรพัฒนา ต.ในเมือง อ.เมืองเพชรบูรณ์ ส่วนนายปิยบุตรแสดงความพอใจในการตอบรับของชาวเพชรบูรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ต่างรู้จัก โดยติดตามความเคลื่อนไหวและแนวทางของพรรคอนาคตใหม่จากสื่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อไทยระส่ำ      แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า ขณะนี้มีความชัดเจนเรื่องยุทธศาสตร์การจัดตัวผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ที่พรรคเพื่อไทยจะเน้น ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง เพราะมีการประเมินกันว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อเลย โดยให้พรรคแนวร่วมคือพรรคไทยรักษาชาติ เน้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยจะส่งผู้สมัครไม่ครบทั้ง 350 เขต เนื่องจากมีอดีตส.ส.ที่ออกไปร่วมงานกับพรรคการเมืองอื่น ทำให้ต้องมีการเกลี่ยผู้สมัครระหว่างกัน ไม่ให้ผู้สมัครทับซ้อนกันมากจากยุทธศาสตร์นี้ เดิมที่แกนนำพรรคประเมินว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยนั้น จากยุทธศาสตร์นี้ อาจทำให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างน้อย 5 คน หรือไม่เกิน 10 คน     แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้บรรดาแกนนำหลักของพรรคเพื่อไทยที่ไม่มีเขตเลือกตั้งต้องย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้เป็น ส.ส.เข้าไปทำงานในสภา ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยจะขาดแกนนำหลักในการหาเสียง อีกด้านหนึ่งก็ต้องให้อดีตผู้สมัครที่แพ้การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาย้ายไปอยู่พรรคไทยรักษาชาติ เก็บคะแนนให้ได้มากที่สุด เพื่อเปลี่ยนเป็นคะแนนบัญชีรายชื่อ ยังเจอปัญหาเนื่องจากไม่มีใครอยากไป เพราะการลงเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทยหาเสียงได้ง่ายกว่า และมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง จะดีกว่าไปเก็บคะแนนให้พรรคโดยที่ตัวเองไม่ได้เป็น ส.ส.      จึงมาพูดคุยกับแกนนำพรรคเพื่อขอลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย โดยให้เหตุผลว่า ต้องการขอแก้ตัว และจะเอาชนะให้ได้ ทำให้กรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธาน ต้องปวดหัวกับการหาทางออก เพราะนอกจากจะมีอดีต ส.ส.ไม่ยอมออกไปแล้ว ยังมีการแบ่งเขตใหม่ที่ยังไม่ชัด ซึ่งอาจทำให้ต้องมีอดีต ส.ส. พื้นที่ใกล้เคียงกัน ต้องมีคนหนึ่งอยู่ คนหนึ่งไป ทำให้ใครที่ไม่ได้ตามความต้องการจำเป็นต้องย้ายไปอยู่พรรคการเมืองอื่น     มีรายงานอีกว่า สำหรับการวางตัวผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดนครสวรรค์ เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยทั้ง 6 เขต โดยมี พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ และอดีต ส.ส.นครสวรรค์ เป็นแกนนำคนสำคัญในการจัดตัวและเป็นโค้ชคอยให้คำแนะนำในเรื่องการหาเสียงหรือลงพื้นที่ โดยเขต 1 ส่งน้องเบล น.ส.บุษยา ตั้งภากรณ์, เขต 2 นายวรภัทร ตั้งภากรณ์ บุตรสาวและบุตร ชาย พ.ต.ท.บรรยิน ลงเลือกตั้ง ส่วนเขต 3 นายสัญชัย วงษ์สุนทร อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย, เขต 4 พ.ต.ท.นุกูล แสงศิริ อดีต ส.ส.หลายสมัย และยังเป็นเจ้าของพื้นที่เดิม ทั้งยังเป็นคนสนิทของ พ.ต.ท.บรรยิน, เขต 5 นายทายาท เกียรติชูศักดิ์ อดีต ส.ส.เจ้าของพื้นที่, เขต 6 นายอภิสิทธิ์ อินทรสิทธิ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย        เวลานี้บรรดาผู้สมัครทั้ง 6 เขตของพรรคเพื่อไทยเริ่มลงพื้นที่รับฟังความเดือดร้อนของชาวบ้านบ้างแล้ว พ.ต.ท.บรรยินนั้นยังวางว่าจะพยายามกวาด ส.ส.ให้ได้ทั้งใจหวัดในคอนเซ็ปต์ "นครสวรรค์ยุคใหม่โดยคนรุ่นใหม่" นอกจากนี้ พ.ต.ท.บรรยินยังได้ยืนยันกับคนใกล้ชิดว่าจะไม่มีการย้ายไปยังพรรคไทยรักษาชาติอย่างแน่นอน เพราะเวลานี้ผู้สมัครทุกคนนั้นลงตัว ทุกคนมีคะแนนตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดี และมีโอกาสที่จะคว้า ส.ส.ทุกเขตในการเลือกตั้งที่จะมาถึง.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0