โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เข็นส่งออก โต3%ธสน.หนุนลูกค้ารับมือ‘เทรดวอร์’

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 27 พ.ค. 2562 เวลา 06.40 น.

 

Exim Bank รวมพลังเข็นส่งออกโต 3% หนุนผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้า ปรับสถานะกับคู่ค้า-ขยายตลาดใหม่ค่ายทีเอ็มบีดีเดย์มิ.ย.ส่งโปรดักต์หนุนลูกค้าจองสิทธิ์ซื้อ-ขายล่วงหน้าเป็นเงินหยวนแทนดอลลาร์” ด้านแบงก์ประสานเสียงยํ้าตลาดผันผวนเร็วและแรงจี้ผู้ส่งออกนำเข้าเฮดจ์ลดความสูญเสีย

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนยกระดับความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น โดยไตรมาสแรกปีนี้ การส่งออกของไทยติดลบ 3.6% มูลค่าที่แท้จริงของการส่งออกสินค้าลดลง 5.4% จากที่ขยายตัว 0.8% ในไตรมาส 4 ปี 2561 ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ปรับลดคาดการณ์การส่งออกปีนี้จะโตได้เพียง 2.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 4.1% พร้อมเสนอให้ทางการเร่งลดผลกระทบ เพื่อให้การส่งออกทั้งปีนี้เติบโตไม่ตํ่ากว่า 3%

นายพิศิษฐ์ เสรีวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศ ไทย (ธสน.หรือ Exim Bank) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ทำให้ลูกค้าของธนาคารเริ่มเข้ามาหารือบ้างประปราย โดยยอมรับว่า บางรายถูกกระทบต่อยอดขาย ซึ่งเบื้องต้นธนาคารจะพยายามมากขึ้นในการช่วยลูกค้า2 เรื่องหลักคือ 1.สนับสนุนผู้ประกอบการทั้งผู้ส่งออกและนำเข้าต้องติดตามสถานะคู่ค้า ถ้าพบว่าคู่ค้าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวธนาคารก็พร้อมให้ลูกค้าเข้ามาคุยเพื่อปรับปรุงสัญญาเก่าได้และ 2.ธนาคารจะร่วมมือกับผู้ประกอบการขยายตลาดใหม่ๆแทนตลาดเดิม ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ยังมีโอกาสจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับยาง อาหารสำเร็จรูปและอาหารแปรรูป

 

นาย หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจตลาดเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศ ทีเอ็มบี กล่าวว่า ทิศทางเงินบาทระยะยาวมีแนวโน้มค่อยๆแข็งค่าขึ้น ถ้าสถานการณ์สงครามทางการค้าไม่ยกระดับความรุนแรง คาดว่าครึ่งปีหลังเงินบาทเคลื่อนไหวในระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งธนาคารต้องการเห็นผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน(FX Hedging)ซึ่งขณะนี้การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าหรือ การทำฟอร์เวิร์ด(Forward) ติดลบ แต่ผู้ประกอบการที่มียอดขาย 200-400 ล้านบาทยังป้องกันความเสี่ยงน้อย

*ศรัณย์ ภู่พัฒน์ *

“ถ้าเทียบกับอดีต ทุกครั้งที่ผู้ส่งออกทำฟอร์เวิร์ด จะได้อัตราแลกเปลี่ยนดีกว่าวันนี้ เช่น ซื้อที่ระดับ30บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่จะได้รับที่ 29.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และทำให้โครงการ FX options ช่วยชาติมีผลตอบรับไม่ดีเท่าที่คาดหวังไว้ ทั้งๆทุกแบงก์พยายามสนับสนุนและตื่นตัวด้วยการจัดสัมมนาต่างๆจึงต้องทำความเข้าใจและดูว่ายังมีประเด็นอะไรที่ทำให้คนใช้น้อย”

ขณะเดียวกันทีเอ็มบีเตรียมออกโปรดักต์ “CNS Pro Rata Forward”ในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อสนับสนุนลูกค้าจองสิทธิ์ที่จะซื้อหรือขายล่วงหน้า โดยใช้เงินหยวนมากขึ้น เพราะปัจจุบันส่วนใหญ่ 90% เป็นการป้องกันความเสี่ยงเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์ ทั้งที่ประเทศไทยส่งออกไปจีนจำนวนมาก แต่ยังทำการค้าขายเป็นดอลลาร์ไม่ใช่เงินหยวน

“โปรดักต์ CNS Pro Rata Forward เริ่มคุยกับลูกค้าบางรายยังไม่โปรโมตในวงกว้างแต่เชื่อว่าเป็นรูปแบบ Forwardที่ลูกค้าชอบ ส่วน 2 โปรดักต์ทำตลาดไปแล้ว คือ การจ่ายเงินออกผ่านมือถือหรือ TMB Touch” สำหรับรายย่อย และTMB Business สำหรับคอร์ปอเรตหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)”

 

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่ระบุว่า แนวโน้มทั้งสกุลเงินบาทและเงินหยวนจะอ่อนค่าอีกระยะหนึ่ง โดยทิศทางค่าเงินขึ้นกับหลายปัจจัย นอกจากสงครามทางการค้า ภาวะการค้าโลกหรือเศรษฐกิจคู่ค้าแล้ว ในจีนยังมีปัจจัยหนี้ที่ต้องดูแลเสถียร ภาพด้วย ขณะที่เงินบาทขึ้นกับทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในด้วย หากการเมืองและเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพจะช่วยเงินบาทแข็งค่าได้ อย่างไรก็ตามตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 23 พฤษภาคมเงินบาทแข็งค่า 1.76% โดยคำนวณจาก 32.56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯเป็น 31.98บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯขณะเงินหยวนอ่อนค่า 0.53% ซึ่งคำนวณจาก 6.8755 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 6.9148 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

“ยอมรับว่า ผู้ประกอบการหลายรายได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงิน เพราะไม่จัดการความเสี่ยง ซึ่งระยะข้างหน้าการบริหารความเสี่ยงค่าเงินสำคัญมาก ซึ่งลูกค้าต้องลดความสูญเสีย โดยทำ Hedging วิธีใดวิธีหนึ่ง เพราะสถานการณ์ทำการค้าระหว่างประเทศไม่ปกติ เช่น การทำ Option หรือใช้สกุลเงินที่ 3 หรือสกุลเงินท้องถิ่นของประเทศคู่ค้าในการค้าขายแทนดอลลาร์ ขณะเดียวกันทั้งผู้ส่งออกและนำเข้าต้องพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการเพิ่มมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการซึ่งช่วยลดการแข่งขันตัดราคาจากคู่แข่ง”

“ยอมรับว่า หลายประเทศต่างแข่งขันและรุนแรง ถ้ารัฐบาลมีนโยบายออกมาถูกทาง อาจลดความเลวร้ายของอุตสาหกรรมส่งออกไทย รวมถึงส่งออกไทยต้องเปลี่ยนแปลงกันยกใหญ่ เพื่อรักษาตลาด แม้จะมีการย้ายฐานธุรกิจจากจีนมาไทย” 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,473 วันที่ 26 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0