โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เก็บเงินตั้งนาน...ทำไมไม่รวยสักที?

Wealthy Thai

อัพเดต 24 เม.ย. 2563 เวลา 16.01 น. • เผยแพร่ 24 เม.ย. 2563 เวลา 16.01 น. • wealthythai
เก็บเงินตั้งนาน...ทำไมไม่รวยสักที?

“อดออม เก็บเงิน เดี๋ยวก็รวย” เป็นคำสอนที่มีมานานแล้ว ซึ่งเป็นความจริงเพราะเห็นผลกันมาแล้วมากมาย แต่บางคนก็ประสบเหตุการณ์ที่ว่า ‘เก็บเงินตั้งนาน ทำไมไม่รวยสักที’ เก็บมาเป็นสิบปีแต่มีเงินในบัญชีไม่กี่บาท สำหรับข้อสงสัยเหล่านี้ในบทความนี้มีคำตอบครับ

           

เชื่อว่าคนที่เก็บเงินทุกท่าน คงมีเป้าหมายในใจเอาไว้บ้างว่า อยากจะเก็บให้ได้เท่าไรหรือจะเก็บนานกี่ปี ซึ่งอาจจะเอาไว้ใช้เมื่อหลังเกษียณจากงานประจำ หรือถ้าท่านแค่อยากรวย ก็คงจะต้องมีเงิน‘เกิน 1 ล้านบาท’ ซึ่งพอจะได้ชื่อว่าเป็นคนรวย การที่ท่านมีเป้าหมายทางการเงินหรือการเก็บเงินจะทำให้ท่านสามารถประเมินและติดตามผลได้ชัดเจนว่า ในการดำเนินตามแผนนั้นมีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร สามารถบรรลุเป้าหมายหรือต้องปรับปรุงแผนหรือไม่ แต่ปัจจัยที่ทำให้ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายนั้น มีอยู่ 2 ข้อ ดังนี้

 

  • ขาดความต่อเนื่อง บางท่านเก็บออมเงินเมื่อมีเงินเหลือเท่านั้น ถ้าจำเป็นต้องใช้ อาจจะถอนเงินออมมาใช้อีกด้วย ถ้าเป็นแบบนี้คงไม่ถึงเป้าหมายแน่ๆ

  • วางเงินไว้ผิดที่หรือไม่เหมาะกับตนเอง บางท่านออมเงินไว้ในบัญชีเงินฝาก แน่นอนว่ามีความเสี่ยงต่ำ มีความปลอดภัยสูงเพราะธนาคารคงไม่เบี้ยว แต่ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อแล้วกลายเป็นว่ามูลค่าเงินลดลงไปเรื่อยๆ อย่างนี้ก็รวยยาก หรือคาดหวังแต่ผลตอบแทนสูงๆ แล้วลงทุนโดยที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ซึ่งอย่างเลวร้ายก็อาจจะทำให้เงินต้นหายไปได้เลย

 

สำหรับข้อแรกนั้นมีวิธีการง่ายๆ ที่ชื่อ ‘DCA (Dollar Cost Average)’ ซึ่งเป็นการสร้างวินัยในการลงทุนโดยทำรายการตัดบัญชีเพื่อไปซื้อสินทรัพย์ที่เราต้องการโดยอัตโนมัติ เช่น ตั้งให้ซื้อหน่วยลงทุนทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน หรือทุกสิ้นเดือน วิธีนี้ทำให้เราสามารถตั้งซื้อได้เป็นรายเดือนโดยไม่ต้องกลัวลืม และสามารถวางแผนออมก่อนใช้จ่ายได้ด้วย โดยให้ตัดเงินในวันที่เงินเดือนเราเข้าบัญชีได้เลย เท่านี้ก็จะช่วยให้เราสามารถออมได้สม่ำเสมอ แถมได้สินทรัพย์ในราคาถัวเฉลี่ยที่ไม่แพงจนเกินไปอีกด้วย ซึ่งสามารถใช้กับการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม หุ้นรายตัว หรือแม้กระทั่งทองคำครับ

 

ส่วนข้อที่สองนั้น ท่านอาจจะปรึกษาผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านการเงิน หรือ‘นักวางแผนการเงิน CFP’ ที่มีความชำนาญในด้านผลิตภัณฑ์ตลาดทุน เพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตัวท่านเอง โดยยึดความเหมาะสมของท่านเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น ตราสารทุนหรือกองทุนรวมหลากหลายประเภทให้ท่านเลือกลงทุน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินของท่าน

 

การลงทุนแต่ละแบบนั้นจะให้ผลตอบแทนที่ต่างกัน เช่น ถ้าเป็น ‘เงินฝาก’ ก็จะอยู่ที่ประมาณ0.5-1.5% ต่อปี ‘พันธบัตร หุ้นกู้หรือตราสารหนี้’ ผลตอบแทนอยู่ที่ 1.50-6.00% แล้วแต่อายุของตราสารหนี้และขึ้นอยู่กับความเสี่ยงโดยสามารถดูได้จากอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท บริษัทที่มีความมั่นคงสูง จะมีความปลอดภัยหรือโอกาสที่จะผิดนัดชำระคืนดอกบี้ยและเงินต้นน้อย ความเสี่ยงก็จะต่ำ ดังนั้นผลตอบแทนจะน้อยกว่าบริษัทที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีโอกาสผิดนัดชำระคืนสูงกว่า

 

“ถ้าเป็น ‘หุ้นสามัญ’ หรือหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะมีความเสี่ยงสูงกว่า ‘ตราสารหนี้ โดยราคาอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน ถ้าเลือกหุ้นผิดตัวหรือเลือกหุ้นโดยขาดความรู้ ก็มีโอกาสที่จะขาดทุนสูงมาก นอกจากนั้นท่านยังสามารถจะกระจายการลงทุนเพิ่มใน ‘ทองคำ’ เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนได้อีกด้วย เป็นต้น”

 

 

สำหรับท่านที่เพิ่งเริ่มต้นศึกษาการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ หรือไม่มีเวลาในการวิเคราะห์ หรือติดตามข้อมูล ขอแนะนำให้ท่านเริ่มต้นที่“กองทุนรวม” ซึ่งมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายและสามารถหาข้อมูลได้ง่าย โดยการออมที่ให้ผลตอบแทนต่างกัน ในระยะยาวจะทำให้มูลค่าเงินมีความต่างกันมาก ดังตารางต่อไปนี้

 

 

 

“จากตารางจะเห็นได้ว่า แค่ออมเงินเพียงหลักพันต่อเดือน ก็สามารถทำให้มีเงินเป็นล้านได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปี ขอเพียงแค่ออมสม่ำเสมอและวางเงินให้ถูกที่ คุณก็เป็นเศรษฐีได้”

 

ในส่วนของการ ‘ออมระยะยาว’ นั้น มีข้อควรคำนึงถึงคือ ‘เงินปันผล’ หรือ ‘ดอกเบี้ย’ ที่ท่านได้ระหว่างทางการออมนั้น ท่านได้นำไปลงทุนต่อหรือออมต่อหรือไม่ เพราะถ้าท่านไม่นำไปออมต่อแล้ว จะกลายเป็นว่า ท่านนำเงินออมของท่านไปใช้ทางอ้อม เป้าหมายทางการเงินของท่านก็คงยังห่างไกลต่อไป

 

สำหรับ “มนุษย์เงินเดือน” หรือผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ทุกๆ ปี ท่านสามารถเลือกให้ตัดเงินสะสม ‘กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ’ หรือเลือกลงทุนใน ‘กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)’ ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนคิดว่า RMF ตอบโจทย์ได้ทุกข้อ โดยวางแผนให้เป็นการออมในระยะยาวได้ เพราะเงื่อนไขของ RMF ที่จะมีสิทธิขายคืนได้เมื่ออาย 55 ปีหรือเมื่อเกษียณอายุ RMF ทุกกองไม่มีปันผล

 

“ดังนั้นท่านไม่ต้องกังวลเรื่องนำเงินไปลงทุนต่อหรือ re-invest กองทุน RMF ยังสามารถเลือกความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตนเองได้ เพราะมีหลากหลายนโยบายการลงทุน เริ่มตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำที่ลงทุนในตลาดเงินหรือเงินฝาก เพิ่มความเสี่ยงเป็นพันธบัตรและหุ้นกู้ เพิ่มความเสี่ยงอีกนิดเป็นกองตราสารทุนหรือหุ้น หรือแบบความเสี่ยงสูงที่ลงทุนในทองคำก็มี หรือแม้กระทั่งต้องการกระจายความเสี่ยงไปลงทุนยังต่างประเทศก็ทำได้ บางนโยบายยังสามารถผสมระหว่างตราสารหนี้กับหุ้นได้ด้วย”

และกำไรที่เห็นได้ชัดๆ เลยก็คือเงินภาษีที่ท่านลดหย่อนหรือขอคืนได้ ถ้าท่านนำเงินส่วนนี้มาออมเพิ่มก็จะทำให้เป้าหมายทางการเงินของท่านบรรลุได้เร็วขึ้น และในการลงทุนใน ‘กองทุน RMF’ ท่านยังสามารถซื้อแบบ DCA ได้ด้วย วิธีนี้จะทำให้ท่านไม่ผิดเงื่อนไขและสามารถลงทุนได้อย่างต่อเนื่องจนครบตามเงื่อนไขด้วย

 

ข้อสำคัญคือ ‘กองทุน RMF’ ของท่าน สามารถสับเปลี่ยนได้ครับ ไม่ว่าท่านจะสับเปลี่ยนจากนโยบายที่มีความเสี่ยงมากไปกองทุนที่มีนโยบายความเสี่ยงน้อย จากในประเทศไปต่างประเทศหรือแม้กระทั่งสับเปลี่ยนข้ามบริษัทจัดการกองทุนเลย ก็ไม่ผิดเงื่อนไขแต่ประการใด จะกระจายเป็นหลายๆ กองก็สามารถทำได้ วิธีการเหล่านี้จะทำให้ท่านสามารถกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้เหมาะกับตัวท่านที่สุด และยังสามารถติดตามผลการลงทุนได้ง่ายอีกด้วย

 

ท่านคงจะหายสงสัยแล้วว่า ‘ออมมาตั้งนาน…ทำไมไม่รวยสักที’ ลองเช็คการออมของท่านและวางแผนการออมอีกที เชื่อว่าเศรษฐีเงินล้านคนใหม่อยู่แถวๆ นี้แหละครับ

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand , TFPA Facebook Fanpageและ  www.tfpa.or.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0