โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เกียร์ออโต้ ติดไฟแดง ใส่เกียร์ P ระวังพัง!

ไทยรัฐออนไลน์ - Auto

อัพเดต 15 ธ.ค. 2562 เวลา 03.54 น. • เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2562 เวลา 03.00 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ความปลอดภัยในการใช้รถยนต์เกียร์อัตโนมัติ เมื่อคุณเข้าเกียร์ D แล้วเหยียบเบรกเอาไว้เพื่อรอสัญญาณไฟเขียว (โดยเฉพาะบริเวณที่กำลังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า) ถึงแม้รถจะหยุดนิ่ง แต่ก็มีความเสี่ยงอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ จากความพลั้งเผลอเมื่อน้ำหนักเท้าขวาที่กดลงไปบนแป้นเบรกคลายออก หรือเพียงแค่ผ่อนน้ำหนักที่แป้นเบรกนิดเดียว เกียร์ออโต้ที่ใส่ตำแหน่ง D หรือตำแหน่งของการขับเคลื่อนก็พร้อมที่จะทำให้รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าทันที ผลก็คือไหลไปเสยท้ายรถชาวบ้านชาวช่องแบบไม่ได้ตั้งใจ แต่กลับทำให้คุณต้องเสียเงินเสียเวลา หากสภาพการจราจรติดหนักหนาสาหัสนานหลายนาที การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์จาก D มายังตำแหน่ง N หรือตำแหน่งของเกียร์ว่างพร้อมๆ กับการใช้เบรกมือจะช่วยทำให้คุณใช้รถได้อย่างปลอดภัย ไม่ควรใส่เกียร์ P หรือเกียร์จอด เนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุโดนชนท้าย เฟืองล็อกของเกียร์ P อาจได้รับความเสียหาย 

การเปลี่ยนเกียร์ออโต้จากตำแหน่งเกียร์ D ไปยังตำแหน่งเกียร์ N หรือเกียร์ว่าง มีผลต่อการสึกหรอของชุดเกียร์ออโต้ไม่มาก ในรถยนต์ที่ใช้ชุดส่งกำลังแบบอัตโนมัติหรือเกียร์ออโต้ เมื่อยัดเกียร์ไปที่ตำแหน่งเกียร์ขับเคลื่อนหรือเกียร์ D ชุด Torque Covertor จะถูกเชื่อมเข้ากับชุดฟลายวีลที่ยึดโยงระหว่างเครื่องยนต์กับเกียร์ทันที แต่จากการที่คุณเหยียบเบรกเอาไว้เพื่อป้องกันการเคลื่อนที่ไม่ให้รถขยับขับเคลื่อนเนื่องจากมีแรงเบรกมากพอที่จะเอาชนะแรงบิดจากเครื่องยนต์ที่ส่งผ่านมายังเกียร์ซึ่งยังไม่มีแรงบิดมากพอ เพราะเครื่องยนต์อยู่ในรอบเดินเบา การเหยียบเบรกพร้อมกับใส่เกียร์ D จึงสามารถทำให้รถหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้ เกียร์ซึ่งกำลังหมุนในตำแหน่งขับเคลื่อนหรือเกียร์ D แต่โดนระบบห้ามล้อหรือเบรกมาหยุดเอาไว้

การใส่ตำแหน่งเกียร์ว่างหรือเกียร์ N ควบคู่ไปกับการดึงคันเบรกมือคาไว้จนกว่าจะได้สัญญาณไฟเขียว ปลอดภัยจากอุบัติเหตุที่ไม่ตั้งใจ เช่น เท้าที่เหยียบเบรกแล้วคาเกียร์ D เอาไว้ อาจคลายน้ำหนักจากความเมื่อยล้า รวมไปถึงการเอี้ยวตัวเพื่อหาสิ่งของพวกกระเป๋า โทรศัพท์ที่มีสายเรียกเข้า เมื่อเผลอยกเท้าออกรถก็จะไหลไปข้างหน้าทันที ทำให้เกิดการชนท้ายรถคันหน้าแบบไม่ตั้งใจ 

ระบบเกียร์อัตโนมัติ ทั้งเกียร์สายพาน CVT หรือเกียร์อัตโนมัติแบบฟันเฟืองต่างขนาดนั้น มีระบบหล่อลื่นด้วยน้ำมันเกียร์พร้อมแรงดันในระบบที่จะส่งถ่ายของเหลวหล่อลื่นไปทั่วเพื่อลดการสึกหรอและใช้หล่อลื่นกลไกภายใน การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างเกียร์ D และเกียร์ N ในเกียร์อัตโนมัติยุคใหม่ เพื่อจอดรอการเคลื่อนตัวแล้วใช้เบรกมือช่วย ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เกียร์พังเร็วกว่า สาเหตุที่ทำให้เกียร์พังก็คือของเหลวหล่อลื่นหมดอายุการใช้งาน หรือใช้มานานไม่เคยเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์มากกว่า

รถส่วนตัวของผมอยู่ในสภาพเฒ่าชะแลแก่ชรา มีอายุกว่า 20 ปีแล้ว เกือบทุกครั้งที่ติดสัญญาณไฟจราจรนานๆ เกิน 60 วินาที ผมจะขยับจาก D ไปที่ N แล้วดึงเบรกมือคาเอาไว้จนกว่าจะได้สัญญาณไฟเขียวแล้วค่อยเหยียบเบรก ปลดเบรกมือแล้วเลื่อนคันเกียร์ไปยังตำแหน่ง D พร้อมกับค่อยๆ ยกเท้าขวาออกจากแป้นเบรก เกียร์ออโตที่รับใช้มานานตั้งแต่ออกรถมาเมื่อ 18 ปีก่อน มีการบำรุงดูแลรักษาเปลี่ยนถ่ายของเหลวน้ำมันเกียร์ทุกๆ 4 หมื่นกิโลเมตร ก็ยังคงใช้งานได้ดี

รถยนต์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีระบบ auto brake hold เมื่อกดสวิตช์ใช้งาน แล้วเบรกจนรถหยุดนิ่งก็สามารถยกเท้าออกจากแป้นเบรกแก้เมื่อยได้ เมื่อเคลื่อนตัวก็แค่แตะคันเร่งเบาๆ ระบบ auto brake hold ก็จะคลายเบรกออกทันที เป็นความสะดวกสบายไม่ต้องมาคอยรูดคันเกียร์จาก D ไป N แต่อย่าลืมเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์เพื่อทำให้เกียร์ออโต้อยู่รับใช้กันไปนานๆ ครับ.
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0