โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เกาเหลา ของอร่อยที่คนไทยคุ้น แต่ไม่มีในอาหารจีน ปาท่องโก๋ ต้นฉบับก็คนละแบบ

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 19 ม.ค. 2566 เวลา 02.29 น. • เผยแพร่ 18 ม.ค. 2566 เวลา 09.15 น.
เกาเหลา ปาท่องโก๋ ก๋วยเตี๋ยว
ภาพประกอบเนื้อหา - (ซ้าย) ปาท่องโก๋ (ขวา) ซุปเนื้อสไตล์จีน (ใช้ประกอบเนื้อหาเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา เกาเหลา โดยตรง)

“เกาเหลา” เป็นคำที่พบได้บ่อยในร้านขายอาหารทั้งหลายในไทยเมื่อมีผู้สั่ง “ก๋วยเตี๋ยวที่ไม่ใส่เส้น” อย่างไรก็ตาม คำนี้ไม่มีในรายชื่ออาหารจีน ขณะที่“ปาท่องโก๋” ในจีนก็มีหน้าตาคนละแบบกับปาท่องโก๋ที่คนไทยรับประทาน

นักชิมชาวไทยรู้จักเกาเหลากันเป็นอย่างดีว่าคือชื่อเรียกอาหาร (ไทย) ที่สื่อความหมายถึงอาหารประเภทแกงที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารจีนประเภทหนึ่ง ตามความเข้าใจของคนทั่วไปแล้ว อาหารนี้ก็คือก๋วยเตี๋ยวที่ไม่ใส่เส้น แต่จากตำราด้านภาษาไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนนั้นอธิบายไว้ชัดเจนว่า เมนูนี้ไม่มีในรายชื่ออาหารจีน

การหยิบยืมคำที่ชาวไทยหยิบมาจากจีนนั้นมีมานานตั้งแต่เริ่มต้นติดต่อค้าขายมีความสัมพันธ์กับจีนในสมัยโบราณแล้ว นวรัตน์ ภักดีคำ อธิบายในหนังสือ “จีนใช้ไทยยืม” ว่า คำเกาเหลา เป็นคำที่ได้อิทธิพลจากจีนก็จริง แต่ไม่มีอาหารจีนที่เรียกด้วยคำนี้อยู่เลย

หากสืบค้นที่มาของคำกลับไปสู่อิทธิพลของภาษาจีนแล้ว นวรัตน์ อธิบายว่า น่าจะหมายถึงคำว่า 高楼 (Gāo Lóu “เกาโหลว”) ที่แปลว่าตึกสูง คาดว่าอาจหมายถึงภัตตาคารจีนที่มักมีชื่อลงท้ายว่า “楼” (Lóu) ซึ่งคนไทยอาจได้ยินชาวจีนเรียกภัตตาคารว่า 高楼 (เกาโหลว) จึงนำมาใช้เรียกอาหารประเภทนี้ โดยออกเสียงตามภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋วว่า “เกาเหลา”

เพจคลินิกภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับภัตตาคารจีนว่า ในจีนมีภัตตาคารหรูที่เป็นตึกสูงแห่งหนึ่ง ภัตตาคารนี้มีอาหารพิเศษคือเนื้อตุ๋นปรุงแต่งรสด้วยเครื่องเทศและเครื่องปรุงรสโดยไม่มีเส้นก๋วยเตี๋ยว

คนจีนนิยมพูดว่า “ไปกินเกาเหลา” ก็หมายถึงไปกินอาหารในภัตตาคารลือชื่อแห่งนี้ เมื่อชาวจีนเข้ามาในไทยมากขึ้น คนไทยก็ได้รับอิทธิพลทางด้านอาหารตามมาด้วย และคนไทยก็เรียกกันติดปากว่า “เกาเหลา”

นอกเหนือจากนี้ ยังมีชื่ออาหารจีนอีกชนิดที่คนไทยเรียกว่า “ปาท่องโก๋” ซึ่งในอาหารจีนมีปาท่องโก๋ ที่แตกต่างจากความเข้าใจของคนไทย

“ปาท่องโก๋” สำหรับคนไทยที่เป็นลักษณะก้อนแป้งทอดสีน้ำตาลประกบคู่กัน รับประทานกับน้ำเต้าหู้ แต่คนจีนแต้จิ๋วเรียกขนมลักษณะนี้ว่า “อิ้วจาก๊วย” (油炸粿 โหยวจ๋ากั่ว) หมายถึงขนมทอดน้ำมัน ภาษาถิ่นของภาคใต้เรียกขนมทอดน้ำมันนี้ว่า จ้าโขย จาโขย หรือจากวย ภาษาฮกเกี้ยนออกเสียงว่า เจียะโก้ย

ส่วน “ปาท่องโก๋” ความจริงแล้วมาจากภาษาจีนจากคำว่า 白糖糕 – ไป๋ถังเกา (ภาษาจีนถิ่นกวางตุ้งเรียกว่า “ปักถ่องโกว”) หมายถึง ขนมน้ำตาลขาว เป็นขนมทำจากแป้งข้าวเจ้าหมักกับยีสต์และน้ำตาลทรายหลายชั่วโมงก่อนจะนำไปนึ่ง ทำออกมาเป็นรูปสี่เหลี่ยม รูปทรงและหน้าตาคล้ายขนมถ้วยฟูต่างหาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

นวรัตน์ ภักดีคำ. จีนใช้ไทยยืม. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2553

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0