โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เกษียณแล้วไปไหน? อะไรทำให้ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นกลับไปทำงานแทนการพักผ่อน

The MATTER

อัพเดต 24 ก.ย 2561 เวลา 03.52 น. • เผยแพร่ 22 ก.ย 2561 เวลา 05.49 น. • Thinkers

สังคมญี่ปุ่นที่กำลังกลายเป็นสังคมชราภาพอย่างหนักเป็นเรื่องที่ผมพูดถึงหลายต่อหลายครั้ง และล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาก็เป็นวันเคารพผู้สูงอายุ ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยตัวเลขที่น่าสนใจมากๆ เพราะเป็นครั้งแรกที่ประชากรญี่ปุ่นอายุเกิน 70 ปี มีจำนวนเกิน 1 ใน 5 หรือ 20% ของประชากรทั้งหมด และแน่นอนว่าต่อจากนี้ไปก็คงจะยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในเมื่ออัตราการเกิดยังต่ำ และอายุขัยของชาวญี่ปุ่นยังคงยืนยาวเช่นนี้

เมื่อมองในฐานะปัจเจกบุคคล การมีอายุยืนยาวแบบนี้ก็เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ในมุมมองของรัฐบาล การมีอายุยืนถือเป็นเรื่องน่าหนักใจเพราะรัฐจะมีประชากรที่ต้องดูแลเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐมีระบบเงินบำนาญและสวัสดิการทางการรักษาที่ครอบคลุมทุกคน กลายเป็นพีระมิดกลับหัวที่คนวัยทำงานซึ่งคอยส่งเงินเข้าระบบนี้มีน้อยกว่าคนรับเงินจากระบบ ยิ่งทุกวันนี้มีคำพูดว่า “ยุคที่อายุคนยาว 100 ปี” ก็ยิ่งชวนหนักใจเข้าไปอีก แต่ว่าทางออกของปัญหาเหล่านี้อาจจะอยู่ที่ “ยกเลิกระบบเกษียณอายุ” ก็ได้ครับ

ฟังดูอาจจะน่ากลัวว่า โอ๊ย ทำงานมาแทบตาย จะไม่ให้พักเลยเหรอ

ในทางกลับกันถ้าเรามองที่ระบบเกษียณอายุ ตัวระบบก็ใช่ว่าจะเป็นอะไรที่ตายตัวมาตลอด ในอดีตอายุเกษียณโดยทั่วไปของชาวญี่ปุ่นคือ 55 ปี (ในช่วงปี 1947) เพราะอายุขัยเฉลี่ยคนในตอนนั้นคือ ชาย 50 ปี หญิง 54 ปี ยุคนั้นเขาเลยมองว่าการจ้างงานเป็นการจ้างตลอดชีพ จริงๆ พอมาปี 1998 ก็ค่อยกำหนดให้เกษียณที่อายุ 60 ปี ในขณะที่อายุขัยเฉลี่ยคือ ชาย 77 ปี และหญิง 84 ปี และเมื่ออายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น อายุเกษียณก็ยิ่งถูกปรับให้สูงขึ้น จนปัจจุบันเริ่มมีการปรับให้สามารถทำงานได้ถึงอายุ 65 ปีหากต้องการทำงานต่อ และเป็นแนวทางให้รัฐบาลญี่ปุ่นในการปรับอายุเกษียณต่อไป

ในสังคมญี่ปุ่นทุกวันนี้ ระบบการดูแลสุขภาพประชาชนที่ดีพอทำให้แม้จะมีประชากรที่มีอายุมาก แต่ก็ใช่ว่าจะแก่ตัวแบบสุขภาพไม่ดี มีหลายต่อหลายคนที่แม้จะอายุเกิน 60 แต่สุขภาพยังดี ดูตัวอย่างได้ง่ายๆ ก็ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยเฉพาะสายวัฒนธรรมเช่นวัดหรือศาลเจ้าที่มักจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวสูงอายุ หรือแม้กระทั่งเวลาไปเดินเขาก็มักจะเจอผู้สูงวัยออกมาเดินเที่ยวออกกำลังกายกันได้เสมอ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่หลายคนยังมีแรงและอยากจะทำงานอยู่

สำหรับคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์หลายคน—การทำงานคือคุณค่าของชีวิต (ถ้าจะใช้คำฮิตๆ ตอนนี้ก็คือ อิคิไก นั่นละครับ) เพราะว่าเป็นคนรุ่นที่ลุยงานหนักสร้างญี่ปุ่นกันมาตลอด พอไม่มีงานทำแล้วกลายเป็นว่าไม่รู้จะทำอะไร อยู่บ้านก็เหงาเปล่าๆ แถมบางทียังเกิดเป็นปัญหาหย่าร้างเมื่อสูงวัย เพราะว่าพอไม่มีงานทำก็อยู่บ้านเฉยๆ ภรรยาที่คอยทำหน้าที่สนับสนุนสามีเวลาไปทำงาน พอมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันทั้งวันเลยไม่คุ้น บางทีก็รู้สึกว่าหน้าที่ในการซัพพอร์ตหมดแล้ว สามีไม่ได้ทำงานหาเงินเข้าครอบครัวอีกต่อไป ไม่รู้จะอยู่ทำไม เลือกหย่าร้างกันไปดีกว่า การมีโอกาสทำงานหลังวัยเกษียณจึงถือเป็นโอกาสในการสร้างคุณค่าให้ตัวเองอีกครั้ง ถ้าหากไม่ชอบการอยู่บ้านเฉยๆ อย่างน้อยถือว่าได้ความมั่นใจกลับมา ส่วนรัฐบาลก็ดีใจ เพราะแรงงานไม่หายไปจากระบบ

บริษัทใหญ่หลายบริษัทจึงเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานเลยวัยเกษียณ เพียงแต่ว่าอาจจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมเพราะไม่อย่างนั้นพนักงานรุ่นน้องอาจจะหมดกำลังใจได้ (ลองคิดดูสิครับว่าถ้ารอเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บริหารแล้วจู่ๆ คนที่ครองตำแหน่งบอกว่า ไม่เอาอะ อยากอยู่ต่อ รอต่อไปละกัน คงชวนห่อเหี่ยวไม่น้อย) ดังนั้นระบบส่วนใหญ่จึงให้โอกาสพนักงานทำงานต่อ โดยลดตำแหน่งลงไปในด้านงานธุรการแทนที่จะอยู่ในตำแหน่งบริหารเช่นเคย ซึ่งอาจจะดูเสียหน้าสำหรับหลายคน แต่สำหรับคนที่เลือกทางนี้เขามองว่าได้โอกาสกลับมาเรียนรู้งานใหม่ๆ อีกครั้ง เพียงแค่ไม่แบกอีโก้ไว้ก็ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ เช่นกัน ขณะเดียวกัน หัวหน้างานที่เป็นพนักงานรุ่นน้องและอาจจะเคยเป็นลูกน้องมาก่อนก็ถือว่าได้คนมีประสบการณ์มาร่วมทีม ถ้าปรับตัวกันได้ก็นับว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบริษัท แทนที่จะปล่อยให้ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพเสียเปล่าไป

ในญี่ปุ่นเริ่มมีบริษัทที่รับจัดอบรมแนะนำแนวทางการปรับตัวให้กับพนักงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานต่อหลังวัยเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวทางการปรับตัวเพื่อทำงานกับพนักงานรุ่นน้อง หรือระบบเงินบำนาญของรัฐและสวัสดิการสังคมต่างๆ รวมไปถึงเรื่องของการรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์แนะนำการสมัครงานหลังเกษียณว่ามีบริษัทไหนรับสมัครงานแนวไหน พร้อมบทความแนะนำเคล็ดลับในการปรับตัวเพื่อให้การทำงานครั้งใหม่ราบรื่น

ไม่ใช่แค่เพียงบริษัทใหญ่หรืองานสายบริหารที่รับคนเข้าทำงานต่อหลังวัยเกษียณ แต่โรงงานขนาดย่อยอย่างพวก SME ก็เป็นอีกหนึ่งเส้นทางทำงานหลังเกษียณ ปัจจุบันโรงงานกิจการขนาดย่อยเหล่านี้ (พนักงานไม่เกิน 100 คน) เริ่มมีการรับคนงานเกษียณอายุเข้าทำงาน บางแห่งถึงขนาดที่ประกาศรับพนักงานทำงานพิเศษเฉพาะคนที่อายุเกิน 60 ปีเท่านั้น เพราะว่าแม้แรงจะไม่เท่าคนหนุ่มสาวแต่ก็มีประสบการณ์และทำงานได้ละเอียด บางโรงงานสามารถเพิ่มจำนวนพนักงานที่อายุเกิน 60 ได้ถึง 1 ใน 3 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด และมีพนักงานที่อายุมากสุดคือ 93 ปีที่ปั่นจักรยานมาทำงานเองทุกวัน แต่บริษัทก็ต้องออกเงื่อนไขพิเศษว่าวันไหนฝนตกให้พักงานเพราะห่วงความปลอดภัย—ก็อยู่กันแบบน่ารักดีนะครับ และคุณปู่เองก็บอกว่าการได้ทำงานทำให้ชีวิตของเขามีคุณค่า อิคิไก๊ อิคิไก

ดูเหมือนว่าบริษัทและโรงงานที่มีแนวทางแบบนี้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตราบเท่าที่คนญี่ปุ่นยังแก่แบบมีแรงมีคุณภาพ และการใช้ชีวิตด้วยเงินบำนาญของรัฐอย่างเดียวก็อาจจะไม่พอเพียง แถมให้อยู่บ้านเฉยๆ มันน่าเบื่อ ผมมาอยู่ญี่ปุ่นก็มักจะพบผู้สูงอายุยังคงทำงานกันหลายคน ทั้งงานพาร์ตไทม์ต่างๆ เช่น แคชเชียร์ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือขับรถแท็กซี่ ใจนึงก็แอบคิดว่าทำไม่อายุมากแล้วแต่ยังต้องมาทำงาน แต่คิดอีกที หลายท่านก็มีความสุขกับการได้ทำงานมากกว่า ขนาดงานอาสาสมัครยังมาทำกันฟรีๆ ดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ

แต่ดูเหมือนบ้านเราจะก้าวหน้าเรื่องนี้มากกว่านะครับ เพราะหันไปดูในสภาตอนนี้ก็มีแต่คนวัยเกษียณ บางท่านก็ถึงกับต้องมีคนช่วยพยุงมานั่งโหวตกันเรื่องแผนอนาคตชาติ 20 ปีเลยทีเดียว เกษียณแล้วยังทำงานกันหนักน่าดูเลยนะครับ

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0