โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน 12 ไร่ มีผลผลิตขายทั้งปี ไปได้ดีไม่มีจน ที่เมืองกาญจน์

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 09 เม.ย. 2564 เวลา 08.28 น. • เผยแพร่ 10 เม.ย. 2564 เวลา 23.00 น.
เกษตร12ไร่ 20เมย

สวัสดีค่ะ รันตีขอรายงานตัว  พาท่านเยี่ยมชมสวนเกษตรอินทรีย์ที่ทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างลงตัว สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย พี่น้องท่านใดสนใจจ้องๆ มองๆ ลองหาวิถีการเกษตรที่จะเลี้ยงตัวและครอบครัวได้ตามรันตีไปดูตัวอย่างดีๆ กัน

เกษตรอินทรีย์แบบเกษตรผสมผสาน

ก่อนอื่นรันตีขอทำความเข้าใจกับผู้อ่านท่านผู้เจริญก่อนนะคะ ระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ (Organic agriculture) นั้นเป็นการทำการเกษตรแบบธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีใดๆ เป็นการพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ส่วนการทำการเกษตรแบบผสมผสานก็คือ การทำการเกษตรที่มีกิจกรรมการเกษตรตั้งแต่ 2 กิจกรรมขึ้นไป โดยการทำการเกษตรทั้งสองกิจกรรมนั้นต้องทำในพื้นที่และระยะเวลาเดียวกัน การทำการเกษตรนั้นจะต้องเกื้อกูลประโยชน์ระหว่างกิจกรรมเกษตรต่างๆ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในระบบเกษตรแบบผสมผสานนั้นเกิดขึ้นทั้งจากวงจร

ดังนั้น การทำเกษตรอินทรีย์ในลักษณะเกษตรผสมผสานจึงเป็นการทำการเกษตรหลายอย่าง ทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ไปพร้อมๆ กันในพื้นที่เดียวกัน การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์นั้นต้องเกื้อกูลกัน เช่น มูลสัตว์เอาไปทำปุ๋ยคอก ผัก ผลไม้ เหลือจากขายเอามาใช้เลี้ยงสัตว์ และทุกกิจกรรมนั้นจะต้องเป็นการเกษตรแบบธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีใดๆ

 พื้นที่ 12 ไร่ สร้างรายได้ที่มั่นคง

พาท่านมาที่บ้านเลขที่ 12/2 หมู่ที่ 3 ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี พบกับ คุณวิมล โพธิ์มี เกษตรกรคนเก่งที่มุ่งมั่นตั้งใจกับการทำเกษตรอินทรีย์ คุณวิมล เล่าว่า พื้นที่แปลงนี้ทั้งหมด 12 ไร่ ทำเป็นเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานทั้งหมด ทำมาได้ 9 ปีแล้ว เพราะตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานไทรโยค สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน จึงได้รับความรู้ทางด้านเกษตรอินทรีย์ ประกอบกับมีความสนใจจึงได้เริ่มลงมือทำที่สวนของตัวเองก่อนที่จะเอาความรู้ไปสอนให้กับคนอื่นๆ เพื่อพัฒนาอาชีพคนในชนบท เราจึงต้องทำให้รู้จริง ทำให้เป็นตัวอย่างกับคนอื่นๆ ให้ได้เสียก่อน

การปรับการผลิตให้เป็นแบบเกษตรอินทรีย์มีแบบแผนหลายขั้นตอนซึ่งหนึ่งในขั้นตอนนั้นคือจะต้องมีแนวกันชน (Buffer Zone) ที่คุณวิมลใช้มันสำปะหลังมาเป็นแนวกันชนระหว่างแปลงที่อยู่ใกล้เคียง แล้วจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาเป็นเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มตัว

วางแผนมีพันธุ์ไม้หลัก พันธุ์ไม้รองปลูกร่วมกัน

ในพื้นที่ 12 ไร่ ของคุณวิมล ได้ปลูกพืชเอาไว้หลากหลายชนิด โดยพืชหลัก ได้แก่ ส้มโอ พันธุ์ขาวใหญ่ที่ปลูกไว้กว่า 100 ต้น ส้มโอให้ผลผลิตปีละ 2 ครั้งในช่วงกลางปีและปลายปี สามารถทำรายได้ให้คุณวิมลกว่า 100,000 บาททุกปี

ส่วนพืชรอง เช่น เงาะ ฝรั่งพันธุ์หวานพิรุณ ฝรั่งพันธุ์แป้นสีทอง ฝรั่งพันธุ์กิมจู มะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ มะขามป้อม มะขามเปรี้ยวยักษ์ ขนุน มะกรูด มะนาว หม่อนกินผล และยังมีพืชคลุมดิน อย่างเช่น ตะไคร้ ตะไคร้หอม ข่า ไพล พริก ปลูกแซมระหว่างแถวไม้ผล

นอกจากนั้น พืชสำคัญอีกอย่างที่สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี คือ กล้วย ที่คุณวิมลปลูกเอาไว้ทั้งกล้วยน้ำว้าพันธุ์ปากช่อง 50 กล้วยไข่ กล้วยหอมทอง ที่สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี

มีผลผลิตขายทั้งปี ไม่ง้อพ่อค้า ราคาเราตั้งเอง

ส่วนราคาผลผลิต คุณวิมล บอกว่า “เมื่อเราผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ราคาผลผลิตของเราจะขายได้สูงกว่าผลผลิตทั่วไป อย่างเช่น ส้มโออินทรีย์ขายที่กิโลกรัมละ 30 บาท มีแม่ค้ามาซื้อถึงสวน กล้วยน้ำว้าอินทรีย์ราคาหวีละ 15 บาท ใบมะกรูดอินทรีย์กิโลกรัมละ 60 บาท ลูกมะกรูดอินทรีย์กิโลกรัมละ 15 บาท

ผลผลิตเหล่านี้ทยอยออกมาให้ขายได้ทั้งปี มีแม่ค้ามารับซื้อถึงสวน โดยเราสามารถกำหนดราคาขายได้เอง เช่น กล้วยน้ำว้าอินทรีย์ตั้งราคาขายไว้ที่หวีละ 15 บาท หากแม่ค้าอิดออดไม่ยอมซื้อเราก็ไม่จำเป็นต้องขายเพราะกล้วยน้ำว้าสามารถเอาไปใช้เลี้ยงหมูและเลี้ยงปลาดุกได้ ดังนั้น  จึงไม่ขายผลผลิตถ้าไม่ได้ราคาที่ต้องการ นอกจากนั้น คุณวิมลยังพยายามจะผลักดันให้ผลผลิตอินทรีย์เข้าสู่บริษัทที่รับซื้อให้ได้ในอนาคต

 

เลี้ยงสัตว์แบบพึ่งพาได้ประโยชน์ร่วมกัน

ด้านการเลี้ยงสัตว์ คุณวิมล เล่าว่า เราเลี้ยงสัตว์เอาไว้หลายชนิด เช่น หมูหลุม แม่หมูเพื่อผลิตลูกพันธุ์ ไก่พื้นเมือง ไก่พันธุ์ไข่ที่เลี้ยงแบบปล่อย ปลาดุกในบ่อดิน ซึ่งการเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดพึ่งพาอาหารจากสวนของเราเป็นหลัก ปลาดุกกินกล้วยที่เหลือจากการขาย หมูกินกล้วย กินอาหารที่เราผสมเอง เป็นการลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ไปได้อย่างมาก ส่วนรายได้จากการเลี้ยงสัตว์มาจากการเลี้ยงหมูหลุมโดยใช้พื้นที่กว้าง 4 เมตร ยาว 8 เมตร ขุดหลุมลึกลงไปประมาณ 1 เมตร ใช้ปูนขาว ฟาง เกลือ ถ่าน โรยเพื่อรองพื้นเก็บความชื้นและฆ่าเชื้อโรคไปในตัว

จากนั้นจึงใส่แกลบลงไปให้เต็มหลุมแล้วปล่อยหมูลงไปเลี้ยง พื้นที่ขนาดนี้สามารถเลี้ยงหมูได้เต็มที่ 15 ตัว ที่ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 5 เดือนก็สามารถจับขายได้ และยังเหลือแกลบผสมขี้หมูให้เราใช้เป็นปุ๋ยคอกสำหรับต้นไม้ในสวน ส่วนการเลี้ยงแม่หมูจะสามารถผลิตลูกหมูได้ปีละประมาณ 20 ตัว สามารถขายลูกหมูได้ตัวละประมาณ 4,000 บาท ส่วนไก่ไข่ที่เลี้ยงแบบปล่อยมีผลผลิตให้เรากินและเหลือไปขายได้ตลอดทั้งปี

ปุ๋ยเบญจคุณ

การใช้ปุ๋ยเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการทำเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานเพราะต้นไม้จำเป็นจะต้องได้รับปุ๋ย คุณวิมลได้ใช้ความรู้จากการเผยแพร่ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในเรื่องการผลิตปุ๋ยเบญจคุณ ซึ่งคุณวิมลเล่ารายละเอียดให้ฟังดังนี้

ปุ๋ยเบญจคุณ เป็นการนำวัตถุดิบเหลือใช้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาผลิตปุ๋ยชีวภาพ มีส่วนประกอบและการผลิตง่ายๆ คือ ส่วนผสมมี ดินจอมปลวก 2 กิโลกรัม ดินรากข้าว 2 กิโลกรัม ดินโคนไผ่ 2 กิโลกรัม รำอ่อน 2 กิโลกรัม อาหารไก่เล็ก 2 กิโลกรัม น้ำข้าวหมาก 1 ลิตร หรือ 1 ห่อ นมเปรี้ยว 1 ลิตร หรือ 1 ขวดใหญ่ ปริมาณ 700-1,000 มิลลิกรัม น้ำตาลทรายแดง หรือกากน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม ละลายน้ำเปล่า 1 ลิตร น้ำเปล่าที่ไม่ใช่น้ำประปาเพราะจะมีคลอรีนผลมอยู่จึงแนะนำให้ใช้น้ำบ่อหรือน้ำฝน เอาไว้พรมตอนปั้นก้อน

ขั้นตอนการผสมปุ๋ยเบญจคุณคือ เตรียมภาชนะรอง เช่น กะละมัง นำดินจอมปลวก ดินรากข้าว ดินโคนไผ่ รำอ่อน อาหารสัตว์เล็ก คลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นใส่น้ำตาลทรายแดงหรือกากน้ำตาล กวนผสมน้ำเปล่า 1 ลิตร จนละลาย แล้วเติมน้ำข้าวหมาก เติมนมเปรี้ยว ค่อยๆ คนคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วปั้นให้แน่นพอประมาณ ปั้นเป็นก้อนกลมๆ ขนาดเท่าลูกเทนนิส ใช้น้ำเปล่าพรม นำก้อนที่ปั้นเสร็จเก็บไว้ในตะกร้าใส่ผลไม้หรือตะแกรงโปร่งสามารถระบายอากาศด้านล่างได้เก็บไว้ในที่โล่ง ห้ามโดนแสงแดดและฝน แล้วนำกระสอบป่านชุบน้ำเปียกมาคลุมไว้ ประมาณ 7 วัน

สังเกตว่ามีเชื้อราสีขาวขึ้น กลิ่มหอมออกเปรี้ยวไม่เหม็น ถือว่าใช้ได้ ส่วนการนำไปใช้ ให้นำก้อนปุ๋ยเบญจคุณฝังไว้ใต้ดินบริเวณโคนต้นไม้ 1 ก้อน ต่อ 1 ตารางเมตร รดน้ำทุกวันให้เชื้อเดิน หรือจะใช้วิธีละลายน้ำวิธีการคือ ก้อนปุ๋ยเบญจคุณ 15 ก้อน ต่อน้ำ 200 ลิตร ละลายน้ำทิ้งไว้ 7 วัน จะขึ้นฝ้าขาวสามารถนำไปรดต้นไม้ได้ ซึ่งปุ๋ยเบญจคุณช่วยให้ดินมีโครงสร้างที่ดี มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืช

วันนี้ 9ปีที่คุณวิมลได้พยายามทำการเกษตรอินทรีย์แบบเกษตรผสมผสานจนเห็นผลและสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนและผู้ที่สนใจได้ จนได้รับการส่งเสริมให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการเกษตรอินทรีย์ผสมผสานและการเลี้ยงหมูหลุม จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใครสนใจหาความรู้จากคุณวิมล ติดต่อได้ที่โทร. (083) 311-7175   

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0