โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เกษตรกรหวั่นแก้ทุจริต "นมโรงเรียน" สูตรเดิม-ไร้ผล

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 21 เม.ย. 2562 เวลา 14.20 น.
inv02220462p1

เกษตรกรอัดรัฐบาล กำหนดหลักเกณฑ์นมโรงเรียนใหม่ ป้องกันการทุจริต แต่ อ.ส.ค.ยัง “รับมอบอำนาจพิเศษจาก ครม.” ในการเป็นคนกลางซื้อ-ขายนมเป็นกรณีพิเศษ กลับไปสู่วังวนเดิม พร้อมยืนยัน 4 ปีที่ผ่านมาหลังตัวแทนเกษตรกรนั่งในมิลค์บอร์ด “ห้ามซื้อขายข้ามเขต” ช่วยให้นมมีคุณภาพแก้ทุจริต

แหล่งข่าวจากวงการสหกรณ์โคนม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง พาณิชย์ มหาดไทย สาธารณสุข ศึกษาธิการ อุตสาหกรรม สภาพัฒน์ และคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ไปศึกษาแนวทางและความเหมาะสม โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนใหม่ เพื่อป้องกันการทุจริต ตามข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยให้กระทรวงเกษตรฯจัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการในภาพรวมส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น

ล่าสุด ตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่ ครม.พิจารณาอนุมัติ มีการยกอำนาจให้กรมปศุสัตว์เป็นผู้จัดสรรโควตาขายนมโรงเรียน แทนคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ที่มีตัวแทนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอยู่ด้วย เพราะถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนแต่ในความเป็นจริงกรมปศุสัตว์และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ยังเป็นหน่วยงานรัฐสังกัดกระทรวงเกษตรฯด้วยกัน จึงมีอำนาจในการจัดสรรโควตาอยู่ นอกจากนี้ ตามมติ ครม.ล่าสุด อ.ส.ค.ยังรับมอบอำนาจจาก ครม.เป็นกรณีพิเศษ จะให้ผู้ใดขายหรือได้โควตาขายนมโรงเรียนเท่าใดก็ได้ ดังนั้น ประเด็นจึงอยู่ตรงจุดนี้ว่า อ.ส.ค.จะจัดสรรเป็นธรรมแค่ไหน และผู้ประกอบการขนส่งยังมีการผูกขาดอยู่หรือไม่ เพื่อไม่ให้กลับไปวังวนเดิม

“ก่อนหน้านั้น อ.ส.ค.เป็นผู้เสนอผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาเป็นมิลค์บอร์ด แต่ 4 ปีหลังมานี้ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทยเป็นผู้เสนอตัวแทนเกษตรกรเข้ามาเป็นมิลค์บอร์ด ปัญหาเรื่องนมโรงเรียนไม่มีคุณภาพไม่มีแต่อย่างใด ไม่มีการทุจริต เพราะมีการจัดสรรโควตาให้สหกรณ์หรือผู้ประกอบการเอกชนจำหน่ายในพื้นที่ตั้งเป็นหลัก ไม่ใช่อยู่จันทบุรีแล้วได้โควตาขายที่พัทลุง เหมือนก่อนหน้านี้ แล้วนมจะมีคุณภาพได้อย่างไร และไม่ต้องพูดถึงกำไร การให้ขายข้ามเขตจึงมีแต่ปัญหาและการจะไม่ให้ผลิตนมถุงพาสเจอไรซ์ สหกรณ์ที่ลงทุนตั้งโรงงานมูลค่า 20-30 ล้านบาทไปแล้ว จะเสียหายหนักด้วย”

ทางด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุศัตว์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน กล่าวว่า ได้เร่งปรับปรุงมาตรการการป้องกันการทุจริตโครงการอาหารนมโรงเรียนเสนอต่อปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) เพื่อให้เป็นตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ครม.รับทราบ รวมทั้งให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะ 7 ด้าน อาทิ การให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทบทวนแนวทางบริหารจัดการนมโรงเรียน ทั้งระบบการจัดซื้อ ระยะเวลาการทำ MOU กับเอกชน ระบบโลจิสติกส์ ตลอดจนการเพิ่มบทลงโทษผู้ประกอบการพร้อมทั้งขอให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักในการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0