โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เกษตรกรพิษณุโลก ผลิตสินค้าเน้นคุณภาพ สร้างอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภค

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 23 ก.ย 2562 เวลา 06.10 น. • เผยแพร่ 20 ก.ย 2562 เวลา 21.50 น.
21 พิษโลก

จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่ 10,815.854 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 6,759,909 ไร่ แบ่งเขตการปกครองเป็น 9 อำเภอ  93 ตำบล 1,048 หมู่บ้าน ครัวเรือนเกษตรของจังหวัดพิษณุโลก มีจำนวน 101,314 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 29 ของครัวเรือนประชากรทั้งจังหวัด โดยอำเภอชาติตระการ มีสัดส่วนครัวเรือนเกษตรกรต่อครัวเรือนประชากรอำเภอสูงสุดที่ร้อยละ 52 และอำเภอเมืองพิษณุโลก มีสัดส่วนครัวเรือนเกษตรกรต่อครัวเรือนประชากรของอำเภอต่ำสุดที่ร้อยละ 8 แต่หากพิจารณาถึงอำเภอที่มีจำนวนครัวเรือนเกษตรกรมากที่สุด อยู่ที่อำเภอวังทอง มีครัวเรือนเกษตรกร 16,457 ครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.24 ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งจังหวัด ที่มา : กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จำนวนครัวเรือนเกษตรกร ที่มา : สำนักงานเกษตรจังหวัด

แหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลก ประกอบด้วย ข้าวนาปีและนาปรัง ที่อำเภอพรหมพิราม บางระกำ เมือง วังทอง และบางกระทุ่ม อ้อยโรงงาน ที่อำเภอบางระกำ พรหมพิราม และบางกระทุ่ม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่อำเภอนครไทย วังทอง และชาติตระการ มะม่วง ที่อำเภอวังทอง เนินมะปราง และวัดโบสถ์ มันสำปะหลัง ที่อำเภอวัดโบสถ์ และวังทอง สับปะรด ที่อำเภอนครไทย และวังทอง ยางพารา ที่อำเภอนครไทย วังทอง ชาติตระการ และวัดโบสถ์ ปาล์มน้ำมัน ที่อำเภอนครไทย ชาติตระการ พรหมพิราม และวังทอง

คุณธวัชชัย สิทธิวีระกุล เกษตรจังหวัดพิษณุโลก ให้ข้อมูลว่า การทำเกษตรภายในจังหวัดพิษณุโลกมีน้ำที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ทำให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ทำทั้งพืชไร่และพืชสวน มีปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการทำเกษตร ซึ่งแนวทางการส่งเสริมการทำเกษตรในจังหวัดจะเน้นเรื่องการรวมกลุ่มมาตั้งแต่ปี 2559 โดยผลิตสินค้าแบบให้นำตลาด เพื่อให้สินค้าทางการเกษตรทั้งหมดเมื่อเกษตรกรผลิตออกมาแล้วสามารถจำหน่ายได้ทั้งหมด และได้ราคาดี ตลอดไปจนถึงการผลิตที่มีความปลอดภัยโดยลดการใช้สารเคมี ให้ตรงกับเทรนด์ที่ลูกค้าต้องการ คือบริโภคผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัย ส่วนตัวเกษตรกรก็สามารถพัฒนาการทำเกษตรของตนเองก้าวไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์ได้ในอนาคต

“ตอนนี้จังหวัดของเราไม่ได้แต่เน้นการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายอย่างเดียว อย่างที่เราทราบกันว่า จังหวัดพิษณุโลกเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือน ในภาคเกษตรของเราก็มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรรองรับไว้ด้วย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมวิถีการทำเกษตรในแบบต่างๆ เพื่อสัมผัสชีวิตของการเป็นเกษตรกรในรูปแบบที่เขาสนใจ ทางเกษตรกรในบางพื้นที่ก็ได้ทำสวนของตนเอง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย จึงทำให้เรามีครบถ้วนทุกด้าน” คุณธวัชชัย กล่าว

นอกจากนี้ สินค้าที่ขึ้นชื่อของจังหวัดพิษณุโลก คุณธวัชชัย บอกว่า มีผลผลิตจากข้าว กข 43 ซึ่งเกษตรกรสามารถผลิตได้อย่างมีคุณภาพปลอดภัยจากสารเคมี โดยเกษตรกรใช้วิธีการรวมกลุ่มจึงทำให้สามารถกำหนดขอบเขตของการผลิตได้ ทำให้ข้าวที่ผลิตในระบบอินทรีย์ไม่ไปปะปนกับข้าวที่ไม่ใช่อินทรีย์ ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าได้รับประทานข้าวที่ปลอดภัยอย่างแน่นอน

ปัจจุบันผลผลิตที่ได้รับความนิยมและเป็นของดีของจังหวัดคือแปลงปลูกกล้วย เพราะจังหวัดพิษณุโลกมีของดีอย่างการแปรรูปกล้วยต่างๆ เช่น กล้วยตาก สามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้ไม่น้อยทีเดียว และกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงแปลงใหญ่สามารถผลิตมะม่วงคุณภาพ จึงทำให้เวลานี้จังหวัดพิษณุโลกมีสินค้าทางการเกษตรหลากหลายและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

“การผลิตสินค้าเกษตรของเราทั้งหมด เราก็จะเน้นย้ำและส่งเสริมอยู่เสมอว่า สินค้าทุกอย่างต้องได้มาตรฐานและปลอดภัย โดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพต้องใส่ใจเป็นอันดับต้นๆ เพราะการตลาดปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้น สิ่งเหล่านี้เราเองก็จะย้ำให้กับเกษตรกรอยู่เสมอ เพื่อให้สินค้าติดตลาดและทำเป็นอาชีพที่ยั่งยืนส่งต่อไปยังลูกหลานของตนเองได้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ไม่ต้องเดินทางไปทำงานในเมืองใหญ่ๆ แต่สามารถอยู่กับบ้านเกิดและมีอาชีพและเกิดรายได้จากการทำเกษตรในพื้นที่ของตนเอง” คุณธวัชชัย กล่าว

สำหรับท่านใดหรือหน่วยงานใดที่สนใจในเรื่องของการทำการเกษตรในด้านต่างๆ ของจังหวัดพิษณุโลก สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัด ทางหน่วยงานจะติดต่อและประสานงานกับกลุ่มของงานเกษตรนั้นๆ ให้ผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้อย่างครบถ้วนในแบบที่สนใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ (055) 313-125

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0