เกษตรกรปลอดภัย อ่าน ใส่ ถอด ทิ้ง อย่างถูกวิธี
โดย #โรครว้ายๆวัยทำงาน
ในแต่ละปี มีการใช้สารเคมีเพื่อให้ผักผลไม้เติบโต ไร้ศัตรูพืชมาทำลาย ไปมากแค่ไหน?
ข้อมูลจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกําจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ระบุว่า การนําเข้าสารเคมีกําจัดศัตรูพืชนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นแทบทุกปี โดยในปี พ.ศ.2559 มีการนำเข้าสารเคมีรวมทั้งสิ้น161 ล้านกิโลกรัม และเพิ่มเป็น 198 ล้านกิโลกรัมในปี2560
การนําเข้าและใช้สารเคมีเหล่านี้โดยไม่มีการควบคุม และจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดปัญหาผลกระทบหลายด้าน เช่น การตกค้างในพืชผลสินค้าการเกษตรอย่างผักและผลไม้ในปริมาณมากจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค และผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร
จากรายการสถานการณ์ความปลอดภัยของอาหาร ปีงบประมาณ 2553-2560 พบการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชเกินมาตรฐานในผัก 10 ชนิด ซึ่งพบว่า ใบบัวบก เป็นผักที่มีการตกค้างเกินมาตรฐานในอัตราส่วนของตัวอย่างมากที่สุด และผักอีก 9 ชนิดได้แก่ ดอกหอม กุยช่าย พริกแห้ง กะหล่ำปี ต้อนหอม บร็อคโคลี่ กระเทียมและพริกสด
นอกจากนี้ยังพบการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชเกินมาตรฐานในผลไม้ 10 ชนิด ได้แก่ ส้ม มะม่วง ลำไย ละมุด องุ่น แอปเปิ้ล ชมพู่ สตอรอว์เบอร์รี่ เงาะ และแคนตาลูป มีการตกค้างเกินมาตรฐานที่ไม่สูงมากและใกล้เคียงกันเกือบทุกปี
โรคจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นโรคยอดฮิตของวัยทำงานที่พบมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ( https://bit.ly/2CrZ41v ) เนื่องจากมีเหล่าเกษตรกรจำนวนมาก ที่ขาดความรู้ความเข้าใจในอันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และใช้งานอย่างไม่ระมัดระวัง จนเกิดอันตรายต่อสุขภาพตั้งแต่อาการเจ็บป่วย ไปจนถึงเสียชีวิตได้!
#โรครว้ายๆวัยทำงาน จึงนำคำแนะนำ ‘การป้องกัน’ ตนเองจากอันตรายของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช มาฝากพี่น้องเกษตรกรทุกท่าน ให้ใช้งานสารเคมีเหล่านี้อย่างปลอดภัย
ก่อนการใช้:
- อ่านฉลากและทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ผสมสารเคมีตามอัตราส่วนที่ฉลากกำหนดเท่านั้น
- ห้ามเปิดขวดด้วยปาก/กัดซอง
- ตรวจสอบอุปกรณ์ ว่ามีการชำรุดรั่วซึมหรือไม่ ทุกครั้งก่อนใช้งาน
- ห้ามใช้มือเปล่าคน/ผสมสารเคมี
ระหว่างการใช้:
- ปกป้องร่างกายให้มิดชิดที่สุดใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างน้อย 5 ชิ้น(หมวก หน้ากากถุงมือยางเสื้อแขนยาว/กางเกงขายาวรองเท้าบูตยาง)
- ยืนเหนือลมขณะฉีดพ่น
- ห้ามสูบบุหรี่ หรือรับประทานอาหาร/ดื่มน้ำ ระหว่างฉีดพ่นสารเคมี
- หากสารเคมีหกรด ให้รีบล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาด
หลังการใช้
- ถอดเสื้อผ้าชุดที่ฉีดพ่น ไม่ซักรวมกับเสื้อผ้าปกติ
- อาบน้ำล้างตัวหลังจากฉีดพ่นสารเคมีทันที
- ไม่นำภาชนะที่ใช้บรรจุสารเคมีมาใส่น้ำดื่ม/อาหาร ไม่ทิ้งรวมกับขยะทั่วไป และไม่นำไปล้างในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
- เก็บภาชนะ/และอุปกรณ์ในที่มิดชิด ห่างจากเด็ก/สัตว์เลี้ยง และเปลวไฟ
- หลังการใช้สารเคมี หากมีอาการผื่น คัน ผื่นแดงตามผิวหนัง ปวดศีรษะ วิงเวียน มึนงง แสบตา น้ำตาไหล น้ำลายไหล อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน หมดสติ ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด และถ้าเป็นไปได้ควรนำสารเคมีที่ใช้งาน (ภาชนะและฉลาก) ติดไปด้วย
ที่มา: สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ความเห็น 0