โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เกษตรกรประจวบคีรีขันธ์เลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล เป็นอาชีพสร้างรายได้

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 22 พ.ค. 2562 เวลา 11.06 น.
Nan 6

คุณบุญช้อง กลิ่นหอม อยู่บ้านเลขที่ 77 หมู่ที่ 1 ตำบลดอนยายหนู อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลได้อย่างประสบผลสำเร็จ จึงทำให้อาชีพการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวให้กับเขาได้เป็นอย่างดี

คุณบุญช้อง เล่าให้ฟังว่า ทำอาชีพเกี่ยวกับประมงมาหลายสิบปีแล้ว โดยในช่วงแรกจะเน้นเกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้ง ต่อมาเริ่มรู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนเป็นเลี้ยงปลาบ้าง จึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นสัตว์น้ำชนิดอื่น จึงได้เลือกเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลเมื่อประมาณปี 2556 โดยเห็นว่ามีลักษณะของลำตัวสวยจึงเกิดถูกใจที่อยากจะเลี้ยงอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมา

พื้นที่บ่อ ขนาดประมาณ 2 ไร่
พื้นที่บ่อ ขนาดประมาณ 2 ไร่

“ตอนนั้นเลี้ยงกุ้งมานานแล้ว พอมารู้จักกับปลาตัวนี้ ก็เกิดความชอบ เพราะว่าลำตัวเขาสวยมาก จึงได้เปลี่ยนจากเลี้ยงกุ้งมาเป็นเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลแทน เพราะช่วงก่อนที่จะเปลี่ยนในช่วงนั้น ก็มีเพื่อนที่รู้จักเขาก็เริ่มเลี้ยงกันอยู่ เราก็เลยมองว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ยาก เพื่อเป็นการสร้างรายได้ใหม่ขึ้นมา” คุณบุญช้อง บอก

ในขั้นตอนของการเตรียมบ่อเพื่อเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลนั้น คุณบุญช้อง บอกว่า ไม่ได้มีขั้นตอนยุ่งยาก เพราะใช้บ่อที่เลี้ยงกุ้งอยู่เดิมมาปรับเปลี่ยน ช่วงก่อนที่จะปล่อยปลานวลจันทร์ลงไปเลี้ยง ก็จะพักบ่อทำความสะอาดเสียก่อน โดยบ่อที่ใช้เลี้ยงจะมีขนาดประมาณ 1-2 ไร่ ความลึกอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 เมตร นำลูกปลานวลจันทร์ทะเลปล่อยลงเลี้ยงภายในบ่อ ประมาณ 4,000 ตัว

การให้อาหารปลานวลจันทร์ทะเล
การให้อาหารปลานวลจันทร์ทะเล

“ในการปล่อยเลี้ยง ถ้าที่อื่นก็จะปล่อยประมาณ 5,000 ตัว ก็ได้ แต่ถ้าปล่อยหนาแน่นก็ต้องใช้เครื่องตีน้ำมากหน่อย ก็จะทำให้ต้นทุนค่าไฟเราสูงขึ้น แต่ถ้าปล่อยพอดีก็ไม่ต้องใช้เครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มอากาศมาก ก็จะทำให้มีกำไร ซึ่งในช่วงแรกที่ปล่อยเป็นลูกปลา บางที่ก็จะปล่อยให้กินตามธรรมชาติ แต่ที่ฟาร์มจะใช้อาหารกุ้งที่เป็นแบบผงๆ ให้กิน เปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 30 ให้กินในช่วงที่เป็นลูกปลาสักระยะ” คุณบุญช้อง บอกถึงวิธีการดูแลลูกปลานวลจันทร์ทะเล

เมื่อเลี้ยงลูกปลาผ่านมาได้เกือบ 2 เดือน ลูกปลาภายในบ่อจะเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ประมาณ 4 นิ้ว จากนั้นจึงเปลี่ยนอาหารเป็นเม็ดเล็กลอยน้ำที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 25 และเมื่อเห็นว่าปลาเริ่มมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเปลี่ยนเบอร์ของอาหารให้มีขนาดใหญ่ขึ้นตามความเหมาะสม

ปลานวลจันทร์ทะเล ขนาด 600 กรัม
ปลานวลจันทร์ทะเล ขนาด 600 กรัม

โดยปลานวลจันทร์ทะเลที่เลี้ยงจะใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน จะได้ปลาที่มีขนาดไซซ์ตัวอยู่ที่ 500-600 กรัม เป็นขนาดไซซ์ที่ตลาดต้องการ ก็สามารถจับจำหน่ายได้ทันที

“ตั้งแต่เลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลมาเรื่องโรคไม่เคยเจอ เป็นปลาที่เรียกว่าเลี้ยงง่ายมาก เพราะขนาดเราเลี้ยงกุ้ง ก็ยังเจอปัญหาเรื่องโรค แต่ปลาชนิดนี้บอกเลยว่าง่าย กินก็ง่าย ขนาดว่าสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ก็ยังไม่เคยเจอปัญหาในเรื่องนี้ อย่างอาหารก็กินง่ายๆ แค่วันละ 2 มื้อ แต่ถ้าไม่อยากให้ตัวใหญ่ไวก็ให้กิน วันละ 1 มื้อ ก็ได้ ขึ้นอยู่ที่เราจัดการ” คุณบุญช้อง อธิบาย

ในเรื่องของการทำตลาดจำหน่ายปลานวลจันทร์ทะเลนั้น คุณบุญช้อง บอกว่า จะเน้นจำหน่ายแบบรวมกลุ่มกัน โดยมีเพื่อนเกษตรกรที่เลี้ยงปลาชนิดนี้เหมือนกัน ค่อยแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน และที่สำคัญยังรวมกลุ่มกันช่วยในเรื่องของการทำการตลาดอีกด้วย จึงทำให้ปลานวลจันทร์ทะเลที่เลี้ยงส่งให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตลาด

“การนำมาประกอบอาหาร เดี๋ยวนี้เรียกว่าทำได้หลากหลายเมนู เพราะคนเริ่มนิยมบริโภคมากขึ้น และที่สำคัญสำหรับผู้ที่ยังอยู่ต่างจังหวัด กลุ่มที่แปรรูปก็สามารถส่งให้ทางไปรษณีย์ได้อีกด้วย จึงทำให้การตลาดของปลาชนิดนี้ขยายออกไปเป็นวงกว้าง เรียกว่าตอนนี้ก็สามารถจำหน่ายได้ทั่วประเทศ โดยราคาที่จำหน่ายเป็นปลาสดปากบ่อ อยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท ขนาดไซซ์อยู่ที่ 500 กรัม ไปถึง 1 กิโลกรัม ซึ่งก็จะจำหน่ายแบบยกบ่อหมดไปเลยครั้งเดียว” คุณบุญช้อง บอกถึงเรื่องการตลาด

ซึ่งเวลานี้ในการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล จึงเป็นปลาที่สร้างรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงแต่เขาเองเท่านั้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการเลี้ยงปลาชนิดนี้ แต่กลับยังสร้างรายได้เป็นวงกว้างให้กับเกษตรกรในชุมชน ให้มีงานและอาชีพทำอย่างยั่งยืนเหมือนดังที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 wfhมีพระราชดำริไว้

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณบุญช้อง กลิ่นหอม หมายเลขโทรศัพท์ (095) 868-1350

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0