โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เกราะแก้วพิสดาร - ปราบดา หยุ่น

THINK TODAY

เผยแพร่ 27 ส.ค. 2561 เวลา 09.31 น. • ปราบดา หยุ่น

เมืองกับตึกเป็นสองคำที่ยากจะแยกออกจากกัน แม้คำว่า “เมือง” ในตัวมันเองจะมีคุณสมบัติเป็นนามธรรม แต่คนจำนวนมากก็ให้มโนภาพกับความเป็นเมืองอย่างเป็นรูปธรรม นั่นคืออาคารใหญ่และตึกระฟ้า หากถูกบอกให้นึกถึงเมืองหรือบรรยายความเป็นเมือง เชื่อว่าแท่งตึกสูงจะเป็นรูปทรงแรกๆที่ผุดขึ้นในหัว คงไม่ผิดที่จะสรุปได้ด้วยซ้ำว่าหากไม่มีตึก หลายคนจะไม่เรียก “เมือง” ว่า “เมือง”

นอกจากจะตึกจะกลายเป็นคำจำกัดความของความเป็นเมือง มันยังมีสถานะเป็น “หน้าตา” ของเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และในความเป็นหน้าตาก็ย่อมมี “ยุคสมัย” เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง กล่าวอีกอย่างคือเมืองก็ล่องอยู่ในสายธารของ “กระแสแฟชั่น” เช่นเดียวกับเครื่องแต่งกาย การออกแบบวัตถุ หรือมิติทางวัฒนธรรมและความสวยความงามอื่นๆ

การศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมจะเผยให้เห็นทันทีว่าความนิยมทาง “หน้าตา” ของเมืองถูกแบ่งเป็นยุคสมัยชัดเจน แต่ต้นเหตุของการเกิดกระแสนิยมก็เปลี่ยนไปตามแวดวงผู้มีอำนาจหรืออิทธิพลหลากหลายที่มีต่อผู้มีอำนาจของแต่ละยุคสมัย เมืองเก่าในประวัติศาสตร์มักถูกสร้างขึ้นจากดำริของผู้ปกครอง หน้าตาของเมืองจึงขึ้นอยู่กับสิ่งที่คนเหล่านั้นเชื่อถือหรือบูชา ซึ่งโดยส่วนมากมักเกี่ยวข้องกับความศรัทธาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ สัญลักษณ์แห่งวงศ์ตระกูล และศาสนา แต่สิ่งหนึ่งซึ่งอาจมีบทบาทขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงอย่างเงียบๆ แต่สำคัญกว่าปัจจัยอื่นทั้งหมดมาเสมอ คือเทคโนโลยีทางการก่อสร้างและการค้นพบวัสดุใหม่ๆ

กระแสแฟชั่นของหน้าตาเมืองยิ่งเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้นมากเมื่อโลกเข้าสู่ยุค “สมัยใหม่” ปัจจัยหลักนอกจากจะเป็นพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดกว่ายุคโบราณหลายเท่า การเติบโตของระบอบทุนนิยมที่จูงมือไปกับโลกาภิวัตน์ก็ช่วยเผยแพร่สิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นสากล” หรือ “รูปแบบสากล” (international style) ไปบนหน้าตาของเมืองทุกแห่งหน จนทุกวันนี้คำว่าเมือง นอกจากจะตัดไม่ขาดกับคำว่าตึกสูง ก็ยังมาพร้อมกับลักษณะหน้าตาและโครงสร้างอาคารที่คล้ายคลึงกันไปหมด นั่นคือ “ตึกกระจก” หรือ “ตึกแก้ว”

การใช้คอนกรีตเสริมแรง (reinforced concrete) และบานกระจกในสถาปัตยกรรม เป็นแนวคิดที่เกิดพร้อมกับสิ่งที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ นำเสนอในงานออกแบบของกลุ่มสถาปนิกยุคบุกเบิกซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูหรือศิษย์ของสถาบันการเรียนการสอนศิลปะสัญชาติเยอรมันชื่อ “บาวเฮาส์” (Bauhaus) สถาบันศิลปะแห่งนี้แม้จะมีอายุค่อนข้างสั้น (ค.ศ. 1919 - 1933) เพราะเผชิญแรงกดดันจากการปกครองของพรรคนาซี แต่แนวคิดด้านการออกแบบและการมอบหน้าตาให้กับโลก “สมัยใหม่” ของบาวเฮาส์ก็เรียกได้ว่าเป็นแนวคิดทรงอิทธิพลที่สุดของศตวรรษที่ยี่สิบ และยังมีบทบาทมาถึงปัจจุบัน 

หลักการสำคัญในการออกแบบของบาวเฮาส์อยู่ที่ความเรียบง่าย ไร้การตกแต่งประดับประดา และความลงตัวในการใช้งานอย่างฟุ่มเฟือยน้อยที่สุด แต่ได้ประโยชน์มากที่สุด หนึ่งในอาจารย์ใหญ่ของบาวเฮาส์ ลุดวิก มีส ฟาน เดอร์ โฮห์ (Ludwig Mies van der Rohe, ค.ศ. 1886 - 1969) ได้ชื่อว่าเป็นผู้ออกแบบตึกกระจกระฟ้าแห่งแรกในปี ค.ศ. 1921 และเป็นผู้ทำให้วลี “น้อยคือมาก” เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ตาม กระแสนิยมในการสร้างตึกระฟ้าหน้าตาเหมือนกล่องแก้ว และการใช้กระจกใสเป็นวัสดุหลักของอาคารในเมืองน้อยใหญ่แห่งศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด กลายเป็นแฟชั่นที่เตลิดหลุดไปไกลจากหลักการและหน้าตาของงานสถาปัตยกรรมบาวเฮาส์อย่างมาก ยากจะเดาความเห็นที่บิดาและมารดาแห่งสถาปัตยกรรมสมัยใหม่อาจมีต่อพัฒนาการเหล่านี้ เป็นไปได้ว่าพวกเขาจะตื่นตาตื่นใจกับขนาดอลังการและเทคโนโลยีล้ำสมัยซึ่งพวกตนไม่เคยมีโอกาสทดลองหรือสัมผัส แต่ถ้าได้รับรู้ถึงความไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของการใช้กระจกท่ามกลางวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ และได้เห็นว่ามันถูกมองเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราราคาแพง ความร่ำรวยขององค์กร ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือรับใช้การเชิดชูสถานะ “ความเจริญแบบสากลตะวันตก” พวกเขาจะนับกระแสแฟชั่นนี้เป็นทายาทหรือไม่

การใช้บานกระจกขนาดยักษ์เป็นผิวพรรณและเกราะหุ้มอาคารมีความสะดวกในการรักษาสภาพตึกให้ดูดีในระยะยาว เพราะสามารถถอดเปลี่ยนแยกออกเป็นชิ้นๆโดยไม่ต้องรื้อทำลายโครงสร้างหลัก นอกจากนั้นกระจกยังทำความสะอาดง่าย ตึกที่ผิวภายนอกเป็นกระจกทั้งหมดจึงจะไม่ “เก่า” เพราะสีซีด ปูนร้าว หรือเกิดรอยด่างจากคราบน้ำฝนหรือเขม่าควันดำ ความโปร่งใสและสะท้อนแสงธรรมชาติของมันให้ภาพลักษณ์แบบ “เมืองอนาคต” ในจินตนาการ ซึ่งปัจจุบันหมายถึงความทันสมัยและเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และถ้าสร้างในย่านสำคัญๆของเมือง การใช้กระจกใสที่เปิดทัศนวิสัยรอบด้านก็สามารถผลักมูลค่าของอาคารให้สูงขึ้นได้มหาศาล

ขณะเดียวกัน ตึกกระจกต้องได้รับการประคบประหงมด้วยพลังงานมหาศาลเพื่อดูแลหน้าตาหรูหราไฉไลของมันให้ไม่ร้อนรุ่มเกินไป ภายในตัวอาคารต้องคุมให้เย็นอยู่เสมอด้วยเครื่องปรับอากาศกำลังสูง เปิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง การใช้พลังงานลักษณะนี้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและซ้ำเติมภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆและไม่อาจถูกมองข้ามอีกต่อไป แม้แต่ เคน ชัตเติลเวิร์ธ (Ken Shuttleworth) สถาปนิกของบริษัท Foster and Partners ซึ่งโด่งดังจากการออกแบบตึกเกอร์คิน (The Gherkin) แห่งกรุงลอนดอน หนึ่งในตึกกระจกแก้วที่มีชื่อเสียงและคุ้นตาที่สุดในโลก ยังออกมาสารภาพว่าการออกแบบตึกระฟ้าสวมเกราะกระจกทั้งแท่งเป็นวิธีคิดที่ไม่ควรทำต่อไปอีกแล้ว เขาใช้คำว่า “เราต้องมีความรับผิดชอบกันมากขึ้น” หมายความว่าถึงเวลาที่เมือง องค์กร และนักออกแบบ ต้องคิดถึงปัจจัยอื่นที่สำคัญกว่าหน้าตาและการตามกระแสแฟชั่นของมโนภาพแห่งเมืองเสียที

นอกจากประเด็นสิ่งแวดล้อม นักวิจารณ์จำนวนหนึ่งเริ่มเห็นว่าตึกกระจกทำให้ทุกมุมโลกมีหน้าตาเหมือนกันจนทำให้ประสบการณ์ “ใช้ชีวิต” ของคนเมืองขาดความหลากหลายในการเรียนรู้จากการสัมผัสมิติทางพื้นผิวของวัสดุและขาดการแลกเปลี่ยนเชิงวัฒนธรรม การตามกระแสแฟชั่นของผู้สร้างตึกกระจกส่งผลต่อทัศนวิสัยและสภาพแวดล้อมของสังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และการต้องเห็นต้องใช้สิ่งที่เหมือนกันในทุกแห่งหนคือการมอบประสบการณ์ซ้ำซากที่ไม่ส่งเสริมให้มนุษย์ใช้ศักยภาพในการอยู่ร่วมกันได้อย่างสร้างสรรค์ 

เห็นได้ไม่ยากว่าการตามกระแสแฟชั่นทางสถาปัตยกรรมเป็นการสนองประโยชน์ขององค์กรและปัจเจกที่ต้องการได้ชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัย ในขณะที่การคำนึงถึงปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและมิติการใช้ชีวิตของคนในชุมชนเป็นการวิเคราะห์คำนึงถึงสังคมและประโยชน์ส่วนรวม

เช่นนี้แล้ว หากจำเป็นต้องเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับหน้าตาในอนาคตของเมือง เราคงต้องเริ่มจากคำถามง่ายๆว่า “เมืองมีไว้สำหรับใครกันแน่”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0